พบโฆษณาชักจูงนักท่องเที่ยวทำงานผิดกฎหมายในออสเตรเลีย

นักปั่นส่งอาหารของ EASI : ภาพจากสำนักข่าว SBS

07 ต.ค. 2018 โฆษณาออนไลน์ได้ชักชวนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติทำงานอย่างผิดกฎหมายในออสเตรเลียเป็นงานเดลิเวอรี่ส่งอาหาร นายจ้างบางรายถึงกับสัญญาว่าจะช่วยในเรื่องยื่นขอวีซ่านักเรียนเพื่อให้พวกเขาทำงานได้นานขึ้น

โฆษณาเหล่านี้โพสต์ในฐานะบุคคลธรรมดา เขียนเป็นภาษาจีนไปตามแพตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ด้วยการอ้างว่าผู้ถือวีซ่านักท่องเที่ยวสามารถทำงานส่งอาหารโดยได้รับค่าจ้างสัปดาห์ละ 700 เหรียญ (16,200 บาท) ต่อการทำงาน 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์หรือได้ค่าจ้างต่ำกว่า 12 เหรียญต่อชั่วโมง (270 บาท) ซึ่งต่ำกว่าอัตราค่าแรงงานขั้นต่ำตามกฎหมาย 18.93 เหรียญต่อชั่วโมง (438 บาท)

HarkHark แพตฟอร์มอันดับหนึ่งด้านเดลิเวอรี่สัญชาติจีนในนครซิดนีย์เขียนโฆษณาเป็นภาษาจีนว่า “ชาวมาเลเซียสามารถเข้ามาออสเตรเลียได้ด้วยวีซ่าท่องเที่ยวสามเดือน ถ้าคุณพบว่างานนี้เหมาะกับคุณ เราสามารถแนะนำคุณถึงวิธีเปลี่ยนให้เป็นวีซ่านักเรียนได้”

อย่างไรก็ตามกระทรวงกิจการภายในประเทศได้ออกมาย้ำว่า ผู้ถือวีซ่าท่องเที่ยวไม่สามารถทำงานในประเทศออสเตรเลียได้ ในขณะที่นักเรียนต่างชาติสามารถทำงานได้ไม่เกิน 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

มีบุคคลทั่วไปได้ใช้เฟสบุ๊คในการรับสมัครหาพนักงานให้กับแอพพลิเคชั่นเดลิเวอรี่ส่งอาหารอย่างเช่น EASI และ HarkHark ด้วยภาษาจีน พร้อมรูปภาพต่าง ๆ ดังตัวอย่างที่สำนักข่าว ABC นำเสนอ (ภาพด้านล่าง) เป็นกลุ่มว่าที่พนักงานเดลิเวอรีี่ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มในระหว่างการฝึกทำงาน

รูปภาพประกอบโฆษณาชิ้นหนึ่งในเฟสบุ๊คเสนองานให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ : ภาพจากสำนักข่าว ABC

สำนักข่าว ABC ได้สอบถามไปยังแอพพลิเคชั่นทั้งสอง ขณะนี้ HarkHark ยังไม่ให้คำตอบกลับมา ในขณะที่โฆษกหญิงของ EASI ปฏิเสธว่าบริษัทของตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโฆษณาดังกล่าว และจะรับพนักงานเฉพาะผู้มีสิทธิทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น

ทางด้านศูนย์แรงงานงานผู้อพยพ (MWC) ซึ่งมีฐานอยู่ในนครเมลเบิร์นได้ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว SBS ว่าเมื่อไม่นานมานี้ทางศูนย์ได้พบโฆษณาจำนวนหนึ่งใช้สื่อสังคมออนไลน์โฆษณาอย่างเปิดเผยชักชวนให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในออสเตรเลียเพื่อทำงานโดยไม่สนใจวีซ่าที่พวกเขาใช้เข้าเมือง

นาย Matt Kunkel ผู้อำนวยการศูนย์ MWC กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือชาวต่างชาติเหล่านี้เข้ามาทำงานในงานที่คนท้องถิ่นไม่ทำ ด้วยอัตราค่าจ้างที่ต่ำกว่ากฎหมายกำหนด ในสภาพการทำงานที่ย่ำแย่และบีบให้ชาวต่างชาติต้องยอมทำผิดเงื่อนไขในวีซ่าเพื่อความอยู่รอด

ทางศูนย์ยังกล่าวว่า นายจ้างที่ไร้ยางอายได้ผลักดันให้ลูกจ้างต่างชาติเข้าไปสู่กับดักของความยากจนทำให้พวกเขาจำต้องอยูในออสเตรเลียต่อไปโดยไม่มีหนทางที่จะเดินทางกลับบ้าน ต้องอยู่อย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ หรือไม่ก็ต้องเผชิญต่อการถูกเจ้าหน้าที่จับตัวเข้าศูนย์กักกันผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย

นาย Kunkel กล่าวว่ามีโฆษณาชิ้นหนึ่งโพสต์เมื่อไม่นานมานี้ ผู้โพสต์อ้างว่าไม่ได้เป็นเอเยนต์ แต่เป็น “การจ้างงานอย่างแท้จริง” ต้องการรับสมัครพนักงาน 10 ถึง 15 คนสำหรับทำงานให้กับ HarkHark ในนครซิดนีย์ แต่เตือนว่างานที่ทำ “ไม่ง่ายและอันตราย”

จากนั้นในวันรุ่งขึ้นมีโฆษณาอ้างว่าเป็นตัวแทนของ EASI ต้องการหาคนงานทำงานในนครเมลเบิร์น แต่บอกว่ารับเฉพาะผู้มีวีซ่าทำงานในออสเตรเลียอย่างถูกต้อง โดยไม่รับผู้ถือวีซ่าท่องเที่ยว แต่ได้กล่าวว่าชาวมาเลเซียที่ถือวีซ่าท่องเที่ยว 3 เดือนเข้ามาในออสเตรเลีย สามารถทำเรื่องขอวีซ่า (นักเรียน) ได้เมื่อทดลองฝึกงานและพบว่าเป็นงานที่เหมาะกับพวกเขา

(ขออนุญาตเสริมว่าทำไมต้องเป็นมาเลเซีย และไม่เป็นคนจีนด้วยกัน ก็เพราะการที่คนจีนจะเปลี่ยนวีซ่าจากนักท่องเที่ยวเป็นวีซ่านักเรียน พวกเขาจะต้องแสดงหลักฐานทางการเงินจำนวนสูงมาก จำไม่ได้ว่าเท่าไร แต่หลายหมื่นเหรียญพอที่จะเป็นค่าเล่าเรียนและค่ากินอยู่ในระหว่างศึกษา ผิดกับชาวมาเลเซียและคนไทยไม่มีกฏข้อบังคับของนี้ แต่คนไทยก็ต่างกับคนมาเลเซียเชื้อสายจีนตรงที่คนไทยอ่านภาษาจีนไม่ออก และคนไทยเข้ามาจำนวนไม่มากเหมือนมาเลเซียสามารถหางานที่ดีกว่าปั่นจักรยานเดลิเวอรี่อาหาร)

จากการสืบสวนของสำนักข่าว SBS พบว่าพนักงานของ EASI ก็ได้รับอัตราค่าจ้างต่ำกว่ากฎหมายกำหนด และทำงานในสภาพไม่มีการประกันอุบัติเหตุ ทำให้สหภาพแรงงานพนักงานขนส่งหรือ TWU ออกมากล่าวหา EASI ถึงเรื่องการกดขี่แรงงาน

แต่ EASI หรือมีอีกชื่อหนึ่งว่า Australian Delivery United Group ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาโดยอ้างว่า พนักงานเดลิเวอรีเหล่านี้เป็นการเข้ามาทำงานโดยผ่านตัวกลาง จึงไม่ถือเป็นพนักงานของ EASI พวกเขาถูกดูแลในเรื่องของค่าจ้างและชั่วโมงทำงานโดยนายจ้างของพวกเขา (เล่นง่ายจัง แต่อย่าเอาเยี่ยงอย่าง เพราะมันบาปกรรม)

ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาสำนักงานออมบุดส์แมนด้านความเป็นธรรมในการจ้างงานหรือ FWO ได้เดินเรื่องฟ้องทางกฎหมายต่อ Foodora บริษัทเดลิเวอรี่อาหารซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในประเทศเยอรมนี จากกรณีจ่ายค่าแรงงานต่ำกว่ากฎหมายกำหนด

เมื่อไม่สามารถทำกำไรได้สูงสุดบริษัทยักษ์ใหญ่จากเยอรมนีจึงตัดสินใจชำระบัญชีแล้วรีบปิดบริษัทเปิดแน่บกลับประเทศ ทำให้คดีฟ้องร้องจำต้องถูกยกเลิกไป ในขณะที่ Foodora ยังติดหนี้เงินภาษีจำนวนหลายล้านเหรียญ ที่ไม่สามารถเก็บหนี้จากซากบริษัทที่ทิ้งไว้เบื้องหลัง

หมายเหตุ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศในวันที่ 7 ตุลาคม 2018 เงิน 1 ดอลลาร์ออสเตรเลียเท่ากับ 71 เซนต์สหรัฐและเท่ากับ 23.13 บาท

 

jingjonews.com

jingjonews@hotmail.com

จิงโจ้นิวส์เป็นสื่อออนไลน์มีวัตถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน   โดยปลอดจากการโฆษณาในเชิงพาณิชย์



Categories: ข่าวออสเตรเลีย

Tags: , , , , , , , , , , , , , ,

Leave a Reply

Discover more from jingjonews

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading