
เชฟ David Thompson ที่ร้านอาหาร Nahm ในกรุงเทพฯ : ภาพจากนสพ. the Australian
15 ม.ค. 2016 เชฟ David Thompson ผู้ได้ชื่อว่าเป็นราชาแห่งอาหารไทยได้กลับมาเปิดร้านอาหารไทย Long Chim (ลองชิม) ในนครเพิร์ทรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย หลังจากไปเปิดร้านอาหารไทยในต่างแดนจนประสบความสำเร็จมาเป็นเวลา 15 ปี
ในโลกนี้อาจจะมีคนทำอาหารไทยได้ดีกว่าเชฟ Thompson หลายคน แต่ถ้าพูดถึงสุดยอดเชฟอาหารไทยที่ทั่วโลกรู้จักดี ณ ค.ศ.นี้คงไม่มีใครเกินไปกว่าเชฟชาวออสเตรเลียที่ชื่อ David Thompson เขาเริ่มสร้างชื่อเสียงในการทำอาหารไทยมานับตั้งแต่เปิดร้าน Darley Street Thai ในนครซิดนีย์ในปี 1992 หลังจากไปอยู่อาศัย-ทำงานและฝึกฝนการทำอาหารไทยอยู่ที่กรุงเทพฯมาหลายปี ต่อมาในปี 1995 เขาได้เปิดร้านอาหาร Sailors Thai ขึ้นที่ย่าน The Rocks ทำให้ชื่อเสียงของเชฟ Thompson ถูกกล่าวถึงในฐานะผู้นำด้านอาหารไทยในซิดนีย์และออสเตรเลีย
ในช่วงนี้เองนาง Christina Ong นักธุรกิจการโรงแรมชาวสิงคโปร์ผู้ได้ฉายาว่า “Queen of Bond Street” เห็นความสามารถพิเศษในตัวเชฟ Thompson จึงชักชวนให้เขาเปิดร้านอาหารไทยขึ้นภายในกลุ่มโรงแรม COMO Hotels and Resorts ของเธอ โดยเริ่มจากโรงแรม COMO ในซิดนีย์
ในปี 2001 เชฟ Thompson ไปเปิดร้านอาหาร Nahm (น้ำ) ภายในโรงแรม The Halkin ของนาง Ong ในกรุงลอนดอน เพียงครึ่งปีร้านอาหาร Nahm ของเขาก็ได้รับดาวมิชลินสตาร์ (Michelin Star) ซึ่งถือเป็นร้านอาหารไทยร้านแรกที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้
ในปี 2010 เขาได้เปิดร้านอาหาร Nahm สาขาที่สองที่โรงแรม Metropolitan ถนนสาทรใต้ กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นโรงแรมของกลุ่ม COMO เช่นกัน ต่อมาในปี 2013 ร้านอาหาร Nahm ที่กรุงเทพฯได้รับการยกย่องว่าเป็นร้านอาหารที่ดีที่สุดในประเทศไทย, เป็นร้านอาหารที่ดีที่สุดในอันดับที่สามของเอเชีย และเป็นร้านอาหารในกลุ่มที่ดีที่สุด 50 อันดับแรกของโลก ในปี 2014 ร้านอาหาร Nahm ถูกยกย่องว่าเป็นร้านอาหารที่ดีที่สุดในเอเชียโดย S. Pellegrino Restaurant Awards ซึ่งเป็นองค์กรจัดรางวัลร้านอาหารที่ได้รับความเชื่อถือที่สุดของโลก โดยนิตยสาร Restaurant ในสหราชอาณาจักร
เชฟ Thompson เป็นผู้ทำการศึกษาและวิจัยอาหารไทยอย่างจริงจัง รวมถึงศึกษาตำราอาหารไทยโบราณ (น่าจะเป็น “ตำราแม่ครัวหัวป่าก์” โดยท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ปี 1908 และ “ปะทานุกรมการทำของคาวของหวานอย่างฝรั่งแลสยาม” โดยนักเรียนดรุณีโรงเรียนกูลสัตรีวังหลัง ปี 1889 …จากข้อมูลตามใจฉันของไม้ซีกขีด) ถึงขนาดรัฐบาลไทยได้เชิญให้เขาเป็นผู้บรรยายในวิชาดังกล่าว

แกงเขียวหวานที่ร้าน Long Chim เครื่องแกงโขกเองสีจึงออกเขียวไม่ขาวอย่างเครื่องแกงสำเร็จรูป และมีมะเขือพวงกับมะเขือเปาะอีกด้วย : ภาพจาก Traveller.com.au
สำหรับรูปแบบอาหารที่ร้านอาหาร Long Chim ที่นครเพิร์ทจะต่างจากร้านอาหารไทย Nahm แต่จะยังคงนำเสนออาหารรสชาติจัดจ้านอย่างต้นตำรับอาหารไทยโดยแท้
เชฟ Thompson กล่าวว่า “หากทำลาบก็จะต้องเผ็ด ถ้าไม่เผ็ดก็ไม่ใช่ลาบ หากทำพัดไทยก็ต้องใส่กุ้งเพราะเป็นวิธีอย่างพัดไทยดั้งเดิม ไม่ใช่ใส่หมูหรือผักหรือไก่ เพราะนั่นจะไม่ใช่ผัดไทย”
เมนูประจำของร้าน Long Chim ยังมีจุดเด่นที่สเต๊ะเนื้อ ทอดมันปลา แกงเขียวหวาน และอื่น ๆ อีกมากมาย
เขากล่าวว่า ประเภทอาหารไทย (Thai cuisine ) สามารถแยกได้สองรูปแบบ (aspects) แบบแรกเป็นอาหารกินที่บ้าน จะมีอาหารประเภทต่าง ๆ ใส่เป็นถ้วยจานสำหรับสมาชิกทุกคนแบ่งกัน โดยมีจานข้าวสวยเป็นของเฉพาะตน สมาชิกทุกคนมานั่งกินพร้อมกัน ซึ่งเป็นรูปแบบที่ลูกค้าเข้ามากินที่ร้าน Long Chim
อีกรูปแบบหนึ่งเป็นอาหารข้างถนน (street food) เป็นอาหารกินสะดวก ง่าย ไม่มีพิธีรีตรอง หิวเมื่อไรก็เลือกแวะกินร้านอาหารริมถนนเมื่อนั้น เดี่ยวนี้พัฒนาเป็นอาหารลูกผสม (hybridised cuisine) จะเรียกว่าเป็นครีโอล์ก็ได้ (Creole คือภาษาที่พัฒนามาจากสองภาษา ในที่นี่น่าจะหมายถึงลูกผสม) เป็นอาหารที่มีอิทธิพลของอาหารไทย, จีน, อินเดีย, มาเลย์, เขมร และเวียดนาม ซึ่งเขายังไม่ขอเอ่ยถึงอาหารประเภทก๋วยเตี๋ยว ซึ่งที่ร้าน Long Chim ก็ไม่เสริฟอาหารที่ทำจากเส้นก๋วยเตี๋ยวเช่นกัน
สำหรับที่ตั้งของร้านอาหาร Long Chim สาขานครเพิร์ทอยู่ภายในอาคารคอมเพล็กซ์ State Building อาคารจดทะเบียนเป็นมรดกของชาติที่ได้รับการบูรณะใหม่ โดยเฉพาะตัวโรงแรม The Treasury ซึ่งกลุ่มบริษัท COMO ได้สัมปทานเพื่อดัดแปลงให้เป็นโรงแรมระดับห้าดาวนั่นเอง

ร้านอาหาร Long Chim สาขาสิงคโปร์ ต้นฉบับของ Long Chim ออกแบบและวางระบบการจัดการโดยเชฟ David Thompson : ภาพจาก goodfood.com.au
jingjonews@hotmail.com
จิงโจ้นิวส์เป็นสื่อออนไลน์มีวัตุถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน โดยปลอดจากการโฆษณาในเชิงพาณิชย์
Categories: ข่าวออสเตรเลีย, บทความทั่วไป
Leave a Reply