ว่าแต่เขา…เด็กไทยก็ไม่รู้ชื่อนายกฯคนแรก

508 tamjai-03

.

ว่าแต่เขา…เด็กไทยก็ไม่รู้ชื่อนายกฯไทยคนแรก

.

บทความตามใจฉัน “ว่าแต่เขา..เด็กไทยก็ไม่รู้ชื่อนายกฯคนแรก” ในหนังสือพิมพ์ไทย-ออสนิวส์ปี 2009

บทความตามใจฉัน “ว่าแต่เขา..เด็กไทยก็ไม่รู้ชื่อนายกฯคนแรก” ในหนังสือพิมพ์ไทย-ออสนิวส์ปี 2009

บทความ “ว่าแต่เขา…เด็กไทยก็ไม่รู้ชื่อนายกฯคนแรก” เป็นบทความลำดับที่ 508 ของไม้ซีกขีดตีพิมพ์ในนสพ.ไทยออส-นิวส์ฉบับวันที่ 3 ถึง 16 มิถุนายน 2009 (พ.ศ. 2552) มีด้วยกันสองหน้าเศษ หน้าแรกเป็นการเกริ่นเรื่องถึงการค้นพบว่าบรรดาหลาน ๆ ของไม้ซีกขีดซึ่งขณะนั้นอยู่่ในวัยเรียนมหาวิทยาลัยและจบแล้วต่างไม่รู้ชื่อนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย แต่ทุกคนรู้ว่านายจอร์จ วอชิงตันเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกาเหมือนกับเด็กออสซี่

สำหรับบทความนี้ผมขออนุญาตไม่นำเสนอเนื้อหาในหน้าแรก แต่จะเริ่มที่หน้าสองจนจบดังนี้ครับ

.

พระยามโนปกรณ์นิติธาดาและภริยา

พระยามโนปกรณ์นิติธาดาและภริยา

เรื่องหลานทั้ง ๔ ของผมไม่รู้จักชื่อนายกรัฐมนตรีคนแรกของไทย แต่รู้จักชื่อประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา ได้กลายเป็นกรณี “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง” เข้ากับตัวผม สำนวนนี้เทียบได้กับสำนวนอังกฤษว่า “pot calling the kettle black” คือ หม้อว่ากาต้มน้ำ (ก้น) ดำ โดยไม่ดูตัวเองว่าก็ดำเหมือนกัน เพราะต่างฝ่ายต่างถูกหุงต้มจนก้นดำครับ

ผมกลายเป็นอิเหนาก็เนื่องมาจาก… ผมเคยเขียนถึงเรื่องการสำรวจทางวิชาการเกี่ยวกับนักเรียนมัธยมออสเตรเลีย พบว่านักเรียนออสซี่ส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าใครคือ นายกรัฐมนตรีคนแรกของออสเตรเลีย   แต่กลับรู้ว่าใครคือประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา จนเป็นเหตุให้รัฐบาลออสเตรเลียทำการปฏิรูปการศึกษาให้นักเรียนกลับมารู้จักประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของตนเองมากขึ้น   รวมถึงได้เอาเหตุนี้มาเป็นข้อทดสอบกับผู้อพยพที่ต้องการจะโอนสัญชาติเป็นชาวออสเตรเลีย เมื่อปี 2007 ที่ผ่านมา

เมื่อครั้งผมเป็นนักเรียน ผมได้รับการสอนสั่งเพียงว่า นายกรัฐมนตรีคนแรกของไทยคือ “พระยามโนปกรณ์นิติธาดา” นามเดิม “ก้อน หุตะสิงห์” แต่ก็ไม่ได้ทราบข้อมูลอะไรมากกว่านี้เพราะผมเรียนสายวิทยาศาสตร์     จวบจนโตขึ้นมาได้รับข้อมูลเพิ่มเติมว่า ท่านเคยเป็นอาจารย์ของท่านปรีดี   พนมยงค์ ถูกชักชวนขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก   เพราะท่านเป็นผู้ที่ได้รับความนับถือของกลุ่มอำนาจเก่า และเป็นที่ยำเกรงของกลุ่มอำนาจใหม่   แต่ต่อมาเกิดความขัดแย้งในแนวความคิดกับกลุ่มอำนาจใหม่   จนถูกเนรเทศไปอยู่ปีนัง และเสียชีวิตที่นั่น     ซึ่งผมก็ทราบเพียงเท่านี้   โดยมิได้สนใจที่จะหาข้อมูลของท่านเพิ่มเติม     นอกจากอ่านข้อมูลเพื่อศึกษาในเรื่องอื่น   ที่ได้อ้างอิงถึงเรื่องของท่านครับ

@@@@

ร. ๗ ในวันพระราชทานรัฐธรรมนูญวันที่ ๑๐ ธ.ค. ๒๔๗๕

ร. ๗ ในวันพระราชทานรัฐธรรมนูญวันที่ ๑๐ ธ.ค. ๒๔๗๕

ที่นี้ลองมาดูประวัติของนายกรัฐมนตรีคนแรกของไทยพอสังเขปดังนี้ครับ ท่านเกิดในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๒๗ (ค.ศ. ๑๘๘๔) ที่จังหวัดพระนคร บิดาชื่อฮวด มารดาชื่อแก้ว สำหรับตัวท่านชื่อว่า “ก้อน” ในสกุล “หุตะสิงห์”

ในวัยเด็กได้เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนวัดเลียบ (วัดราชบูรณะ), โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย, โรงเรียนอัสสัมชัญ ก่อนเข้าเรียนกฎหมายที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม (เนติบัณฑิตสยาม) จากนั้นจึงเดินทางไปศึกษาวิชากฎหมายต่อที่อังกฤษได้เป็นเนติบัณฑิตชั้น the Middle Temple ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่สมาคมเนติบัณฑิตสภาสูงสุดของอังกฤษและเวลส์ที่มีชื่อว่า Inns of Court

เมื่อกลับมารับราชการในสยาม หน้าที่การงานของท่านเจริญก้าวหน้าด้วยดี   โดยมีตำแห่งสูงสุดถึง อธิบดีศาลฎีกาและเสนาธิการกระทรวงการคลัง

ท่านสมรสกับคุณหญิงมโนปกรณ์นิติธาดา นามเดิมนิตย์ สามเสน ท่านมีทายาทหรือไม่ด้วยเวลาอันจำกัดผมยังค้นไม่พบ แต่คนในสกุลนี้มีชื่อเสียงในวงการราชการหลายท่าน โดยเฉพาะศาสตราจารย์ประกอบ หุตสิงห์ (พ.ศ. ๒๔๕๕-๒๕๓๗) อดีตประธานศาลฎีกา รองนายกรัฐมนตรี นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และองคมนตรีครับ

@@@@

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)

เมื่อคณะราษฎร์เข้ายึดอำนาจการปกครองในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ (ค.ศ. ๑๙๓๒) ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม (ชั่วคราว) ในวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ผู้รักษาพระนครและผู้นำการรัฐประหาร   ได้แต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกจำนวน ๗๐ คน เข้าประชุมครั้งแรกที่พระที่นั่งอนันตสมาคมในวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ เพื่อสรรหา “ประธานคณะกรรมการราษฎร” ซึ่งตำแหน่งนี้หลังจากประกาศรัฐธรรมนูญฉบับถาวรในวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “นายกรัฐมนตรี”

แรกทีเดียวคณะราษฎร์ประสงค์จะให้นายปรีดี พนมยงค์ (บางก็ว่าเป็นพระยาทรงสุรเดช) หนึ่งในผู้นำยึดอำนาจการปกครองขึ้นเป็นประธานคณะกรรมการราษฎร   แต่ในขณะนั้นสยามยังมีความแตกแยก อีกทั้งนายปรีดียังมีอายุเพียง ๓๒ ปีเท่านั้น ถือว่ายังอ่อนด้วยวัยวุฒิ   และนายปรีดีก็ปฏิเสธที่จะรับตำแหน่ง   แต่ได้เสนอให้เชิญอำมาตย์เอกพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ผู้เป็นอาจารย์กฎหมายของท่าน  ซึ่งเป็นผู้มีบารมี   มีอาวุโสและเป็นที่นับถือจากกลุ่มอำนาจเก่า   เป็นผู้มีความชำนาญทั้งด้านกฎหมายและเศรษฐกิจ อีกทั้งท่านมิได้เป็นสมาชิกคณะราชฎร์   จึงถือว่าเหมาะสมที่จะขึ้นเป็นผู้บริหารประเทศคนแรกของระบอบการปกครองใหม่ ในช่วงสถานการณ์ประเทศคับขัน

ในวันเดียวกันนั้นก็ได้มีการแต่งตั้งสมาชิกสภา ๑๔ คนขึ้นเป็นคณะกรรมการ หรือรัฐมนตรี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนของคณะคณะราษฎร์

เมื่อเริ่มงานยังไม่ทันไร พระยามโนประกรณ์ฯก็ถูกสมาชิกสภาโจมตีว่าไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทยตามที่คณะราษฎร์ให้ไว้กับประชาชน ดังนั้นหน้าที่ทำแผนร่างโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ จึงตกไปเป็นหน้าที่ของนายปรีดี   พนมยงค์

ในวันที่ ๙ ธันวาคม คณะกรรมการชุดแรก (คณะรัฐมนตรี) ก็สิ้นสุดลงตามวาระ เพื่อเปิดให้มีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรในวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ในวันนี้ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดาขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง

@@@@

พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันทุมเสน)

พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันทุมเสน)

ในช่วงนี้นายปรีดีได้ร่างแผนโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ หรือ “สมุดปกเหลือง” เสร็จเรียบร้อย   แม้พระยามโนปกรณ์ ฯ ในฐานะนายกรัฐมนตรีจะไม่เห็นชอบด้วย แต่ร่างดังกล่าวก็ถูกนำขึ้นถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวินิจฉัย ซึ่งพระองค์ก็ทรงไม่เห็นชอบด้วย

ทำให้เกิดความแตกแยกกันในหมู่สมาชิกคณะราษฎร สมาชิกสภา ข้าราชการ และขุนนาง   ในขณะที่สมาชิกคณะราษฎร์สายทหารนำโดยพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันทุมเสน) ออกมาให้การสนับสนุนพระยามโนประกรณ์ฯ     จนกระทั้งในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖ (ค.ศ. ๑๙๓๓) ท่านจึงได้ใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภา พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา

และด้วยเหตุที่แผนเศรษฐกิจฉบับ “สมุดปกเหลือง” ถูกหลายฝ่ายมองว่าเป็นเค้าโครงเศรษฐกิจของคอมมิวนิสต์ และกล่าวหาว่าได้ลอกมาจากของนายโจเซฟ สตาลินผู้นำสหภาพโซเวียต   ทำให้นายปรีดีถูกเนรเทศกลับไปกรุงปารีส ท่ามกลางความไม่พอใจของกลุ่มคณะราษฎร์ที่สนับสนุนนายปรีดี

ในช่วงนี้พระยามโนประการณ์ได้ออกพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์เป็นฉบับแรกอีกด้วยด้วย

ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับคณะราษฎร์ได้ขยายจนถึงแตกหักในวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖ เมื่อพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา พร้อมการสนับสนุนของคณะราษฎร์สายทหาร รวมถึงพันโทหลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) ใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจ บีบบังคับให้พระยามโนปกรณ์ฯลาออก   และกราบบังคมทูลให้เปิดสภาทันที

ในวันนั้นพระยาโนปกรณ์ฯถูกควบคุมตัวนำขึ้นรถไฟเดินทางออกจากประเทศสยามไปลี้ภัยอยู่ที่ปีนัง

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้เพียง ๑๕ วัน ในวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ก็ถวายบังคมลาออก โดยอ้างว่าไม่สันทัดทางการเมือง แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป โดยพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ ม.จ.วรรณไวทยากร วรวรรณ เป็นที่ปรึกษา

ในช่วงนี้มีการขจัดคู่อริทางการเมืองและการทหารที่เคยสนับสนุนพระยามโนปกรณ์ฯและทำลายสมาชิกคณะราชฎร์ด้วยกัน คือ นายพันเอกพระยาทรงสุรเดช นายพันเอกพระยาฤทธิ์อัคเณย์ นายพันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ์ ให้พ้นจากวงการเมือง   พร้อมกับเชิญนายปรีดีกลับเมืองสยาม

นายปรีดีได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ในขณะเดินทางมาถึงสิงค์โปร์ว่า แผนเศรษฐกิจของท่านไม่ใช่คอมมิวนิสต์ แต่เป็นแนวความคิดแบบสังคมนิยมเข้มข้น (Radical Socialists) ซึ่งทั้งสองลัทธินี้มีความแตกต่างกัน

พระราชหัตเลขา ร.๗ แผ่นที่ ๖ ทรงประกาศสละราชแผ่นดิน

พระราชหัตเลขา ร.๗ แผ่นที่ ๖ ทรงประกาศสละราชแผ่นดิน

ในอีกไม่กี่เดือนต่อมาในเวลา ๑๓ นาฬิกา ๔๕ นาทีของวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ (ค.ศ. ๑๙๓๔) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศสละราชสมบัติ ขณะประทับอยู่ที่บ้านโนล (Knowle) แครนลี (Cranleigh Village ใน Surrey) ประเทศอังกฤษ หลังเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงกับฝ่ายรัฐบาลจนไม่สามารถรอมชอมกันได้

พระยามโนปกรณ์ฯได้ใช้เวลาบั้นปลายชีวิตของท่านอยู่ที่ประเทศมาเลเซียนานถึง ๑๕ ปี จนถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๙๑ (ค.ศ. ๑๙๔๘) รวมศิริอายุ ๖๔ ปีเศษ   ท่านได้ชื่อว่าเป็นข้าราชการมือสะอาดที่ไม่เคยมีเรื่องด่างพร้อยตลอดชีวิตราชการของท่าน



Categories: บทความ ตามใจฉัน

Tags: , , , , ,

Leave a Reply

Discover more from jingjonews

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading