เรื่องนี้เรียกว่า “ชื่อ” ตอน.. จบ (แล้ว)

Screen Shot 2014-10-11 at 2.11.39 AM

เรื่องนี้เรียกว่า “ชื่อ” ตอน.. จบ (แล้ว)

หน้าแรกของ “เรื่องนี้เรียกว่า ‘ชื่อ’ ตอนจบ” ที่ลงในหนังสือพิมพ์ไทย-ออสนิวส์ฉบับ ๕๓๔ วันที่ ๑๖-๒๙ มิถุนายน ๒๐๑๐

หน้าแรกของ “เรื่องนี้เรียกว่า ‘ชื่อ’ ตอนจบ” ที่ลงในหนังสือพิมพ์ไทย-ออสนิวส์ฉบับ ๕๓๔ วันที่ ๑๖-๒๙ มิถุนายน ๒๐๑๐

สวัสดีครับ ‘เรื่องนี้เรียกว่า “ชื่อ” ตอนจบ’ เป็นบทความลำดับที่ ๕๓๔ ของไม้ซีกขีด เขียนลงในหนังสือพิมพ์ไทย-ออสนิวส์ฉบับที่ ๕๓๔ วันที่ ๑๖ ถึง ๒๙ มิถุนายน ๒๐๑๐ (ค.ศ. ๒๕๕๓) ฉบับนี้เป็นภาคจบของ “ชื่อ” แม้เนื้อหาจะสับสน แต่ขอให้อ่านจนจบนะครับ เพราะมีแง่ความคิดดี ๆ ในตอนนี้

สำหรับภาพผมได้พยายามรักษารูปภาพบุคคลเดิมที่ปรากฎตามต้นฉบับ   แต่ได้เปลี่ยนภาพใหม่หมด จากภาพตั้งเป็นภาพนอนครับ ขอเชิญอ่านได้เลยครับ

 @@@@

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่เคารพรัก.. ฉบับนี้ผมขอนำเรื่อง “ชื่อ” มาเล่าอีกตอนหนึ่งเป็นการปิดฉาก   ด้วยเหตุผลสองประการคือ ผมตั้งใจจะเขียนถึงตอนนี้เป็นเดิมอยู่แล้ว ส่วนตอน “ชื่อ” ที่ผ่านมาสองตอนแรก เกิดจากปากกาพาไป แล้ววกเข้าหาวัตถุประสงค์หลักไม่ได้ จึงปล่อยเลยตามเลย

ประการที่สองก็คือ ผมต้องการเขียนเรื่องที่ไม่ต้องเสียเวลาค้นคว้า เพื่อรีบเขียนให้จบ จะได้ดูถ่ายทอดสดบอลโลก ๒๐๑๐ ด้วยตา ผมไม่อยากดูด้วยหู อย่างที่ผมคุ้นเคยกับการดูหนัง ดูละครและดูข่าวสารบ้านเมืองครับ

เรื่อง “ชื่อ” ฉบับที่ผ่านมา   ท่านผู้อ่านเจ้าเดิมอีเมลมาแซวว่า ผมลงแต่รูปภาพผู้หญิง   ไม่กลัวโดนกล่าวหา “เลือกที่รักมักที่ชังทางด้านเพศบ้างหรือ?”   ก็ต้องยอมรับว่าผมชอบดูภาพผู้หญิงมากกว่าภาพผู้ชายครับ อีกทั้งในช่วงนี้หน้าหนังสือพิมพ์มีแต่ข่าวตึงเครียดทั้งนั้น   ได้ดูรูปสวย ๆ งาม ๆ ก็น่าจะช่วยได้บ้าง

ส่วนรูปที่ผมเลือกมาลงออกแนวเซ็กซี่   ก็ต้องขอยอมรับว่าเลือกเอง   ด้วยวิธีการเขียนชื่อเล่นลงไปใน Google แล้วกดเอ็นเทอร์   ก็ได้ภาพต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นภาพดาราผู้หญิง   แต่ก็มีข้อจำกัด คือภาพส่วนใหญ่ ผู้โพสต์ภาพจะพิมพ์เครื่องหมายความเป็นเจ้าของภาพ   ซึ่งผมเชื่อว่าผู้โพสต์เหล่านี้ไม่ใช่เจ้าของภาพที่แท้จริง   แต่ไม่ทราบว่าทำไปหาพระแสงหอกอะไร ถ้าไม่ต้องการให้ผู้อื่นใช้ก็ควรเก็บเอาไว้ดูเอง   ไม่ควรโพสต์ลงอินเทอร์เน็ท     ผิดกับภาพคนดังทางซีกโลกตะวันตก หรือของเอเชียด้วยกัน   เขาจะไม่ใส่เครื่องหมายแสดงความเป็นเจ้าของให้เปื้อนเปอะเลอะเทอะ       ส่วนภาพที่ผมนำมาลงได้พยายามเลือกภาพที่ไม่มีเครื่องหมายหวงห้ามใด ๆ   ครับ

 @@@@

จาง  ซี่ยี่

จาง ซี่ยี่

เพื่อกันออกนอกเรื่องอีก… ผมขออนุญาตเข้าสู่ประเด็นเลยครับ   คือว่า..ความตั้งใจเดิมที่ผมจะหยิบยกมาเขียนก็คือชื่อภาษาไทย ที่นำมาเขียนเป็นภาษาอังกฤษ มันเป็นระบบตัวใครตัวมัน ผิดกับประเทศในเอเชียหลายประเทศอย่างเช่นจีนกับญี่ปุ่นเขาใช้ระบบเดียวกัน เมื่อไรหนอที่ไทยเราจะหันมาใช้ระบบการเทียบชื่ออย่างเขาบ้าง..นะ!

ผมอยากเห็นรัฐบาลไทย หรือหน่วยงานของไทย อย่างเช่นกระทรวงต่างประเทศ กระทรวงพานิชย์ หรือ แม้แต่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยหันมาให้ความสำคัญกับเรื่อง “ชื่อ” ซึ่งมันเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ

ที่เราอาจมองไม่เห็น     แต่ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง แล้วก็เกาหลีใต้เขาให้ความสำคัญมานานแล้ว   หรือแม้แต่ออสเตรเลียซึ่งใช้ภาษาอังกฤษยังต้องให้ความสำคัญกับเรื่อง “ชื่อ” เลยครับ

ผมขอยกตัวอย่างเช่น ไทยเรามีโครงการครัวโลกไปสู่ตลาดนานาชาติ     แต่เราจะไปไม่ได้ไกล   ถ้าเรายังปล่อยให้ร้านอาหารไทยต่าง ๆ ตั้งชื่ออาหารกันตามอำเภอใจ เป็นต้นว่า “ต้มยำกุ้ง” อาหารนำร่องสู่ตลาดโลก ถูกเขียนว่า Tom Yum Kung ก็มี, Tom Yam Kung ก็มี, Tom Yum Gung ก็มี, Tom Yam Goong และในชื่อสะกดอื่น ๆ หรืออย่างอาหารหมายเลขสอง “ผัดไทย” บ้างก็ใช้ Pad Thai, บ้างก็ Phad Thai และ Pat Thai ก็มี

ซ้ำหนักเข้าไปอีก ผมเคยเห็นรายชื่อเมนูอาหารไทยเขาเล่นตั้งชื่อกันมันหยดย้อยเป็นต้นว่า “หมูแดดเดียว” ก็เรียกว่า Pork One Sunshine และ “เนื้อย่างน้ำตก” ก็เขียนว่า Beef roast waterfall มันส์เขาไหมละครับ

เจ้า เหว่ย

เจ้า เหว่ย

ถ้าพวกเราไม่ร่วมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อาหารไทยที่มีรสถูกปากชาวต่างชาติ ก็ยากที่จะมีชื่อติดปากพวกเขา เพราะฝรั่งไม่รู้ว่าจะเรียก หรือจะเขียนว่าอย่างไรดี…   พอแนะนำชื่อให้คนอื่นไปกินบ้าง   เขาเข้าไปหาที่ร้านอื่น ก็ไม่พบชื่ออาหารอย่างว่า

ปัญหาเรื่องชื่ออาหารเป็นเรื่องใหญ่ครับ     ในออสเตรเลียโดยเฉพาะซิดนีย์ เมลเบิร์น และบริสเบนที่อ้างตัวเองว่าเป็นศูนย์รวมแห่งอาหารนานาชาติก็เคยปวดหัวกับชื่ออาหารเหมือนกัน   นักวิจารณ์อาหารไม่รู้ว่าจะเรียกชื่ออาหารอย่างไร ขืนวิจารณ์ผิดประเภทไปก็ยุ่งแน่!

ท่านผู้อ่านที่ติดตามอ่านข่าวไทย-ออสนิวส์อาจจะผ่านตามาบาง   ถึงข่าวกลุ่มผู้เขียนตำราปรุงอาหารและคอลัมนิสต์เขียนแนะนำร้านอาหารและการทำอาหาร ต่างประสบปัญหาในการเขียนวิธีปรุงอาหารเอเชีย เพราะพวกเขาสับสนกับชื่อเครื่องปรุง โดยเฉพาะชื่อผักเอเชีย

เนื้อหาข่าวครั้งนั้น   มีการชวนผู้สื่อข่าวไปสุ่มตรวจร้านขายของชำที่ย่านแคบรามัตตา… สำหรับท่านผู้อ่านที่อยู่ต่างรัฐหรือผู้ที่อยู่ในซิดนีย์แต่ไม่เคยไปแคบรามัตตา ผมขอเพิ่มนโนภาพให้สักนิด ให้นึกถึงย่านเยาวราชและสำเพ็งที่กรุงเทพฯเข้าไว้     แคบรามัตตาเป็นถิ่นคนเวียดนามและคนจีนผู้ภาษาแต้จิ๋วอยู่อย่างหนาแน่น   พวกหัวแดงแทบไม่มี   คือมีพอ ๆ กับพวกฝรั่งที่หลงเข้าไปเดินในเยาวราชนั่นแหละครับ

ที่แคบบรามัตตานี้เอง พวกเขาเข้าไปสุ่มดูการตั้งชื่อผักในร้านขายของชำซึ่งเปิดขายติด ๆ กัน ๔ ร้าน   พบว่าผักอย่างเดียวกันมีป้ายชื่อเขียนเป็นภาษาอังกฤษแตกต่างกันทั้งสี่ร้าน   พวกเขาให้ชื่อเรียกภาษาอังกฤษบ้าง จีนกวางตุ้งบ้าง จีนแต้จิ๋วบาง จีนกลางบ้าง เวียดนามบ้างแล้วแต่ถนัด       ด้วยเหตุนี้ในปี ๒๐๐๕ รัฐบาลกลางโดยกระทรวงอุตสหกรรมขั้นพื้นฐาน   และองค์กร AUSVEG จึงเข้ามาแก้ปัญหาด้วยการกำหนดชื่อกลางเพื่อใช้เรียกชื่อผักเอเชีย ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ

ผมไม่มีเวลาไปค้นข่าว (เพราะอีกสองชั่วโมงทีมชาติออสซี่จะเตะกับเยอรมันแล้ว) เอาเป็นว่า หลังจากใช้เวลาถกปัญหากับตัวแทนหลายฝ่าย โดยเฉพาะผู้แทนซูเปอร์มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่ และผู้แทนร้านขายของช้ำ   ในที่สุดพวกเขาเลือกที่จะใช้ภาษากวางตุ้งเป็นภาษากลาง     จึงเกิดชื่อผักเอเชียอย่างเป็นทางการเช่น     Wombok, Buk Choy, Baby Buk Choy, Choy Sum, Pak Choy และ Gai Lan เป็นต้น …..โปรดดูภาพประกอบ

ตัวอย่างชื่อผักเอเชียอย่างเป็นทางการของออสเตรเลีย

ตัวอย่างชื่อผักเอเชียอย่างเป็นทางการของออสเตรเลีย

เหตุผลที่ใช้ชื่อผักภาษากวางตุ้งหรือครับ… ก็เพราะชาวกวางตุ้งเป็นกลุ่มคนจีนกลุ่มแรกที่อพยพเข้ามาทำการปลูกผักเอเชียเป็นครั้งแรกตั้งแต่ทศวรรษที่ ๑๘๗๐   อย่างย่านเก่าแก่ของซิดนีย์ก็คือที่มาร์เกต การ์เดนส์ เป็นฟาร์มปลูกผักในย่านอเล็กซานเดีย     ที่นี้ชาวจีนได้ทำการปลูกผักด้วยวิธีดั้งเดิมติดต่อกันมาเป็นเวลานับสองศตวรรษ

แต่ด้วยเป็นพื้นที่ของเทศบาลในเขตกลางใจเมืองซิดนีย์   จึงทำให้นักการเมืองเห็นแล้วน้ำลายหยดติ๋ง ๆ อยากนำไปขายให้นายทุน จนทำให้สำนักงานมรดกแห่งชาติจดทะเบียนมาร์เก็ตการ์เดนเป็นมรดกของชาติ   และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการชาวจีนทำการปลูกผักด้วยวิธีดั้งเดิมต่อไป   แต่ด้วยพรรคการเมืองเป็นผู้ควบคุมสภานิติบัญญัติ กฎหมายจึงอยู่ในมือพวกเขา ดังนั้นมรดกของชาติหลายแห่งจึงถูกรัฐบาลแก้ไขกฎหมาย เพื่อขายเอาเงินมาทำประชานิยมให้กับพรรคของตนไปอย่างน่าอนาจใจครับ

@@@@@

หลิว ยี่ เฟย

หลิว ยี่ เฟย

ต้องขออนุญาตหักดิบกลับมาที่การตั้งชื่อกันต่อ… มิฉะนั้นผมจะเตลิดเปิดเปิงไปกันใหญ่…   การคิดระบบแปลงชื่อให้เป็นชื่อสากล   เป็นเรื่องที่ประเทศใหญ่ในเอเชียถือเป็นเรื่องสำคัญ   อย่างในจีนเขาถึงกับคิดระบบการเขียนที่เรียกว่า พินอิง (Pinyin) เป็นระบบการสะกดและการอ่านเทียบกับภาษาจีนกลางและภาษาจีนสกุลอื่น ๆ รวมถึงการเทียบเป็นอักษรโรมัน และภาษาคอมพิวเตอร์เดียวกัน   ในปัจจุบัน Pinyin ที่ได้รับการยอมรับในประเทศจีน, ฮ่องกง, มาเก๊า, ไต้หวัน, มาเลเซีย และสิงคโปร์   ระบบภาษานี้ยังได้รับการยอมรับจากองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน หรือ ISO อีกด้วย

ดังนั้นเวลาที่พวกเขาพูดกับชาวโลกตะวันตกก็จะเป็นภาษาเดียวกัน   เวลาเขาเขียนชื่อคน สัตว์, สิ่งของ และสถานที่ ต่าง ๆ จึงเป็นระบบเดียวกันหมด   ซึ่งคนต่างชาติสามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจกับชื่อระบบนี้ได้ง่ายและไม่สับสน

ผมของยกตัวอย่างเช่น คนนามสกุล “จาง” ทุกคนก็จะเขียนเป็นอักษรโรมันว่า “Zhang” ไม่มีใครทะลึ่งสะกด Jang, Chang   เมื่อฝรั่งทุกคนเห็นคำ Zhang   เขาก็ออกเสียงว่า “จาง” กันทั้งนั้นครับ

ผมขอยกตัวอย่างคนดังสกุลจางเช่น   Zhang Ziyi (จาง ซี่ยี่)   หรือผู้มีสกุล “จ้าว” หรือ “เจ้า” ทุกคนก็เขียนว่า “Zhao”   อย่างเช่น Zhao Wei (เจ้า เหว่ย), ผู้มีสกุล “หลิว” ก็จะเขียนว่า “Liu” อย่างเช่น Liu Yi Fei (หลิว อี้ เฟย), ผู้มีนามสกุล “ฟ่าน” หรือ “ฟั่น” ก็จะเขียนว่า “Fan”   อย่างเช่นสาวหน้าหวาน Fan Bing Bing (ฟ่าน ปิง ปิง), ผู้มีสกุล “ซู” ก็จะใช้คำว่า “Shu” อย่างเช่นนางเอกไต้หวันที่เคยเล่นหนังไทย “คนเห็นผี ภาค ๒”   Shu Qi (ซู ฉี) เป็นต้น

 จีจี เหลียง

จีจี เหลียง

แต่ดาราฮ่องกงรุ่นเก่า หลายคนนิยมสะกดชื่อตามแบบ Jyutping (ตามระบบภาษากวางตุ้ง) ซึ่งได้ลดความนิยมไปตามกาลเวลา     เป็นต้นว่าผู้ใช้นามสกุล “เหลียง”   ถ้าใช้อย่าง Jyutping   ก็จะใช้ “Leung” อย่างเช่น Gi Gi Leung (จีจี้ เหลียง) แต่ถ้าใช้อย่าง Pinying ก็จะเป็น Gi Gi Liang,   หรือผู้ใช้นามสกุล “จาง” ใช้อย่าง Jyutping ก็จะเป็น   “Cheung” หรือ “Jeung” อย่างเช่นดาราลูกเป็ดขี้เหร่ “จาง มั่น อวี้” จะเขียนเป็น “Cheung Man Yuk”   แต่ถ้าใช้อย่าง Pinyin ชื่อของเธอก็จะสะกดว่า “Zhang Man Yu”   เป็นต้น

ดาราชื่อดัง “โจว เหวิน ฟะ”   ใช้ชื่ออย่าง Jyutping ว่า Chow Yun-fat แต่ถ้าใช้ชื่อระบบ Pinyin จะเป็น Zhou Run Fa   หรือพระเอกจอมตลกอย่าง “โจว ชิง ฉือ”   เขาใช้ชื่อว่า Chow Sing Chi ถ้าเป็นระบบ Pinyin จะเขียนว่า Zhou Xing Chi ครับ

แต่เวลาคนไทยเรียกชื่อดาราจีน เราถอดจากภาษาจีน มาเป็นภาษาไทย โดยไม่ผ่านภาษาอังกฤษอย่างมีแบบแผน เพียงแต่ว่า บางครั้งอาจจะออกเลียนเสียงจีนกลาง จีนแต้จิ๋ว หรือจีนกวางตุ้ง   เช่น “จาง ซางฟง”   ถ้าถอดเป็นแต้จิ๋วก็จะกลายเป็น “เตีย ซางฟง” เป็นต้น

คนที่เคยดูหนัง Anna and the King เวอร์ชั่นโจว เหวิน ฟะกับโจดี้ ฟอสเตอร์   ถ้าสังเกตไตเติลภาพยนตร์ให้ดี   ผู้สร้างพยายามทำเก๋ด้วยการมีตัวหนังสือภาษาไทยประกอบภาษาอังกฤษ     ด้วยการจ้างคนไทยคนหนึ่งที่มีความรู้ภาษาอังกฤษดีมาก แต่ความรู้ภาษาด้านภาษาศาสตร์ และภาษาไทยต่ำเกินไป    จึงปรากฎคำว่า Fox เขียนเป็นภาษาไทยว่า “ฟ๊อกซ์” ซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักการใช้วรรณยุกต์     ชื่อผู้นำฝ่ายชาย “Chow Yun Fat” เขาก็ให้ภาษาไทยว่า “เชาว์ ยัน แฟ็ต” เห็นแล้วยังไม่ต้องเลยไปดูฉากถัดไปที่ผู้สร้างใช้ธงไตรรงค์โบกสะบัดอยู่บนยอดเสา   ในเหตุการณ์สมัยรัชกาลที่ ๔   ผมก็จัดภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นหนังเกรดต่ำไปเรียบร้อยแล้ว

 @@@@

ฟ่าน ปิง ปิง

ฟ่าน ปิง ปิง

หันมาดูประเทศญี่ปุ่น   เมื่อญี่ปุ่นต้องการมาเปิดการค้า พวกเขาตระหนักดีว่า ฝรั่งออกเสียงภาษาของเขายาก   จึงเกิดมีการใช้ชื่อภาษาของตน   ให้ฝรั่งอ่านง่าย คืออ่านอย่างสำเนียงฝรั่ง หรือเรียกชื่อญี่ปุ่นอย่างสำเนียงฝรั่ง

ผมมีประสบการณ์อยู่กับนักเรียนสาวชาวญี่ปุ่นที่ผลัดเปลี่ยนกันมาอยู่ในความดูแลตลอดเกือบ ๒๐ ปีอย่างต่อเนื่อง ยามที่พวกเธอคุยกันและเรียกชื่อกันเอง   เราจะจับชื่อพวกเขายากมาก   เพราะพวกเขาเรียกชื่อตามสำเนียงญี่ปุ่น มันไม่ได้ออกชัด ๆ อย่างที่เราเรียก โยโกะ ยูกิ ไอโกะ หรือเมกูมิเป็นต้น

ญี่ปุ่นก็มีระบบการตั้งชื่อให้ชาวต่างชาติอ่านง่าย เช่นสระ O ก็อ่านว่า โอะ หรือ โอ เป็นต้นว่า Yoko “โยโกะ”, สระ e ออกเสียง เอะ หรือ เอ เช่นชื่อ “Rie” (ริเอะ),   สระ I ก็ออกเสียง อิ เช่น sushi (ชูชิ) เป็นต้น

ผมไม่มีความรู้ทางด้านภาษาญี่ปุน   และก็ไม่รู้จักดาราญี่ปุ่นเท่าทีควร   ทราบเพียงแต่ว่าชื่อตัวที่พวกเขาเรียกกันเอง   กับชื่อตัวที่ให้ชาวต่างชาติเรียก มีความแตกต่างกันด้านสำเนียงเสียงเท่านั้น   แต่ที่สามารถยืนยันได้ก็คือ ชาวญี่ปุ่นมีระบบชื่อที่เขียนเป็นอักษรโรมันด้วยระบบเดียวกันครับ

 @@@@

ซู ฉี

ซู ฉี

ผมขอตบท้ายที่ชื่อของไทย..ว่าเราควรจะทำอย่างไร? ให้มีระบบมาตรฐานเดียวกันกับเขาบ้าง     เพราะรอบบ้านเรา อินโดนีเซีย เวียดนาม เคยเป็นเมืองขึ้นชาติตะวันตกมาก่อน ปัจจุบันได้ใช้อักษรโรมันเป็นภาษาเขียน   ส่วนฟิลิปปินส์มีภาษาตากาล็อกเป็นภาษาราชการควบคู่ไปกับภาษาอังกฤษ     จะเหลือก็แต่กัมพูชากับพม่าเท่านั้นกระมัง  ที่ผมไม่ทราบว่าเขามีมาตรฐานในการเขียนชื่อเป็นอักษรโรมันหรือไม่   ส่วนลาวผมคิดว่าเขาไปไกลกว่าไทยนะ

สมัยผมยังเด็กผมเคยตั้งคำถามกับตนเองว่า ทำไม “ลาว” เขาเขียนชื่อพลเมืองและประเทศของเขาว่า Lao กับ Laos ทำไมไม่เขียนว่า Law หรือ Laaw เพราะ “ว” มันตรงกับอักษรโรมัน “w”   เมื่อเติบใหญ่มาจึงมีความคิด มีความสังเกตสังกาว่า เมื่อ “ว” ทำหน้าที่เป็นตัวสะกดตามระบบแม่เกอว หรือนักภาษาศาสตร์บางท่านถือว่ามันทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของสระ เช่นสระเอียว, สระอาว และสระเอวเป็นต้น   ซึ่งเสียงตัวสะกด “ว” เหล่านี้มันใกล้เคียงกับเสียง O ในภาษาอังกฤษนั่นเอง

มาครั้งที่สวนสัตว์ทารอนก้ากำเนิดลูกช้างเชือกใหม่เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทางสวนสัตว์ได้เชิญชวนประชาชนร่วมโหวตชื่อโดยเลือกชื่อไทยจำนวน ๕ ชื่อ     ตอนนั้นหนังสือพิมพ์ไทยออส-นิวส์รายงานว่าได้นำชื่อทั้ง ๕ ไปสอบถามท่านผู้รู้   ความจริงบุคคลคนนั้นไม่ใช่ผู้รู้แต่อย่างใด เขาคนนั้นคือผมเอง   ผมได้ใช้หลักการเทียบเคียง

ภาษาโดยยึดถือตามแบบแผนของราชบัณฑิตยสถานและขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO) ซึ่งมีวิธีการเขียนชื่อเป็นอักษรโรมันผิดกับที่สวนสัตว์ตั้งไว้ทั้ง ๕ ชื่อ     อย่างเช่นชื่อที่ได้รับการโหวตมากที่สุดคือ “ปาฎิหาริย์” เขาเขียนว่า “Pa Thi Han” แต่ถ้าเป็นระบบ ISO จะเขียนว่า Patihan ซึ่งผมเห็นว่าถูกต้องมากกว่าครับ

ผมได้ศึกษาระบบการเทียบภาษาไทยเป็นชื่อในอักษรโรมันทั้งของราชบัณฑิตยสถานและ OSI อย่างต่อเนื่องมาหลายปี   เคยมีความขัดแย้งบ้างในบางจุด     แต่เมื่อเวลาผ่านไปผมยอมรับว่า ปราชญ์ทางภาษาของทั้งสององค์กรนี้ท่านรู้แจ้งเห็นจริง   และขอสนับสนุนถ้าหน่วยงานของไทยคิดจะปฏิรูประบบการเทียบภาษาให้เป็นระบบเดียวกันทั้งประเทศ   ขอให้เลือกเอาสองระบบนี้ครับ

ผมมีประสบการณ์กับชาวออสเตรเลีย หรือลูกไทยเกิดในออสเตรเลียเคยชินกับภาษาเขียนของค่ายแกรมมี่ คือซึมซับมาจากดีวีดีคาราโอเกะ       แต่ผมก็ไม่สนับสนุนภาษาของแกรมมี่   แม้ว่าภาษาของพวกเขาจะเป็นที่นิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ก็ตาม   ในทางกลับกัน   ผมอยากให้คนในค่ายแกรมมี หันมาพิจารณาระบบการเขียนอักษรโรมันของ ISO และราชบัณฑิตฯด้วย เพื่อไม่ให้ภาษาวิบัติไปมากกว่านี้

@@@@

จาง มั่น อวี้

จาง มั่น อวี้

เมื่อหลายปีก่อน ผมเคยเขียนบทความเชิญชวนให้ร้านอาหารไทยในออสเตรเลีย   เป็นน้ำหนึ่งเดียวกัน ในการใช้ชื่ออาหารเป็นอย่างเดียวกัน   เหตุผลในตอนนั้นคือ อยากเห็นคำไทยเป็นคำทับศัพท์ในพจนานุกรมแมคควอรี่

ซึ่งเป็นพจนานุกรมมาตรฐานของออสเตรเลีย   คืออยากเห็นคำว่า ต้มยำกุ้ง พัดไทย ทอดมันปลา น้ำปลา ได้การยอมรับอยู่ในพจนานุกรมเล่มนี้   เหมือนอย่างชื่ออาหารของหลายชาติที่ถูกบรรจุเรียบร้อยแล้ว การที่จะทำอย่างนั้นได้   เราก็ต้องเขียนชื่ออาหารเป็นอักษรโรมันอย่างเดียวกัน

ผมมีความเชื่อว่า ถ้าประเทศไทยต้องการเปิดตลาดอาหาร วัฒนธรรม การค้า   การศึกษา การกีฬาและอื่น ๆ สู่สังคมโลก   พวกเราก็ควรพูดและเขียนเป็นภาษาเดียวกันเสียก่อน   เพื่อให้ชาวต่างชาติเขาจะได้เรียกชื่อเราถูกก่อน แล้วความสำเร็จอย่างอื่นก็จะตามมา

แต่ผมก็ไม่เห็นด้วยที่จะแปลงคำไทยเป็นอักษรโรมันอย่างเต็มรูปแบบ อย่างเช่น “สุวรรณภูมิ” เขียนเป็นอักษรโรมันอย่างเป็นทางการว่า “Suvarnabhumi” ซึ่งเป็นการเทียบภาษาชั้นสูงตามรากภาษาบาลี ด้วยการคำนึงถึง โฆษะ อโฆษะ นาสิก สิถิล ธนิต   กับการเทียบพยันชนะบาลี ๓๓ ตัวกับอักษรโรมัน ด้วยวรรค กัณฐชะ (วรรค กะ ),ตาลุชะ (วรรค จะ ), มุทธชะ (วรรค ฏะ ),   ทันตชะ (วรรค ตะ ) และ   โอฏฐชะ (วรรค ปะ ) กับสระ (รัสสระ กับ   ทีฆสระ) ๘ ตัว ซึ่งมีความจำเป็นเพื่อไม่ให้ลืมกำพืดเดิมของภาษาครับ

แต่เราก็ควรมีภาษาเทียบเป็นอักษรโรมันอย่างง่าย มิฉะนั้นเราจะคุยกับนานาชาติไม่รู้เรื่อง แค่ฝรั่งบอกคนขับแท็กซี่ว่า “ฉาน ต้อง-กาน ไป สา-หนาม-บิน ซู-วาน-นา-พู-มิ” ก็แทบจะสื่อกับไม่รู้เรื่องแล้วครับ เพราะคนไทยไม่รู้จัก “สุ-วัน-นะ-พู-มิ”

ทำไมจีนซึ่งถือว่าเขามีภาษาและวัฒนธรรมสืบทอดกันมาอย่างยืนยาว   ยังต้องคิดระบบภาษาเขียนอย่างง่าย หรือ อักษรจีนตัวย่อ (simplified Chinese)     ขึ้นมาควบคู่ไปกับภาษาทางประเพณี หรือ อักษรจีนดั้งเดิม (traditional Chinese) อันนี้นอกจากต้องการให้คนของเขาอ่านออกเขียนได้เพิ่มขึ้นและเพื่อหวังควบคุมภาษาจีนอื่น ๆ แลัว     แต่พวกเขายังหวังให้มันปูทางไปสู่ความเป็นเจ้าโลกในด้านเศรษฐกิจ ด้านการค้า วัฒนธรรมและการกีฬาอีกด้วย

การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกใกล้เข้ามามาแล้ว….!! และหน้ากระดาษก็จะหมดแล้ว…. ผมขอสรุปว่า ผมอยากเห็นคนไทยใช้ชื่อในอักษรโรมันเป็นระบบเดียวกันในรูปแบบอย่างง่าย   โดยยึดหลักการเทียบเสียงพยัญชนะและสระตามหลักเกณฑ์ของราชบัณฑิตยสถานและของ ISO ซึ่งท่านผู้อ่านสามารถค้นหาได้จากอินเทอร์เน็ต

ผมขอยกตัวอย่างการเทียบพยัญชนะต้นกับอักษรโรมันพอสังเขปดังนี้ ก (k), ข ค (kh), ง (ng), จ ฉ ช ฌ (ch), ต (t), ถ ท ธ (th), ผ พ ภ (ph), ฝ ฟ (f), ย (y) และ ว (w)   และพยัญชนะตัวสะกดเทียบเป็นอักษาโรมันเช่น ก ข ค (k), ง (ng), ศ ษ ส, ด, ต, ถ, ท, ธ (t), ญ ณ น ร ล ฬ (n), บ, ป, ผล พ, ภ, ฝ, ฟ (p), ม (m), ย (i) และ ว (o)

สระไทยเทียบกับอักษรโรมันเช่น อะ (a), อึ อื (ue), เอะ (e), แอะ แอ (ae), เออะ เออ (oe), โอะ โอ เอาะ ออ (o), เอือะ เอือ (uea), อัวะ อัว (ua) และสระ เอา (ao) เป็นต้น

ท้ายนี้คุณละครับ. เคยกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดบ้างไหม   ถ้าไปอีกครั้งขอให้สังเกตชื่อป้ายอำเภอของท่านที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ถ้ายังเขียนว่า Ampher หรือ Amphur ละก็ถิ่นเกิดของท่านยังล้าหลังเขาอยู่   แต่ถ้าป้ายชื่อสะกดว่า   Amphoe ละก็ถิ่นบ้านเกิดของท่านเขียนอย่างระบบสากลครับ……..

 โจว เหวิน ฟะ

โจว เหวิน ฟะ

ท่านผู้อ่านสามารถติดตามอ่านบทความตามใจฉันตอนอื่น ๆ ได้ ด้วยการเลือก Categories “บทความตามใจฉัน” ที่ด้านบนมุมขวา หรือที่ด้านล่างมุมซ้าย

หมายเหตุ

อ่านชื่อตอน ๑ คลิกที่นี่  เรื่องนี้เรียกว่า “ชื่อ
อ่านชื่อตอน ๒ คลิกที่นี่ เรื่องนี้เรียกว่า “ชื่อ” ตอน ๒


Categories: บทความ ตามใจฉัน

Tags: , , ,

Leave a Reply

Discover more from jingjonews

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading