ยกเลิกซื้อเรือดำน้ำฝรั่งเศสมีค่าโง่ตามน้ำมากว่า 5 พันล้านเหรียญ

ผู้เสียภาษีชาวออสเตรเลียกำลังเผชิญต่อการเสียค่าโง่ 5.5 พันล้านเหรียญกับการเลิกสัญญาสร้างเรือดำน้ำกับบริษัทของฝรั่งเศสทั้งที่ยังไม่เริ่มก่อสร้างแต่อย่างใด : ภาพป๊อปอาร์ตโดยจิงโจ้นิวส์

2 เม.ย. 2022 การที่ออสเตรเลียยกเลิกโครงการสร้างเรือดำน้ำกับฝรั่งเศสอาจส่งผลให้ผู้เสียภาษีจะต้องจ่ายค่าชดเชยถึง 5.5 พันล้านเหรียญ (138,435 ล้านบาท) แม้เป็นการยกเลิกสัญญาก่อนที่การก่อสร้างจะเริ่มขึ้น

ในระหว่างการไต่สวนที่วุฒิสภากรุงแคนเบอร์ร่าในวันศุกร์ที่ 1 เมษายน ผู้แทนจากกระทรวงกลาโหมได้ตอบคำถามถึงค่าเสียหายจากการยกเลิกสัญญาที่มีต่อบริษัท Naval Group ของฝรั่งเศส

ดราม่าโครงการสร้างเรือดำน้ำเริ่มจากรัฐบาลออสเตรเลียยกเลิกแผนการผลิตเรือดำน้ำกับประเทศญี่ปุ่นในเดือนเมษายนปี 2016 แล้วหันมาทำสัญญาผลิตเรือดำน้ำมูลค่า 90 พันล้านเหรียญ (2.27 ล้านล้านบาท) กับประเทศฝรั่งเศส ก่อนที่รัฐบาลกลางเปลี่ยนใจอีกครั้งยกเลิกสัญญากับฝรั่งเศสเมื่อปีที่ผ่านมา หันมาเลือกเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ภายใต้ความร่วมมือของกลุ่ม AUKUS กับสหรัฐและสหราชอาณาจักร

(หมายเหตุ AUKUS เป็นชื่อย่อของประเทศผู้ร่วมลงนามกติกาสัญญาความมั่นคงไตรภาคีระหว่างเครือรัฐออสเตรเลีย, สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร เพื่อแบ่งปันข้อมูลและเทคโนโลยี่ในสาขาต่าง ๆ รวมถึงข้อมูลข่าวกรอง, เทคโนโลยีควอนตัมและการพัฒนาขีปนาวุธร่อน เกิดขึ้นในเดือนกันยายนปี 2021 เพื่อคานอำนาจจีนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก)

ข่าวออนไลน์สำนักข่าว ABC วันที่ 2 เมษายน 2022 เสนอข่าวการยกเลิกสัญญาโครงการสร้างเรือดำน้ำกับฝรั่งเศสอาจทำให้ผู้เสียภาษีต้องรับภาระจ่ายค่าเสียหายกว่า 5 พันล้านเหรียญ

คำถามจากส.ว. Penny Wong ผู้นำพรรคฝ่ายค้านในวุฒิสภาถึงต้นทุนการจ่ายค่าชดเชยจากการยกเลิกสัญญา

นาย Tony Dalton รองปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นผู้ตอบคำถามและยืนยันว่าเงินชดเชยในการยกเลิกสัญญากับบริษัท Naval Group จะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่ากว่า 5 พันล้านเหรียญ จากเดิมที่เคยประเมินไว้ 2.56 พันล้านเหรียญ

นาย Dalton กล่าวว่า ต้นทุนค่าเสียหายยังไม่เป็นที่ยุติ เนื่องจากการเรียกร้องยังคงมีอย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่นาย Steven Groves ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารของกระทรวงกลาโหมกล่าวว่า กระทรวงยังคงเจรจาค่าเสียหายจากการสูญเสียรายได้ของบริษัท Naval Group โดยคาดว่าการเจรจาจะยืดเยื้อออกไปในปี 2023

เมื่อถามว่าความผิดพลาดนี้เป็น “ความอับอาย” หรือไม่? (ถ้าเป็นนักการเมืองไทยจะใช้คำว่า “ค่าโง่”)

นาย Simon Birmingham รัฐมนตรีการเงินได้ออกมาปกป้องรัฐบาลของตน โดยเลี่ยงไปว่า ภายใต้สถานการณ์ผันผวนของโลก การเปลี่ยนจากเรือดำนามพลังงานดีเซลมาเป็นพลังงานนิวเคลียร์ถือเป็นสิ่งจำเป็น

เขากล่าวว่า ในตอนทำสัญญากับฝรั่งเศส ออสเตรเลียยังไม่มีข้อมูลทางด้านเทคโนโลยี่ของเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่ดีพอ

(ขออนุญาตเสริมเท่าที่จำได้ โครงการสร้างเรือดำน้ำผลิตโดยบริษัทของญี่ปุ่นในรัฐนิวเซาท์เวลส์เกิดขึ้นในสมัยนาย Tony Abbott เป็นนายกรัฐมนตรีกำลังทำสัญญากับญี่ปุ่นอยู่แล้วแต่เกิดเปลี่ยนรัฐบาล พอนาย Malcolm Turnbull ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเขาได้เปลี่ยนมาทำสัญญากับบริษัทของประเทศฝรั่งเศสแบบปัจจุบันทันด่วนในปี 2016 ก่อนที่จะถูกนาย Scott Morrison นายกรัฐมนตรีโปรอเมริกันยกเลิกสัญญากับฝรั่งเศสในปี 2021 มาใช้เทคโนโลยี่สร้างเรือดำน้ำของสหรัฐอเมริกาแทน นายกรัฐมนตรีทั้งสามคนมาจากพรรคเดียวกัน)

ทางด้านนาย Brandan O’Connor รัฐมนตรีเงากลาโหมของพรรคฝ่ายค้านได้เรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลข้อมูลในเรื่องของการเจรจาตัดลดค่าเสียหายจากสัญญาก่อสร้างเรือดำน้ำ Attack Class ของฝรั่งเศสที่ไม่เกิดขึ้นอย่างน่าเสียดาย

หมายเหตุ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศในวันที่ 2 เม.ย. 2022 เงิน 1 ดอลล่าร์ออสเตรเลียเท่ากับ 75 เซนต์สหรัฐและเท่ากับ 25.17 บาท (ข้อมูลกลางจาก google.com.au)

jingjonews.com
jingjonews@hotmail.com (งดใช้ชั่วคราว)



Categories: ข่าวออสเตรเลีย

Tags: , , , , , , , , , , ,

Leave a Reply

Discover more from jingjonews

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading