แสงใต้ปรากฎบนท้องฟ้าสามารถเห็นได้ในรัฐวิกตอเรียและแทสมาเนีย

ภาพแสงใต้จิงโจ้นิวส์ครอปมาจาก google image สองภาพบนซ้ายมือได้รับคำยืนยันว่าเป็นภาพที่ถ่ายในคืนวันพุธที่ 15 พฤษภาคม 2019

18 พ.ค. 2019 ข่าวนี้มีมาต่อเนื่องสองวันแล้ว แต่ติดที่ไม่สามารถหาภาพที่เจ้าของไม่หวงลิขสิทธิได้ สองวันที่ผ่านมานักนิยมดูปรากฎการณ์น่าทึ่งบนท้องฟ้าได้เห็น Aurora Australis หรือแสงใต้ (southern lights) แบบชัดแจ๋วกันแล้ว

ปรากฎการณ์ทางธรรมชาติได้เริ่มเกิดขึ้นในคืนวันพุธที่ 15 และพฤหัสฯที่ 16 พฤษภาคมโดยสามารถเห็นได้ชัดทางตอนกลางของรัฐวิกตอเรียและชายฝั่งตะวันออกของรัฐแทสเมเนีย มีนักล่าแสงใต้จำนวนไม่น้อยสามารถถ่ายภาพสวยงามของแสงใต้ไว้ได้

แสงใต้ในครั้งนี้มีสีชมพู, ม่วง, ฟ้า และเขียว

ก่อนหน้านั้นสำนักงานอุตุนิยมวิทยา (BoM) ได้ออกข่าวแจ้งล่วงหน้าว่าพายุสนามแม่เหล็ก (geomagnetic storm) ได้ก่อตัวขึ้น เป็นสัญญาณบอกว่าจะมีแสงใต้ปรากฎทางตอนใต้ของออสเตรเลียในคืนวันพุธและพฤหัสฯ

ปรากฎการณ์แสงเหนือ (ในซีกโลกเหนือ) และแสงใต้ (ในซีกโลกใต้) มีสาเหตุเหมือนกันคือจะเกิดขึ้นเมื่อประจุไฟฟ้าจากอนุพลังงานของดวงอาทิตย์เข้าสู่บรรยากาศโลก ผนวกกับอนุภาคประจุ (บวกหรือลบหว่า?) ของออกซิเจนและไนโตรเจน ซึ่งปรากฎการณ์นี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลาของปี

สำนักงาน BoM ให้คำแนะนำว่าสถานที่ที่สามารถเห็นแสงใต้ได้ด้วยตาเปล่าคือที่แอนตาร์กติกา, แทสเมเนียและชายฝั่งทะเลตอนใต้ของออสเตรเลีย

แสงใต้เป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่บางครั้งให้แสงนิ่ง และบางครั้งเป็นแสงที่เต้นได้ และบางครั้งให้เสียงอีกด้วย

แสงใต้ที่สวยที่สุดจะต้องเกิดในคืนที่มีเมฆน้อย, พระจันทร์ไม่ส่องแสงนวลใส (ต้องข้างแรม) และมีมลพิษแสง (light pollution) ต่ำ ช่วงที่แสงใต้ปรากฎให้เห็นสวยงามที่สุดจะเกิดขึ้นเพียงหนึ่งหรือสองชั่วโมง ส่วนช่วงเวลาที่ดีที่สุดเกิดขึ้นในเวลา 22.00 น.ถึง 2.00 น.

แสงใต้ในคืนวันที่ 16 พ.ค. 2019 ถ่ายโดยนาย Benjamin Alldridge ใน Southern Hemisphere Aurora Group Facebook

จิงโจ้นิวส์ต้องขออภัยท่านผู้อ่านที่ไม่สามารถนำภาพขนาดใหญ่มาเสนอได้ เนื่องจากติดปัญหาลิขสิทธิ์

สำหรับผู้ที่ต้องการมีประสบการณ์ชมแสงใต้กับตาตนเองก็คงต้องพึ่งทัวร์ชมแสงใต้ หรือไม่ก็ต้องคอยติดตามข่าวจาก BoM หรือข้อมูลจากเว็บไซท์ของกลุ่มคนรักแสงใต้เช่น Southern Hemisphere Aurora Group Facebook เป็นต้น

หมายเหตุ ท่านสามารถอ่านข่าวเกี่ยวเนื่องกับแสงใต้ได้ด้วยการกดคลิก “แสงใต้ Aurora Australis” ที่ Tags ท้ายข่าวนี้ (สามารถดูรูปเก่า ๆ ได้ก่อนที่เขาจะมีความเข้มงวดเรื่องลิขสิทธิภาพ)

 

jingjonews.com

jingjonews@hotmail.com (งดใช้ชั่วคราว)

Jingjonews เป็นสื่อออนไลน์มีวัตถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน โดยปลอดจากการโฆษณาในเชิงพาณิชย์



Categories: ข่าวออสเตรเลีย

Tags: , , , , , , , , , , , ,

Leave a Reply

Discover more from jingjonews

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading