“เวจเจไมท์” อาหารคู่ออสซี่ชน

“เวจเจไมท์” อาหารคู่ออสซี่ชน

โดยไม้ซีกขีด

บทความตามใจฉันตอน “เวจเจไมท์ อาหารคู่ออสซี่ชน” ในหนังสือพิมพ์ไทย-ออสนิวส์ฉบับวันที่ 6 ถึง 19 พฤศจิกายน 2013

สวัสดีครับ..เนื่องจากวันนี้มีข่าวไม่ค่อยมาก จึงขออนุญาตนำเสนอบทความตามใจฉันในหัวห้อ “”เวจเจไมท์” อาหารคู่ออสซี่ชน” เป็นบทความที่ 619 ของไม้ซีกขีดเขียนในหนังสือพิมพ์ไทย-ออสนิวส์ฉบับ 6-19 พฤศจิกายน 2013

บทความนี้ได้รับอนุญาตจากผู้เขียนให้พิมพ์เผยแพร่ได้ จะเสียเวลาก็ตอนที่ต้องพิมพ์ใหม่ทั้งหมดเท่านั้น เนื้อหามีดังนี้ครับ

โฆษณาเวจเจไมท์ในทศวรรษที่ ๑๙๔๐

เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคมที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ ๙๐ ปีของการกำเนิดอาหารประเภทครีมทาขนมปังแผ่น Vegemite ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นอาหารคู่บ้านคู่เมืองของชาวออสเตรเลีย ผมจึงถือเป็นโอกาสเหมาะที่จะเขียนถึงเรื่องของ Vegemite โดยขออนุญาตใช้คำทับศัพภาษาไทยว่า “เวจเจไมท์” นะครับ

เวจเจไมท์ถือว่าเป็นอาหารคู่บ้านคู่เมืองของชาวออสซี่ เขาว่ากันว่าตื่นเช้าขึ้นมา อาหารมื้อแรกของแทบทุกบ้านในออสเตรเลียต้องมีขนมปังปิ้งทาเวจเจไมท์ครับ

เรื่องเวจเจไมท์เคยเป็นข่าวใหญ่ครั้งล่าสุดก็ในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี ๒๐๐๘ (พ.ศ. ๒๕๕๑) ที่กรุงปักกิ่งเป็นเจ้าภาพ ทางการจีนได้สั่งห้ามนำอาหารจากต่างประเทศเข้าประเทศ โดยเจ้าภาพอ้างว่าประเทศจีนมีอาหารนานาชนิดไว้รองรับอยู่แล้ว เวจเจไมท์จึงไม่สามารถตามไปรับใช้นักกีฬาจิงโจ้ได้   ครั้งนั้นเล่นเอาทีมนักกีฬาออสซี่ที่ติดเวจเจไมท์อย่างงอมแงม   แทบจะลงแดงตาย เหมือนคนเคยกินข้าวแต่ถูกบังคับให้กินขนมปัง มันปรับตัวลำบากนะครับ   พอถึงคราวที่สหราชอาณาจักรเป็นเจ้าภาพโอลิปปิกปี ๒๐๑๒ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ไม่มีปัญหา เขาไม่ห้าม แถมในกรุงลอนดอนก็มีเวจเจไมท์วางขายครับ

เวจเจไมท์วางขายคู่กับมาร์ไมในอังกฤษ โปรดสังเกตป้ายติดราคาขวดละ 6.70 ปอนด์

สำหรับผมแล้วเคยกินเวจเจไมท์มาตั้งแต่เข้ามาอยู่ออสเตรเลียใหม่ ๆ ประสบการณ์ครั้งแรกพบว่า มันอร่อยมาก เรียกว่าชอบเลย! แต่ต่อมามีอยู่ครั้งหนึ่งไปกินมันเข้ามันมีรสเฝื่อนจนแสยะปาก มันคงจะเสียแล้ว นับจากนั้นมาผมก็เลยเลิกกิน เพราะกลัวจะไปเจอรสชาตินี้อีก   ความรู้สึกนี้เหมือนกับตอนกินปลาช่อนที่ซื้อมาจากร้านขายปลาย่านมาร์ริกวิลตามที่กล่าวถึงในตามใจฉันฉบับที่ ๖๑๒ ว่า ผมเคยซื้อปลาช่อนมากินก่อนหน้านี้สามครั้งสามคราวได้กินเนื้อปลาสดมีรสหวานในตัว แต่พอครั้งหลังสุดเจอปลาชอนตาใสเหงือกแดงดูสดดี   แต่ทำอาหารออกมาปลากลับรสจืดชืดจนเสียความรู้สึก ทำให้เข็ดขยาดไม่กล้าซื้อกินอีกเลย

#ความรู้สึกนี้คงเหมือนกับคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่กินปลาเพราะครั้งหนึ่งเคยเจอปลาเน่า   หรือคนในรุ่นเดอะบูมเมอร์หลายคนไม่กินช็อกโกแลตเพราะมีประสบการณ์ฝังใจกับการถูกผู้ปกครองหลอกให้กินยาถ่ายบรุ๊คแล๊ค (Brooklax ยาระบายที่ทำคล้ายช็อคโกแลต) คนรุ่นเจเนอเรชั่น Y คงไม่รู้จักยาถ่ายชนิดนี้ เพราะเกิดไม่ทัน   แต่ผมมีเพื่อนในวัยห้าสิบขึ้น จำนวนพอสมควรที่ไม่กินช็อกโกแลตอีกเลยก็เพราะฝังใจกับการถูกหลอกให้กินเจ้าบรุ๊คแล๊คนี่แหละครับ

@@@@

 

โฆษณาเวจเจไมท์ในทศวรรษที่ ๑๙๙๐

ที่นี้มาดูต้นกำเนิดของ “เวจเจไมท์” ว่าเกิดขึ้นครั้งแรกที่ใด เรื่องนี้ต้องย้อนหลังไปในศตวรรษที่ ๑๙ เมื่อนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษากากที่เหลือจากการหมักเบียร์ พบว่ามันมีคุณค่าทางอาหารสูง ในช่วงเดียวกันนายจัสตุส ไลบิกนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันได้คิดค้นสินค้า “ออกโซ” หรือ “Oxo” เป็นสารสกัดจากเนื้อวัว มีรสชาติดีและแปลกใหม่ จึงนำมาบรรจุขวดขาย แต่สินค้านี้ไม่ประสบความสำเร็จเหมือนสินค้าเนื้อวัวของเขา

ต่อมาบริษัทในอังกฤษได้ขอซื้อสิทธิบัตรการทำสารสกัดยีสต์จากนายไลบิก มาทดลองหารสชาติอาหารที่แปลกใหม่ขึ้น จนกระทั่งนำเทคโนโลยีนี้มาใช้กับกากหมักเบียร์ที่ได้จากโรงงานบอสส์แอนด์บริวเวอรี่ ได้อาหารสีน้ำตาลดำมีรสชาติดีเหมาะสำหรับใช้ทาขนมปัง จากนั้นในปี ๑๙๐๒ (พ.ศ. ๒๔๔๕) บริษัทมาร์ไมท์ฟูตคอมปานี (Marmite Food Company) ในเมืองเบอร์ตัน-ออน-เทรนต์ แคว้นสแตฟฟอร์ดไชร์ได้เริ่มผลิตและขายสินค้าอาหารสีน้ำตาลดำนี้ โดยให้ชื่อว่า “มาร์ไมท์” (Marmite) บรรจุในขวดกระปุก

ชื่อของสินค้า “มาร์ไมท์” มาจากคำในภาษาฝรั่งเศส ที่เรียกชามเครื่องปั่นดินเผาสำหรับใส่อาหาร ซึ่งสินค้า “มาร์ไมท์” ในยุคแรกก็บรรจุกระปุก (jar) ที่ทำจากเครื่องปั้นดินเผาเช่นกัน

ผลิตภัณฑ์ “มาร์ไมท์” ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว   เมื่อมีผู้อพยพจากสหราชอาณาจักรเข้ามาตั้งหลักแหล่งในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์พวกเขาได้ทำเอามาร์ไมท์เข้ามาด้วย

ในปี ๑๙๐๘ (พ.ศ. ๒๕๔๑) บริษัทซานิตาเรียม ฟูด คอมปานี (Sanitarium Food Company) ได้ลิขสิทธิในการจำหน่ายมาร์ไมท์แต่ผู้เดียวในทวีปออสเตรเลีย

เมื่อสินค้ามาร์ไมท์เกิดขาดแคลนอย่างหนักในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง   บริษัทซานิตาเรียมได้ตัดสินใจผลิตสินค้าอย่างมาร์ไมท์เป็นของตนเอง ด้วยการสร้างโรงงานผลิตขึ้นที่เมืองไครสต์เชิร์ทในเกาะใต้ของนิวซีแลนด์ในปี ๑๙๑๙ (พ.ศ. ๒๔๖๒)

สินค้ามาร์ไมท์ในนิวซีแลนด์พยายามผลิตให้ได้ตามปริมาณความต้องการของตลาด แต่พอถึงปี ๑๙๒๑ (พ.ศ. ๒๔๖๔) ความต้องการสินค้ามีมากกว่าที่โรงงานจะผลิตได้   ตอนนี้เองที่นาย “เฟรด วอล์คเกอร์” มองเห็นโอกาสของช่องว่างในธุรกิจนี้

นายเฟรด วอล์คเกอร์

นายวอล์คเกอร์เกิดในเมลเบิร์นในปี ๑๘๘๔ (พ.ศ. ๒๔๒๗) ด้วยวัยเพียง ๑๙ ปีเขาเปิดกิจการนำเข้าและส่งออกที่ฮ่องกง จนถึงวัย ๒๔ ปีเขาเดินทางกลับมาเมลเบิร์นมาเปิดธุรกิจทางด้านอาหารทั่วไป ต่อมาเน้นหนักด้านอาหารเนื้อกระป๋อง, เนย และน้ำมันสัตว์

สินค้าหนึ่งของเขาคือ Bonox เป็นอาหารสกัดจากเนื้อที่ใช้เทคโนโลยีอย่างเดียวกับ Oxo ของนายไลบิก   ในปี ๑๙๒๒ (พ.ศ. ๒๔๖๕) นายวอล์คเกอร์ได้ว่าจ้างดร. “ไคริล คัลลิสเตอร์” นักเคมีและผู้เชี่ยวชาญด้านโภชณาการให้ค้นหาสูตรอาหารบางอย่างจากกากของเบียร์หมัก ดร.คัลลิสเตอร์ได้เริ่มงานค้นคว้าโดยไม่มีข้อมูลใด ๆ มาก่อน

เขาได้ทดลองผิดลองถูกจนกระทั่งในที่สุดได้ครีมสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ จากการสกัดกากเบียร์จนได้ของเหลวเข้มข้นสีใส นำมาผสมเกลือ และเติมรสชาติจากสารสกัดจากหัวหอม, ผักเซเลรี่และผักอื่น ๆ ที่เป็นสูตรลับไม่เปิดเผย

บริษัทเฟรด วอล์คเกอร์ แอนด์ โกได้เริ่มทำการผลิตอาหารทาขนมปังสีน้ำตาลเข้ม โดยการใช้กากเบียร์หมักจากโรงงานผลิตเบียร์คาร์ตันแอนด์ยูไนเต็ด บริวเวอรี่

เมื่อได้ครีมป้ายขนมปังรสชาติดีพร้อมออกจำหน่าย ก็ถึงเรื่องสำคัญในลำดับต่อมาคือชื่อสินค้า นายวอล์คเกอร์ได้เสนอเงินรางวัล ๕๐ ปอนด์แก่ผู้ชนะการประกวดชื่อ มีผู้ส่งชื่อเข้าร่วมแข่งขันมากมาย จนเขาไม่รู้จะเลือกใช้ชื่ออะไรดี จึงตัดสินใจเอาชื่อใส่หมวด แล้วให้ “ชีล่าห์” บุตรสาวเป็นผู้หยิบชื่อขึ้นมาได้ชื่อ “Vegemite” เป็นชื่อของสองสาวพี่น้อง “ฮิลด้า และลอเรล อาร์มสตรอง” วัย ๑๘ และ ๒๐ ปี จากย่านอัลเบิร์ท ปาร์ค

ต่อมาสองพี่น้องนี้ถูกขนานนามว่าเป็น “เดอะ เวจเจไมท์ เกิร์ล” มาตลอดช่วงชีวิตอันยาวนานของทั้งสอง

เมื่อได้ชื่อแล้วสินค้า “เวจเจไมท์” จึงออกสู่ตลาดครั้งแรกในวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๑๙๒๒ (พ.ศ. ๒๔๖๕) ด้วยการวางสินค้าโดยเน้นสรรพคุณว่ามีคุณค่าทางโภชนาการต่อเด็กเล็ก แต่สินค้า “เวจเจไมท์” ประสบปัญหาในการทำการตลาด โดยไม่สามารถทาบรัศมี “มาร์ไมท์” ได้ ด้วยผู้อพยพจากเกาะอังกฤษยังพึงพอใจกับรสชาติเดิม ๆ

ในปี ๑๙๒๘ (พ.ศ. ๒๔๗๑) “เวจเจไมท์” ในรัฐควีนสแลนด์ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “พาร์วิล” (Parwill) ด้วยการใช้สโลแกนว่า “มาร์ไมท์ แต่ พาร์วิล” (Marmite but Parwill) โดยมีนัยทางการตลาดแฝงว่า “If Ma (mother) might …..then Pa (father) will) หรือ “ถ้า มา (แม่) อาจจะ….พา (พ่อ) ก็ใช่เลย”..อะไรเทือกนั้น

การใช้กลยุทธิทางการตลาดดังกล่าวประสบความล้มเหลว ทำให้ผลิตภัณฑ์นี้กลับมาใช้ชื่อ “เวจเจไมท์” ตามเดิม

ก่อนหน้านี้ในปี ๑๙๒๖ (พ.ศ. ๒๔๖๙) บริษัทของนายวอล์คเกอร์ได้เข้าควบกิจการกับกลุ่มบริษัทเจมส์ แอล. คราฟท์จากสหรัฐอเมริกา กลายเป็นบริษัทคราฟท์ เวอล์คเกอร์ ชีส คอมปานี และต่อมาถูกเปลี่ยนให้สั้นลงเป็น “คราฟท์ ฟูดส์” นั่นก็หมายความว่าสินค้า”เวจเจไมท์” ตกอยู่ในมือของบริษัทจากสหรัฐอย่างเต็มตัว

บริษัทคราฟท์ในอดีต

ในปี ๑๙๓๕ (พ.ศ. ๒๔๗๘) บริษัทได้ใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์เนยอันมีชื่อเสียงของคราฟท์ในการทำตลาดสินค้าเวจเจไมท์ แผนการส่งเสริมการขายด้วยการใช้ระบบคูปองในการซื้อเนยคราฟท์เพื่อรับคูปองแลกเวจเจไมท์ กลยุทธนี้ทำติดต่อกันเป็นเวลา ๒ ปี ตามด้วยการแข่งขันแต่งร้อยกรองชิงรางวัลรถยนต์ปอนเตียก (Pontiac) นำเข้าจากสหรัฐ

ผลการส่งเสริมการขายได้ผลดีมาก และโชคหนุนนำขึ้นอีกในปี ๑๙๓๙ (พ.ศ. ๒๔๘๒) เมื่อสมาคมแพทย์แห่งสหราชอาณาจักรออกใบรับรองว่าเวจเจไมท์มีคุณค่าทางอาหารและอุดมไปด้วยวิตามินบี   ทำให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์, ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการดูแลเด็ก และนักโภชณาการแนะนำให้ผู้ปกครองใช้เวจเจไมท์เป็นส่วนหนึ่งของอาหารสำหรับเด็ก ไม่ว่าจะใช้ทาขนมปังแผ่น, แซนด์วิช, ขนมปังปิ้ง, เติมรสชาติในซุป, สตูว์ และเกรวี่ ภายในปี ๑๙๔๒ (พ.ศ. ๒๔๘๕) หรือยี่สิบปีนับจากการจำหน่ายวันแรก เวจเจไมท์ก็สามารถครองตลาดทั่วออสเตรเลีย

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเกิดภาวะสินค้าขาดแคลน   เวจเจไมท์เป็นส่วนหนึ่งของอาหารที่ต้องมีการปันส่วนขายแก่ประชาชน และเป็นส่วนหนึ่งของอาหารสำหรับทหารส่งไปร่วมรบสงคราม

หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองเสร็จสิ้นลง ทหารหาญที่กลับสู่มาตุภูมิต่างไม่ลืมรสชาติของเวจเจไมท์ ในขณะที่ผู้อยู่แนวหลังก็หลงไหลในขนมปังแผ่นป้ายด้วยเวจเจไมท์ ภายในปลายทศวรรษที่ ๑๙๔๐ เวจเจไมท์ได้เป็นอาหารตั้งโต๊ะของคนออสเตรเลีย ๙ ใน ๑๐ ครัวเรือน เด็กที่เกิดมาในช่วงหลังสงครามหรือคนในรุ่นเบบี้บูม   ต่างตกอยู่ภายใต้การเลี้ยงดูด้วยเวจเจไมท์ทั้งสิ้น

@@@@

ต้นฉบับจิงเกิลเพลง “I’m a happy Vegemite” เขียนในปี ๑๙๕๒ ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดเมลเบิร์น

ในปี ๑๙๕๔ (พ.ศ. ๒๔๙๗) นักร้องประสานเสี่ยงวัยหนุ่มสามคนได้ร้องเพลงสดทางวิทยุ โดยใช้เท้าและดีดนิ้วเป็นการให้จังหวะ เพลงนั้นเป็นจิงเกิลโฆษณามีชื่อว่า “Happy Little Vegemite” อีกสองปีต่อมาบริษัทคราฟท์ฟูดได้พัฒนาเพลงนี้ไปสู่ภาพยนตร์โฆษณาขาวดำทางโทรทัศน์ เพลงนี้ออกอากาศเรื่อยมาจนถึงปลายทศวรรษที่ ๑๙๖๐ ในทศวรรษที่ ๑๙๘๐ เพลง “Happy Little Vegemite” ได้ถูกปลัดฝุ่นมาทำเป็นโฆษณาอีกครั้งในระบบภาพยนตร์โฆษณาสี

เพลงนี้มีเนื้อหาดังนี้ครับ

We’re happy little Vegemites

As bright as bright can be.

We all enjoy our Vegemite

For breakfast, lunch, and tea.

Our mummies say we’re growing stronger

Every single week,

Because we love our Vegemite

We all adore our Vegemite

It puts a rose in every cheek.

 

ภาพยนตร์โฆษณา เข้าใจว่าเป็นโฆษณาในปี ๑๙๘๐

@@@@

ในเดือนเมษายนปี ๑๙๘๔ (พ.ศ. ๒๕๒๗) เมื่อโลกก้าวเข้าสู่เทคโนโลยีอีกขั้นด้วยการสแกนสินค้าเข้าออกตามซูเปอร์มาร์เก็ต เวจเจไมท์ก็ได้รับเกียรติให้เป็นสินค้าชิ้นแรก ในการผ่านระบบนี้

โรงงานผลิตเวจเจไมท์ที่พอร์ตเมลเบิร์นในปัจจุบันมีพนักงานกว่า ๒๐๐ คนเศษ ในวันที่ ๒๕ ตุลาคมที่ผ่านมา นายบรูซ บิลสันรัฐมนตรีกระทรวงธุรกิจขนาดเล็กได้เข้าร่วมงานฉลองครบรอบ ๙๐ ปีพร้อมกับพนักงาน, ผู้บริหาร, เหลนทวดของนายเฟรด วอร์คเกอร์ และบรรดาเด็ก ๆ ที่เคยร่วมแสดงโฆษณาเพลง Happy Little Vegemite ในยุคโทรทัศน์ขาวดำ

นายบิลสันได้กล่าวถึงเวจเจไมท์ว่าได้มีส่วนสร้างงานให้กับชาวออสเตรเลียกว่า ๕๐,๐๐๐ คนในช่วง ๙๐ ปีที่ผ่านมาได้ผลิตสินค้าเวจเจไมท์เกือบ ๑.๑ พันล้านกระปุก และทำอาหารหล่อเลี้ยงชาวออสเตรเลียกว่า ๙๐ พันล้านเสิร์ฟ…..พบกันใหม่ฉบับหน้าครับ

 

jingjonews.com

jingjonews@hotmail.com

จิงโจ้นิวส์เป็นสื่อออนไลน์มีวัตถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน   โดยปลอดจากการโฆษณาในเชิงพาณิชย์



Categories: ข่าวออสเตรเลีย, บทความ ตามใจฉัน

Tags: , , , , , , , , ,

Leave a Reply

Discover more from jingjonews

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading