ออสซี่เรียนจบแล้วไปทำงานต่างปท.เพื่อเบี้ยวชำระหนี้ HECS จะเจอปรับ 3,600 เหรียญเมื่อกลับปท.

สื่อแฉบัณฑิตออสซี่หนีไปทำงานต่างประเทศเพื่อเบี้ยวใช้หนี้เงินกู้โครงการ HECS : ภาพจากนสพ. The Guardian เสนอข่าวเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2016

23 ก.ค. 2017 เรื่องของโครงการเงินกู้เพื่อการศึกษาระดับสูงหรือ HELP แต่คนทั่วไปยังนิยมเรียกชื่อเดิมคือ HECS กลายเป็นข่าวเมื่อผู้เป็นมารดาซึ่งบุตรสาวไปทำงานในต่างประเทศได้ 2 ปีออกมาโวยว่า บุตรสาวของเธอมียอดหนี้ HECS ค้างชำระตอนไป 60,000 เหรียญทำไมตอนนี้จึงเป็น 90,000 เหรียญ

เนื้อหาที่อยู่ข้างบนไม่ได้อยู่ในหน้าข่าว แต่เป็นคำถามจาก Maureen ผู้เป็นมารดาเขียนมาปรึกษานาง Nicole Pedersen-McKinnon ผู้ให้การศึกษาด้านเงินและให้คำแนะนำผู้บริโภคแห่ง themoneymentorway.com ซึ่งจิงโจ้นิวส์เห็นว่ามีสาระสำคัญและน่าจะเป็นเรื่องนำเสนอมาเพื่อทราบสำหรับชาวต่างชาติรวมถึงคนไทยที่กู้เงินโครงการ HECS แล้วชักดาบด้วยการออกไปทำงานต่างประเทศ นับจากนี้ไปการใช้วิธีดังกล่าวยังคงสามารถทำได้ แต่ต้องไม่ย้อนกลับเข้าประเทศออสเตรเลียอีกเลย

นาง Pedersen-McKinnon ได้ตอบ Maureen ว่า เงินกู้โครงการ HECS โดยเทคนิคแล้วไม่มีดอกเบี้ย แต่จะเพิ่มขึ้นในอัตราตามราคาเศรษฐกิจ (price in the economy ขอเดาว่าไม่ตามอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานก็ตามอัตราเงินเฟ้อ หากผิดพลาดขออภัย เพราะเรียนเศรษฐศาสตร์มาแค่ 6 หน่วยกิต แถมคืนอาจารย์ไปเกือบหมดแล้ว) ในวันที่ 1 มิถุนายนของแต่ละปี มูลหนี้จะไม่ถูกจัดเข้าสารบาญ (index) จนกระทั่งมีอายุ 11 เดือน (ในระหว่าง 1 กรกฎาคมถึง 31 พฤษภาคมในปีถัดมา จะยังไม่คิดดอกเบี้ย)

ในช่วงเวลาสองปีที่บุตรสาวของ Maureen ไปทำงานต่างประเทศเงินกู้ควรจะเพิ่มขึ้น 1.5% ในเดือนมิถุนายน 2016 และอีก 1.5% ในเดือนมิถุนายน 2017 แต่การปรับค่าดัชนีอัตราดอกเบี้ยได้สูงขึ้นมาเป็น 3.0% มานับตั้งแต่ปี 2011

แถมเมื่อปีที่ผ่านมารัฐบาลกลางได้เพิ่ม “ภาษีไปต่างประเทศ” หรือ “overseas levy” (ในอัตรา 3,600 เหรียญ) เพื่อแก้เผ็ดผู้ที่หลบเลี่ยงจ่ายชำระเงินกู้ HECS ด้วยการไปทำงานในต่างประเทศชั่วระยะหนึ่งหรือตลอดกาล   ภายใต้กฎกฎิกาที่วางไว้หากผู้กู้เงินโครงการ HECS มีรายได้เกินกว่าปีละ 54,869 เหรียญ (รายได้ปี 2016-17) จะเข้าข่ายต้องผ่อนชำระหนี้เงินกู้ โดยจะเริ่มผ่อนชำระตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ไม่ว่าเขาหรือเธอผู้นั้นจะอยู่ในส่วนใดของโลกก็ตาม

นาง Pedersen-McKinnon ฟันธงว่าบุตรสาวของ Maureen ถูกแจ้งหนี้ 90,000 เหรียญในขณะอยู่ต่างประเทศ ภาษีต่างประเทศของเธอน่าจะอยู่ที่ 6,300 เหรียญ (ทำไมไม่เป็น 3,600 เหรียญตามอัตราที่รัฐบาลปรับ ขอให้อดใจรอสักนิดเดี๋ยวน่าจะมีคำตอบ) แต่ยอด 90,000 เหรียญมันก็ไม่สมเหตุผลต่อดอกเบี้ย (จิงโจ้นิวส์คำนวณคราว ๆ ดอกเบี้ยน่าจะอยู่ราวประมาณ 3,500 เหรียญ)

นาง Pedersen-McKinnon ให้ความเห็นว่า หนี้สินที่เพิ่มขึ้นน่าจะเป็นค่าธรรมเนียมการศึกษาปีสุดท้ายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งผู้เป็นบุตรสาวยังไม่ได้เช็คยอดที่ีแท้จริง แต่ถ้าให้แน่ก็ไปขอเอกสารรายละเอียดค่าธรรมเนียมการศึกษาจากสถาบันการศึกษาไปกระทบยอดกับยอดบันทึกของสำนักงานภาษีออสเตรเลียดู ทุกอย่างก็จะกระจ่างว่าใครผิดใครถูก

นสพ. The Australian พาดหัวข้อข่าว “กลลวง HECS ที่ต้องหยุดให้ได้” : ภาพจากนสพ. The Australian

จากนี้ไปจิงโจ้นิว์ขอย้อนกลับไปต้นตอของการแก้ไขกฎระเบียบนี้ ซึ่งเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2015 เมื่อรัฐบาลพบบทความแนะนำถึงวิธีการหลีกเลี่ยงไม่ต้องชำระหนี้เงินกู้โครงการ HECS ด้วยการไปทำงานในต่างประเทศให้หนำใจ แล้วกลับมาเริ่มตั้งต้นชำระหนี้ บทความเหล่านี้ถูกเขียนแพร่กระจายในอินเทอร์เน็ตและในหนังสือพิมพ์

นาย Christopher Pyne รัฐมนตรีศึกษาธิการในขณะนั้น (ปัจจุบันเป็นร.มต.อุตสาหกรรมทหาร) ได้ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อทีวีว่า ผู้สำเร็จการศึกษาทุกคนที่เรียนจบแล้วไปทำงานในต่างประเทศจะไม่สามารถหลบเลี่ยงการชำระเงินกู้ HECS ได้อีกต่อไป

เขาได้กล่าวผ่านสื่อทีวีในวันนั้นว่า “ไม่ว่าคุณจะไปทำงานธนาคารในนิวยอร์ก หรือทำงานอสังหาริมทรัพย์ในลอนดอน ถ้าคุณเป็นหนี้ HECS คุณก็ต้องมีหน้าที่ผ่อนชำระ”

นับตั้งแต่โครงการ HECS เริ่มขึ้นในปี 1989 กฎระเบียบได้เปิดช่องโหว่ให้บัณฑิตติดเงินค่าเล่าเรียนหลีกเลี่ยงการผ่อนชำระคือด้วยการไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับงบประมาณราว 600 ถึง 800 ล้านเหรียญ

การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบใหม่จะทำให้ผู้กู้เงินโครงการ HECS ที่มีรายได้เกินกว่า 53,345 เหรียญ (ในขณะนั้น ปัจจุบันคือ 54,869 เหรียญ) จะต้องผ่อนชำระหนี้ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศหรือต่างประเทศก็ตาม

ในปัจจุบัน (ปี 2015 ถึงปัจจุบัน) สำนักงานภาษีมีหน้าที่หักเงินกู้ผ่อนชำระหนี้ HECS แต่ไม่มีอำนาจทางกฎหมายที่จะเรียกเก็บหนี้กับผู้ที่อยู่ในต่างประเทศ

อย่างไรก็ตามรัฐบาลออสเตรเลียได้เจรจากับรัฐบาลสหราชอาณาจักรในการเก็บชำระหนี้เงินกู้ HECS จากบัณฑิตชาวออสเตรเลียประมาณ 15,000 คนที่ทำงานอยู่ในสหราชอาณาจักร

ทางด้านนาง Belinda Robinson ผู้อำนวยการบริหารของ University Australia ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัย 39 แห่งของออสเตรเลียได้กล่าวถึงช่องโหว่ของกฎระเบียบว่าเป็น “เป็นการเปิดช่องให้เรียนฟรี” และได้แนะนำให้รัฐบาลกลางนำมาตรการของประเทศนิวซีแลนด์ในการเรียกเก็บหนี้จากชาวกีวีที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ด้วยการทำสัญญาการเรียกเก็บเงินกับผู้สำเร็จการศึกษา

ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ทุกคนจะต้องแจ้งให้สำนักงานภาษีทราบภายใน 7 วันก่อนออกเดินทางถ้าพวกเขาประสงค์ที่จะออกนอกประเทศเกินกว่า 183 วันของปีนั้น หรือแจ้งโดยด่วนหากพวกเขาได้ออกนอกประเทศไปแล้ว

พวกเขาจะต้องมีหน้าที่ในแต่ละปีที่จะต้องแจ้งรายได้ที่ได้รับในต่างประเทศและต้องจ่ายชำระหนี้เงินกู้ HECS หรือ HELP หรือไม่เช่นนั้นก็จะถูกเรียกเก็บภาษีต่างประเทศเป็นเงิน 3,600 เหรียญเมื่อเดินทางกลับเข้ามาในออสเตรเลีย

(ส่วนภาษีต่างประเทศที่นาง Pedersen-McKinnon ระบุว่า 6,300 เหรียญ ถึงตอนนี้ยังหาคำตอบไม่ได้ แต่เข้าใจว่าอาจพิมพ์พลาดผิดจาก 3,600 เหรียญเป็น 6,300 เหรียญ หากเดาผิดพลาดขออภัยด้วย)

สำหรับอัตราผ่อนชำระคืนเงินกู้ HECS จะมีดังนี้

 

ช่วงรายได้ปี 2016-17 อัตราชำระ
ต่ำกว่า $54,869 ยังไม่ต้องจ่าย
$54,869 – $61,119 4.0%
$61,120 – $67,368 4.5%
$67,369 – $70,909 5.0%
$70,910 – $76,222 5.5%
$76,223 – $82,550 6.0%
$82,551 – $86,894 6.5%
$86,895 – $95,626 7.0%
$95,627 – $101,899 7.5%
$101,900 ขึ้นไป 8.0%

 

ช่วงรายได้ปี 2017-18 อัตราชำระ
ต่ำกว่า $55,874 ยังไม่ต้องจ่าย
$55,875 – $62,238 4.0%
$62,239 – $68,602 4.5%
$68,603 – $72,207 5.0%
$72,208 – $77,618 5.5%
$77,619 – $84,062 6.0%
$84,063 – $88,486 6.5%
$88,487 – $97,377 7.0%
$97,378 – $103,765 7.5%
$103,766 ขึ้นไป 8.0%

 

jingjonews.com

jingjonews@hotmail.com

จิงโจ้นิวส์เป็นสื่อออนไลน์มีวัตถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน   โดยปลอดจากการโฆษณาในเชิงพาณิชย์



Categories: ข่าวออสเตรเลีย

Tags: , , , , , ,

Leave a Reply

Discover more from jingjonews

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading