เตือนเชื้อแบคทีเรียลีเจียนแนร์ระบาด ในเขตใจกลางนครซิดนีย์

2016-05-04 Legionnaires’ disease4

ศาลาเทศบาล City of Sydney (Town Hall) สถานที่ที่ชายวัยชราติดเชื้อแบคทีเรียลีเจียนแนร์และเสียชีวิตในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา : ภาพจาก news.com.au

4 พ.ค. 2016 ข่าวลัดคิว – กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศเตือนการระบาดของเชื้อโรคลีเจียนแนร์ (Legionnaires’ disease) ในย่านธุรกิจกลางใจนครซิดนีย์ หลังจากตรวจพบเชื้อแบคทีเรียลีเจียนแนร์ชนิดร้ายแรงอยู่ในอาคาร 13 แห่งในเขตใจกลางเมืองในเดือนกุมภาพันธ์และเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

สำหรับผู้ป่วยรายล่าสุดเป็นชายสูงอายุ 1 คนและสตรีวัยยี่สิบปีเศษอีก 2 คน ทั้งสามทำงานอยู่ภายในพื้นที่ครอบคลุมด้วยถนน Margaret St., George St., King St. และ Kent St.

ก่อนหน้านี้ในเดือนมีนาคมชายวัย 80 เศษได้เสียชีวิตลงหลังจากติดเชื้อโรคที่บริเวณ Town Hall ในขณะที่อีก 8 คนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล

ในการระบาดครั้งแรกเดือนมีนาคมกระทรวงสาธารณสุขคาดว่าเกิดขึ้นในอาคารที่มีความเย็นและชื้นภายในพื้นที่ครอบคลุมด้วยถนน King St., Bathurst St., Kent St. และ Elizabeth St.

เนื่องด้วยเวลามีจำกัด จิงโจ้นิวส์จึงขอนำข้อมูลโรคลีเจียนแนร์จากสำนักงานระบาดวิทยา ของประเทศไทยมีดังนี้

2016-05-04 Legionnaires’ disease2

พื้นที่ที่มีผู้ป่วยรายล่าสุดเป็นชาย 1 และหญิง 2 ติดเชื้อโรคลีเจียนแนร์ : ภาพชั่วคราวจากนสพ. teh Telegraph

ลักษณะโรค

โรคลีเจียนเนลโลสิส (Legionellosis) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Legionella pneumophila ลักษณะโรคมี 2 แบบ คือ ชนิดรุนแรงเรียกโรคปอดอักเสบลีเจียนแนร์ (Legionnaires’ disease) และชนิดไม่รุนแรงเรียกโรคไข้ปอนเตียก (Pontiac fever)

สาเหตุ

เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Legionella ที่ตรวจพบแล้วประมาณ 43 species 65 serogroups ที่พบก่อให้เกิดโรคในคนบ่อยที่สุดคือ Legionella pneumophila ซึ่งตรวจพบแล้ว 18 serogroups เชื้อ Legionlla พบได้ทั่วไปในแหล่งน้ำที่มีอุณหภูมิ 32-45 ซ สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานหลายเดือนในสิ่งแวดล้อมที่มีความชื้นสูง และแบ่งตัวในที่ที่มีสาหร่ายและอินทรีย์วัตถุ

วิธีการติดต่อ

โดยการสูดหายใจเอาเชื้อที่ปนเปื้อนอยู่ในละอองฝอยของน้ำ เช่น น้ำจากหอผึ่งเย็นความร้อน(cooling towers) ของระบบปรับอากาศ ฝักบัวอาบน้ำ อ่างน้ำวน เครื่องมือช่วยหายใจ น้ำพุสำหรับตกแต่งอาคารสถานที่ต่างๆ การแพร่เชื้อจากคนไปสู่คนยังไม่มีปรากฎ

ระยะฟักตัว

โรคลีเจียนแนร์ส่วนใหญ่จะปรากฎอาการภายใน 5-6 วันหลังได้รับเชื้อ แต่อาจอยู่ในช่วง 2-10 วัน

โรคไข้ปอนเตียกมักจะมีอาการภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังได้รับเชื้อ แต่อาจอยู่ในช่วง 5-66 ชั่วโมง

ระยะติดต่อ

ยังไม่พบการแพร่เชื้อระหว่างคนสู่คนดังนั้นคนจึงไม่เป็นพาหะของโรค มีการตรวจเลือดของผู้ป่วยภายหลังป่วยหลายปีพบแอนติบอดีต่อ Legionella ซึ่งบ่งชี้ว่าเคยป่วยมาแล้วไม่ใช่กำลังป่วย

อาการและอาการแสดง

มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ (flu-like illness) เริ่มด้วย ปวดศรีษะ ปวดกล้ามเนื้อ ตามด้วยมีไข้สูง (39-40o ซ) หนาวสั่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน อาจมีอุจจาระร่วง ไอแห้งๆ ในกรณีที่เป็นไข้ปอนเตียกมักจะหายภายใน 2-5 วัน แม้จะไม่ได้รับการรักษา ส่วนโรคลีเจียนแนร์มักจะมีปอดอักเสบและลามไปที่ปอดทั้งสองข้าง ทำให้การหายใจล้มเหลว มีอัตราตายสูง

การวินิจฉัยแยกโรค

ถ้าต้องการวินิจฉัยแยกจากโรคปอดอักเสบจากเชื้ออื่นๆต้องตรวจยืนยัน ทางห้องปฏิบัติการโดยการเพาะแยกเชื้อจากเสมหะ น้ำจากโพรงเยื่อหุ้มปอด หลอดลม หลอดคอ หรือ ตรวจหาแอนติบอดีในเลือด การเพาะแยกเชื้อเป็นการตรวจที่สำคัญถือเป็น gold standard

ระบาดวิทยา

มีบันทึกการพบผู้ป่วยรายแรกใน พ.ศ. 2490 และการระบาดครั้งแรกใน พ.ศ. 2500 ที่รัฐมินนิโซตา มีการระบาดครั้งใหญ่ของโรคปอดอักเสบในหมู่ผู้ร่วมประชุมสมาคม “สหายสงคราม” (American Legion Convention) ที่เมืองฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกาใน พ.ศ. 2519 มีผู้ป่วย 182 ราย เสียชีวิต 29 ราย อีก 6 เดือนต่อมา McDade JE และคณะ จึงได้พบเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุจากปอดของผู้เสียชีวิต จึงเป็นที่มาของชื่อ “โรค Legionella pneumophila”

หมายเหตุ ๑ ข่าวนี้รายงานตามหลังสื่อในออสเตรเลียออกข่าวเผยแพร่ไปแล้วประมาณ 1 ชั่วโมง

หมายเหตุ ๒ ขณะนี้จิงโจ้นิวส์อยู่ในระหว่างเดินทางท่องเที่ยว ตามที่แจ้งไว้ในสู่เดือนพฤษภาคมครับ

 

jingjonews.com

jingjonews@hotmail.com

จิงโจ้นิวส์เป็นสื่อออนไลน์มีวัตุถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน   โดยปลอดจากการโฆษณาในเชิงพาณิชย์

 

 



Categories: ข่าวออสเตรเลีย

Tags: , , , , , , , , ,

Leave a Reply

Discover more from jingjonews

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading