ทูน่าไทยโดนรุมวันที่สอง ช่วยเบอร์รีจีนได้มีโอกาสหายใจ

ร้านคาเฟ่เทคอะเวย์ Soul Origin ใกล้ Town Hall ชิดนีย์ (ภาพชั่วคราวจากนสพ. the Telegraph)

ร้านคาเฟ่เทคอะเวย์ Soul Origin ใกล้ Town Hall ชิดนีย์ (ภาพชั่วคราวจากนสพ. the Telegraph)

27 ก.พ. 2015 หลังจากสินค้าเบอร์รีสดแช่แข็งเจือปนเชื้อไวรัสตับชนิดเอนำเข้าจากประเทศจีน ได้กลายเป็นหัวข้อที่สื่อมวลชนในออสเตรเลียนำออกมาแฉรายวันมานับตั้แต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์   จนในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ข่าวเบอร์รีจากจีนถูกข่าวปลาทูน่าเจือปนเชื้อสคอมบรอยด์จากปลาทะเลของไทยเบียดจนกลายเป็นข่าวรอง ในวันนี้ (27 ก.พ.) เบอร์รีจากจีนยังคงหายใจทั่วท้องได้อีกหนึ่งวัน เนื่องจากสื่อออสซี่ยังคงเสนอข่าวปลาทูน่าจากประเทศไทย

เหตุการณ์มีผู้ป่วยอาหารเป็นพิษในนครซิดนีย์ 4 คนหลังจากรับประทานสลัดปลาทูน่าจากร้าน Soul Origin คาเฟ่สไตล์เทคอะเวย์ที่ใช้ปลาทูน่านำเข้าจากประเทศไทยตามที่จิงโจ้นิวส์เสนอข่าวไปในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ในหัวข้อ “ทูน่านำเข้าจากไทยงานเข้าแล้ว ฝรั่งในซิดนีย์กินแล้วป่วยอาหารเป็นพิษ” ในวันนี้ปลาทูน่าไทยยังคงถูกสื่อในออสเตรเลียนำมาต่อยอดพบว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามีชาวออสเตรเลียป่วยเป็นโรคอาหารเป็นพิษจากเชื้อสคอมบรอยด์จำนวน 200 คนหลังจากกินปลาที่ปรุงจากร้านอาหาร, ตามบ้าน และในโรงเรียน

อาหารที่พวกเขากินแล้วเกิดอาการป่วยคืออาหารปรุงจากปลาทูน่า, ปลาอีโต้มอญ (mahi mahi) และปลาซาดีนที่นำเข้าจากประเทศไทย, อินโดนีเซีย และโมร็อกโก

เมื่อวานนี้ที่ 26 กุมภาพันธ์นาย Tony Abbott นายกรัฐมนตรีได้ออกมาให้สัญญาว่า จะผลักดันให้มีการใช้ฉลากแสดงแหล่งที่มาทุกขั้นตอนของสินค้าอาหารนำเข้าทุกชนิดที่วางขายในออสเตรเลีย

 เส้นทางเดินของสินค้าปลาในหนังสือพิมพ์ the Daily Telegraph ฉบับวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2015

เส้นทางเดินของสินค้าปลาในหนังสือพิมพ์ the Daily Telegraph ฉบับวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2015

ก่อนหน้านี้ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ สื่อมวลชนได้ตีแผ่ตัวอย่างคลาสสิคถึงเส้นทางของสินค้าปลาจากต่างประเทศที่สามารถติดฉลากคำว่า “Made in Australia” ทั้งที่เป็นสินค้าจากต่างประเทศ อย่างเช่นรายงานสินค้าปลาจากหนังสือพิมพ์ the Daily Telegraph เริ่มจากเรือลากอวนจับปลาของจีนและเกาหลีใต้ไปจับปลาในน่านน้ำสากลของมหาสมุทรแอตแลนติกแล้วนำกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตในประเทศจีน ก่อนนำเข้ามายังประเทศนิวซีแลนด์เพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตขั้นต่อไปและทำการแยกส่วนหรือแปรรูปหรือปรุงสำเร็จ จากนั้นสินค้าปลาจะถูกส่งมายังออสเตรเลียเพื่อการบรรจุห่อหรือซองอีกครั้งหนึ่งแล้วติดฉลากว่า “ผลิตในออสเตรเลีย”

จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขแห่งเครือรัฐออสเตรเลียได้เปิดเผยถึงผู้ป่วย 57 รายจากอาการอาหารเป็นพิษจากสารฮิสตามิน (histamine fish poising สารพิษที่หลั่งจากปลาเน่า เกิดขึ้นเฉพาะปลาในวงศ์ที่ก่อให้เกิดพิษปลาทะเลสคอมบรอยด์ หรือ scombroid fish poisoning) พบว่าแทบจะไม่มีการระบุถึงแหล่งที่มาของปลาที่ผู้ป่วยรับประทานเข้าไป

รายงานของกระทรวงระบุว่า การเพิ่มความสำคัญในการค้าอาหารระหว่างประเทศเท่ากับเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคจากอาหาร

สำหรับกรณีที่เกิดกับปลาทูน่านำเข้าจากประเทศไทย เมื่อวานนี้ที่ 26 กุมภาพันธ์สำนักงานอาหารแห่งรัฐนิวเซาท์เวลส์ (NFA) ได้สั่งเรียกเก็บปลาทูน่ากระป๋องยี่ห้อ John Bull นำเข้าจากประเทศไทยออกจากแผงวางขายทั้งหมด ปลาทูน่ายี่ห้อ John Bull เป็นยี่ห้อเดียวกันกับที่ร้านคาเฟ่ Soul Origin ใกล้ Town Hall ในนครซิดนีย์อ้างว่า ได้นำมาใช้ปรุงสลัดปลาทูน่าของตนและเป็นเหตุให้มีผู้ป่วยอาหารเป็นพิษ

อีกทั้งร้านคาเฟ่ Soul Origin ยังรีบออกตัวว่าได้เลิกใช้ปลาทูน่าจากประเทศไทยที่นำเข้าโดยบริษัทเจ้าของแบรนด์ McKenzie ในรัฐวิตอเรีย ซึ่งเป็นปลาทูน่าที่นิยมใช้กันตามคาเฟ่และผู้ประกอบอาหารต่าง ๆ

ทางด้านกระทรวงเกษตรออกมากล่าวว่า ปลาทูน่าถูกจัดเป็นสินค้า “อาหารเสี่ยง” เมื่อสินค้าเข้ามาใหม่ทุกรายจะถูกตรวจสอบละเอียด 100% เช่นเดียวกับยี่ห้อ John Bull แต่หลังจากสินค้ามีประวัติที่ดีติดต่อกัน การตรวจสอบก็จะลดน้อยลงจนกระทั้งไม่ตรวจสอบใด ๆ

แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ กระทรวงก็จะกลับมาเพิ่มการตรวจ 100% สำหรับสินค้าที่ผลิตจากบริษัทนี้

สำหรับสินค้า John Bull ที่ยังนำเข้ามากระทรวงได้สั่งกักไว้ที่ท่าเรือ จนกว่าผลการตรวจสอบจากห้องแล็บออกมาว่าปล่อยภัยจากสารฮิสตามินและสารเจือปนอื่น ๆ

โฆษกของสำนักงานอาหารรัฐน.ซ.ว.ออกมากล่าวเสริมว่า ได้สั่งให้นำสินค้าที่ผลิตจากโรงงานนี้ออกจากตลาดทั้งหมด และได้นำตัวอย่างของปลาทูน่าจากร้านคาเฟ่ และจากที่อื่น ๆ ไปทำการตรวจสอบ

ในปัจจุบันปลาทูน่ากระป๋องถูกนำเขามาจากไทยและอินโดนีเซียเกือบทั้งหมดภายใต้แบรนด์ต่าง ๆ เช่น Sirena (นำเข้าจากอินโดนีเซีย), John West (จากอินโดนีเซีย), Greenseas (จากไทย), Safcol (จากไทย) และโฮมแบรนด์ของห้าง Woolworths (จากไทย) และห้าง Coles (จากไทย) เป็นต้น

ตัวอย่างปลาทูน่ากระป๋องที่นำเข้าจากประเทศไทยและอินโดนีเซียที่เป็นที่คุ้นตาของคนออสเตรเลีย ภาพนี้ปรากฎในหน้า 4 ของนสพ. the Telegraph

หมายเหตุ ท่านสามารถอ่านข่าวเกี่ยวเนื่องในเรื่องทูน่าจากประเทศไทยได้ด้วยการกดคลิก “John Bull Tuna” ได้ที่ Tags ท้ายข่าวนี้

jingjonews.com

jingjonews@hotmail.com

จิงโจ้นิวส์เป็นสื่อออนไลน์มีวัตถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน   โดยปลอดจากการโฆษณาในเชิงพาณิชย์



Categories: ข่าวออสเตรเลีย

Tags: , , , , , , , , , , , , , , ,

Leave a Reply

Discover more from jingjonews

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading