ตามรอยผู้ใหญ่ลี (อีกครั้ง)

465 tamjai-02หมายเหตุ บทความตอน “ตามรอยผู้ใหญ่ลี (อีกครั้ง)” เป็นตอนที่ ๔๖๕ ของไม้ซีกขีด เขียนลงในหนังสือพิมพ์ไทย-ออสนิวส์ฉบับที่ ๔๖๕ ประจำวันที่ ๕ ถึง ๑๘ กันยายน ๒๐๐๗ (พ.ศ. ๑๕๕๐) จิ้งโจ้นิวส์ค้นมาลง เพื่อเป็นเกียรติแด่คุณ “กาญจนา นาคนันทน์” ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ เจ้าของนิยายที่ได้รับการต้อนรับจากผู้อ่านอย่างเช่น ผู้ใหญ่ลีกับนางมา, ธรณีนี่นีใครครอง และผู้กองยอดรัก เป็นต้น ท่านเสียชีวิตด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๐๑๔ (พ.ศ. ๒๕๕๗) ที่ผ่านมาด้วยวัย ๙๓ ปี

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตอนนี้มีความยาวพอสมควร จิงโจ้นิวส์จึงขออนุญาตตัดข้อความบางช่วงออกไป เพื่อประหยัดเวลาในการพิมพ์ และให้จบในตอนเดียวดังนี้

สวัสดีครับ..ท่านผู้อ่านที่เคารพ เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคมที่ผ่านมามีนักเรียนภาษาไทยคนหนึ่ง เขามีความสนใจในบทเพลงผู้ใหญ่ลี…หลังจากได้ศึกษาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต แล้วมาคุยให้ผมฟัง เขาเล่าด้วยใบหน้าภาคภูมิใจ ถึงเรื่องราวที่เขาค้นพบ แต่ผมฟังแล้วทราบทันทีว่า เขาเอาข้อมูลมาจากไหน เขาก็บอกว่าเอามาจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา เป็นมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับท็อปไฟว์ของโลกเสียด้วย…. นี่แหละครับคือผลทางด้านลบอย่างหนึ่งของแหล่งข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตที่ผมพบเสมอ ๆ คือ การให้ข้อมูลที่ผิดพลาด

 (ข้าม ๒ ย่อหน้าใหญ่)

ขอกลับมาที่เรื่องผู้ใหญ่ลีของนักเรียนภาษาไทยรายนี้กันต่อ ข้อมูลที่เขาได้ ระบุว่าเหตุการณ์ผู้ใหญ่ลีเกิดขึ้นในปีพ.ศ. ๒๕๐๔ (๑๙๖๑) อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากรัฐบาลออกนโยบายแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ ๑ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ (๑๙๖๑) ตามคำแนะนำของธนาคารโลก ซึ่งเป็นผู้เข้ามาให้ความช่วยเหลือ และให้เงินกู้ในการพัฒนาประเทศแก่รัฐบาลไทย แผนพัฒนาฯประการหนึ่งก็คือ รัฐบาลมีคำสั่งไปยังองค์กรบริหารส่วนจังหวัด สั่งลงไปสู่อำเภอ แล้วอำเภอจึงถ่ายทอดไปสู่กำนันและผู้ใหญ่บ้านให้กลับไปแจ้งแก่ชาวบ้านให้ปลูกพืชผักสวนครัวและเลี้ยงสัตว์เช่นเป็ด ไก่ และหมูสำหรับไว้บริโภคไข่และเนื้อ แต่แทนที่นายอำเภอจะใช้คำไทยคือ “หมู” กลับไปใช้คำบาลีว่า “สุกร”

เมื่อทางการบอกให้ชาวบ้านเลี้ยง “สุกร” ผู้ใหญ่ลีซึ่งเข้าร่วมประชุมที่อำเภอ จึงกลับมาตีกลองประชุม บอกลูกบ้านว่าทางการสั่งให้เลี้ยง “สุกร” ชาวบ้านได้รับฟังก็ไม่รู้ว่า “สุกร” แปลว่าอะไร จึงถามผู้ใหญ่ลีว่า “สุกร” นั้นคืออะไร ผู้ใหญ่ลีก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่พอรู้งู ๆ ปลา ๆ ว่า “หมา” เขาเรียกกันว่า “สุนัข” ดังนั้น “สุกร” ก็น่าจะแปลว่า “ลูกหมา” จึงตอบไปว่า “สุกร” ก็คือ “หมาน้อย” นั่นเอง

คุณศักดิ์ศรี ศรีอักษร ผู้ร้องเพลงผู้ใหญ่ลีคนแรก

คุณศักดิ์ศรี ศรีอักษร ผู้ร้องเพลงผู้ใหญ่ลีคนแรก

เรื่องราวของผู้ใหญ่ลีให้ลูกบ้านเลี้ยงหมา ได้ถูกโจษจันไปทั่วจนกระทั่งไปเข้าหูนายพิพัฒน์ บริบูรณ์นักแต่งเพลงลูกทุ่ง เขาจึงเอาเรื่องเล่านี้มาแต่งเป็นเพลง “ผู้ใหญ่ลี” โดยให้ภรรยาคือ คุณศักดิ์ศรี ศรีอักษรนำมาร้องในช่วงทศวรรษที่ ๖๐ จนดังทั่วประเทศไทย และดังขึ้นไปอีกเมื่อมีแหม่ม (ค้นหาชื่อไม่ได้) เอามาเรียบเรียงเปลี่ยนจังหวะทำนองให้เร้าใจยิ่งขึ้น จนกลายเป็นเวอชั่น “ผู้ใหญ่ลี วาตูซี่” ขึ้นมา

 @@@@

465tamjai-เพลง

ข้อความข้างบนคือสิ่งที่นักเรียนฝรั่งหามาได้ ผมพอเดาได้ทันทีว่า ผู้ค้นคว้าข้อมูลก็คือคนที่อยู่ในประเทศไทย แล้วเขียนเผยแพร่ลงในอินเทอร์เน็ต จนเป็นต้นแบบให้ผู้ค้นคว้ารายอื่น ๆ เอามาเป็นบรรทัดฐาน ข้อมูลที่ออกมาจึงเหมือนกันหมดแทบทุกราย   รวมถึงของมหาวิทยาลัยชื่อดังของโลกด้วย

ผมตั้งข้อสันนิษฐานเอาเองว่า ผู้ค้นข้อมูลคนแรก น่าจะเอาเนื้อหามาจากเพลง “ผู้ใหญ่ลี” ที่เริ่มต้นว่า “พ.ศ. ๒๕๐๔ ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม….” คือเอาปีพ.ศ. ๒๕๐๔ หรือค.ศ. ๑๙๖๑ เป็นที่ตั้ง แล้วหาเหตุการณ์บ้านเมืองที่สอดคล้องมาเป็นเหตุผลสนับสนุน ก็บังเอิญมาได้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๐๔-๒๕๐๙) เข้าพอดี จึงสรุปเอาทันทีว่า เป็นเหตุการณ์ที่เกิดในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ (๑๙๖๑) ตามที่ปรากฎในเนื้อเพลง

แต่ถ้าลองลงไปอ่านเนื้อหาแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ ๑ แล้วจะทราบว่า ไม่มีนโยบายใด ๆ ให้ประชากรปลูกผักสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ไว้เพื่อบริโภคภายในครอบครัวแต่อย่างใด

อันที่จริงผมเคยเขียนถึง “ผู้ใหญ่ลี” มาครั้งหนึ่ง แต่ในครั้งนั้นเป็นเนื้อหาสอดแทรกอยู่ในบทความ “เก็บอดีตจาก หัสนิยายพล นิกร กิมหงวน” ในฉบับนี้ผมจึงขอนำมากล่าวถึงอีกครั้งหนึ่งครับ

 @@@@

465Tamjai-สมุด2

ผมเชื่อว่า เรื่องของผู้ใหญ่ลีผู้ให้ความหมาย “สุกร” แปลว่า “หมาน้อย” มีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นเรื่องจริง ถ้าไม่จริงก็น่าจะเป็นมุกตลกของข้าราชการกระทรวงมหาดไทยเอามาคุยเล่นเป็นเรื่องชวนหัว ให้สอดคล้องกับเหตุการณ์บ้านเมือง ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในช่วง ๑ ถึง ๔ ปีหลังจากจอมพลป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี (ขณะนั้นมียศเป็นพลตรี) ท่านประกาศใช้นโยบายรัฐนิยมในปี ๑๙๓๙ (พ.ศ. ๒๔๘๒) เพื่อปลุกระดมความรักชาติและปฏิรูปวัฒนธรรมใหม่ให้เหมือนกับนานาอารยประเทศทางตะวันตก โดยออกรัฐนิยมทั้งสิ้น ๑๒ ฉบับด้วยกัน เริ่มประกาศใช้รัฐนิยมฉบับที่ ๑ ตั้งแต่วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๒ เป็นต้นมา

ผมขอย้ำอีกว่า ผมเชื่อว่า เหตุการณ์ของผู้ใหญ่ลี น่าจะเกิดขึ้นในช่วงระหว่างปลายปี ๑๙๓๘ ถึงปี ๑๙๔๓ (พ.ศ. ๒๔๘๒ ถึง ๒๔๘๖) และมีความเป็นไปได้สูงว่า ผู้ใหญ่ลี เป็นผู้ใหญ่บ้านของหมู่บ้านใดหมู่บ้านหนึ่งในจังหวัดหวัดชัยภูมิ ส่วนเหตุผลที่ผมนำมาสนับสนุน ประการแรก คือจากบันทึกของคุณกาญจนา นาคนันทน์ ผู้แต่ง “ผู้ใหญ่ลีกับนางมา” ท่านบันทึกว่าเคยได้ยินเรื่องราวของผู้ใหญ่ลีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๖ (๑๙๔๓) และจากการเทียบเคียงกับสภาพเหตุการณ์ของสังคมในอดีต ที่ผมจะขอเสนอต่อไปดังนี้ครับ

@@@@

 นโยบายรัฐนิยมที่น่าจะมีผลต่อการเกิดเหตุการณ์ผู้ใหญ่ลีบอกให้ลูกบ้านเลี้ยงหมา น่าจะอยู่ในนโยบายฉบับที่ ๕ ว่าด้วยเรื่องให้ชาวไทยพยายามใช้เครื่องอุปโภคบริโภคที่ผลิตขึ้นในประเทศ, ฉบับที่ ๗ เรื่องชักชวนให้คนไทยร่วมกันสร้างชาติ และฉบับที่ ๙ เรื่องภาษาและหนังสือไทยกับหน้าที่พลเมือง

ในฉบับที่ ๕ ถูกประกาศใช้ในวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๑๙๓๙ (พ.ศ. ๒๔๘๒) โดยรัฐบาลเห็นว่า เนื่องจากสถานการณ์ของโลกอยู่ในสภาพสงคราม คณะรัฐมนตรีจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องชักชวนชาวไทย พึงบริโภคแต่อาหารที่ปรุงจากสิ่งที่กำเนิดหรือทำขึ้นในประเทศไทย สนับสนุนงานอาชีพ การเกษตรพาณิชย์ อุตสาหกรรม และวิชาอาชีพของคนไทยด้วยกัน จนเกิดคำขวัญว่า “ไทยทำ ไทยใช้ ไทยซื้อ

คนไทยในขณะนั้นยังไม่ได้รวมถึงคนจีนต่างด้าวที่ไม่ได้เกิดในเมืองไทย แต่รวมถึงคนไทยเชื้อสายจีน หลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงวิีชีวิตของคนไทยในยุคนั้นได้ดีก็คือเนื้อหาจากหัสนิยายพล นิกร กิมหงวนซึ่งถือกำเนิดในช่วงนั้นพอดี

465Tamjai-รัฐนิยม 2495

สามเกลอตอน รัฐนิยม ตีพิมพ์ปี ๒๕๓… ขายเล่มละ ๑๕ บาท

สามเกลอตอน รัฐนิยม ตีพิมพ์ปี ๒๕๓… ขายเล่มละ ๑๕ บาท

ในตอน “รัฐนิยม” ซึ่งเป็นเหตุการณ์เดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๘๓ เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตในขณะนั้น เมื่อพระยาปัจจานึกพินาศ หนึ่งในตัวเอกของเรื่องมีอันต้องเดือดดาล เพราะเช้าวันหนึ่งท่านไม่สามารถหาซื้ออาหารได้ดังทุกวัน เนื่องจากพ่อค้าชาวจีนซึ่งผูกขาดการค้าในพระนคร ต่างพากันหยุดประกอบธุรกิจเนื่องในเทศกาลตรุษจีน ทำให้เจ้าคุณปัจจนึกฯชักชวนคณะสามเกลอก่อตั้งสมาคมรัฐนิยม เพื่อสนองรับนโยบายของรัฐในการสนับสนุนสินค้าที่ผลิตโดยคนไทย ยกเว้นแต่ของจำเป็นที่ไทยยังผลิตเองไม่ได้

ดั่งคำพูดตอนหนึ่งของเจ้าคุณปัจจนึกฯที่ว่า    “ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะการค้าอยู่ในมือของคนต่างชาติ ข้าพเจ้าขอวินวอนให้ท่านทั้งหลายเลิกอุดหนุนชนต่างด้าวเสียเถิด แต่ที่พูดนี้ไม่ได้หมายความว่า ข้าพเจ้ายุให้ท่านแซงก์ชั่นคนต่างด้าวที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ข้าพเจ้าเพียงแค่ขอให้ท่านช่วยอุดหนุนเพื่อนร่วมชาติของเราเท่านั้น”

ตอนสามเกลอเลี้ยงไก่ ปกพิมพ์ปี ๒๔๙๕

ตอนสามเกลอเลี้ยงไก่ ปกพิมพ์ปี ๒๔๙๕

สามเกลอเลี้ยงไก่ รุ่นขายเล่มละ ๑๕ บาท

สามเกลอเลี้ยงไก่ รุ่นขายเล่มละ ๑๕ บาท

ขอยกตัวอย่างอีกตอนหนึ่งก็คือตอน “สามเกลอเลี้ยงไก่” เป็นเหตุการณ์ในราวเดือนมกราคม ๑๙๔๐ (พ.ศ. ๒๔๘๓) เมื่อบรรดาภรรยาของสามเกลอออกมาสนับสนุนนโยบายรัฐนิยมของรัฐบาล หลังจากที่พลตรีป. พิบูลสงครามนายกรัฐมนตรีนำเอาแนวความคิดการทำ “สวนครัว” ในอดีตกลับมาใช้อีกครั้ง เพื่อให้ประชาชนสามารถมีกินมีใช้อย่างพอเพียง ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัว และการเลี้ยงหมู เป็ด ไก่ ไว้กินไข่และกินเนื้อ

นันทา ประไพและนวลละออ ศรีภรรยาของสามเกลอสนองรับนโยบายรัฐบาลด้วยการ ปลูกพืชผักสวนครัว มีพริก มะเขือ มะกรูด ตะไคร้ โหระพา ผัก ฟัก และแฟงเป็นต้น

ส่วนพล นิกร กิมหงวน เห็นเหล่าภรรยาทำสวนครัวจึงตัดสินใจเลี้ยงไก่บ้าง โดยอ้างว่า เพื่อสนับสนุนรัฐนิยม แต่ก็ได้รับการต่อต้านจากแม่งามทั้งสาม เพราะไก่ที่สามเกลอเลี้ยงไม่ใช่ไก่อูหรือไก่แจ้ แต่เป็นไก่พันธุ์ฝรั่ง ซึ่งเป็นสมัยที่นิยมเลี้ยงกัน เช่นไก่พันธุ์บั๊ฟเล็กฮอร์น, ไว้ท์ยันด๊อท, บาร์พลีมัทร็อค, แบล๊กบลู, อ๊อสตราหล็อป, ไลท์ซัสเซ็กส์ และไว้ท์ออร์ปิงตัน

เรื่องราวของพล นิกร กิมหงวนทั้งสองตอนที่ผมนำมาเสนอ เป็นการปูทางให้เห็นว่า ในช่วงต้นปี ๑๙๔๐ (พ.ศ. ๒๔๘๓) สังคมไทยเริ่มมีการทำผักสวนครัวและเลี้ยงสัตว์กันอย่างกว้างขวาง โดยเป็นนโยบายของรัฐบาลด้วยครับ

 @@@@

465-ผู้ใหญ่ลี3

ข้อมูลสนับสนุนสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่ผมจะขอหยิบยกมาอ้างก็คือ จากคุณนงไฉน ปริญญาธวัช ถ้าเอ่ยนามเพียงแค่นี้ ท่านผู้อ่านคงไม่ทราบว่าคือใคร แต่ถ้าพูดถึงนามปากกาของท่านคือ “กาญจนา นาคนันทน์” คงพอจะทราบกันบ้างว่า ท่านคือผู้แต่งนิยาย “ผู้ใหญ่ลีกับนางมา” นั่นเอง

คุณกาญจนา นาคนันทน์เป็นคนจังหวัดชัยภูมิ ได้เขียน “ผู้ใหญ่ลีกับนางมา” จากแรงบันดาลใจในบทเพลง “ผู้ใหญ่ลี” ซึ่งดังไปทั่วเมืองไทยในปี ๑๙๖๕ (พ.ศ. ๒๕๐๘) โดยท่านได้เขียนลงในนิตยสารสตรีสารในระหว่างปี ๑๙๖๕-๖๖ (พ.ศ. ๒๕๐๘-๐๙) และถูกพิมพ์รวมเล่มในปี ๑๙๖๘ (พ.ศ. ๒๕๑๑)

(หมายเหตุ ข้อมูลนี้ตรงกับคำนำของคุณกาญจนา นาคนันทน์ ในนิยายผู้ใหญ่ลีกับนางมา แต่ผิดเพี้ยนจากข้อมูลในสารนุกรมเสรีวิกีพีเดีย)

หลักฐานสำคัญที่สนับสนุนเหตุการณ์ผู้ใหญ่ลีอยู่ในระหว่างปีพ.ศ. ๒๔๘๒-๖ ไม่ใช่พ.ศ. ๒๕๐๔ ก็อยู่ที่บท “ผู้ประพันธ์คุยกับผู้อ่าน” เพื่อเป็นการไม่ให้เบี่ยงเบนเนื้อหาของข้อความ ผมขออนุญาตคัดลอกข้อความที่ท่านเขียนเอาไว้โดยไม่ตัดย่อหรือแก้ไขใด ๆ ดังนี้ครับ

”เมื่อพ.ศ. ๒๔๘๖ ดิฉันออกไปเป็นครูที่จังหวัดชัยภูมิ อยากเป็นนักเขียนเหลือเกิน แต่ไม่ทราบว่าจะเขียนอะไร ตอนนั้นชีวิตยังไม่มีประสบการณ์มากพอ แต่ก็ได้ประโยชน์มากอยู่เหมือนกัน ได้มีผู้เล่าให้ฟังว่า ข้าราชการฝ่ายปกครองผู้หนึ่ง ออกตรวจพื้นที่ไปถึงหมู่บ้านของผู้ใหญ่ลี เห็นมีลูกสุนัขมากมาย จึงถามขึ้น ลูกบ้านบอกว่าผู้ใหญ่บ้านสั่งให้เลี้ยงเพราะทางการสั่ง

ท่านผู้นั้นสงสัยเป็นกำลัง จึงไปสอบถามถึงตัวผู้ใหญ่ลีเอง ก็ได้ความว่าผู้ใหญ่ลีไปประชุมที่อำเภอ ท่านสั่งให้เลี้ยงสุกรทุกบ้านเป็นการช่วยเหลือประเทศชาติ ด้วยขณะนั้นเป็นเวลาระหว่างสงคราม ผู้ใหญ่กลับจากประชุมแจ้งแก่ลูกบ้าน ลูกบ้านต่างก็ไม่ทราบว่าสุกรคืออะไร จึงถามขึ้น ผู้ใหญ่ลีเองก็ไม่ทราบ ในที่สุดเขาก็ช่วยกันคิดและสรุปเอาอย่างแยบคายว่า สุนัขแปลว่าหมาใหญ่ (นักแปลว่า ใหญ่ หรือมาก) สุกรก็คงแปลว่า หมาน้อยแน่ ๆ และเมื่อเห็นชอบเช่นนั้น ก็ลงมือเลี้ยงสุนัขกันทั้งหมู่บ้าน

ขออย่าได้คิดว่าเขาโง่ คนพวกนี้พูดภาษาถิ่นมาตั้งแต่เกิด และได้เรียนหนังสือเพียงนิดหน่อย จะเข้าใจศัพท์ทุกคำย่อมเป็นไปไม่ได้ เรื่องนี้เล่ากันมาเป็นเรื่องขัน แต่ดิฉันก็เห็นเป็นเรื่องน่ารัก ที่เขาช่างเป็นพลเมืองดีเหลือเกิน ยังเสียใจจนบัดนี้ที่ไม่ได้ซักถามว่า ผู้ใหญ่ลีคนนี้เป็นชาวชัยภูมิหรือเปล่า แค่คิดเอาเองว่าเป็นชาวชัยภูมิแน่ ๆ เป็นคนหัวอ่อนน่ารักมาก และเขาควรจะได้รับการศึกษาอีกมากมายนักด้วย

เมื่อเพลงผู้ใหญ่ลีฮิตขึ้นในราวปี ๒๕๐๘ มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก ทั้งทางหน้าหนังสือพิมพ์และวงการศึกษา จนถึงกับมีการอภิปรายกัน และเชิญผู้ร้องเพลงนี้  ซึ่งก็ไม่ทราบต้นตอเพลงนี้ไปร้องที่หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดิฉันเฝ้าดูต่อไปว่า จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ดูเหมือนในปีนั้นเอง ที่รัฐบาลตกลงให้ตั้งมหาวิทยาลัยที่ขอนแก่น จะเนื่องจากเพลงนี้หรือเปล่าดิฉันไม่ทราบ   แต่ก็รู้สึกยินดีกับผู้ใหญ่ลี และลูกหลานของแกเป็นอันมาก

ในเนื้อเพลงตอนต้นว่า “พ.ศ. ๒๕๐๔ ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม…” เวลาเห็นจะคลาดเคลื่อนไปมาก เพราะเมื่อปี ๒๔๘๖ ดิฉันได้ทราบเรื่องนี้ แสดงว่ามันต้องเกิดก่อนหน้านี้แน่ จึงสันนิษฐานเอาเองว่า คงจะเป็นปี ๒๔๘๔ หรือใกล้เคียงนี้ ในระหว่างนั้นรัฐบาลประกาศให้ราษฎรทำอะไรหลาย ๆ อย่างเช่น ให้เลิกกินหมาก เลิกนุ่งผ้าโจงกระเบน ให้สวมหมวก สวมรองเท้า ประกาศวีรกรรม วัฒนธรรม ให้ทำสวนครัว เลี้ยงไก่ กินก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น ท่านว่าการกระทำเช่นนั้นจะช่วยให้ไทยชนะสงครามได้ ในที่สุดไทยก็ชนะจริง ๆ แต่ชนะอย่างที่ใคร ๆ ก็คงจะทราบอยู่แล้ว ขอให้ท่านเข้าใจว่า การนี้มีผู้ใหญ่ลีร่วมมือด้วยอย่างจริงจังผู้หนึ่ง……”

 @@@@

 สำหรับท่านผู้อ่านที่อยู่เมืองไทยและบังเอิญมีโอกาสได้อ่านบทความนี้ ผมคิดว่าเป็นสิ่งท้าทายไม่น้อย ที่จะลองค้นหาว่า ผู้ใหญ่ลีท่านนี้คือใคร? อยู่ที่หมู่บ้านใด? ผมเชื่อว่าด้วยเวลาที่ผ่านไป ๖๐ ปีเศษ ยังไม่สายเกินไปที่จะสืบถามจากญาติหรือคนในหมู่บ้านดังกล่าว…. แล้วอีเมลมาบอกผมบ้างนะครับ

465-ผู้ใหญ่ลี



Categories: บทความ ตามใจฉัน

Tags: , , , ,

1 reply

  1. จะขออนุญาตใช้ภาพในกระทู้ เพื่อนำออกอากาศทางช่องเวิร์คพอยท์ หมายเลข 23 รบกวนสอบถามช่องทางการติดต่อ สามารถติดต่อกลับมาได้ที่ E-mail – PPcharee.i@gmail.com ขอขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ

Leave a Reply

Discover more from jingjonews

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading