ปฎิวัติ ครั้งแรกและครั้งเดียวในออสเตรเลีย

Screen Shot 2014-05-30 at 4.19.07 AMหมายเหตุ ตามใจฉันที่จิงโจ้นิวส์นำเสนอตอนนี้ เป็นตอนที่ ๕๘๒ ของไม้ซีกขีด เชียนลงในไทยออสนิวส์ฉบับที่ ๕๘๒ วันที่ ๑๖ ถึง ๒๙ พฤษภาคม ๒๐๑๒ (พ.ศ. ๒๕๕๕) เรื่องราวที่เขียนไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับเหตุการณ์การเมืองในประเทศไทยที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่กี่วันมานี้ครับ

ตามใจฉัน ตอน ปฏิวัติเหล้ารัม ครั้งแรกและครั้งเดียวในออสเตรเลีย ในหนังสือพิมพ์ไทย-ออสนิวส์ฉบับที่ ๕๒๘

ตามใจฉัน ตอน ปฏิวัติเหล้ารัม ครั้งแรกและครั้งเดียวในออสเตรเลีย ในหนังสือพิมพ์ไทย-ออสนิวส์ฉบับที่ ๕๒๘

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่เคารพรัก.. ถ้าพูดถึงคำว่า “ปฎิวัติ” หรือ “รัฐประหาร” หรือ “กบฎ” แล้วจะคุ้นหูคนไทย   เพราะมีปรากฎการณ์ให้เห็นหลายครั้งในช่วงชีวิตหนึ่งของคนไทยเช่น ปฏิวัติของคณะราษฎร, กบฎ ร.ศ. ๑๓๐, กบฎนายสิบ, กบฏพระยาทรงสุรเดช, กบฏวังหลวง, กบฏแมนฮัตตัน, กบฏสันติภาพ และการทำรัฐประหารโดยผู้นำกองทัพไทยอีกหลายต่อหลายครั้ง   ผมเองก็ได้แต่ภาวนาว่าอย่าได้มีการปฏิวัติเกิดขึ้นอีกเลย.. ถ้าหากจำเป็นจริง ๆ ก็ขอให้เป็นชนิดที่จบลงด้วยประชาชนออกมามอบดอกไม้ให้อย่างจริงใจครับ

ที่นี้ผมมานึกถึงการปฎิวัติหรือกบฎในออสเตรเลียครั้งใหญ่แล้ว มีด้วยกัน ๓ ครั้ง คือกบฎคาสเซิลฮิลปี ๑๘๐๔ (พ.ศ. ๒๓๔๗), กบฏเหล้ารัมปี ๑๘๐๘ (พ.ศ. ๒๓๕๑) และกบฏยูเรก้าในปี ๑๘๕๔ (พ.ศ. ๒๓๙๗)   แต่ที่ผู้ก่อการกระทำการสำเร็จจนเรียกได้ว่าเป็นการปฏิวัติมีครั้งเดียวคือ การก่อการที่เรียกว่า “The Rum Rebellion” หรือถ้าแปลอย่างเป็นทางการคือ “กบฏเหล้ารัม” ซึ่งน่าจะเป็นคำที่ถูกต้อง   เพราะถ้าแปลจากความหมายอังกฤษเป็นอังกฤษของคำว่า Rebellion หมายถึง “การใช้อาวุธทำการต่อต้านรัฐบาลที่ปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ”     แต่เนื่องจากผู้ก่อการกบฏในประเทศไทยรู้สึกกระดากกับคำว่า “กบฏ” จึงเปลี่ยนกติกาใหม่ว่าถ้าก่อการสำเร็จให้ใช้คำว่า “ปฎิวัติ” หรือ “รัฐประหาร” แทน   ส่วนถ้าก่อการไม่สำเร็จก็ให้ใช้คำว่า “กบฏ” ดังเดิม

ดังนั้นหัวขอเรื่องนี้ผมจึงขออนุญาตใช้คำว่า “ปฎิวัติเหล้ารัม” แต่ในเนื้อหาผมจะใช้ว่า “กบฏเหล้ารัม” เพราะถือว่า จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จมันก็คือ “กบฏ” ต่อธรรมนูญการปกครองของบ้านเมืองอยู่ดี

กบฏเหล้ารัมถือเป็นการใช้กำลังติดอาวุธเข้าล้มล้างรัฐบาลในออสเตรเลียที่ประสบความสำเร็จเพียงครั้งเดียว เกิดขึ้นในสมัยที่พลเรือโทวิลเลียม ไบลห์ ในขณะดำรงยศเรือเอกเป็นผู้สำเร็จราชการฯ หรือข้าหลวงผู้มีอำนาจเต็มในดินแดนอาณานิคมนิวเซาท์เวลส์   เขาถูกพันตรีจอร์จ จอห์นสตันนำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจ ในตอนย่ำค่ำของวันที่ ๒๖ มกราคม ๑๘๐๘ (พ.ศ. ๒๓๕๓) หรือตรงกับ ๒๐ ปีหลังจากกัปตันอาร์เธอร์ ฟิลลิปนำคนผิวขาวเข้ามาตั้งรกรากในออสเตรเลียเป็นครั้งแรกพอดี   ถือเป็นการยึดอำนาจโดยไม่เสียเลือดแต่อย่างใด   ทำให้อาณานิคมแห่งนี้ ถูกฝ่ายทหารยึดครองนานเกือบ ๒ ปี ก่อนที่อังกฤษส่งพลตรีล็อชแลน แมคควอรีเขามาเป็นผู้สำเร็จราชการฯ

@@@@

582 A View of Sydney Cove—Port Jackson 7 March 1792 ภาพเขียนซิดนีย์โคฟหรือจุดที่ตั้งอาณานิคมครั้งแรกในปี ๑๗๙๒ ปัจจุบันคือย่านเดอะร็อคส์และเซอร์คิวล่าคีย์

ก่อนเล่าเรื่องผมขออนุญาตปูพื้นเหตุการณ์ตั้งแต่เริ่มแรกโดยย่อ เพื่อให้เรื่องนี้จบภายในตอนเดียว   ผมขอเริ่มจากกัปตันฟิลลิป ผู้นำนักโทษกลุ่มแรกเข้ามาตั้งอาณานิคม ด้วยการก่อร่างสร้างเมืองและจัดระเบียบนักโทษอย่างระมัดระวัง และพยายามผูกมิตรกับชนชาวอะบอริจินเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

หลังจากปกครองอาณานิคมนิวเซาท์เวลส์ไปได้ ๕ ปี สุขภาพของกัปตันฟิลลิปเริ่มทรุดโทรม จึงลาออกจากตำแหน่ง ท่านเดินทางกลับอังกฤษในปลายปี ๑๗๙๒ (พ.ศ.๒๓๓๕) ช่วงนั้นอังกฤษอยู่ในภาวะเตรียมพร้อม เนื่องจากสถานการณ์ปฏิวัติในฝรั่งเศสยังรุ่นแรงยิ่งขึ้น จึงมิได้ส่งผู้สำเร็จราชการคนใหม่มาแทน แต่ได้มอบหมายให้พันตรีฟรานซิส โกส ผู้บังคับการกองทหารราบที่ ๑๐๒ ประจำอาณานิคมและเป็นรองผู้สำเร็จราชการทำหน้าที่รักษาการแทน

ในปี ๑๗๙๔ (พ.ศ. ๒๓๓๗) พันตรีโกสได้เดินทางกลับไปอังกฤษ เพื่อรักษาตัวจากอาการบาดเจ็บเรื้อรัง ที่ได้รับมากจากสงครามประกาศอิสระภาพในอเมริกา ได้มอบหมายหน้าที่ให้ร้อยเอกวิลเลียม แพเตอร์สันทำหน้าที่ปกครองอาณานิคมแทน ซึ่งเขาดำเนินตามนโยบายของพันตรีโกสผู้เป็นเจ้านายทุกประการ

ในช่วงที่อาณานิคมไร้ผู้ปกครองส่งจากประเทศแม่นี้เอง ฝ่ายทหารได้กอบโกยผลประโยชน์ด้วยการให้สิทธิทหารเข้าจับจองที่ดินตามใจชอบคนละ ๑๐๐ เอเคอร์ (๒๕๓ ไร่) และสามารถนำนักโทษชาย ๑๐ คนกับนักโทษหญิง ๓ คนไปใช้ทำการเกษตรได้ภายใต้ค่าใช้จ่ายของรัฐบาล     อีกทั้งทหารเข้าผูกขาดทำการค้าด้วยการซื้อสินค้าในราคาต่ำ แล้วเสนอขายให้กับชาวอาณานิคมในราคาสูง

ทหารเหล่านี้ได้ใช้เหล้ารัมแทนค่าจ้างแก่นักโทษที่มารับจ้างทำงานตามฟาร์ม   จนในที่สุดเหล้ารัมกลายเป็นสินค้าที่สามารถนำมาใช้แทนเงินตรา ในการชำระค่าซื้อสินค้าได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไปพร้อมกับชาวอาณานิคมต้องถูกมอบเมาด้วยเหล้ารัม หลายคนติดสุราเรื้อรังจนกลายเป็นปัญหาสังคม ระบบดังกล่าวกลายเป็นปัญหาที่ผู้ปกครองอาณานิคมรายต่อ ๆ มาพยายามจะแก้ไข

ในเดือนกันยายนปี ๑๗๙๕ (๒๓๓๘) พลเรือโทจอห์น อันเตอร์ได้เข้ามารับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการฯคนที่สอง เขาได้พยายามจัดระเบียบสังคม แต่ไม่สามารถต้านอำนาจของกลุ่มผู้ควบคุมกำลังทหารและเศรษฐกิจอย่างเบ็ดเสร็จที่เข้ากันอย่างกลมกลืนได้

582tamjai- Government House Sydney 1809

อลิซาเบทฟาร์มในปี ๑๘๐๙

อ้อ..ขออนุญาตเสริมสักนิดหนึ่ง ในช่วงที่ทหารเข้าเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทำกิน มีอดีตนายทหารคนสนิทของพันตรีโกสคนหนึ่งชื่อร้อยเอกจอห์น แมคอาร์เธอร์ ต่อมาได้กลายเป็นนักธุรกิจที่ร่ำรวยที่สุดในอาณานิคม ท่านผู้นี้คือ ผู้ที่นำเอาคันไถเข้ามาใช้ทุ่นแรงงานคน   นำเอาแกะพันธุ์เมอริโนเข้ามาในทวีปออสเตรเลียเป็นรายแรก

และเป็นเจ้าของฟาร์ม “อลิซาเบทฟาร์ม” ที่มีชื่อเสียงของซิดนีย์   ความร่ำรวยของเขาทำให้เขากลายเป็นพลเรือนผู้ทรงอิทธพลที่สุดในอาณานิคม ที่สามารถทานอำนาจกับผู้ปกครองอาณานิคมได้ โดยมีกำลังทหารหนุนหลัง

พลเรือโทฮันเตอร์ผู้หาญกล้าคิดบั่นทอนอำนาจที่ครอบงำอาณานิคม เขากลายเป็นเหยื่อรายแรกที่ถูกเรียกกลับเกาะอังกฤษในเดือนกันยายน ๑๘๐๐ (พ.ศ. ๒๓๔๓)   เพียงแค่นายแมคอาร์เทอร์ตกแต่งรายงานกล่าวหาผู้สำเร็จราชการฯไปยังรัฐบาลอังกฤษเท่านั้น

ผู้สำเร็จราชการฯอันดับที่สามคือเรือเอกฟิลลิป คิงอดีตนายทหารเรือผู้เคยเดินทางมากับกลุ่มเรือฝูงแรกที่นำนักโทษมาตั้งหลักแหล่งในปี ๑๗๘๗ ครั้งนั้นเขาทำหน้าที่เป็นรองผู้บังคับการเรือซีรีอัส   เข้ามารับหน้าที่ในปลายเดือนกันยายน ๑๘๐๐ ท่านผู้นี้เป็นนายทหารเรือผู้เคร่งครัดในระเบียบ และยอมหักไม่ยอมงอ   ไม่ผิดไปจากพลเรือโทฮันเตอร์    เขาจึงได้รับการต่อต้านจากกองกำลังทหารประจำอาณานิคมและนักธุรกิจที่เป็นพันธมิตรเนียวแน่น

ผู้สำเร็จราชการฯคิงทำสงครามครั้งใหญ่กับกลุ่มอำนาจด้วยการสั่งลดจำนวนนักโทษที่ถูกเกณฑ์ไปทำงานตามฟาร์มของทหารด้วยรายจ่ายของรัฐบาลจาก ๑๐ คนลงเหลือ ๒ คน     พร้อมกับออกคำสั่งห้ามทหารค้าสุราและเป็นผู้นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์   และพยายามจะทำลายการผู้ขาดการค้าด้วยการเปิดร้านขายสินค้ารวมถึงแอลกอฮอล์ในราคาต่ำ

ผลที่ได้รับคือกลุ่มทหารและพ่อค้ารวมตัวกันต่อต้านและตั้งตัวเป็นศัตรูอย่างเปิดเผย พวกเขาปฎิเสธการให้ความร่วมมือกับฝ่ายผู้สำเร็จราชการฯทุกประการ รวมถึงไม่เข้าร่วมงานวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระเจ้าจอร์จที่ ๓ ซึ่งจัดขึ้นที่จวนผู้สำเร็จราชการฯในทุกปีอีกด้วย   ในที่สุดเขาก็ถูกบังคับให้ลาออกจากตำแหน่งในเดือนสิงหาคม ๑๘๐๖ (พ.ศ. ๒๓๔๙)

 @@@@582tamjai- William Bligh ผู้สำเร็จราชการวิลเลียม ไบทห์ 

คราวนี้ก็มาถึงผู้สำเร็จราชการฯอันดับที่สี่ ผู้ก่อให้เกิดเหตุการณ์กบฏเหล้ารัม   ท่านผู้นี้คือพลเรือโทวิลเลียม ไบลห์ เข้ามารับตำแหน่งในเดือนสิงหาคม ๑๘๐๖ (ขณะนั้นมียศเรือเอก) เขาเป็นนายทหารที่เคร่งในระเบียบวินัย เชื่อมั่นในความคิดเห็นของตนเอง จนเป็นเหตุให้เขาถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ว่า ในเดือนเมษายนปี ๑๗๘๙ (พ.ศ. ๒๓๓๒)   นายทหารเรือผู้นี้ถูกผู้ใต้บังคับบัญชาขัดขืนคำสั่งเข้าจับตัวเขาและลูกเรือที่จงรักภักดีอีก ๑๘ คนจากเรือรบหลวงเบาน์ตี้ลงเรือเล็กขนาด ๒๓ ฟุต ปล่อยทิ้งกลางมหาสมุทรแปซิฟิก แต่ด้วยความชำนาญในการเดินเรือของเขา ทำให้สามารถเดินเรือต่อไปด้วยเส้นทาง ๖,๗๐๐ กิโลเมตรในเวลา ๔๗ วันไปถึงท่าเรือเมืองปัตตาเวีย โดยมีลูกเรือเสียชีวิตหนึ่งคนจากการต่อสู้กับเรือของข้าศึกในกลางมหาสมุทร

582tamjai-Lt Bligh Mutiny HM Bounty

ภาพวาดผู้บังคับการเรือวิลเลียม ไบทห์ขณะถูกขับลงจากเรือเบาน์ตี้ ปี ๑๗๘๗ 

เมื่อมาถึงซิดนีย์ผู้สำเร็จราชการฯคนใหม่ได้รับการตอนรับจากพันตรีจอร์จ จอห์นสตันผู้บัญชาการกองทัพในฐานะผู้นำฝ่ายทหาร จากนายริชาร์ด แอตกินส์ในนามผู้แทนข้าราชการพลเรือน และจากนายจอห์น แมคคาร์เธอร์ ในนามผู้ตั้งหลักแหล่งอิสระ หลังจากนั้นไม่นานเขาได้รับจดหมายลงนามโดยกลุ่มบุคคลอิสระและผู้ตั้งหลักแหล่งอิสระจำนวน ๓๖๙ คน   ร้องเรียนว่านายแมคคาร์เธอร์ไม่ใช่ตัวแทนของพวกเขา และกล่าวหาว่าเขาได้ยับยั้งการปล่อยแกะออกสู่ตลาดเพื่อหวังทำกำไรจากราคาเนื้อแกะที่สูงขึ้น

หนึ่งในภาระกิจแรก ๆ ของผู้สำเร็จราชการฯไบลห์ก็คือการใช้คลังสินค้าและสัตว์ปศุสัตว์ ของรัฐบาล เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร ที่ได้รับจากเหตุการณ์น้ำท่วมที่ทำกินตามลุ่มแม่น้ำฮอว์คสเบอรี่ การกระทำครั้งนี้ ทำให้เขาได้รับการสรรเสริญจากชาวไร่ แต่เป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายทหารและกลุ่มพ่อค้าที่ต้องสูญเสียกำไรงดงามจากการเข้ามาแทรกแทรงของผู้นำรัฐบาล

ในปลายปี ๑๘๐๗ (พ.ศ. ๒๓๕๐) ผู้สำเร็จราชการฯไบลห์ได้เดินเกมภายใต้คำแนะนำของกระทรวงกิจการอาณานิคม (Colonial Office) เข้าแก้ไขสภาพการค้าขายของอาณานิคม ด้วยการสั่งยกเลิกระบบการใช้เหล้ารัมแทนเงินตราในการซื้อสินค้าและจ่ายค่าแรงงาน และได้เตือนว่าเขาอาจจะได้รับการต่อต้านอย่างหนักจากกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์

ผู้สำเร็จราชการฯไบลห์ยังได้สั่งยกเลิกการออกที่ดินให้กับกลุ่มผู้มีอำนาจในอาณานิคม ทำให้ในช่วงที่เขาอยู่ในตำแหน่งมีการมอบที่ดินให้กับชาวอาณานิคมเพียง ๑,๖๐๐ เฮกาตาร์ (๑๐,๐๐๐ ไร่) เท่านั้น โดยครึ่งหนึ่งเป็นการออกที่ดินให้ตนเองและบุตรสาว

เขายังใช้อำนาจในการจัดการกับฝ่ายตรงข้ามโดยไม่ชี้แจงเหตุผล เช่นการปลดนายดาร์ชี เวนต์เวิร์ทออกจากตำแหน่งผู้ช่วยแพทย์อาณานิคม (Assistant Surgeon to the Colony) โดยไม่แจ้งความผิด, สั่งขังพ่อค้าสามคนเป็นเวลา ๑ เดือน และสั่งปรับผู้เขียนจดหมายฉบับหนึ่งซึ่งเขาเห็นว่าใช้ถ้อยคำก้าวร้าว

ผู้สำเร็จราชการยังสั่งปลดนายโทมัส เจมิสันออกจากตำแหน่งผู้พิพากษาด้วยข้อหากระทำการเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล     นายเจมิสันผู้นี้มีตำแหน่งเป็นเจ้ากรมแพทย์อาณานิคม ก่อนได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้พิพากษาในปี ๑๘๐๕ และเป็นนักธุรกิจที่ประสบความร่ำรวยจากการค้าระหว่างประเทศ และที่สำคัญก็คือเขาเป็นหุ้นส่วนการค้ากับนายแมคอาร์เธอร์

582tamjai-First Government House Sydney 1807 จวนผู้สำเร็จราชการหลังแรก วาดในปี ๑๘๐๗ 

ในเดือนตุลาคม ๑๘๐๗ พันตรีจอห์นสตันได้เขียนจดหมายร้องเรียนไปยังกองทัพสหราชอาณาจักรกล่าวหาผู้สำเร็จราชการฯไบลห์ว่ากระทำการข่มเหงและเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของทหาร   สถานการณ์ในขณะนี้แสดงให้เห็นว่าฝ่ายทหารได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่า พวกเขาอยู่ฝ่ายตรงกันข้ามกับฝ่ายรัฐบาล  ผู้สำเร็จราชการฯไบลห์ยังก่อศตรูกับกลุ่มบุคคลที่ร่ำรวยรองลงมาบางราย   คือผู้ที่เช่าที่ดินของรัฐบาลภายในซิดนีย์ด้วยการให้พวกเขาย้ายไปอยู่ที่อื่น

แต่สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดกบฏเหล้ารัมขึ้นในอาณานิคมมาจากการขัดแย้งระหว่างผู้สำเร็จราชการกับนายแมคอาร์เธอร์ ด้วยการสั่งยุติการค้าเหล้ารัมของนายแมคอาร์เธอร์ให้กับกองทัพ    สั่งหยุดการนำเข้าเครื่องกลั่นสุราอย่างผิดกฎหมาย   และที่ดินในซิดนีย์ที่นายแมคอาร์เธอร์ได้รับมาสมัยผู้สำเร็จราชการฯคิงก็เกิดข้อขัดแย้งกับแผนการพัฒนาเมืองของผู้สำเร็จราชการฯไบลห์อีกด้วย

ในเดือนตุลาคมปี ๑๘๐๗ (๒๓๕๐) นักโทษคนหนึ่งได้หลบหนีออกจากซิดนีย์ด้วยการแอบซ่อนในเรือสินค้าลำหนึ่งของนายแมคอาร์เธอร์ เมื่อเรือกลับมาถึงซิดนีย์ในเดือนธันวาคมของปีเดียวกัน เงินวางประกันเพื่อการปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับในการค้าทางเรือและการศุลกากรจะต้องถูกยึด

ผู้สำเร็จราชการได้สั่งให้นายริชาร์ด แอตกินส์ผู้มีตำแหน่งเป็น Judge-Advocate ซึ่งคำนี้ถ้าตีความหมายตามคำจำกัดความคือ “ผู้ทำหน้าที่เป็นทั้งอัยการและผู้พิพากษาศาลอาณานิคม” ก็น่าจะเรียกว่าตุลาการศาลอาณานิคมออกหมายเรียกให้นายแมคอาร์เธอร์มาปรากฎตัวที่ศาลในวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๑๘๐๗ เพื่อจัดการเรื่องการยึดเงินวางประกันฯ

แต่นายแมคอาร์เธอร์ไม่ปฎิบัติตามหมายสั่ง   เขาจึงถูกจับกุมตัว แต่ก็ได้รับการประกันตัวออกมาโดยมีกำหนดจะต้องมาปรากฎตัวที่ศาลอาญาในวันที่ ๒๕ มกราคม ๑๘๐๘ (พ.ศ. ๒๓๕๑) ด้วยองค์คณะศาลประกอบด้วย   นายแอตกินและนายทหารจากกองทัพอีก ๖ นาย     แต่นายแมคอาร์เธอร์ไม่เห็นด้วยกับการแต่งตั้งให้นายแอตกินส์ เข้าร่วมคณะตุลาการ   เนื่องจากเขาเป็นลูกหนี้คนหนึ่งของนายแมคอาร์เธอร์และอาจตัดสินลำเอียงต่อเขา

นายแอตกินส์ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้   แต่นายทหาร ๖ คนสนับสนุนข้อประท้วงของนายแมคอาร์เธอร์     เมื่อไม่มีตุลาการศาลอาณานิคมเข้ารวมพิจารณา   และไม่มีผู้ได้รับแต่งตั้งเข้ามาแทนที่ การพิจารณาคดีในศาลก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้

ในวันที่ ๒๖ มกราคมผู้สำเร็จราชการฯไบลห์ได้สั่งจับกุมนายแมคอาร์เธอร์ และสั่งให้คืนเอกสารในการดำเนินคดีซึ่งตกอยู่ในมือของนายทหารทั้ง ๖ นาย

แต่ฝ่ายกองทัพโต้ตอบด้วยการขอให้มีการแต่งตั้งตุลาการศาลอาณานิคมคนใหม่   และยอมให้ประกันตัวนายแมคอาร์เธอร์ออกมาจากคุก   ทำให้ผู้ว่าการฯไบลห์ออกหมายเรียกตัวนายทหารมาที่จวนผู้สำเร็จราชการฯ แจ้งให้ทราบว่าการจับกุมนายแมคอาร์เธอร์เป็นไปตามคำสั่งของผู้พิพากษา และได้เตือนพันตรีจอห์นสตันว่า การกระทำของฝ่ายทหารว่าเข้าข่ายเป็นกบฏ

แทนที่พันตรีจอห์นสตันจะเชื่อฟัง เขากลับไปที่คุกและสั่งให้ปล่อยตัวนายแมคอาร์เธอร์     ออกมาเขียนฎีกาให้พันตรีจอห์นสตันเข้าจับกุมผู้สำเร็จราชการฯและเข้าทำหน้าที่ปกครองอาณานิคม      ฎีกาดังกล่าวลงนามโดยนายแมคอาร์เธอร์ โดยมีนายทหารผู้ใต้บังคับบัญชาของพันตรีจอห์นสตันและกลุ่มพ่อค้าลงนามเพิ่มเติมในภายหลัง

582tamjai- Arrest of Govenor Blighภาพวาดทหารขณะเข้าจับกุมผู้สำเร็จราชการวิลเลียม ไบทห์ 

 จากนั้นในเวลาประมาณ ๑๘.๐๐ น. กองทหารจำนวนกว่า ๓๐๐ นายได้เดินแถวตบเท้าไปยังจวนผู้สำเร็จราชการฯเข้าทำการจับกุมผู้สำเร็จราชการฯไบลห์   ภาพวาดประวัติศาสตร์บันทึกเหตุการณ์การจับกุมเป็นไปในลักษณ์ที่เขาเข้าไปแอบอยู่ใต้เตียงนอน   แต่มีนักประวัติศาสตร์เชื่อว่า ภาพดังกล่าวถูกวาดให้เกินความเป็นจริง  เพื่อต้องการสร้างความอัปยศให้กับผู้สำเร็จราชการฯไบลห์

การก่อการครั้งนี้ถือเป็นการทำการปฏิวัติที่สำเร็จภายในวันเดียว โดยไม่เสียเลือดเนื้อ ต่อมาถูกเรียกว่า “The Rum Rebellion” หรือ “กบฎเหล้ารัม” นั่นเอง

 @@@@

หลังจากก่อการกบฏเรียบร้อยแล้ว   พันตรีจอห์นสตันได้แต่งตั้งให้นายชาร์ลส์ กริมส์เจ้ากรมการสำรวจ เป็นตุลาการศาลอาณานิคมคนใหม่   และสั่งให้ทำการพิจารณาคดีนายแมคอาร์เธอร์และนายทหารทั้งหกคน ซึ่งผลออกมาว่าไม่มีความผิด

หลังจากพ้นผิดนายแมคอาร์เธอร์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการอาณานิคม และทำหน้าที่ดูแลกิจการธุรกิจของอาณานิคม   ส่วนนายเจมิสันได้กลับมารับตำแหน่งผู้พิพากษาตามเดิม พร้อมกับได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้ากรมการเดินเรือมีหน้าที่จัดเก็บภาษีศุลกากรและสรรพสามิตร

ตลอดปี ๑๘๐๘ ผู้สำเร็จราชการฯไบลห์ถูกกักขังให้อยู่ภายในจวนผู้สำเร็จราชการฯ หลังจากเขาปฏิเสธที่จะเดินทางกลับอังกฤษ

เมื่อตำแหน่งผู้สำเร็จราชการฯถูกกำจัดออกไป พันตรีจอห์นสตันได้รายงานต่อผู้บังคับบัญชาที่มียศสูงกว่าคือ พันเอกวิลเลียม แพตเตอร์สันซึ่งประจำการอยู่ที่แทสมาเนีย (ในขณะนั้นแทสมาเนียยังเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมนิวเซาท์เวลส์)

แต่พันเอกแพตเตอร์สันผู้มีภารกิจก่อตั้งเมืองในแทสมาเนียมีความอึดอัดที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวในขณะที่ยังไม่มีคำสั่งใด ๆ มาจากอังกฤษ จนกระทั่งในเดือนมีนาคม ๑๘๐๘ เขาจึงได้รับข่าวว่านาวาโทโจเซฟ โฟโวกซ์จะเดินทางมาทำหน้าที่รักษาการแทนรองผู้สำเร็จราชการฯ พันเอกวิลเลียมจึงปล่อยให้นาวาโทโฟโวกซ์รับมือกับสถานการณ์ยุ่งยากในซิดนีย์

นาวาโทโฟโวกซ์เดินทางมารับตำแหน่งในเดือนกรกฎาคม ความสัมพันธ์ของเขากับนายแมคอาร์เธอร์และกับอดีตผู้สำเร็จราชการฯไบลห์ซึ่งยังถูกกักกันภายใน จวนเป็นไปอย่างห่างเหิน   เขาได้มุ่งเน้นปรับปรุงถนน สะพาน และอาคารของทางการที่ได้รับการปล่อยปละละเลย   และเมื่อยังคงไม่มีคำสั่งใด ๆ จากอังกฤษเข้ามาอีก   เขาจึงส่งหมายเรียกให้พันเอกแพตเตอร์สันเดินทางมาซิดนีย์ในเดือนมกราคม ๑๘๐๙ เพื่อจัดการกับปัญหาเหตุการณ์ที่ผู้ใต้บังคับบัญชาก่อขึ้น

พันเอกแพตเตอร์สันได้ตัดสินใจส่งพันตรีจอห์นสตันและนายแมคอาร์เธอร์ไปดำเนินคดีในอังกฤษ  แล้วนำอดีตผู้สำเร็จราชการฯ ไบลห์ไปกักกันที่ค่ายทหารจนกว่าเขาจะยอมลงนามกลับอังกฤษ   ซึ่งผู้สำเร็จราชการฯไบลห์ยอมรับข้อเสนอ   ทำให้เขาได้รับมอบหมายให้คุมเรือรบหลวงพอร์เพิส   แต่แทนที่จะเดินเรือกลับอังกฤษ เขากลับเดินเรือมาที่แทสมาเนีย เพื่อขอความช่วยเหลือจากเรือโทเดวิด คอลลินส์รองผู้สำเร็จราชการฯประจำแทสมาเนีย   เพื่อขอกำลังสนับสนุนในการกลับเข้ามายึดอำนาจคืน แต่เขาได้รับการปฏิเสธและไม่อนุญาตให้ขึ้นบก

ในสหราชอาณาจักรซึ่งเผชิญกับการทำสงครามกับนโปเลียน (ค.ศ. ๑๘๐๔ ถึง ๑๘๑๕) จนละเลยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในนิวเซาท์เวลส์ไปถึงเกือบ ๒ ปี   ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการฯที่เป็นนายทหารเรือ จะไม่สามารถควบคุมกองทหารประจำอาณานิคมซึ่งเป็นทหารบกได้   จึงตัดสินใจส่งพลตรีล็อชแลน แมคควอรีซึ่งเป็นนายทหารบกเป็นผู้สำเร็จราชการฯอันดับที่ห้า ในวันที่ ๑ มกราคม ๑๘๑๐ พร้อมกับเรียกกองบัญชาการทหารราบที่ ๑๐๒ กลับอังกฤษ ด้วยการส่งกองบัญชาการทหารราบที่ ๗๓ เข้าประจำการแทน

งานชิ้นแรกของผู้สำเร็จราชการคนใหม่คือ คืนตำแหน่งให้กับเจ้าหน้าที่ที่ถูกพันตรีจอห์นสตันและนายแมคคาร์เธอร์ปลดออกจากตำแหน่ง และสั่งยกเลิกการออกที่ดินที่เกิดขึ้นในระหว่างที่นิวเซาท์เวลส์ขาดผู้สำเร็จราชการฯ

เมื่ออดีตผู้สำเร็จราชการฯไบลห์ทราบข่าวการมารับตำแน่งของผู้สำเร็จราชฯคนใหม่ เขาจึงเดินเรือกลับมายังซิดนีย์ในวันที่ ๑๗ มกราคม ๑๘๑๐ เพื่อหวังสะสางคดีแค้น

582tamjai- john macarthur ภาพนายจอห์น แมคอาร์เธอร์บนธนบัตรชนิดราคา ๒ เหรียญ 

พันตรีจอนสตันถูกนำขึ้นศาลทหารในซิดนีย์ และพบว่ามีความผิด เขาถูกลงโทษสถานเบาที่สุดคือไล่ออกจากราชการ ออกมาใช้ชีวิตในฐานะบุคคลอิสระอยู่ที่อันนาเดลในซิดนีย์     ส่วนนายแมคอาร์เธอซึ่งยังอยู่ในกรุงลอนดอน ได้หลบหนีการถูกนำกลับมาดำเนินคดีในซิดนีย์ด้วยการอยู่ในประเทศต่าง ๆ ในยุโรปเป็นเวลาถึง ๘ ปีครึ่ง จนกระทั่งได้รับการอนุญาตให้เดินทางกลับซิดนีย์ได้   หลังจากการล็อบบี้ทางการเมืองโดยกลุ่มผู้สนับสนุนเขาประสบความสำเร็จ

ส่วนอดีตผู้สำเร็จราชการฯไบลห์กลับเข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการกองเรือรบหลวงพอร์เพิสต่อไป ด้วยยศนาวาเอกพิเศษ จนการงานก้าวหน้ามาตามลับดับด้วยยศครั้งสุดท้ายในตำแหน่งพลเรือโท……. พบกันใหม่ฉบับหน้าครับ

582tamjai- Elizabeth Farmภาพวาดอลิซาเบทฟาร์มวาดในปี ๑๘๒๘ ในปัจจุบันอยู่ีที่ตำบล Rosehill เขต Parramatta ในซิดนีย์ 



Categories: บทความ ตามใจฉัน

Tags: ,

Leave a Reply

Discover more from jingjonews

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading