พล นิกร กิมหงวน ตอนที่ ๔๖ “อกอีแป้นจะแตก”

625tamjai-title

เก็บอดีตจาก หัสนิยายพลนิกรกิมหงวน ตอนที่ ๔๖ “อกอีแป้นจะแตก”

หมายเหตุ บทความเรื่องนี้เป็นบทความตอนที่ ๖๒๕ ของ ไม้ซีกขีด เจ้าของคอลัมน์ตามใจฉัน ที่ตั้งใจจะเขียนลงหนังสือพิมพ์ไทยออสนิวส์ฉบับที่ ๖๒๕ ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ๒๐๑๔ แต่ไม่มีโอกาสลง จึงมอบให้จิงโจ้นิวส์ลงเผยแพร่แทน   และไม้ซีกขีดยังรับปากว่าจะส่งบทความมาลงอีกครับ

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่เคารพ.. ดังที่ผมเคยบอกไว้แล้วว่า เวลาผมทำงาน ผมจะเปิดรายการต่าง ๆ ตามไปด้วย ถ้าไม่เปิดเพย์ทีวีดูกีฬา หรือดูข่าว ก็ต้องดูสารคดี ภาพยนตร์ หรือละครของไทยโดยผ่านทั้งจากอินเทอร์เน็ต หรือจากแผ่นดีวีดีที่ไปซื้อมาจากไทยทาวน์   ยกเว้นแต่หนังไทยผมจะดูจากแผ่นของแท้จะไม่ดูแผ่นละเมิดลิขสิทธิ (ถ้าไม่จำเป็น) เพราะสามารถยืมมาดูได้จากกลุ่มหอผูกมิตร กลุ่มนี้เขาสะสมดีวีดีทุกเรื่องที่เมืองไทยมีวางขาย

หลายคนเวลาทำงาน จะเปิดเพลงคลอตามไปด้วย แต่สำหรับผม เวลาทำงานก็จะเปิดรายการสาระและบันเทิงตามไปด้วย เพื่อเป็นการไม่ให้เสียเวลา ก็วันหนึ่งมีแค่ ๒๔ ชั่วโมงเท่านั้น หากต้องทำงาน ดูบันเทิงและสารคดี และนอนหลับพักผ่อนให้ได้ครบก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อยวันละ ๓๖ ชั่วโมง ซึ่งเป็นไปไม่ได้

625tamjai

วันนี้ผมตื่นขึ้นมาก็เข้ายูทูปดูรายการ “แฟนพันธุ์แท้” ตอนประเทศญี่ปุน ออกอากาศทางทีวีสีช่องสามวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จบแล้วดูย้อนหลังรายการ “บางอ้อ” ของคุณหนุ่ม คงกระพันเพราะผมชอบรายการของเขา ผมดูหลายตอนด้วยกัน เพราะแต่ละตอนสั้นมาก แล้วเปลี่ยนมาเปิดเครื่องเล่นดีวีดีดูรายการ “ท่องโลกกว้าง” รายการโปรดเหมือนกัน สำหรับรายการท่องโลกกว้าง ผมไปซื้อที่เขาทำแผ่นดีวีดีขายเพราะอยากเก็บเอาไว้   อันที่จริงจะเปิดดูจากเพย์ทีวีเขาก็มีให้ดูตลอด ๒๔ ชั่วโมง   แต่ความสามารถภาษาอังกฤษผมยังไม่ถึงขั้นนั้น   ถ้าเปิดจากทีวีแล้วนั่งดูไม่เป็นไรผมรู้เรื่องทุกคำบรรยาย   แต่ถ้าทำงานไปด้วย เปิดทีวีฟังเสียงอังกฤษไปด้วยจะไม่รู้เรื่อง แต่ถ้าเป็นฟังบรรยาภาษาไทยผมจะรู้เรื่องทั้งหมด

ท่องโลกกว้างที่ผมดูเป็นแผ่น ๑๑๐ มี ๕ ตอนด้วยกันคือมหัศจรรย์ของสายลม ๓ ตอน, กำเนิดทวีปแอฟริกา และกำเนิดทวีปออสเตรเลียรวมเป็น ๕ ตอน ชอบทุกตอน พวกเขาแปลได้ดี ก็ขอให้รายการนี้อยู่คู่ไทยพีบีเอสไปนาน ๆ นะครับ

ท่านผู้อ่านที่เมืองไทยจะรู้สึกเหมือนผมหรือไม่ว่า ผู้ทำรายการเมืองไทยมีความผิดพลาดให้จับได้เยอะมาก โดยเฉพาะละครไทย พลาดแล้วพลาดอีก คนไทยคงชินเลยไม่คิดว่าเป็นความผิดพลาด   คงเหมือนกับผมที่โดนฝรั่งรู้ภาษาไทยจับผิดภาษาไทยที่ผมเขียน รวมแล้วมากกว่าโดนคนไทยพบความผิดพลาด หรืออาจเป็นเพราะคนไทยเห็นข้อผิดพลาดแล้วให้ผ่านเลยไป ด้วยขี้เกียจเสียเวลาบอกกล่าว

@@@@

รายการแฟนพันธุ์แท้เป็นรายการหนึ่งที่พบความผิดพลาดโผล่ออกมาให้จับได้ อย่างรายการที่ผมดูวันนี้มีคำถามเกี่ยวกับเกอีชาชาวต่างชาติคนแรกของญี่ปุ่น บังเอิญผู้ตอบคำถามตอบไม่ได้   แต่คนเฉลยนี้สิน่าตี บอกว่าชื่อ ฟิโอน่า แครอลีน แกรแฮม เป็นชาวออสเตรีย

ผมฟังแล้วชะงักทันที ต้องย้อนกลับไปฟังเพราะเกรงว่าหูจะฝาด เป็นอันว่าทางรายการเฉลยว่าเป็นชาว “ออสเตรีย”  แท้จริงแล้วเธอเป็นคน “ออสเตรเลีย” เกิดที่เมลเบิร์น เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านมนุษย์วิทยา สำเร็จปริญญาเอกสาขามนุษยศาสตร์วิทยาสังคมจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ที่ผมทราบก็เพราะผมเป็นคนรายงานเรื่องนี้ลงในหนังสือพิมพ์ไทย-ออสนิวส์มากับมือ   อันที่จริงผู้เฉลยควรจะเฉลียวใจสักนิดว่าชื่อ “ฟิโอน่า แครอลีน แกรแฮม” เป็นชื่ออังกฤษไม่ใช่เยอรมันซึ่งเป็นภาษาราชการของออสเตรีย

แล้วต่อมาถึงรายการ “บางอ้อ” หรือเปล่า ? หรือจะไปติดแค่บางกรวยบ้านผม หลายเรื่องที่เฉลยออกมา ผมยังไม่ถึง “บ้างอ้อ” แต่กลับเป็น “บางจริงหรือ?” หรือ “บางไม่มั้ง?” และ “บางไม่ใช่แน่!” บทความของผมตอนนี้ถ้าคุณหนุ่ม-คงกระพันมีโอกาสได้อ่านก็อย่าได้เสียใจ เพราะคนเราลองทำงานแล้วย่อมมีผิดพลาด คนที่ไม่ผิดพลาดคือคนที่ไม่ได้ทำอะไรเลย

ผมขอยกตัวอย่างในช่วง “คำถามชวนอ้อ” ที่คำตอบไม่เป็น “บางอ้อ” แต่เป็น “บางจริงหรือ?” หรือ “บางไม่มั้ง?” อย่างเช่นที่มาของคำว่า “ฝรั่ง” ผู้เฉลยตอบอย่างฉะฉานว่า เพี้ยนมาจากคำว่า “ฝรั่งเศส” หรือ “French”     อันที่จริงยังมีทฤษฎีอื่นที่ไม่ควรมองข้ามและไม่น่าตอบอย่างกำปั้นทุบดินอย่าง “French” หรือ “France” นั่นคือทฤษฎีตะวันออกกลางโบราณ ที่อ้างชาวอาหรับเรียกชนเฝ่าหนึ่งว่า Faranji คนกลุมนี้เข้ายึดดินแดนเปอร์เชียร์ แล้วคนกลุ่มนี้ถูกเรียกเพี้ยนไปอีกว่า Firingi แล้วชาวอินเดียที่ติดต่อกับแขกขาวกลุ่มนี้ เอามาเรียกชาวยุโรปที่ใช้เส้นทางการค้าผ่านเปอร์เชียมายังอินเดียว่า Feringhi จากนั้นชาวอินเดียที่อพยพมาอยู่กรุงศรีอยุธยา เรียกชาวโปรตุเกสกลุ่มแรกที่เข้ามาอยุธยาว่า Feringhi หรือ ฟีรองกิ (โปรดทำสำเนียงอินเดีย) แต่คนไทยออกเสียงตามไม่ได้เลยเพี้ยนเป็น “ฝรั่ง”

ก็คงเหมือนอย่าง Parker (ปาร์กเกอร์) คนไทยสมัยก่อนออกเสียงไม่ได้เลยเพี้ยนเป็น “ปากกา”   อย่าง “โกโบริ” เป็น “พ่อดอกมะลิ” อันหลังนี้คุณทมยันตีคิดขี้นเอง โดยเอาวิธีประดิษฐ์คำอย่างคนไทยในอดีตมาใช้ครับ

อ้อ….แล้วต้องอย่าลืมว่า ต้องคำนึงถึงผลไม้ที่มีชื่อว่า “ฝรั่ง” ด้วยว่ามันเข้ามาตั้งแต่ตอนไหน? ผมเปิดสาราณุกรมวีกีที่ได้ชื่อว่าให้ข้อมูลเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง ระบุว่า ผลฝรั่ง เข้าใจว่าชาวโปตุเกสซึ่งเรียกชื่อผลไม้ชนิดนี้ว่า goiaba นำเข้ามาเผยแพร่ในอยุธยาในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. ๒๑๙๙-๒๒๓๑) ท่านผู้อ่านที่อยากลองเป็นนักสืบประวัติศาสตร์ ลองไปศึกษาดูซิครับ มันสนุกตื่นเต้นออกจะตาย กับภาระกิจแกะปมปริศนานี้

@@@@

ตัวที่จุดประกายให้ผมเขียนฉบับนี้ มาจากรายการบางอ้อ ที่ออกอากาศวันที่ ๔ มกราคม ๒๐๑๔ (พ.ศ. ๒๕๕๗) ช่วง “คำถามชวนอ้อ” เฉลยถึงที่มาของคำว่า “อกอีแป้นจะแตก” ผู้เฉลยตอบอย่างมั่นใจว่า มีที่มาจากตัวละครชื่อ “แป้น” ในนวนิยายเรื่อง “ตามรักคืนใจ” ประพันธ์โดยกิ่งฉัตร   และเพราะความฮิตของละครทีวีเรื่องนี้ทำให้คำว่า “อกอีแป้นจะแตก” ได้รับความนิยมแพร่หลายมาถึงปัจจุบัน ได้ฟังแล้วผมฟันธงทันทีว่าถึง “บางไม่ใช่แน่”

ลองมาดูกันนะครับ ละครเรื่อง “ตามรักคืนใจ” ถูกนำออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ๓ ในปี ๑๙๙๘ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ส่วนนิยายเรื่องนี้เขียนโดยคุณกิ่งฉัตร หรือนามจริงปาริฉัตร ศาลิคุปต์ ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในปี ๑๙๙๖ (พ.ศ. ๒๕๓๙)

ถือว่าเป็นหนึ่งในอีกหลายตอนที่ “คำถามชวนอ้อ” ให้ข้อมูลผิดพลาด ส่วนที่มาของคำว่า “อกอีแป้นจะแตก” เกิดขึ้นเมื่อไร ต้องฝากคนที่ประเทศไทยทำวิจัยกันอีกครั้งครับ   ณ วันนี้ผมของนำหลักฐานที่บันทึกในหัสนิยายพลนิกรกิมหงวน ของคุณป. อินทลปาลิตมาหักล้างข้ออ้างนี้ ดังนี้ครับ

พล นิกร กิมหงวน – ศาสตราจารย์ตัวปลอม

ขออนุญาตเริ่มจากตอน “ศาสตราจารนย์ตัวปลอม” คุณป. อินทรปาลิตเขียนถึงเหตุการณ์ในเดือนกันยายนปี ๑๙๖๔ (พ.ศ. ๒๕๐๗)   ในเนื้อหาบอกว่าเป็นช่วงที่กางเกงสำเร็จรูปเริ่มเข้ามาตีตลาดกางเกงตัดจากร้านตัดเสื้อในราคาตัวละ ๙๐ บาท ชุดสากลถ้าให้เท่ต้องตัดด้วยผ้าเสิร์จราคาแพงจากอังกฤษ, รถเบนซ์ ๒๒๐ เอสคือรถที่เศรษฐีนำมาขับอวดความมั่งมี ส่วนสุภาพสตรียังนิยมนุ่งกระโปรงทับเพ็ททิโค้ตอยู่

ในตอนหนึ่งกล่าวถึงพลตรีดิเรกให้คนสนิทปลอมเป็นตัวเขาเอง และตัวเขาปลอมเป็นเลขาของตนเอง เมื่อประภาผู้เป็นภรรยาดึงหนวดปลอมของเขาออก คุณหญิงวาดถึงกับอุทานว่า

……”ตายแล้ว อกอีแป้นแตกดังโพละ มันยังไงกันแน่พ่อดิเรก อยู่ดี ๆ ไม่ว่าดีเอาหนวดเคราปลอมมาติดเป็นคนอื่น”…..     

เห็นไหมละครับว่าแค่หลักฐานนี้ ก็หักล้างข้อมูลรายการบางอ้อไปแล้ว ๓๔ ปี

625tamjai-กินจุ

พล นิกร กิมหงวน – กินจุ

ตอนต่อมา “กินจุ” เป็นเหตุการณ์ราวเดือนสิงหาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ๑๙๕๐ (พ.ศ. ๒๔๙๓) ในเนื้อหาบอกว่าในปีนี้แฟชั่นกระโปรง “นิวลุก” กำลังเป็นที่นิยม เป็นยุคที่เกาหลีเหนือกำลังรบกับเกาหลีใต้ เพลง “ไทยควรคำนึง” ซึ่งผมไม่รู้จักเป็นหนึ่งในเพลงที่เป็นที่นิยม   และตอนนี้ยังระบุราคาสินค้าหลายชนิด อาทิเช่นข้าวเม้าเขาขายกันเป็นแพ แพละ ๔ ลูกราคา ๑ บาท

ในตอนหนึ่ง ลุงเชยถูกนิกรหลอกให้กินมัสตาด โดยบอกว่าเป็นกาละแมฝรั่งสีจึงเหลือง ไม่ดำอย่างกาละแมไทย ประไพภรรยานิกรได้ยินเขาถึงกับอุทานว่า

……”ตาย อกอีแป้นแตกคราวนี้”…….

นี่ก็เป็นอีกตอนหนึ่ง ที่เกิดก่อนที่คำถามชวนอ้ออ้างถึง ๔๘ ปี 

625tamjai-หลานชาชพันท้าย

พล นิกร กิมหงวน – หลานชายพันท้ายนรสิงห์

ตอนต่อมาตอน “หลานชายพันท้ายนรสิงห์” เป็นเหตุการณ์ในเดือนเมษายน ๑๙๕๐ (พ.ศ. ๒๔๙๓) ตอนนี้ผู้เขียนนำกระแสตอบรับกับภาพยนตร์เรื่อง “พันท้ายนรสิงห์” เข้าฉายที่โรงภาพยนตร์เฉลิมกรุงมาตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๑๙๕๐ ถือเป็นภาพยนตร์ที่ฮือฮาที่สุดของพ.ศ.นี้นำมาผูกเป็นเรื่อง

ในตอนหนึ่งพ่อสมนึกวัย ๘ ขวบบุตรชายหัวแก้วหัวแหวนของเสี่ยกิมหงวน ขอเงินบิดาเป็นค่าขนมขณะอยู่โรงเรียนประจำ ซึ่งลูกชาวบ้านทั่วไปได้ค่าขนมอย่างมากก็วันละ ๕๐ สตางค์เท่านั้น   แต่ด.ช.สมนึกกลับขอเงินบิดาว่า

…..”หนูขอเงินเพิ่มจากอาทิตย์ละพันบาทเป็นสองพันบาท”   คุณหญิงวาดนัยน์ตาเหลือก    “ตาย-ตายแล้ว อกอีแป้นแตกในคราวนี้ พ่อหงวนจ๋านี่แกส่งเงินมาให้เจ้านึกใช้อาทิตย์ละพันบาทเชียวหรือ?”……

นี้ก็เป็นอีกหลักฐานหนึ่งนะครับ

625tamjai-บุกฮาเร็ม

พล นิกร กิมหงวน – บุกฮาเร็ม

ตอนต่อมา “บุกฮาเร็ม” เป็นเหตุการณ์ในเดือนเมษายน ๑๙๔๙ (พ.ศ. ๒๔๙๒) เนื้อหาในตอนนี้ กล่าวถึงวลีประวัติศาสตร์ที่ว่า “ไปบางเขน” กำลังแพร่หลาย ใครถูกเจ้าหน้าที่บ้านเมืองขู่ว่า “เดี๋ยวพาไปบางเขน” แค่นี้ก็แทบลมใส่ บางคนเล่นเอาเกือบช็อคตาย

เหตุการณ์ไปบางเขนเพิ่งเกิดขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ ในเวลาตี ๓ ของวันที่ ๔ มีนาคม ๑๙๔๙ เมื่อทางการนำผู้ต้องหากบฎวังหลวงประกอบด้วยอดีตรัฐมนตรี ๔ คนออกจากที่คุมขังในกรุงเทพฯไปสังหารที่บางเขนอย่างโหดเหี้ยม โดยคำสั่งของกลุ่มบุคคลมีอำนาจสูงสุดของประเทศในขณะนั้น

ในเนื้อหาตอนหนึ่ง เป็นเหตการณ์หลังจากดร.ดิเรกฉีกยาเพิ่มพลังให้นิกร นิกรจึงจับตัวคุณหญิงวาดโยนเล่น ให้ลอยอยู่บนอากาศจนพอใจ แล้ววางท่านลงกับพื้นตามเดิม จากนั้น

…….คุณหญิงวาดหน้าซีดเผือก “โอ๊ย ! อกอีปุกแตก หนีโว้ยพวกเรา”   พูดจบท่านก็วิ่งออกจากห้องทดลองวิทยาศาสตร์ของนายแพทย์ดิเรกด้วยความเกรงกลัว…….. .

จะสังเกตเห็นว่า ตอนนี้คุณป. อินทรปาลิตใช้คำว่า “อกอีปุก” แทนคำว่า “อกอีแป้น” ซึ่งท่านผู้อ่านที่คุ้นเคยกับลีลาการเขียนของนักเขียนอารมณ์ดีท่านนี้ จะชินกับการเล่นคำ อย่างเช่น “ยาอุทัยลูกสาวหมอมี” ก็อาจจะถูกล้อเลียนเป็น “ยาอุทัยลูกชายหมอมา” อะไรเทือกนั้นครับ

625tamjai-กองพันพลร่ม

พล นิกร กิมหงวน – กองพันพลร่ม

ตอนต่อมา “กองพันพลร่ม” เป็นเหตุการณ์ในช่วงงานรัฐธรรมนูญในธันวาคมปี ๑๙๔๐ (พ.ศ. ๒๔๘๓) เป็นเหตุการณ์แม่งามทั้งสาม ประกอบด้วย นันทา ประไพ และนวลละออ ศรีภรรยาของสามเกลอ พล นิกร กิมหงวน หาเงินช่วยกองทัพไทย ด้วยการขายจูบโดยไม่บอกให้สามเกลอทราบ

ส่วนสามเกลอหนีเมียมาเที่ยวงานรัฐธรรมนูญ เห็นโฆษณาขายจูบรายได้เข้าการกุศล เลยซื้อบัตรอุดหนุนแถมได้จูบสาวอีก   แต่พอเห็นสาวที่มาให้จูบเป็นเมียรัก อาเสี่ยกิมหงวนถึงกับร้องว่า

….”โอ๊ะ” อาเสี่ยคราง “อกอีปุกแตก ไอ๊ย่า !”….

ตอนนี้เป็นอีกตอนหนึ่งที่ใช้คำว่า “อีปุก” แทน “อีแป้น” ครับ

625tamjai-กลัวเมีย

เชอร์ลีย์ เทมเปิล

เชอร์ลีย์ เทมเปิล

ตอนต่อไปคือตอน “กลัวเมีย” เป็นเหตุการณ์เดือนกรกฎาคมปี ๑๙๓๙ (พ.ศ. ๒๕๘๒) ตอนนี้ได้เอ่ยถึง “เชอร์ลีย์ เทมเปิล” ดาราเด็กที่เพิ่งเสียชีวิตเมื่อไม่กี่วันมานี้ ด้วยวัย ๘๕ ปี เธอเป็นดาราคนโปรดของผม เห็นหน้าเธอทีไรแล้วมีความสุขทุกที ที่กล่าวกันว่าเธอทำให้โลกในยุคมหาเศรษฐกิจตกต่ำมีความสดใสขึ้น ผมว่าเป็นคำกล่าวที่ถูกต้อง ขอให้เธอผู้ทำให้โลกสดใสไปสู่สุขติ

ในตอนนี้มีมุกตลกถึงแม่ครูสาวที่ชื่อธาดา ผู้ซึ่งพล วัชราภรณ์แอบกระลิ้มกระเหลี่ยอยู่หลายวัน พ่อรู้ว่าแม่ธาดาได้ลูกศิษย์วัย ๑๗ ปีเป็นสามี พลถึงกับยกมือตบหน้าผากตัวเอง ถอนหายใจดัง ๆ แล้วต่อด้วย

….นายพัชราภรณ์หันไปทางนิกร “เป็นไงเพื่อน ศาสนาพระศรีอารยใกล้เข้ามาทุกทีแล้วโว้ย – อกอีแป้นแตก เกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่ก็เพิ่งได้ยินครูได้นักเรียนเป็นผัว”….

625tamjai-หนุ่มรักสนุก

ตอนสุดท้ายคือ “หนุ่มรักสนุก” เป็นเหตุการณ์ เดือนมีนาคม ๑๙๓๙ (พ.ศ. ๒๔๘๒)   เป็นหัสนิยายพล นิกร กิมหงวนลำดับที่สอง เนื้อหาในฉบับทำให้ทราบว่า ผงชูรสอายิโน้ะโม้ะโต๊ะเป็นที่รู้จักของคนไทยแล้ว ปีนี้คนกรุงเทพฯยังมีห้องส้วมใช้ไม่แพร่หลาย ธุรกิจถังวิทยาศาสตร์ (ถ้งใส่อุจาระ) ยังเปิดดำเนินกิจการบริการชาวพระนครอยู่

ตอนนี้ยังบอกให้ทราบว่าสงครามมหาเอเชียบูรพาญี่ปุ่นกำลังรุกรานจีน ประโยคหนึ่งที่ยายเจียมคนรับใช้บ้านศิริสวัสดิ์ตอบพล พัชราภรณ์แขกผู้มาเยือน เมื่อเขาถามถึงเจ้านายว่า…เจ้าพระยาปัจจนึกพินาศพานันทาบุตรสาวไปไหน?… คำตอบที่ได้คือ “ไปในงานต้อนรับทหารเรืออังกฤษค่ะ” ประโยคนี้มีความหมาย แสดงให้ทราบว่ากองทัพเรืออังกฤษซึ่งเป็นเจ้าทะเลตลอดกาลเริ่มเข้ามามีบทบาทในคาบสมุทรแปซิฟิก ที่กำลังร้อนระอุไปด้วยสงคราม

ส่วนคำว่า “อกอีแป้นแตก” อยู่ในตอนที่เจ้าคุณประสิทธิ์นิติศาสตร์จะเขกหัวลูกชาย แต่ถูกคุณหญิงวาดห้ามไว้ดังนี้

…..เจ้าคุณขยับจะเขกจริง ๆ คุณหญิงปราดเข้าจับข้อมือไว้   “อย่า! อย่าค่ะ ประเดี่ยวเยี่ยวรดที่นอน”  พลกระโดดโหยงเหมือนถูกเข็มแทง มองดูคุณหญิง  แล้วทำคอย่นหลับตาปี๋  “ผมนะหรือครับ จะเยี่ยวรดที่นอน อนิจจัง ธรรมัง สังฆัง โอย-อกอีแป้นแตก”

จากหลักฐานที่ปรากฎในหัสนิยายพลนิกรกิมหงวนคงจะหักล้าง ข้อมูลของ “ช่วงคำถามชวนอ้อ” ได้อย่างสนิทใจแล้วครับ   ส่วนต้นกำเนิดของ “อกอีแป้นแตก” หรือ “อกอีแป้นจะแตก” เกิดขึ้นเมื่อใดเห็นที่ต้องย้อนเวลาไปอีก เพราะหัสนิยายพลนิกรกิมหงวนเริ่มเขียนในปี ๑๙๓๙ ก็ปรากฎวลีนี้แล้ว……….พบกันใหม่โอกาสหน้าครับ

หมายเหตุ ท่านสามารถอ่านตอนอื่น ๆ ของพล นิกร กิมหงวน ได้อีกโดยกดที่ “บทความตามใจฉัน” ตรงบาร์สีดำด้านบน



Categories: บทความ ตามใจฉัน

Tags: , , , ,

Leave a Reply

%d bloggers like this: