😰 สถาบันแกรตแทนเสนอทางแก้นายจ้างเอาเปรียบค่าแรงงานต่างชาติ

สถาบัน Grattan Institute เสนอแนวทางแก้ปัญหาแรงงานต่างชาติถูกเอาเปรียบ 27 ข้อแก่รัฐบาลนาย Anthony Albanese : ภาพป๊อปอาร์ตโดย jingjonews ภาพต้นฉบับ buddgroup.com

23 พ.ค. 2023 Grattan Institute สถาบันวิจัยอิสระทางนโยบายการเมืองของออสเตรเลียซึ่งมีฐานในนครเมลเบิร์นพบว่า แรงงานต่างชาติถูกใช้ให้ทำงานเกินเวลาและจ่ายค่าจ้างต่ำกว่ากฎหมายกำหนด พบมากในกลุ่มธุรกิจรับส่งอาหาร, เก็บผลไม้และงานคลีนเนอร์

สถาบัน Grattan พบว่า 16% ของผู้ถือวีซ่าชั่วคราวพร้อมได้สิทธิ์ทำงานในออสเตรเลีย ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายโดยเฉลี่ยของแต่ละอาชีพที่พวกเขาทำ

ดร. Brendan Coates ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐศาสตร์ของสถาบันกล่าวว่า การจ่ายค่าแรงที่น้อยกว่ากฎหมายกำหนดจำเป็นต้องหยุดได้แล้ว

เขากล่าวว่า การเอาเปรียบแรงงานทำความเจ็บปวดมาให้แรงงานต่างชาติ แล้วยังทำให้อำนาจการต่อรองของแรงงานออสเตรเลียอ่อนแอลง, เป็นอันตรายต่อธุรกิจที่ทำอย่างถูกต้อง, ทำลายชื่อเสี่ยงของประเทศบนเวทีโลกและบั่นทอนความมั่นใจในโครงการรับชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศ

ทางด้านนาง Clare O’Neil รัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายในประเทศ (กระทรวงมหาดไทย) เคยออกมายอมรับว่า ระบบการรับชาติต่างชาติเข้ามาทำงานได้ล้มเหลวโดยพื้นฐาน และมีการพึงพาแรงงานทำงานชั่วคราวมากเกินไป จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรมากขึ้นในการแก้ปัญหาการกดขี่ค่าจ้างแรงงานชาวต่างชาติ

สถาบัน Gattan ได้เสนอรายงานข้อเสนอ 27 หัวข้อรวมทั้งสิ้น 114 หน้ากระดาษไปถึงนาย Anthony Albanese นายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาคาราคาซังมาอย่างยาวนาน

ข่าวออนไลน์สำนักข่าว AAP ผ่านข่าว Yahoo News วันที่ 23 พฤษภาคม 2023 เสนอข่าวแรงงานอพยพในออสเตรเลียถูกพบจ่ายค่าจ้างต่ำกว่ากฎหมายกำหนดเป็นสองเท่าของลูกจ้างชาวออสเตรเลีย

ในจำนวนข้อเสนอ 27 ข้อรวมถึง การขยายวีซ่าแรงงานขาดแคลนชั่วคราว (temporary skill-shortage visas ) ให้เคลื่อนย้ายในหลายพื้นที่ เพื่อให้แรงงานต่างชาติหนีรอดจากนายจ้างสุดโหด ไปหานายจ้างที่ปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างเป็นธรรม

เสนอแนะให้ออกหมายเลขประจำตัวภาษีให้กับแรงงานทำงานชั่วคราวทันทีเมื่อพวกเขาเดินทางมาถึง

และแนะนำให้ออกวีซ่าความยุติธรรมในการจ้างงาน (workplace justice visa) เพื่อให้แรงงานต่างชาติอยู่ในออสเตรเลียต่อไปได้ ในระหว่างดำเนินคดีเอาผิดกับนายจ้างจอมโหด

สถาบันยังโจมตีนายจ้างสามารถรอดพ้นการถูกลงโทษอย่างหนักต่อการเอาเปรียบลูกจ้างต่างชาติ เนื่องจากการปรับนายจ้างเหล่านี้มีจำนวนน้อยนิด โดยสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อการจ้างงานที่เป็นธรรม (FWO) ปราบปรามนายจ้างผู้กระทำผิดในปี 2021-22 สามารถปรับได้เพียง 4 ล้านเหรียญเท่านั้น

เมื่อเปรียบเทียบกับสำนักงานภาษีออสเตรเลีย (ATO) สามารถเดินเรื่องปรับผู้หลีกเลี่ยงภาษีได้สำเร็จเป็นจำนวนเงิน 3 พันล้านเหรียญ และหน่วยงานจับผิดผู้บริโภคเดินเรื่องปรับเป็นจำนวนเงิน 232 ล้านเหรียญ

สถาบัน Grattan ยังแนะนำให้เอาบทลงโทษจำคุกมาใช้ด้วยโทษจำสูงสุดไม่เกิน 10 ปีสำหรับนายจ้างที่เจตนาจ่ายค่าแรงลูกจ้างต่ำกว่าที่กำหนด

สถาบัน Grattan ประเมินว่า การเปลี่ยนแปลงทั้งหมด 27 ข้อจะกระทบต่องบประมาณค่าใช้จ่าย 115 ล้านต่อปี แต่สามารถครอบคุมรายจ่ายได้ด้วยการเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่าชั่วคราว 30 เหรียญต่อปีในทุกประเภทของวีซ่า ซึ่งเชื่อว่าแรงงานต่างชาติยินดีจ่าย หากพวกเขาได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรมมากขึ้น หรือได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว

นอกจากนั้นการปรับอย่างหนักกับเอเยนซี่การเข้าเมืองที่ฉ้อฉลระบบก็ยังสามารถนำมาช่วยงบประมาณในการจัดการส่วนนี้

 

jingjonews.com
jingjonews@hotmail.com (งดใช้ชั่วคราว)



Categories: ข่าวออสเตรเลีย

Tags: , , , , , , , ,

Leave a Reply

%d bloggers like this: