🇮🇳 กุ๊กหญิงทำงานสองปีไม่จ่ายค่าแรง-นายจ้างอ้างแลกสปอนเซอร์

กุ๊กหญิงอ้างนายจ้างบังคับทำงานสองปีไม่จ่ายค่าจ้าง ในขณะนายจ้างแฉจ่ายให้แล้วแต่เป็นเงินสด แล้วไฉนมีเศษ 2 เซนต์

17 มี.ค. 2023 พนักงานทำอาหาร (cook) ผู้ซึ่งทำงานกว่า 2 ปีให้กับร้านอาหารอินเดียในนครแอดิเลดโดยไม่ได้รับค่าจ้าง อ้างเจ้าของร้านสองคนข่มขู่จะทำให้เธอถูกเนรเทศ ถ้าไปร้องเรียนทางการ

นาง Pawanjeet Heir ผู้ไม่ได้รับค่าจ้างรายนี้เปิดเผยว่าเธอไม่ได้รับเงินเดือน, ค่าล่วงเวลา, ค่าลาหยุดประจำปี จากการทำงานกับร้านอาหารอินเดียในย่าน Mawson Lakes เขต City of Salisbury 12 กม.ทางเหนือจากย่านธุรกิจกลางใจนครแอดิเลดในระหว่างปี 2013 ถึง 2015

ทีมกฎหมายของเธอประเมินค่าจ้างและสิทธิพึงได้จากการจ้างงานที่อดีตนายจ้างไม่ได้จ่ายรวมเป็นเงินทั้งสิ้นเกือบ 200,000 เหรียญ

นาง Heir เดินทางจากอินเดียเข้ามาที่นครเมลเบิร์นในปี 2008 ด้วยวีซ่านักเรียน เพื่อเข้าศึกษาวิชาทำอาหารและการจัดการด้านธุรกิจบริการ

เมื่อสำเร็จการศึกษาเธอและสามีได้ค้นหาผู้ที่จะเป็นสปอนเซอร์วีซ่าถาวรในตำแหน่งคนทำครัว เพื่อได้วีซาชั่วคราวแรงงานมีทักษะ 457

นาย Kiranbahai Patel ได้เสนอตำแหน่งงานทำครัวที่ร้านอาหาร Darshana’s Curry and Tea House ในเดือนพฤษภาคม 2013 ซึ่งนาง Heir ตกลงและย้ายครอบครัวจากนครเมลเบิร์นมาที่นครแอดิเลด

เธอทำงานเดือนแรกโดยไม่ได้รับเงินเดือนใด ๆ จากนั้นได้รับการจ่ายค่าจ้าง 4 สัปดาห์ในระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน 2013

คณะอนุญาโตตุลาการพิจารณาข้อร้องเรียนทางด้านความเป็นธรรมจากการจ้างงานแห่งรัฐเซาท์ออสเตรเลีย (SAET) ได้รับฟังว่า หลังจากนั้นการจ่ายค่าจ้างได้หยุดลง สามีของเธอจึงทวงถามเงินค่าจ้างที่จ่ายขาด แต่นาย Patel อ้างว่าเป็นการหักค่าธรรมเนียม 30,000 เหรียญที่จ่ายให้กับกระทรวงการเข้าเมืองและสำนักงานภาษี และยังขู่ว่าจะเดินเรื่องยกเลิกวีซ่าของนาง Heir หากร้องเรียนทางการ

ข่าวออนไลน์สำนักข่าว ABC เสนอข่าว พนักงานทำครัวร้านอาหารในนครแอดิเลดไม่ได้รับการจ่ายค่าจ้างมากว่าสองปี ภายใต้การข่มขู่เรื่องเนรเทศออกนอกประเทศ

ผู้พิพากษา Stephen Lieschke รองคณะ SAET กล่าวว่าไม่มีหลักฐานแน่ชัดที่จะพิสูจน์ในเรื่องของการค้างจ่ายค่าแรงงาน แต่คณะอนุญาโตตุลาการยอมรับข้ออ้างของนาง Heir ถึงการถูกข่มขู่ในเรื่องการเนรเทศถ้าเธอเดินเรื่องร้องเรียนเรื่องค่าจ้างต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อการจ้างงานที่เป็นธรรม (FWO)

นอกจากไม่จ่ายค่าจ้างแล้ว นาย Patel ยังปฏิเสธคำขอในเรื่องค่าลาป่วย, ค่าลาหยุดในฐานะผู้ดูแล (carers’ leave) และยังให้นาง Heir มาทำงานในวันที่เธอเกิดไส้ติ่งแตกในเดือนสิงหาคมปี 2015

แต่นาง Heir ปฏิเสธเขาเพื่อเข้ารับการผ่าตัด เธอมาทราบหลังจากฟื้นไข้แล้วว่าวีซ่าของเธอถูกยกเลิก หลังจากกระทรวงการเข้าเมืองเข้าตรวจสอบบริษัท Fusion India Pty Ltd ซึ่งเป็นนิติบุคคลเจ้าของร้านอาหาร

เป็นผลให้กระทรวงสั่งห้ามบริษัท Fusion India ทำการสปอนเซอร์แรงงานต่างขาติอีกต่อไป

ร้านอาหาร Darshana’s Indian Cuisine : ภาพจากหนังสือพิมพ์ The Courier Mail

ในการพิจารณาคดีนี้นาย Patel ไม่ได้ให้หลักฐานประกอบคดีและไม่ได้เรียกพยานเข้าให้การแก้ต่าง แต่ได้อ้างว่านาง Hier มีความไม่น่าเชื่อถือหรือเป็นบุคคลเชื่อถือไม่ได้ ดังนั้นเธอจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะพิสูจน์ใด ๆ ตามที่เธอกล่าวหา

นาย Patel อ้างว่านาง Heir ได้รับการจ่ายค่าจ้างเป็นเงินสด แต่ผู้พิพากษา Lieschke ได้ปฏิเสธความเชื่อถือของเอกสารประกอบด้วยเหตุผลหลายประการ รวมถึงข้ออ้างที่ว่า พวกเขาได้จ่ายค่าจ้างในสัปดาห์หนึ่งเป็นเงิน 828.62 เหรียญ แม้ว่าเหรียญ 2 เซนต์ไม่ได้ใช้กันมาเป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้ว

นาย Radhaben Patel หรือ Ravi หลานชายของนาย Patel ยังถูกพบว่ากระทำการขัดต่อกฎหมายว่าด้วยความยุติธรรมในการทำงานโดยไม่อนุญาตให้นาง Heir หยุดพักในระหว่างการทำงาน

แม้บริษัท Fusion India จะล้มละลายไปแล้วในปี 2016 แต่กฎหมายยังเปิดช่องให้ผู้เสียหายสามารถเรียกค่าจ้างและสิทธิพึงรับค้างจ่ายได้จากอดีตกรรมการบริษัทหรือเลขาธิการบริษัทหรือเจ้าของธุรกิจที่ปิดตัวลงแล้ว

ส่วนร้านอาหาร Darshana’s Curry and Tea House ภายใต้ทีมงานบริหารชุดใหม่ได้ปิดตัวลงในปี 2018

 

jingjonews.com
jingjonews@hotmail.com (งดใช้ชั่วคราว)



Categories: ข่าวออสเตรเลีย

Tags: , , , , , , , , , ,

Leave a Reply

%d bloggers like this: