
ป้าย Thai Town ถนน Campbell St. ในย่าน Haymarket : ภาพป๊อปอาร์ตโดยจิงโจ้นิวส์
25 ต.ค. 2022 ย่านที่อยู่อาศัยในออสเตรเลียที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นพหุวัฒนธรรม โดยอาศัยข้อมูลจากการสำรวจสำมะโนประชากรครั้งล่าสุดในวันที่ 10 สิงหาคมปี 2021 เฉพาะย่านที่มีประชากรเกินกว่า 1,000 คนขึ้นไป
เมื่อเข้ามาถึงเรื่องของความหลายหลากทางเชื้อชาติพบว่าย่าน Point Cook เขต City of Wyndham ทางตะวันตกเฉียงเหนือของนครเมลเบิร์นเป็นที่อยู่ของผู้อพยพมาจากประเทศต่าง ๆ สูงที่สุดถึง 146 ประเทศ ตามด้วยย่านตัวเมืองชั้นในของนครเมลเบิร์น 137 ประเทศ
อันดับที่สามและสี่อยู่ในนครซิดนีย์ที่ย่าน Blacktown เขต City of Blacktown ทางตะวันตกของนครซิดนีย์และย่าน Maroubra เขต City of Randwick ทางตะวันออกของนครซิดนีย์มีผู้อพยพมาจาก 133 ประเทศเท่ากัน
เมื่อพิจารณาถึงย่านที่มีผู้เกิดในต่างประเทศอยู่อาศัยหนาแน่นที่สุด เป็นไปตามคาดหมายของหลายคนคือย่าน Haymarket ของเขต City of Sydney ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของไชน่าทาวน์และไทยทาวน์ พบว่ามีผู้เกิดในต่างประเทศอาศัยอยู่สูงสุดถึง 78% โดยมีผู้เกิดในประเทศจีน 21%, จากประเทศไทย 17%, อินโดนีเซีย 11%, มาเลเซีย 3% และเกาหลีใต้ 3%
ย่าน Harris Park เขต Parramatta ทางตะวันตกของนครซิดนีย์เป็นย่านที่มีผู้เกิดในต่างประเทศเป็นอันดับที่สอง โดยมีผู้เกิดในต่างประเทศ 75% เป็นผู้เกิดในประเทศอินเดียถึง 45% หรือเรียกได้ว่า 1 ใน 2 คนของผู้อยู่อาศัยในย่านนี้เป็นคนเชื้อสายอินเดีย
ในทางกลับกันย่านที่มีผู้เกิดในต่างประเทศอาศัยอยู่น้อยที่สุด (เฉพาะย่านที่มีประชากร 1,000 คนขึ้นไป) ทั้งหมดเป็นชุมชนที่อยู่ของชาวอะบอริจินได้แก่ Cherbourg และ Yarrabah ในรัฐควีนสแลนด์และ Milingimbi ในดินแดนนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี
หมายเหตุ รายงานชุดนี้ได้แยกชาวอะบอริจและชาวเกาะทอร์เรสสเตรทจำนวน 812,728 คนออกจากชาวออสเตรเลีย
เมื่อแยกถึงภาษาพบว่า มีภาษามากกว่า 350 ภาษาใช้พูดคุยกันทั่วออสเตรเลีย ในจำนวนนี้รวมถึงภาษาอะบอริจินและชาวเกาะทอร์เรสสเตรทจำนวน 167 ภาษา
ภาษาจีนกลาง (แมนดาริน) เป็นภาษาที่พูดเป็นอันดับที่สองรองจากภาษาอังกฤษเป็นจำนวนเกือบ 700,000 คน ตามด้วยภาษาอารบิกจำนวนกว่า 367,000 คน
อันดับสามเป็นภาษาปัญจาบที่ีใช้พูดในประเทศอินเดียและปากีสถานเป็นภาษาที่เพิ่มขึ้นสูงสุด 80% จากการสำรวจสำมะโนประชากรในปี 2016 มาอยู่ที่มากกว่า 239,000 คน
ในด้านของศาสนาพบว่า ชาวออสเตรเลีย 38.9% ระบุว่าพวกเขา ‘ไม่มีศาสนา’ (เพิ่มจากปี 2016 ซึ่งเคยอยู่ที่ 30.1%) ในขณะที่ีมีผู้ระบุว่านับถือศาสนาคริสต์ 43.9% (ในปี 2016 อยู่ที่ 52.1%) ตามด้วยศาสนาอิสลาม 3.2%, ฮินดู 2.7% และศาสนาพุธ 2.4%
jingjonews.com
jingjonews@hotmail.com (งดใช้ชั่วคราว)
Categories: ข่าวคนไทยในออสเตรเลีย, ข่าวออสเตรเลีย
Leave a Reply