เล่าสู่กันฟัง : เรื่องการใช้เงินสดในออสเตรเลีย

ภาพเขียนกัปตัน Arthur Phillip ในพิธีปักธงยูเนียนแจ็คที่ Sydney Cove ในวันที่ 26 มกราคมปี 1788 ปัจจุบันคือ Circular Quay : เครดิตภาพ State Library of Victoria

2 พ.ค. 2022 วันนี้ระบบการทำงานคอมพิวเตอร์ของจิงโจ้นิวส์ใกล้เข้าที่ แต่ยังขัดข้องนิดหน่อย ขออนุญาตเปลี่ยนมาเล่าสู่กันฟังในฐานะคนติดเกาะออสเตรเลียอยู่นานตั้งแต่ปี 1987 จำได้ว่าตอนนั้นไม่ได้ตั้งใจมาที่ประเทศนี้ จู่ ๆ มีเหตุให้มาเหมือนถูกลิขิตเอาไว้

ก่อนที่จะกลับเมืองไทยในเดือนมกราคม 1988 ออสเตรเลียมีอายุครบ 200 ปีพอดี ผมไปยืนอธิษฐานอยู่ตรงจุดที่กัปตันอาร์เธอร์ ฟิลลิปทำพิธีปักธงยูเนียนแจ็คประกาศดินแดนที่พบใหม่เป็นของสหราชอาณาจักรว่า “ขอให้มีโอกาสกลับมาออสเตรเลียอีก” แล้วก็เหมือนพรมลิขิตเอาไว้ ผมได้กลับมาออสเตรเลียอีกครั้ง แล้วก็อยู่ยาวมากว่าสามทศวรรษ ชนิดเล่าให้ใครฟังหลายคนก็บอกว่าเหลือเชื่อ

เรื่องที่ผมเล่าวันนี้เป็นเรื่องที่เกิดเมื่อวานนี้ เป็นวันสุดท้ายที่ผมต้องจ่ายค่า strata คือค่าบริหารส่วนกลางที่อยู่อาศัย ก็น่าจะเหมือนกับค่าพ.ร.บ.อาคารชุดของไทย แต่ของผมหนักหน่อยตกไตรมาสละ 3,129.21 เหรียญ ก็ตกราวเดือนละ 25,000 บาท อันนี้ยังไม่รวมค่าน้ำ, ค่าไฟ, ค่าเทศบาล, ค่าประกันและอื่น ๆ อีกจิปาถะ

ที่พักอาศัยในนครซิดนีย์แพงมาก จะเป็นรองในโลกก็ที่ฮ่องกงและสิงคโปร์นั้นแหละ

ปกติดผมจ่ายค่า strata ที่ร้านไปรษณีย์ตรงหัวมุมถนนเข้าบ้านด้วยการนำเงินสดไปชำระ เพราะผมเป็นคนโล-เทคมีความรู้ด้านเทคโนโลยีต่ำ ประเภทไม่เคยชำระเงินหรือซื้อสินค้ากับเขาทางออนไลน์แม้แต่ครั้งเดียว

แต่ก็มีคนเขียนข้อความผ่านมือถือแจ้งให้ทราบว่า สินค้าที่สั่งทางออนไลน์กำลังจะมาถึงบ้าง, ล่าช้าบ้าง,
มีปัญหาบาง ซึ่งผมไม่ตอบสักครั้ง เพราะไม่เคยสั่งซื้อออนไลน์ พวกนี้ต้องเป็นคอลเซ็นเตอร์หลอกลวง 100% โดยไม่ต้องซ.ต.พ.

ร้านไปรษณีย์ออสเตรเลีย Australia Post : เครดิตภาพ auspost.com.au

ที่นี้เรื่องมันเกิดที่ร้านไปรษณีย์เขาแจ้งให้ทราบว่า ทางไปรษณีย์ไม่รับเงินสดจำนวนมากอีกต่อไป อันเป็นกฎระเบียบใหม่

ผมจึงยื่นบัตรเครดิตให้ เจ้าหน้าที่ซึ่งคุ้นหน้าคุ้นตากันดีบอกว่าบัตรเครดิตก็ไม่รับ จะรับชำระเฉพาะบัตรธนาคาร ผมเลยบอกว่าผมได้เดินไปเบิกเงินจากตู้ ATM มาถึงสามเที่ยวจึงได้เงิน 3000 เหรียญ (เขาให้เบิกได้ครั้งละ 1,000 เหรียญ) แล้วผมจะทำอย่างไร มิต้องกลับไปเอาเงินฝากธนาคารแล้วมาจ่ายค่า strata หรือ?

เจ้าหน้าที่ร้านไปรษณีย์จึงบอกว่าให้ผมฝากเงินเข้าบัญชีธนาคารโดยผ่าน EPOS ผมจึงยื่นเงินสดให้ เขาจึงทำการโอนเงินเข้าบัญชีให้ แล้วเขาก็หักเงินชำระบัญชีค่า strata เป็นอันจบสิ้น

ผมเข้าใจในระบบการควบคุมทางการเงินครั้งใหม่ และสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงใหม่

ในออสเตรเลียมีกฎหมายมาตั้งนานแล้วว่า การจ่ายชำระด้วยเงินสดที่เกินกว่า 10,000 เหรียญ ผู้รับจะต้องแจ้งให้ทางการทราบทุกครั้ง มิฉะนั้นจะเป็นความผิดทางอาญา

ซึ่งผมก็เห็นว่ากฎหมายนี้ดี เพื่อกันเงินที่ได้มาอย่างผิดกฎหมายถูกฟอกขาวให้เป็นเงินถูกต้องตามกฎหมาย เป็นการลดทางเลือกของอาชญากรให้มีทางเลือกน้อยลง ในการนำเงินผิดกฎหมายออกมาใช้ ซึ่งวิธีการเป็นที่รู้ ๆ กันอยู่ทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่บ้านเมืองและอาชญากร

ผมอดแปลกใจไม่ได้ ทำไมประเทศไทยอันเป็นที่รักจึงไม่มีกฎหมายเหล่านี้มาใช้ เห็นคนซื้อที่ดินด้วยเงินสด ซื้อบ้านด้วยเงินสด ซื้อรถซูเปอร์ค่าด้วยเงินสด และซื้ออะไรต่อมิอะไรในราคาหลักล้านหลักสิบล้านด้วยเงินสด

แม้แต่หวยออนไลน์ มีผู้ถูกรางวัลที่หนึ่งเป็นสิบล้านบาท เจ้าของสลากกินแบ่งรัฐบาลออนไลน์อย่างจิ้งกือฟ้า, แมวแดง, กองสลากไมนัสทำโปรโมชั่นตัวเองด้วยการเอาเงินสดเป็นตั้ง ๆ ไปให้ผู้ถูกรางวัล

ผมจึงตั้งคำถามกับตนเองแต่ไม่ทราบจะไปหาคำตอบจากใคร? ว่าพวกหวยออนไลน์เหล่านี้เอาเงินสดมาจากไหน? จากลูกค้าก็ไม่ใช่เพราะเป็นธุรกรรมโอนผ่านเงินทางระบบออนไลน์!

บางก็อ้างว่าเป็นเงินสดถอนมาจากธนาคาร แต่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองเคยไปตรวจสอบกระทบยอดดูไหมว่า เป็นเงินที่เข้ามาจากออนไลน์ลูกค้ารายย่อย ไม่ใช่ออนไลน์แทงหวยอย่างผิดปกติ!

ผมอยากให้ประเทศไทยใช้กฎหมายอย่างออสเตรเลียบ้าง เพื่อเงินที่ได้มาอย่างสกปรกจะได้ลดลงไป แต่เชื่อว่าเรื่องนี้พวกนักการเมืองทุกพรรคไม่เห็นด้วยแน่ เพราะมันเป็นการตัดช่องทางทำมาหากินของพวกเขา

ตราบใดที่เมืองไทยยังไม่มีคนดีถึงครึ่งสภา กฎหมายทำนองนี้คงไม่มีโอกาสเกิดขึ้นแน่ เป็นที่ ร.ร.ก.ย. (รู้ๆกันอยู่) โดยไม่ต้องซ.ต.พ. (ซึ่งต้องพิสูจน์)

 

jingjonews.com
jingjonews@hotmail.com (งดใช้ชั่วคราว)



Categories: ข่าวออสเตรเลีย, บทความทั่วไป

Tags: , , , , , , , , , ,

Leave a Reply

%d