สู่เดือนกุมภาพันธ์ 2565

สู่เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ / เดือนสั่งลาฤดูร้อน

เข้าสู่ปลายฤดูร้อน

ออสเตรเลียเข้าสู่เดือนสุดท้ายของฤดูร้อนในเดือนกุมภาพันธ์ ฤดูร้อนปีนี้ไม่ร้อนมากเป็นปีที่สองติดต่อกัน แถมยังมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากอิทธิพลของปรากฎการณ์ลานิญาในมหาสมุทรแปซิฟิกยังไม่ผ่านพ้นไป

ส่วนดอกไม้ข้างบนหลานชายและหลานสะใภ้เอามาแขวนไปที่ฝาผนังของโรงรถหลังบ้านครับ

ซินเจียยู่อี่ซินนี้ฮวดไช้ (新正如意 新年发财)

ปีนี้วันที่ 1 กุมภาพันธ์อยู่ในช่วงวันตรุษจีนพอดี จึงถือโอกาสอวยพรกัน บัตรอวยพรข้างบนนี้เป็นหนึ่งในหลายร้อยคำอวยพรที่ญาติสนิทมิตรสหายส่งมา ผมจึงถือวิสาสะนำมาลง เป็นของ VGROUPHONDA ด้วยคำอวยพรว่า

“ขอให้สุขภาพแข็งแรง” “ขอให้ร่ำรวย เงินทองเต็มบ้าน” “ขอให้การงานเจริญก้าวหน้า”

เดือนกุมภาพันธ์ปี 2565 ถือเป็นเดือนกุมภาพันธ์ที่วิเศษแท้ เพราะมีวันอาทิตย์ 4 วัน, วันจันทร์ 4 วัน, วันอังคาร 4 วัน, วันพุธ 4 วัน, วันพฤหัสบดี 4 วัน, วันศุกร์ 4 วันและวันเสาร์ 4 วัน

ปรากฎการณ์เช่นนี้จะวนกลับมาอีกครั้งในอีก 823 ปีข้างหน้าครับ

ประสบการณ์ตรงเมื่อผมต้องอยู่กับผู้ติดโควิด-19 ในแดนจิงโจ้

 

ผมเคยเราสู่กันฟังเกี่ยวกับเรื่องนี้มาแล้วสองตอน

ตอนแรก ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2021 ด้วยหัวข้อ “จะรอดไหมถ้าต้องอาศัยอยู่ร่วมบ้านกับคนติดเชื้อโควิด-19” เป็นการเล่าเรื่องถึง ‘ผิวเนียน’ นักศึกษาเภสัชชาวอินโดนีเซียที่อยู่ร่วมบ้านเกิดเป็นไข้หวัดใหญ่ ผมจึงถือสถานการณ์นี้เป็นการทดลอง หากเธอติดเชื้อ COVID-19 แทนที่จะเป็นไข้หวัดใหญ่แล้วผลจะรอดจากการติดเชื้อไหม?

ผลการทดสอบออกมาว่า ผมไม่รอด ติดไข้หวัดใหญ่จากเธอ

ตอนที่สอง ในวันที่ 4 มกราคม 2022 ในหัวข้อ “เล่าสู่กันฟัง : โควิด-19 เข้ามาเยือนทุกตรอกทุกซอยในซิดนีย์แล้ว” เป็นการเล่าสู่กันฟังถึงเรือง ‘ผิวเนียน’ ได้ติดเชื้อ COVID-19 ผมในฐานะผู้สัมผัสใกล้ชิดเพียงคนเดียวในบ้าน จึงต้องกักตัวเองไปด้วย

ส่วนหลานชายและหลานสะใภ้อาศัยอยู่เรือนเล็กหลังบ้าน และแทบไม่ได้เข้ามาในบ้านจึงไม่เข้าข่ายผู้สัมผัสใกลชิด

ตอนที่สาม ผมขอเล่าถึงประสบการณ์ที่ต้องกักตัวอยู่ในบ้านหลังเดียวกับ ‘ผิวเนียน’ ผู้ติดเชื้อ COVID-19 เป็นประสบการณ์ตรงที่ผมต้องอยู่กับผู้ติดโควิด-19 นานกว่าสองสัปดาห์

การกักตัวโดยอยู่ร่วมบ้านกับผู้ติดเชื้อกับการกักตัวภายในที่อยู่อาศัยโดยลำพังมันต่างกันมากครับ อย่างหลังผู้กักตัวเพียงแค่อยู่บ้าน 7 วัน ครบแล้วตรวจ RAT หรือที่คนไทยเรียกว่า ATK ผลออกมาเป็นลบก็รอดไป

ส่วนผู้กักตัวอยู่บ้านกับผู้ติดเชื้ออย่างผม ต้องคอยระวังไม่ให้ไปติดเชื้อจาก ‘ผิวเนียน’ ถึงตอนนี้แล้วนึกเปรียบเทียบกับการรับมือการติดเชื้อที่ประเทศไทย ต้องขอบอกว่าที่บ้านเราดีกว่าหลายเท่า สมกับที่ได้รับการยกยกว่ามีระบบสาธารณสุขเป็นอันดับ 5 ของโลก (ออสเตรเลียอยู่อันดับสองของโลก ทำไมระบบของออสเตรเลียดีกว่าหากมีเวลาผมจะเล่าให้ฟัง)

ที่ประเทศไทยก่อนนั้น ผู้ติดเชื้อจะต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลหรือไม่ก็โรงพยาบาลสนาม ในตอนหลังมีการรักษาตัวตามบ้านบ้าง แต่ผู้รักษาตัวตามบ้านก็ยังอยู่ในความดูแลของแพทย์ มีการจัดยาให้ มีส่งอาหารและน้ำดื่มให้รับประทานวันละสามมื้อ

แต่ประสบการณ์ที่ได้รับในออสเตรเลีย ‘ผิวเนียน’ ต้องรักษาตัวเองอย่างตามมีตามเกิด พวกเราต้องหาอาหารกินเอง

เราโชคดีอยู่อย่างหนึ่ง ‘ผิวเนียน’ มีพี่สาวสองคนเป็นคนดูแลส่งอาหารส่งน้ำและเธอมีความรู้เรื่องยา ปัญหานี้จึงหมดไป ส่วนผมมีหลานชายและหลานสะใภ้อยู่เรือนหลังบ้าน คอยส่งอาหารให้รับประทาน

โดยหลานชายทำหน้าที่นำอาหารมาให้ เห็นเขาแล้วก็ขำ ทุกครั้งที่เข้ามาในบ้าน เขาสวมหน้าการอนามัย สวมถุงมือและยังถือกระป๋องสเปรย์ฉีดเบิกทางทุกครั้ง

แถมออกนอกบ้านก็ไม่ยอมเดินผ่านทางเดินข้างบ้านมาออกหน้าบ้าน แต่กลับออกประตูหลังบ้านใช้ซอยหลังบ้าน (rear lane) ยอมเดินอ้อมเอา

ประสบการณ์ที่ได้รับทราบจาก ‘ผิวเนียน’ และหลานชายอีกอย่างก็คือห้ามสั่งอาหารโดยใช้บริการเดลิเวอรี่เด็ดขาด สาเหตุก็เพราะในนครซิดนีย์มีผู้ติดเชื้อในช่วงเดือนมกราคมระหว่าง 350,000 คนถึง 400,000 คนเศษที่ต้องรักษาตัวตามบ้าน ทุกคนสั่งซื้ออาหารหรือไม่ก็ของชำจากซูเปอร์มาร์เก็ตมาทำเอง โอกาสที่ผู้ทำหน้าที่ส่งอาหารและของชำจะเป็นพาหะนำเชื้อ COVID-19 จากผู้ติดเชื้อมาสู่บุคคลอื่นจึงมี

หลานชายสั่งว่าหากต้องการกินอะไร เขาจะเป็นผู้ไปซื้อด้วยตัวเอง เขาอ้างว่าปลอดภัยกว่า ซึ่งหลายคนก็ทำเช่นนี้

ถึงวันที่ 11 มกราคมการกักตัวครบ 7 วัน ผมฝันหวานคิดว่าจะพ้นโทษถูกจองจำในบ้าน เพราะผลตรวจ RAT ออกมาเป็นลบ แต่ผลตรวจ PCR ของ ‘ผิวเนียน’ ต้องรออีกหนึ่งวันแล้วผลออกมาเป็นบวก ผมเลยต้องทนกักตัวเองต่ออีก 7 วัน

วันที่ 18 มกราคมผลการตรวจ RAT ของผมออกมาเป็นลบ จึงถาม ‘ผิวเนียน’ ว่าผล PCR ออกมาอย่างไร เธอตอบว่าไม่จำเป็นต้องตรวจ เพราะขืนตรวจมันก็จะออกมาเป็นบวก เนื่องจากเชื้อตายยังตกค้างอยู่ในร่างกาย กว่าร่างกายจะกำจัดออกหมดคาดว่าใช้เวลา 1 เดือน

เธอได้ส่งข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขแนะนำว่า หากไม่มีอาการก็สามารถออกจากบ้านได้ และพรุ่งนี้เธอจะไปทำงาน เพราะนายจ้างเร่งเร้า

การที่รัฐบาลลดแลกแจกแถม ให้ผู้กักตัวครบ 14 วันแล้วไม่มีอาการ สามารถออกไปทำงานได้ ก็เนื่องจากประเทศกำลังขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก

ผมรังเรอยู่สองวันจึงออกจากบ้านเป็นครั้งแรก ไปที่ธนาคารเพราะมีเรื่องสะสางทางการเงิน เสร็จแล้วเดินผ่านศูนย์การแพทย์ เข้าไปถามสอบว่า ผมฉีดวัคซีนเข้มสองยังไม่ครบ 4 เดือนจะขอจองฉีดบูสเตอร์เข็มสามไว้แต่เนิ่น ๆ ได้ไหม?

เจ้าหน้าที่สาวคนคุ้นเคยจึงตอบว่า ‘จะฉีดเลยไหม’ เพราะตอนนี้เขาลดช่วงเวลาลงเหลือ 3 เดือนแล้ว

ผมเลยฉีดบูสเตอร์เข็มสามวันนั้นเลย……จบ

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ ผิวเนียนไปตรวจ PCR ผลออกมายังคงเป็นบวก ผมก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะเชื่อว่าเป็นเชื้อตายที่ไม่สามารถติดต่อได้อีก แต่เพื่อความสบายใจ เธอขอกลับไปอยู่กับพี่สาวของเธอ

 

 

jingjonews.com
jingjonews@hotmail.com (งดใช้ชั่วคราว)



Categories: ข่าวออสเตรเลีย, บทความทั่วไป

Tags: , , , , , , , ,

Leave a Reply

%d bloggers like this: