
ข่าวออนไลน์สำนักข่าว ABC วันที่ 6 พ.ค. 2021 เสนอข่าวผลการศึกษาพบพื้นที่ทำสวนครัวหลายแห่งทั่วออสเตรเลียมีระดับสารตะกั่วสูง
6 พ.ค. 2021 จิงโจ้นิวส์เพิ่งจะเพลิดเพลินกับการปลูกพืชผักสวนครัวดังที่เกริ่นไว้ใน ‘สู่เดือนเมษายน’ และ ‘สู่เดือนพฤษภาคม’ กลับมีรายงานสด ๆ ร้อน ๆ ออกมาเตือนว่าแปลงผักสวนครัวของชาวซิดนีย์อาจมีสารตะกั่วเจือปน
ศาสตราจารย์ Mark Taylor หัวหน้าทีมงานวิจัยโครงการ “VegeSafe” หรือ “ความปลอดภัยของพืชผัก” แห่งมหาวิทยาลัยแมคควอรี่พบว่า 1 ใน 3 ของพื้นที่สวนหลังบ้านทั่วออสเตรเลียอาจมีสารตะกั่วในระดับไม่ปลอดภัย
ทีมงานวิจัยของมหาวิทยาลัยได้เก็บตัวอย่างดิน 17,256 ตัวอย่างจากบ้านกว่า 3,600 หลังทั่วประเทศ
พบว่า 35% ของสวนผักทั้งหมดมีอย่างน้อยหนึ่งตัวอย่างที่มีระดับสารตะกั่วเกินกว่าระดับมาตรฐานความปลอดภัยของออสเตรเลีย หรือเกินกว่า 300 มิลิกรัมต่อกิโลกรัม
บ้านหลังเก่าโดยเฉพาะเป็นบ้านทาสีและบ้านที่อยู่ริมถนนที่มีการจราจรหนาแน่น ยิ่งมีระดับสารตะกั่วในดินสูง (โชคดีที่บ้านจิงโจ้นิวส์เป็นบ้านอิฐไม่ทาสี และเป็นถนนรอง (street) ไม่ใช่ถนนหลัก (road) จึงเบาใจไประดับหนึ่ง)
ผลการศึกษาพบว่าพื้นที่ผักสวนครัวในนครซิดนีย์มีความไม่ปลอดภัยในระดับ 31% เมื่อเปรียบเทียบกับในนครเมลเบิร์นและบริสเบนที่ถูกพบเพียงระดับ 19%
ศ. Taylor กล่าวว่าพื้นที่นครซิดนีย์ตอนในเป็นพื้นที่ตรวจพบมีระดับสารตะกั่วในดินสูงกว่าในพื้นที่อื่น ๆ ตามด้วยย่าน Leichhardt, Marrickville, Ryde, Burwood และ Strathfield
นอกจากนั้นพื้นที่ปลูกผักสวนหลังบ้านที่ Liverpool, Merrylands และ Canada Bay ก็ตรวจพบมีระดับสารตะกั่วสูงเช่นกัน
ในขณะที่พื้นที่ Blacktown, Baulkham Hills, Carlingford, Hornsby และ Pennant Hills ถูกพบว่ามีระดับสารตะกั่วต่ำ
ในนครเมลเบิร์นสวนหลังบ้านที่มีความเสี่ยงระดับสารตะกั่วสูงคือในเขตเมลเบิร์นตอนในตามด้วย Brunswick, Coburg, Dandenog, Port Phillip และ Stonnington East
ในนครบริสเบนได้แก่นรคบริสเบนตอนใน, Holland Park และ Yeronga
ศ. Taylor กล่าวว่า ผู้ปลูกผักสวนครัวในพื้นที่เสี่ยงสามารถหลีกเลี่ยงหรือลดระดับสารตะกั่วได้ ด้วยการยกระดับแปลงปลูกพืชและใช้หน้าดินใหม่จะสามารถหยุดการเจือปะปน และช่วยให้ผักสีเขียวหลีกเลี่ยงการดูดซึมสารตะกั่วที่เจอปนอยู่ในดิน
ศาสตราจารย์กล่าวว่า เขาไม่ต้องการให้ประชาชนท้อถอยต่อการปลูกพืชผักสวนครัว แต่ต้องการสนับสนุนให้พวกเขาทำผักสวนครัวต่อไป เพียงแต่ต้องทำงานเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยเท่านั้น
สำหรับผลของสารตะกั่วหากเข้าสู่ร่างกายจำนวนมากจะก่อให้เกิดอาการเช่น ชะลอการพัฒนาการของร่างกาย, มีพฤติกรรมโรคสมาธิสั้น (ADHD), มีอารมณ์หงุดหงิดเพิ่มขึ้นและฟังชั่นในการสร้างสรรค์หน้าที่การงานเสื่อมลง
jingjonews.com
jingjonews@hotmail.com (งดใช้ชั่วคราว)
jingjonews เป็นสื่อออนไลน์มีวัตถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน โดยปลอดจากการโฆษณาในเชิงพาณิชย์
Categories: ข่าวออสเตรเลีย
Leave a Reply