ความลับของรองเท้าแตะ ไม่ใช่ประวัติศาสตร์แท้จริงของออสซี่

บทความออนไลน์ The Conversation เสนอบทความรองเท้าแตะทำจากยางไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของออสเตรเลีย

26 ม.ค. 2021 ช่วงวันชาติออสเตรเลียที่ 26 มกราคมของทุก ๆ ปีชาวออสเตรเลียส่วนหนึ่งจะหาซื้อรองเท้าแตะรูปธงชาติออสเตรเลียเพื่อจะได้มาเหยียบย่ำ เป็นการเฉลิมฉลองวันชาติตามประเพณีนิยมกัน

แต่การสวมรองเท้าแตะหรือ “thong” ที่ชาวออสเตรเลียหลายคนภาคภูมิใจ แท้จริงแล้วไม่ได้เกิดขึ้นคู่กับประวัติศาสตร์ของประเทศ

The Conversation ระบุว่าการสวมรองเท้าอย่างรองเท้าแตะมีมาอย่างช้านานในอียิปต์, โรม, แอฟริกาใต้สะฮารา, อินเดีย, จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีและในลาตินอเมริกา

ส่วนออสเตรเลียได้รับเอาวัฒนธรรมสวมรองเท้าแตะเข้ามาใช้ แต่ไม่ได้ยาวนานพอที่จะอ้างได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ของชาติ เพราะชาวอะบอริจินเองก็ไม่สวมรองเท้าแตะมาก่อนที่ชาวผิวขาวเข้ามาตั้งรกราก

การสวมรองเท้าแตะในออสเตรเลียน่าจะได้รับวัฒนธรรมสืบทอดมาจากญี่ปุ่น ซึ่งสวมรองเท้าแตะมาตั้งแต่โรราญที่เรียกว่า zori ทำจากหญ้าฟาง

ในปลายศตวรรษที่ 19 ญี่ปุ่นเริ่มขยายวัฒนธรรมไปทั่วทุกมุมโลก อย่างเช่นชาวฮาววายได้รับเอาวัฒนธรรมสวมรองเท้าแตะโดยเรียกว่า “slippah” หรือ “slipper” หลังจากแรงงานอพยพชาวญี่ปุ่นนำเอา zori มาดัดแปลงใช้ในช่วงทศวรรษที่ 1880s

จากนั้นจึงขยายเข้าสู่สหรัฐ โดยทหารสหรัฐที่มาประจำการในแปซิฟิกตะวันออกซื้อมันกลับไปเป็นของที่ระลึกหลังจากสงครามโลกจบสิ้นลง

ในระหว่างทศวรรษที่ 1940s การผลิตรองเท้าแตะเป็นจำนวนมากได้เกิดขึ้น หลังจากมีการนำเอาเทคโนโลยี่ผลิตด้วยยางมาใช้ แต่รองเท้าแตะก็ยังไม่ถูกคนทั่วโลกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของรองเท้าสวมใส่สบาย จะกระทั่งฮาวายกลายเป็นรัฐที่ 50 ของสหรัฐอย่างเป็นทางการในปี 1959

นิตยสาร Australian Women’s Weekly ในทศวรรษที่ 1960s มีภาพที่แสดงให้เห็นว่าการสวมรองเท้าแตะได้เป็นส่วนหนึ่งของการสวมใส่เดินชายหาดในออสเตรเลีย

สำหรับในออสเตรเลีย หลักฐานจากโฆษณาในปี 1907 แสดงให้เห็นว่ารองเท้าแตะได้เข้ามามีบทบาทในประเทศด้วยการโฆษณารองเท้าแตะจากญี่ปุ่น “Japanese sandals” ด้วยรองเท้าแตะทำจากไม้และจากปอกระเจา

ในปี 1924 หนังสือพิมพ์ The Herald ในนครเมลเบิร์นลงบทความโจมตีการสวมรองเท้าแตะว่าไม่ถูกสุขลักษณ์ ทำให้มีผลต่อโครงสร้างของร่างกายและทำให้เกิดความอ่อนล้าต่อผู้สวมใส่

การสวมรองเท้ามีส้นได้ถูกแนะนำว่าเป็นชนิดของรองเท้าที่เหมาะสำหรับสุภาพสตรี นับจากนั้นอีกเกือบศตวรรษต่อมาผู้เชี่ยวชาญทางการรักษาโรคเท้า (podiatrists ) ก็ยังแนะนำให้ผู้คนหลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าแตะเป็นเวลาอีกยาวนาน

รองเท้าแตะยังมีวิวัฒนาการตามประเทศต่าง ๆ เรื่อยมา อย่างเช่นในปี 1957 นาย Maurice Yock และนาย John Cowie นักธุรกิจจากนิวซีแลนด์ ได้เรียกรองเท้าแตะของพวกเขาว่า “jandal” มาจากการสนธิของคำว่า “Japanese” กับคำว่า “sandal”

ในออสเตรเลียการสวมรองเท้าแตะเริ่มเป็นที่นิยมในกลางศตวรรษที่ 19 ไปพร้อมกับการท่องเที่ยวในออสเตรเลียเริ่มเป็นที่นิยมของชาวต่างชาติ

ในปี 1959 บริษัท Dunlop ในออสเตรเลียได้นำเข้ารองเท้าแตะ 300,000 คู่จากประเทศญี่ปุ่น ก่อนเริ่มผลิตเองในปี 2960

ในช่วงกลางทศวรรษ 1960s รัฐต่าง ๆ ในออสเตรเลียได้สั่งห้ามการสวมรองเท้าแตะมาทำงานโดยเฉพาะในภาคการก่อสร้าง เพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุในสถานที่ทำงาน

ในปี 1978 รัฐบาลรัฐควีนสแลนด์ประกาศห้ามครูสวมรองเท้าแตะมาสอนหนังสือที่โรงเรียน ในปีเดียวกันนั้นทางการประกาศห้ามประชาชนสวมใส่รองเท้าแตะในวันเข้าพิธีสาบาญตนเพื่อเข้าถือสัญชาติ

ในปี 2000 นครซิดนีย์เป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ออสเตรเลียได้แสดงวัฒนธรรมต่าง ๆ อย่างเช่นเครื่องตัดหญ้าและราวตากผ้า รวมถึงนักร้อง Kylie Minogue ยืนอยู่บนรองเท้าแตะยักษ์อีกด้วย

นักร้อง Kylie Minogue ยืนอยู่บนรองเท้าแตะยักษ์ในพิธีเปิดซิดนีย์โอลิมปิกปี 2000

นับจากปี 2000 เป็นต้นมารองเท้าแตะภาพธงชาติออสเตรเลียเริ่มปรากฎ และเป็นที่นิยมแพร่หลาย เมื่อใกล้ถึงวันชาติออสเตรเลียที่ 26 มกราคมของทุก ๆ ปี ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าทั่วประเทศจะเสนอขายรองเท้าแตะรูปธงชาติกันอย่างเอิกเกริก

ถึงวันนี้รองเท้าแตะรูปธงชาติออสเตรเลียดูจะเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของชาวออสเตรเลียไปแล้ว

ในปี 2016 มีผู้อพยพจากประเทศฟิจิเชื้อสายอินเดียคนหนึ่งมีชื่อว่านาย Muhammed Khan ได้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการเหยียบย่ำธงชาติบนรองเท้าแตะ เขาเห็นว่ามันเป็นสิ่งเลวร้ายเทียบเท่ากับการเผาธงชาติหรือการเหยียบคัมภีร์ไบเบิลของผู้นับถือศาสนาคริสต์

เขาเคยทำเรื่องร้องเรียนไปถึงรัฐสภากลางออสเตรเลีย แต่กลับไม่ได้รับความสนใจ ทำให้เรื่องการโต้แย้งนี้หายเงียบไป ส่วนนาย Khan ก็ถูกมองว่าเป็นแกะดำตัวหนึ่งของสังคมไป

 

ข่าวออนไลน์จิงโจ้นิวส์วันที่ 31 ม.ค. 2016 เสนอข่าวเรื่องราวของนาย Muhammed Khan ผู้ออกมาต่อต้านการสวมรองเท้าแตะรูปธงชาติ แต่ไม่มีใครสนใจ

เชิญฟังเพลงชาติออสเตรเลีย Advance Australia Fair เวอร์ชั่นใหม่ล่าสุดพร้อมเนื้อเพลง

 

jingjonews.com

jingjonews@hotmail.com (งดใช้ชั่วคราว)

jingjonews เป็นสื่อออนไลน์มีวัตถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน โดยปลอดจากการโฆษณาในเชิงพาณิชย์



Categories: ข่าวออสเตรเลีย, บทความทั่วไป

Tags: , , , , , , , , ,

Leave a Reply

%d bloggers like this: