ผลวิจัยชี้แรงงานต่างชาติเป็นเป้าหมายของโฆษณาหางานให้ค่าจ้างต่ำเตี้ย

ข่าวออนไลน์สำนักข่าว SBS วันที่ 14 ธ.ค. 2020 เสนอข่าวแรงงานต่างชาติถูกทำให้เลวร้ายลงโดยการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019

15 ธ.ค. 2020 รายงานผลการวิจัยล่าสุดพบว่า แรงงานชาวต่างชาติได้กลายเป็นเป้าหมายของโฆษณาหางานภาษาต่างชาติด้วยการเสนองานในอัตราค่าจ้างต่ำกว่ากฎหมายกำหนด

จากการศึกษาของ Unions NSW ทำการศึกษาโฆษณารับสมัครงาน 3,000 โฆษณาด้วยภาษาต่างประเทศเช่นจีน, เกาหลี, เวียดนาม, เนปาล, สเปนและโปรตุเกส พบว่า 88% ของโฆษณาเหล่านี้ได้เสนอค่าจ้างในอัตราค่าแรงที่ต่ำกว่ากฎหมายกำหนด

นาย Mark Morey เลขาธิการของ Unions NSW กล่าวว่าปัญหานี้ยิ่งพบสูงขึ้นในช่วงไวรัส COVID-19 ระบาดซึ่งเป็นช่วงที่กิจการหลายแห่งลดคนงาน ทำให้มีคนว่างงานจำนวนมากโดยเฉพาะชาวต่างชาติที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลกลาง

ผลการศึกษาพบว่าการเสนองานด้วยอัตราค่าแรงต่ำกว่ากฎหมายในช่วง COVID-19 ระบาดได้เพิ่มสูงขึ้นกว่า 14% จากช่วงสถานการณ์ปกติ

โดยพบว่าโฆษณาในภาษาเวียดนามเสนอค่าจ้างต่ำกว่ากฎหมายกำหนด 91%, ภาษาจีนและเกาหลีอยู่ในอัตรา 88%, ภาษาเนปาล 86%, โปรตุเกส 84% และสเปน 76%

อัตราค่าจ้างต่ำสุดที่พบคือช่างแต่งเล็บอยู่ที่ชั่วโมลละ 8 เหรียญ รองลงมาคือ 10 เหรียญต่อชั่วโมง

นาย Leon จากประเทศจีนผู้ขอปิดชื่อสกุลให้สัมภาษณ์กับ SBS ว่า เขามาออสเตรเลียเมื่อปีที่ผ่านมาได้ทำงานที่ร้านอาหารจีนในนครซิดนีย์เพราะมีงานให้เลือกไม่มากนักโดยได้ค่าแรงในอัตราชั่วโมงละ 13 เหรียญ ซึ่งตอนนั้นเขาไม่ทราบว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำของออสเตรเลียอยู่ที่เท่าใด

(หมายเหตุ อัตราคาแรงขั้นต่ำปี 2019-20 อยู่ที่ชั่วโมงละ 19.49 เหรียญ)

น.ส. Iris Yao จากประเทศจีนเช่นกันและนักศึกษามหาวิทยาลัยในนครซิดนีย์ (คนในภาพด้านบน) กล่าวว่าเมื่อเธอเดินทางมาถึงออสเตรเลียใหม่ ๆ เธอทำงานที่ร้านอาหารจีนโดยได้ค่าจ้างเพียงชั่วโมงละ 8 เหรียญเท่านั้น และเธอก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่ทราบอัตราค่าแรงขั้นต่ำ

นาย Morey กล่าวว่าในช่วงไวรัส COVID-19 ระบาด ในขณะที่คนว่างงานชาวออสเตรเลียได้รับเงินสวัสดิการ JobSeeker เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวและคนทำงานกับบริษัทที่เข้าโครง JobKeeper ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลางก็ไม่ต้องตกงาน แต่ชาวต่างชาติถือวีซ่าชั่วคราวซึ่งไม่ได้รับเงินช่วยเหลือใด ๆ กลับกลายเป็นเหยื่อเอารัดเอาเปรียบจากการจ้างงานยิ่งหนักขึ้น

ในช่วง COVID-19 ระบาดผู้ถือวีซ่าชั่วคราวไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากยอมรับงานที่เสนอให้ทำที่มีให้เลือกไม่มากนั้น

ในขณะที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อการจ้างงานที่เป็นธรรม (FWO) ออกมายอมรับว่าการออกตรวจสอบสถานที่ทำงานในปี 2020 ได้ยกเลิกชั่วคราวเนื่องจากผลการระบาดของไวรัส COVID-19

แต่โฆษกของ FWO ก็ยอมรับว่า ผู้ถือวีซ่าชั่วคราวคือเหยื่ออันดับหนึ่งของการเอาเปรียบทางด้านค่าแรง และถือเป็นความสำคัญอันดับแรก ๆ ของสำนักงานในการปราบปราม

และกล่าวว่าในปี 2019-20 สำนักงานได้ดำเนินเรื่องฟ้องร้องนายจ้างจำนวน 24 คดีที่เกี่ยวข้องกับผู้ถือวีซ่าชั่วคราว โดยสามารถเรียกเงินคืน 1.7 ล้านเหรียญให้กับแรงงานต่างชาติเหล่านี้ และยังเรียกค่าปรับจากนายจ้างผู้กระทำผิดเป็นเงินรวมกันประมาณ 3 ล้านเหรียญ

ข่าวออนไลน์สำนักข่าว SBS วันที่ 14 ธ.ค. 2020 เสนอข่าว แรงงานต่างชาติได้ตกเป็นเหยื่อโฆษณารับสมัครงานที่เสนออัตราค่าจ้างต่ำกว่ากฎหมายกำหนด

ทางด้านรัฐบาลกลางเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีแผนที่จะแก้ไขกฎหมายการจ่ายค่าแรงต่ำกว่ากฎหมาย ด้วยการกำหนดให้เป็นโทษทางอาญาด้วย โดยนายจ้างผู้กระทำผิดจะมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 4 ปี

ภายใต้การปฏิรูปกฎหมายได้กำหนดโทษของผู้กระทำผิดจ่ายค่าแรงต่ำกว่ากฎหมายกำหนด บุคคลธรรมดามีโทษปรับสูงสุดถึง 1.1 ล้านเหรียญและนิติบุคคลมีโทษปรับสูงสุดถึง 5.5 ล้านเหรียญ

 

jingjonews.com

jingjonews@hotmail.com (งดใช้ชั่วคราว)

jingjonews เป็นสื่อออนไลน์มีวัตถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน โดยปลอดจากการโฆษณาในเชิงพาณิชย์



Categories: ข่าวออสเตรเลีย

Tags: , , , , , , , , , , , , ,

Leave a Reply

%d bloggers like this: