อิมฯปฏิเสธผู้ถือวีซ่าชั่วคราวกลับเข้าสู่ออสเตรเลียแม้มีผู้ยื่นฎีกา 12,000 คน

ข่าวออนไลน์สำนักข่าว SBS วันที่ 15 พ.ค. 2020 เสนอข่าวรัฐมนตรีกระทรวงการเข้าเมืองปฏิเสธคำขอจากผู้ถือวีซ่าชั่วคราวหลายร้อยคนขอกลับมาออสเตรเลีย

15 พ.ค. 2020 ถือเป็นความซวยของผู้ถือวีซ่าชั่วคราวที่อยู่ในต่างประเทศในขณะที่ออสเตรเลียประกาศปิดพรมแดน ถึงตอนนี้ออสเตรเลียก็ยังไม่มีแผนที่จะอนุญาตให้พวกเขากลับมา แม้จะผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มไวรัส COVID-19 แล้วก็ตาม

นาย Alan Tudge รักษาการแทนรัฐมนตรีกระทรวงการเข้าเมืองได้ออกมากล่าวว่ารัฐบาลออสเตรเลียยังไม่มีแผนที่จะยกเลิกแบบปูพรมสำหรับกฎห้ามการเดินทางเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไวรัส COVID-19 กับผู้ถือวีซ่าชั่วคราว แม้จะมีการยื่นฎีกาจากทั่วทุกมุมโลกขอกลับเข้าประเทศก็ตาม

ทั้งนี้ผู้ถือวีซ่าชำนาญในวิชาชีพและวีซ่านักเรียนหลายหมื่นรายไม่สามารถกลับเข้ามาในออสเตรเลียนับตั้งแต่ออสเตรเลียออกคำสั่งปิดพรมแดนในวันที่ 20 มีนาคมเพื่อลดการนำเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เข้าประเทศโดยชาวออสเตรเลียและชาวต่างชาติที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ

ผู้ถือวีซ่าชำนาญในวิชาชีพบางคนกล่าวว่า แม้พวกเขาจะอ้างว่าได้ทำงานและเรียกออสเตรเลียว่าเป็นบ้านมาหลายปี แต่การยื่นขอกลับเข้าประเทศเป็นกรณีพิเศษบนพื้นฐานของความเห็นอกเห็นใจก็ยังคงได้รับการปฏิเสธอยู่ดี

ฎีกาซึ่งมีผู้ถือวีซ่าชั่วคราวกว่า 12,000 คนร่วมลงนามได้ถูกส.ว.ฝ่ายค้านนำเสนอต่อรัฐสภากลางกรุงแคนเบอร์รา  เรียกร้องให้รัฐบาลอนุญาตให้พวกเขากลับสู่บ้าน, คืนสู่ครอบครัวและงานของพวกเขาในออสเตรเลีย

แต่นาย Tudge ตอบว่า การปิดพรมแดนยังคงมีผลบังคับไม่เปิดรับทุกคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศยกเว้นผู้ถือสัญชาติออสเตรเลียและผู้ถือวีซ่าถาวร

น.ส. Lucy Crisp  และนาย Michael Flaherty หุ้นส่วนชีวิตของเธอเป็นสองคนในผู้ถือวีซ่าชั่วคราวที่ไม่สามารถกลับเข้ามาออสเตรเลียมานับตั้งแต่ไวรัสโคโรนา 2019 ระบาด

น.ส. Crisp วัย 27 ปีจากสหราชอาณาจักรเป็นหนึ่งในตัวตั้งตัวตีล่ารายชื่อฎีกากล่าวว่า ตลอดเวลา 5 ปีเธออาศัยอยู่ในนครเมลเบิร์นกับนาย Flaherty ผู้ถือวีซ่าชำนาญวิชาชีพ 457

ทั้งสองได้เดินทางกลับไปพักผ่อนวันหยุดในสหราชอาณาจักรเพื่อเยี่ยมครอบครัวเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลออสเตรเลียประกาศปิดพรมแดน ทำให้ไม่สามารถเดินทางกลับออสเตรเลีย

เธอกล่าวว่า เธอได้พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อจะกลับบ้านของเธอที่เมลเบิร์น เพราะเธอและคนรักได้มุ่งมั่นอย่างมากที่จะใช้ชีวิตอยู่ในออสเตรเลีย

เธอได้ทำเรื่องขอกลับออสเตรเลียบนพื้นฐานของความเห็นใจมาหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ถูกปฏิเสธทุกครั้งแม้ว่าทั้งสองจะมีการงานที่มั่นคง, มีอพาร์ตเมนต์และมีสุนัขอยู่ที่นครเมลเบิร์น

น.ส. Crisp กล่าวว่า ผู้ร่วมยื่นฎีกาหลายคนเป็นผู้ถือวีซ่าชั่วคราวที่ถูกแยกออกจากคู่ครองที่อยู่ในออสเตรเลีย ไม่สามารถกลับเข้าประเทศไปพบสามีหรือภรรยาของพวกเขาได้ เพราะถูกปฏิเสธห้ามเข้าประเทศเช่นกัน

ฎีกาดังกล่าวถูกนำเสนอต่อรัฐสภากรุงแคนเบอร์ร่าโดยส.ว. Nick McKim รองหัวหน้าพรรคกรีนส์ โดยอ้างว่ามีผู้ถือวีซ่ากว่า 12,000 คนติดอยู่ในต่างประเทศ หลายคนทำงานและเสียภาษีให้ออสเตรเลียและหลายคนถูกแยกออกจากสามีหรือภรรยาของตน และหลายคนไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐบาลจึงห้ามไม่ให้พวกเขาเข้าประเทศ

นาย Tudge กล่าวว่า คณะกรรมการกองกำลังพิทักษ์พรมแดนมีอำนาจในการอนุมัติข้อยกเว้นใน “สถานการณ์พิเศษ” แต่ภายใต้ข้อจำกัดการเดินทางในปัจจุบัน ข้อยกเว้นนี้ได้ถูกงดใช้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะปิดประตูเสียทีเดียว

เขาได้ปกป้องรัฐบาลถึงสาเหตุที่ต้องใช้มาตรการคุมเข้มทางพรมแดน ก็เนื่องจาก 2 ใน 3 ของผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ในออสเตรเลียเป็นผู้ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ

อย่างไรก็ตามภายใต้แผนผ่อนปรนมาตรการคุมเข้มขั้นที่สามของรัฐบาลกลางได้มีการพิจารณาที่จะอนุญาตให้ผู้ถือวีซ่านักเรียนสามารถกลับเข้ามาศึกษาในออสเตรเลียได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้

แต่สำหรับผู้ถือวีซ่าชั่วคราวอื่น ๆ จะต้องรอการประเมินความมั่นคงและความแน่นอนของช่วงเวลาที่เหมาะสม ที่พวกเขาจะกลับเข้ามาในออสเตรเลีย

ในขณะที่ยังไม่มีแผนอนุญาตแบบปูพรม นาย Tudge ได้ขอให้ผู้ถือวีซ่ารายบุคคลที่เชื่อว่าตนมีเหตุผลเพียงพอที่จะได้รับการยกเว้นให้เดินทางเข้าประเทศได้ ให้ติดต่อมาที่กระทรวงการเข้าเมือง

นับจากรัฐบาลสั่งปิดพรมแดนถึงวันที่ 5 พฤษภาคม สำนักงานกองกำลังพิทักษ์พรมแดนออสเตรเลียได้อนุมัติให้ผู้ถือวีซ่าชั่วคราวเข้าประเทศเป็นกรณีพิเศษแล้วเป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,170 ราย และปฏิเสธไปเป็นจำนวน 220 ราย

 

jingjonews.com

jingjonews@hotmail.com (งดใช้ชั่วคราว)

Jingjonews เป็นสื่อออนไลน์มีวัตถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน โดยปลอดจากการโฆษณาในเชิงพาณิชย์



Categories: ข่าวออสเตรเลีย

Tags: , , , , , , , , , ,

Leave a Reply

Discover more from jingjonews

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading