ทางการเตือนระวังเฟคนิวส์ตามสื่อออนไลน์ในช่วงไวรัสอู่ฮั่นระบาด

ข่าวออนไลน์สำนักข่าว SBS เสนอข่าวทางการเตือนว่าช่วงนี้ให้ระวังข่าวไวรัสระบาดปลอมตามสื่อสังคมออนไลน์ออกมาเพียบ

1 ก.พ. 2020 ตลอดเวลาจิงโจ้นิวส์พยายามหลีกเลี่ยงข่าวปลอมหรือ fake news ที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วเพราะมันตื่นเต้นและน่าสนใจกว่าข่าวจริง และก็มีโอกาสได้เห็นสื่อฯใหญ่ของออสเตรเลียพลาดท่าตกเป็นเครื่องมือเผยแพร่ปลอม

มีข่าวหนึ่งที่จิงโจ้นิวส์เกือบพลาดเสนอข่าวเฟคนิวส์ไปกับเขาในข่าว ‘จิงโจ้ออกมาเต้นรำดีใจกลางฝน’ เกิดขึ้นในช่วงที่มีฝนตกหนักมาช่วยดับไฟป่า ซึ่งจิงโจ้นิวส์ได้เขียนข้อความลงว่าได้อ่านข่าวนี้ผ่านตา แต่พอกลับไปค้นเพื่อมานำเสนอกลับไม่พบ ก็ยังงงอยู่ว่าข่าวมันหายไปไหน ทั้งที่มีสำนักข่าวหลายแห่งนำเสนอ แล้วอยู่ดี ๆ มันพร้อมใจหายไปหมด

เรื่องนี้มาถึงบางอ้อถูกเปิดเผยในวันที่ 20 มกราคมว่า ภาพจิงโจ้ออกมาฉลองเต้นรำกลางฝนตกหลังไฟไหม้ป่าครั้งร้ายแรงที่สื่อฯเอาไปตีแพร่ แล้วถอนออกไปอย่างรวดเร็วที่แท้เป็นข่าวปลอม FAKE NEWS!

หลังข่าวถูกเผยแพร่ออกไปนาย Charles Davis ช่างภาพชาวออสเตรเลียวัย 33 ปีออกมากล่าวว่าภาพจิงโจ้สองตัวแท้จริงเขาถ่ายเป็นภาพขาวดำเมื่อเกือบ 6 ปีที่ผ่านมา ในขณะพบจิงโจ้สองตัวกำลังชกกันอยู่ที่วนอุทยานแห่งชาติ Kosciuszko National Park ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ในปี 2014

แล้วภาพนี้ก็ชนะการประกวดภาพสีขาวดำจาก Australian Geographic เมื่อปีที่ผ่านมา แต่ไม่ทราบว่าถูกมือดีคนใดเอามาอุปโลกน์ว่าเป็นจิงโจ้สองตัวออกมาเต้นระบำอย่างมีความสุขหลังฝนตกครั้งใหญ่ช่วยดับไฟป่าในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

ข่าวออนไลน์นสพ. The Daily Mail วันที่ 20 ม.ค. 2020 ออกมาเปิดเผยว่าภาพจิงโจ้สองตัวที่กลายเป็นข่าวออกมาเต้นรำฉลองฝนตกแท้จริงเป็นเฟคนิวส์

ช่วงนี้มีข่าวเกี่ยวกับไข้ไวรัสอู่ฮันตามสื่อมวลชนมากหมายจนจิงโจ้นิวส์ไม่กล้านำเสนอเป็นต้นว่าการระบุย่านที่ห้ามไปส่วนใหญ่เป็นย่่านร้านค้าที่ชุมชนจีนเปิดกิจการค้าหนาแน่น หรือการระบุชื่อร้านอาหารจนบางร้านต้องประกาศปิดตัวชั่วคราว

รวมถึงข่าวสื่อมวลชนสำนักหนึ่งรายงานข่าวว่า ชาวจีนยังคงเดินทางเข้ามาออสเตรเลียอย่างไม่ขาดสายตกราวสัปดาห์ละ 50,000 คน ซึ่งจิงโจ้นิวส์ประเมินตัวเลขดูแล้วมีความเป็นไปได้ เพียงแต่ว่าเป็นสื่อฯรายเดียวที่เสนอข่าวนี้ ซึ่งอ่านแล้วทำให้รู้สึกตื่นกลัว

แล้วยังมีข่าวที่ีทางการจีนไม่ปลื้มเอามาก ๆ กับทีวีในประเทศไทย ช่องที่ผลิตละครยอดฮิตเสนอข่าวชาวอู่ฮั่นจำนวน 5 ล้านคนเตรียมเดินทางเข้าประเทศไทย

เรื่องนี้ต้องตำหนิบรรณธิการข่าวของสถานีโทรทัศน์ช่องนี้ว่าคิดได้อย่างไร คนขนาด 5 ล้านคนต้องใช้เครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ถึง 12,500 เที่ยว และประเทศไทยคงต้องมีกรุงเทพฯสัก 500 แห่งจึงจะสามารถรับรองชาวอู่ฮันมากมายขนาดนี้ ถือเป็นการสร้างเฟคนิวส์ที่เกินความเป็นจริง

กลับมาที่ข่าวเฟคนิวส์ในออสเตรเลียล่าสุดพญ. Kerry Chant ปลัดกระทรวงสาธารณสุขรัฐน.ซ.ว.ได้ออกมาเตือนประชาชนในการรับข่าวสารจากสื่อสังคมออนไลน์

แม้เธอเองยังพบการโพสต์ข้อมูลที่เป็นข่าวปลอมมากมาย เป็นต้นว่าคุณสามารถติดไวรัสโคโรนาได้ถ้ากินอาหารบางอย่าง หรือไปรับประทานอาหารที่ร้านตามที่พวกเขาระบุไว้เป็นต้น

“เฟคนิวส์เหล่านี้ได้ทำใหชุมชนออสเตรเลียมีความกังวลเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาที่เราต้องการให้ความมั่นใจว่าเรากำลังใช้แนวทางป้องกันที่ระมัดระวังมาก”

“เราต้องการให้ผู้มาเยือนจากประเทศจีนโดยเฉพาะจากมลฑลหูเป่ย(ที่มีอาการป่วย)รู้สึกอุ่นใจในการเข้ารับการตรวจ และทำให้พวกเขามั่นใจว่าระบบสาธารณสุขของเราจะดูแลพวกเขาเป็นอย่างดี, แยกพวกเขา, ป้องกันเจ้าหน้าที่ดูแลของเราและป้องกันคนในชุมชนทั้งหมด”

แต่ในขณะนี้ได้มีการแชร์ข่าวปลอมของสถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ไปทั่วทั้งในออสเตรเลียและทั่วโลก

ภาพประกอบข่าวออนไลน์ จิงโจ้นิวส์เสิร์ทหาด้วยภาษาอังกฤษถึงเฟคนิวส์ในออสเตรเลีย แต่ก็มีเฟคนิวส์ที่เกิดในประเทศไทยติดมาเพียบ แสดงว่าประเทศไทยก็เป็นแหล่งผลิตเฟคนิวส์รายสำคัญของโลกเช่นกัน : ภาพจาก google image

สำหรับตัวอย่างข่าวปลอมหรือเฟคนิวส์ที่ระบาดทั่วโลกรวมถึงออสเตรเลียเช่น

-ตลาดอู่ฮั่น หรือ The Wuhan Market ถูกโพสต์ครั้งแรกในประเทศฟิลิปปินส์ในวันที่ 26 มกราคม ก่อนลามไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วด้วยคลิปวิดีโอตลาดสดอ้างว่าเป็นตลาดในเมืองอู่ฮั่นยังมีการซื้อขายค้างคาว, หนู, งู, สุนัขและสัตว์ป่าอื่น ๆ วางขายกันเกลื่อน ซึ่งแท้จริงคลิปวิดีโอดังกล่าวเป็นตลาดในประเทศอินโดนีเซีย

-การคาดการณ์ความตายปลอม หรือ Fake death projection เป็นการเสนอข่าวข้ออ้างจากคณะแพทย์ให้ความเห็นว่าประชากร 11 ล้านคนในเมืองอู่ฮันจะเสียชีวิตจากเชื้อไวรัสร้ายทั้งเมือง เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนรักษา

-น้ำเค็มบำบัด หรือ Saltwater ถูกโพสต์ลงใน Weibo, ทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก อ้างถึงนพ. Zhong Nanshan ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคทางเดินหายใจแนะนำว่าการบ้วนปากด้วยน้ำเค็มคือวิธีป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งไม่เป็นความจริงเป็นต้น

เฉพาะในออสเตรเลียยังมีการให้ข่าวเพื่อสร้างความตื่นกลัว เช่นอย่าไปที่ย่านอันตรายซึ่งผู้โพสต์ใช้ตรรกะวิบัตที่ว่า ย่านใดที่มีคนจีนอยู่แนะนำอย่าเข้าใกล้ และร้านอาหารใดที่เป็นร้านอาหารของคนจีนและคนเอเชียให้หลีกเลี่ยง ซึ่งข่าวเหล่านี้ผู้เสพข่าวออนไลน์ต้องเพิ่มความระมัดระวังในช่วงเวลานี้ หากไม่แน่ใจอย่าแชร์ต่อเพราะอาจมีความผิดหากผลของมันได้สร้างความเสียหาย

 

jingjonews.com

jingjonews@hotmail.com (งดใช้ชั่วคราว)

Jingjonews เป็นสื่อออนไลน์มีวัตถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน โดยปลอดจากการโฆษณาในเชิงพาณิชย์



Categories: ข่าวออสเตรเลีย

Tags: , , , , , , , , ,

Leave a Reply

%d bloggers like this: