ฝนตกลงมาช่วยดับไฟป่าแต่ก็สร้างปัญหาจนบางคนไม่อยากให้ฝนตก

ปลาขึ้นมาตายที่ริมฝั่งแม่น้ำ Macleay ในภูมิภาค Mid-North Coast : เครดิตภาพ Facebook ของ Arthur Bain ผ่านสำนักข่าว ABC

17 ม.ค. 2020 “ฝนตกคนก็แช่งฝนแล้งคนก็ด่า มนุษย์นี้หนอด่าทอเทวดา” มนุษย์ไทยเวลาฝนตก-ฝนไม่ตกก็จะต่อวาเทวดา แต่มนุษย์ออสเตรเลียเวลาฝนตก-ฝนไม่ตกจะด่านายกรัฐมนตรี ฝนตกชุ่มช่ำมาช่วยดับแล้งและไฟป่าครั้งล่าสุดก็มีผู้ออกมากล่าวถึงผลเสียของมัน บางคนถึงกลับไม่อยากให้ฝนตกแบบแรง ๆ ลงมา

สาเหตุที่ฝ่ายไม่อยากให้ฝนตกมาแบบหนัก ๆ ก็เพราะมันส่งผลกระทบต่อแหล่งกับเก็บน้ำดื่ม, มันก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกและล่าสุดมันทำให้ปลาตายป็นจำนวนมาก

เมื่อวานนี้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสัตว์น้ำได้รายงานถึงปรากฎการณ์ปลาจำนวนนับหมื่นนับแสนตัวได้ลอยอืดหลังจากฝนตกหนักกวาดเอาเถ้าถ่านจากไฟไหม้ป่าลงไปในแม่น้ำ Macleay ทางภูมิภาค Mid-North Coast ของรัฐนิวเซาท์เวลส์

ปลาเริ่มทยอยตายมาตั้งแต่สุดสัปดาห์ที่ผ่านมากินพื้นที่ทางน้ำเป็นระยะทาง 60 ถึง 70 กม.ของแม่น้ำ Macleay บริเวณใกล้เมือง Bellbrook ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมือง Kempsey

#กระทรวงอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานของรัฐบาลรัฐน.ซ.ว.ออกมายืนยันว่าได้รับรายงานมีปลาเสียชีวิตจำนวนมากหลังฝนตกหนักกวาดเอาเถ้าถ่านจากไฟป่าลงสู่ระบบแม่น้ำ มาพร้อมกับวัสดุอินทรีย์และตะกอนอื่น ๆ

ซึ่งมันได้ส่งผลกระทบต่อระดับออกซิเจนในแม่น้ำ

เมื่อชาวเมือง Bellbrook พบว่ามีปลาลอยเหนือน้ำเสียชีวิต พวกเขาได้รีบไปที่แม่น้ำพร้อมเครื่องปั๊มและสายยางเพื่อหวังเติมออกซิเจนลงในแม่น้ำ (แสดงว่าชาวเมืองเคยมีประสบการณ์มาก่อน)

นาย Arthur Bain ชาวเมือง Bellbrook ผู้อาศัยอยู่ใกล้ริมแม่น้ำกล่าวว่า ถึงตอนนี้การตายของปลาดูจะยุติลงแล้ว แต่ได้เตือนว่าระบบน้ำอาจจะต้องใช้เวลาเป็นปี ๆ (years) ก่อนที่จะกลับคืนสู่สภาพปกติ

 

ฝนตกหนักช่วยดับไฟป่าแต่อาจก่อปัญหากับแหล่งน้ำดื่ม

ข่าวออนไลน์สำนักข่าว ABC เสนอข่าวตะกอนและเถ้าถ่านจากไฟป่าถูกน้ำฝนกวาดปะปนลงมาในแหล่งกักเก็บน้ำสำหรับทำน้ำประปา ในภาพเป็นการใช้ตาข่ายตาถี่กักกันเศษใบไม้และเถ้าถ่านก่อนไหลสู่เขื่อน Warragamba

17 ม.ค. 2020 แม้ไฟจะเผาทำลายป่าไม้และหลายรัฐกำลังประสบปัญหาระดับน้ำในเขื่อนกักเก็บน้ำเหือดแห้ง ฝนที่ตกลงมาถือเป็นเรื่องน่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็มาพร้อมกับปัญหาเนื่องจากมันได้พัดพาเอาขยะตามธรรมลงสู่ระบบน้ำดื่มที่ชาวซิดนีย์ 5 ล้านคนพึ่งพาแหล่งน้ำจากเขื่อนสำคัญโดยเฉพาะที่เขื่อน Warragamba

ทางการได้มีความวิตกกังวลต่อปัญหาฝนตกลงมาอย่างหนักจะพัดพาเอาขยะจากไฟป่ากว่า 300,000 เฮกตาร์ (ประมาณ 1.9 ล้านไร่) รอบเขื่อน Warragamba ลงสู่ระบบกักเก็บน้ำ

ขณะนี้สำนักงานประปารัฐน.ซ.ว. (NSW Water) ได้แก้ปัญหาด้วยการติดตั้งตาข่ายคัดกรองเอาขยะและเศษใบไม้ตามจุต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ไหลลงสู่เขื่อน

อย่างไรก็ตามศจ. Ashish Sharma แห่งภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อมแห่งมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ออกมายืนยันว่า น้ำประปาสำหรับชาวซิดนีย์ยังอยู่ในคุณภาพที่สามารถดื่มได้อย่างปลอดภัย

ในขณะเดียวกันระดับน้ำในเขื่อน Warragamba ก่อนหน้านี้ลดลงอยู่ที่ระดับ 34% ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดนับจากปี 2004 (ซึ่งตอนนั้นชาวซิดนีย์ต้องถูกบังคับใช้มาตรการประหยัดน้ำในระดับ 3) เขื่อนจึงต้องการปริมาณฝนตกอีกจำนวนมาก (อย่าลืมปีที่ผ่านมาชาวซิดนีย์อยู่ภายใต้มาตรการประหยัดน้ำระดับ 2 และที่ไม่ถึงระดับ 3 ก็เพราะซิดนีย์ยังมีโรงกลั่นน้ำทะเลเป็นน้ำจืดเป็นตัวสนับสนุนอีกแหล่งหนึ่ง)

นอกจากนั้นทางการยังมีความหวั่นวิตกกับปัญหาที่จะตามมาก็คือการขยายตัวของแหนและสาหร่ายที่คาดว่าจะเติบโตงอกงามเต็มที่ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ถ้าพื้นดินยังต้องการปริมาณน้ำฝนตกมาอย่างหนักเพื่อช่วยดับไฟอีกละลอกหนึ่ง

 

ฝนหลังแล้งดูเหมือนจะก่อให้เกิดแก๊สเรือนกระจกเพิ่มขึ้น

ข่าวออนไลน์นสพ. The SMH วันที่ 17 ม.ค. 2019 เสนอข่าวฝนหลังแห้งแล้งดูเหมือนจะเป็นสาเหตุให้เกิดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น

17 ม.ค. 2020 ดูเหมือนความพยายามของรัฐบาลกลางของนาย Scott Morrison ในการลดปริมาณการปล่อยแก๊สเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศในภาพอุตสาหกรรมเกษตรจะถดถอยอันเนื่องมาจากฝนตกหลังอากาศแล้งอันยาวนาน

ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาถึง ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2019 ภาคเกษตรกรรมของออสเตรเลียสามารถลดปริมาณการปล่อยแก๊สเรือนกระจกได้ถึง 4.2 ล้านตันจากทั้งหมด 67.4 ล้านตัน ถือเป็นการลดปริมาณการปล่อยมลพิษสู่อากาศได้ถึง 5.87% ในขณะที่ภาคพลังงานไฟฟ้าลดได้เพียง 1.15% เท่านั้น

อย่างไรก็ตามนาย Tim Baxter นักวิจัยอาวุโสของสภาภูมิอากาศ (Climate Council) อ้างว่าการปล่อยมลพิษขึ้นสู่อากาศในภาพเกษตรลดลงก็เนื่องมาจากสภาพอากาศแล้งนั้นเอง เขาวิตกว่าหากฝนตกลงมาสร้างความอุดมสมบูรณ์ต่อการทำฟาร์มเกษตรและปศุสัตว์มากยิ่งขึ้น การปล่อยแก๊สเรือนกระจกก็จะเพิ่มตามมา

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาทำนายว่าฝนตกในช่วงนี้จะนำปริมาณน้ำมาสู่พื้นที่ทางตะวันออกของประเทศในระดับ 30 ถึง 50 มม. มากพอที่จะทำให้เห็นทุ่งหญ้าสีเขียวเต็มไปหมด

ศจ. Mark Howden แห่งสภาบันภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงแห่งมหาวิทยาลัยออสเตรเลียเนชั่นแนลกล่าวว่าการยุติลงของความแห้งแล้งจะก่อให้เกิดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกเพิ่มขึ้น

เขากล่าวว่าสภาพแห้งแล้งทำให้การปล่อยแก๊สเรือนกระจกในออสเตรเลียลดลงเหลือ 528 ล้านตันในปี 2016 และระหว่าง 533 ถึง 532 ล้านตันมานับตั้งแต่ปี 2017 ถึง 2019

แต่การที่สภาพอากาศสมบูรณ์ขึ้นจะทำให้ภาคการเกษตร เป็นต้นว่าปศุสัตว์ปล่อยแก๊สเรือนกระจกเพิ่มขึ้นอีก 4 ล้านตันต่อปี

แต่นาย Angus Taylor รัฐมนตรีดูแลงานด้านพลังงานและการลดมลพิษของรัฐบาลกลางออกมากล่าวว่า การเพิ่มการทำฟาร์มเกษตรไม่ได้ส่งผลให้ออสเตรเลียต้องฝ่าฝืนข้อตกลงสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงกรุงปารีส เพราะยังอยู่ภายในกรอบควบคุมปี 2030

ภายใต้ข้อตกลงสนธิสัญญาโตเกียว…ออสเตรเลียลงนามตกลงลดมลพิษภายใต้คำมั่นข้อตกลงกรุงปารีสในปี 2005 ในการลดการปล่อยแก๊สลงอีก 26% เป็น 28% ภายในปี 2030

 

jingjonews.com

jingjonews@hotmail.com (งดใช้ชั่วคราว)

Jingjonews เป็นสื่อออนไลน์มีวัตถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน โดยปลอดจากการโฆษณาในเชิงพาณิชย์



Categories: ข่าวออสเตรเลีย

Tags: , , , , , , , , , , , , , ,

Leave a Reply

Discover more from jingjonews

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading