ค่าดอลล่าร์ออสซี่แข็งขึ้นคนทำงานส่งเงินกลับบ้านชอบแต่ RBA เริ่มปวดหัว

3 ม.ค. 2020 ค่าเงินดอลล่าร์ออสเตรเลียกลับมาแข็งตัวขึ้นในรอบหลายเดือนในช่วงปีใหม่ อันเนื่องมาจากผลของการลดความรุนแรงทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน และการมองโลกในแง่ดีต่อนโยบายการเงินที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโลกในปีข้างหน้า

ค่าเงินดอลล่าร์ออสเตรเลียได้เขยิบขึ้นมาแตะที่จุด 70 เซนต์ต่อดอลล่าร์สหรัฐเป็นครั้งแรกในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ในขณะเมื่อเทียบกับค่าเงินบาทก็เพิ่มจาก 20.83 บาทในวันที่ 31 ธันวาคม 2019 เป็น 20.85 บาทในวันที่ 1 มกราคมและ 21.05 บาทในวันที่ 2 มกราคม ก่อนลดลงมาเหลือ 20.93 บาทในวันที่ 3 มกราคม (ข้อมูลกลางจาก google.com.au)*

แม้ปัจจัยที่เกิดขึ้นจะทำให้เศรษฐกิจโลกส่อแววไปในทางที่ดีขึ้น แต่การที่ค่าเงินออสเตรเลียแข็งตัวขึ้นได้สร้างความปวดหัวที่ไม่ต้องการ (unwanted headache) ในหมู่นักวางนโยบายของธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ต่อการทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศโตตามแนวทางลดการว่างงาน, ยกระดับค่าแรงงานและแก้ปัญหาเงินเฟ้อของประเทศที่ต่ำเตี้ยกลับมาอยู่ในกรอบระหว่าง 2% ถึง 3%

ธนาคารกลางเคยกล่าวไว้ใน SOMP (Statement of Monetary Policy หรือคำแถลงนโยบายทางการเงิน) ในเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า เป็นความสำคัญต่อความพยายามตรึงค่าเงินดอลล่าร์ในระดับต่ำเพื่อให้เศรษฐกิจเป็นไปตามเป้าหมาย โดยกล่าวว่าหากค่าเงินดอลล่าร์ออสเตรเลียเพิ่มขึ้น 0.5% ก็จะส่งผลให้ผลิตผลมวลรวมภายในประเทศ (GDP) ลดลงเฉลี่ย 0.5% จากการคาดการณ์พื้นฐาน (baseline forecasts)

สถานการณ์ค่าเงินที่แข็งตัวขึ้นจะทำให้อัตราการว่างงานไม่ลดลง, ค่าแรงไม่เพิ่มขึ้นเท่าที่ควรและเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไปอีกสองปี

ธนาคารกลางกล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะทำให้อัตราการว่างงานยังคงอยู่ที่ 5.5% แทนที่จะลดลงเหลือ 5.0% ภายในสิ้นสุดปี 2021 และอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ต่ำกว่า 2.0% ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่ธนาคารกลางเรียกว่า MARTIN (Macroeconomic Relationships for Targeting Inflation ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจมหภาคเพื่อนโยบายการเงินแบบกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ)

RBA กล่าวว่าตัวการสำคัญที่ฉุดเศรษฐกิจไม่ให้เติบโตก็คือค่าเงินที่แข็งแกร่งจะส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ สินค้าส่งออกจากออสเตรเลียจะมีขีดความสามารถในการแข่งขันน้อยลง ในขณะที่มันจะทำให้สินค้านำเข้ามีราคาถูกลง

หากค่าเงินไม่แข็งตัว ธนาคารกลางคาดว่าเศรษฐกิจของออสเตรเลียจะเพิ่มจาก 1.7% ในปัจจุบันเป็น 2.8% ในปี 2020 และ 3.1% ในปี 2021

นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเชื่อว่าเศรษฐกิจออสเตรเลียจะต้องโตในระดับ 2.7% ต่อปีจึงจะต้องรักษาระดับการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อในระดับมีเสถียรภาพ (คือที่ 5.0% และระหว่าง 2% ถึง 3% ตามลำดับ)

หมายเหตุ *อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศในวันที่ 3 ม.ค. 2020 เงิน 1 ดอลล่าร์ออสเตรเลียเท่ากับ 70 เซนต์สหรัฐและเท่ากับ 20.93 บาท (ข้อมูลกลางจาก google.com.au ณ เวลา UTC 12.26 น. 3/02/2020

 

jingjonews.com

jingjonews@hotmail.com (งดใช้ชั่วคราว)

Jingjonews เป็นสื่อออนไลน์มีวัตถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน โดยปลอดจากการโฆษณาในเชิงพาณิชย์



Categories: ข่าวออสเตรเลีย

Tags: , , , , , , , ,

Leave a Reply

%d bloggers like this: