พอจบสิ้นเคาท์ดาวน์เข้าสู่ปี 2020 มีสิ่งใหม่ ๆ อะไรบ้างที่ชาวออสซี่จะต้องเผชิญ (ภาค ๒)

พลุส่งท้ายปีเก่า 2019 ต้อนรับปีใหม่ 2020 ที่อ่าวซิดนีย์ฮาร์เบอร์ : ภาพจิงโจ้นิวส์ถ่ายจากรายการถ่ายทอดสดทางทีวี SBS

1 ม.ค. 2020 ขออนุญาตต่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในปี 2020 ต่อจากเมื่อวานนี้เลยนะครับ

ต่างชาติเป็นเจ้าของฟาร์ม-บ้านเจอภาษีที่สูงขึ้น

ความกังวลของชาวออสเตรเลียต่อการที่ชาวต่างชาติเข้ามากว้านซื้อที่ดิน ที่รวมถึงฟาร์มเกษตรขนาดใหญ่ระดับต้น ๆ ของออสเตรเลียเช่นเมื่อครั้งที่บริษัทจากประเทศจีนแย่งกันซื้อฟาร์มของบริษัท S. Kidman & Co ซึ่งมีพื้นที่รวมกัน 101,411 ตารางกิโลเมตร (พื้นที่ขนาดเท่ากับประเทศเนเธอร์แลนด์, เบลเยี่ยม, สวิตเซอร์แลนด์และเดนมาร์ครวมกัน)

นอกจากนั้นชาวจีนยังเข้ามาจับจองซื้อที่อยู่อาศัยในนครซิดนีย์, เมลเบิร์นและตามนครใหญ่อื่น ๆ เพื่อการลงทุนและการเอาเงินของพวกเขาถ่ายเทออกจากประเทศจีน

นับจากวันที่ 1 มกราคมเป็นต้นไปภาษีที่ดินจะเพิ่มจาก 1.5% เป็น 2.0%

สวัสดิการช่วยเหลือชาวอะบอริจินย้ายเข้ามาเรียนหนังสือในตัวเมือง

เงินสวัสดิการเยาวชนว่างงานและบุคคลว่างงานทั่วไปในปี 2020 จะเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ แต่ชาวอะบอริจินที่ย้ายออกจากบ้านเพื่อไปเรียนหนังสือจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดสำหรับปีนี้

เยาวชนชาวอะบอริจินที่ย้ายจากบ้านในดินแดนห่างไกลเพื่อเข้ามาเรียนโรงเรียนมัธยมในตัวเมืองหรือในเมืองขนาดใหญ่จะได้รับเงินช่วยเหลือจำนวมมากขึ้นจาก Centerlink ภายใต้เงินสวัสดิการ Abstudy แต่ผู้ปกครองของพวกเขาจะถูกหยุดจ่ายเงินผลประโชน์ทางครอบครัวเมื่อบุตรมีอายุ 16 ปี (คือบุตรจะเปลี่ยนมารับเงินสวัสดิการเยาวชนอะบอริจินว่างงานแทน)

นับจากวันที่ 1 มกราคมเป็นต้นไปผู้ปกครองชาวอะบอริจินจะยังคงได้รับเงินส่วนลดภาษี (tax break) ไปจนกว่าลูก ๆ ของพวกเขาจะเรียนจบชั้นมัธยม

ซึ่งจะทำให้ผู้ปกครองกลุ่มนี้ได้รับผลประโยชน์ทางภาษีโดยเฉลี่ยดีขึ้น 5,900 เหรียญต่อปีหรือ 113.46 เหรียญต่อสัปดาห์ จุดประสงค์ของรัฐบาลก็คือต้องการเพิ่มระดับการศึกษาของชาวอะบอริจินให้สูงขึ้น

กฎบัญญัติว่าด้วยสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองรัฐควีนสแลนด์

รัฐธรรมนูญของออสเตรเลียต่างจากของสหรัฐอเมริกาตรงที่ไม่ได้มีบัญญัติว่าด้วยสิทธิพื้นฐานของพลเมืองโดยทุกอย่างปล่อยให้อยู่ภายใต้การออกกฎหมายโดยสภานิติบัญญัติเป็นเรื่อง ๆ ไป

รัฐควีนแลนด์จะฉีกแนวด้วยการนำเสนอกฎหมายสิทธิพื้นฐานและเสรีภาพในเชิงกว้างนับจากวันที่ 1 มกราคมเป็นต้นไป

แต่กฎหมายของรัฐควีนสแลนด์จะไม่เข้มข้นเหมือนของสหรัฐ เพียงแต่กำหนดให้รัฐบาลรัฐพิจารณาถึงสิทธิมนุษยชนในการตัดสินใจและลงมือกระทำ (decision-making and action) และกำจัดขอบเขตสิทธิมนุษยชนภายในบางสถานการณ์หลังจากการพิจารณาอย่างรอบครอบ

นอกจากนั้นยังมีข้อยกเว้นในเรื่องเปราะบางอย่างเช่นศาสนาและโรงเรียนเอกชน (อันแรกพอเดาได้แต่อันที่สองยังนึกภาพไม่ออกมาจะมีความขัดแย้งตรงไหน)

รัฐเซาท์ออสเตรเลียเปิดไฟเขียวให้ทำเกษตร GM

เกษตรกรในรัฐเซาท์ออสเตรเลียจะได้รับไฟเขียวให้ทำการเกษตรดัดแปลงพันธุกรรม (genetically modified crops)

หลังจากที่รัฐบาลรัฐเซาท์ออสเตรเลียประสบความล้มเหลวในการผ่านเรื่องดังกล่าวสู่รัฐสภาของรัฐ รัฐบาลรัฐจึงใช้อำนาจฝ่ายเดียวในการเดินหน้าทำการเกษตร GM ในวันที่ 1 มกราคมเป็นต้นไป

ด้วยการให้เกษตรกรตัดสินใจเองสำหรับการเพราะปลูกพืชตามฤดูกาลของปี 2020 เพื่อเป็นเครื่องสนับสนุนให้เกษตรกรมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นและการจ้างงานเพิ่มขึ้น

ในขณะที่พรรคกรีนส์ออกมาขู่ว่าจะล้มแผนการตัดสินใจของรัฐบาลรัฐ เมื่อเปิดสมัยประชุมสภาในต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้

กล้องจับรถเร็วของตำรวจ WA จะแอบซ่อนถ่ายมากขึ้น

ตำรวจ WA กำลังแอบซ่อนอยู่ในพุ่มไม้เพื่อใช้กล้องจับรถใช้ความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด : ภาพนี้ถูกนำเสนอในหลายสื่อฯทำให้ไม่ทราบแหล่งที่มา

รัฐนิวเซาท์เวลส์มีกฎกติกาถึงจุดติดตั้งกล้องตรวจจับรถใช้ความเร็วจะต้องมีป้ายเตือนให้คนขับรถรับรู้ล่วงหน้า หากตำรวจจะตั้งกล้องจับความเร็วชั่วคราวข้างถนนก็จะต้องทำอย่างเปิดเผยมีป้ายเตือนที่เห็นเด่นชัดมาแต่ไกล

ตรงกันข้ามกับรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียที่นั้นตำรวจจะแอบซุ่มอยู่ตามพุ่มไม้หรือแฝงตัวให้เข้ากับธรรมชาติิอย่างนินจาคอยใช้กล้องจับผู้ขับรถด้วยความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด

ด้วยวิธีนี้ทำให้ตำรวจรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียถูกโจมตีอย่างกว้างขวางว่าทำรายได้จากค่าปรับอย่างเป็นกอบเป็นกำ แต่ในที่สุดผู้ขับรถก็สามารถเดาได้ว่าตำรวจจะดักซุ่มอยู่บริเวณไหน เพราะมีเครือข่ายร่วมด้วยช่วยกันระหว่างผู้ใช้รถคอยเตือนผ่านระบบออนไลน์ว่าตำรวจคอยดักตรวจที่จุดไหนบ้าง

ดังนั้นนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมเป็นต้นไป ตำรวจรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียจะเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติอย่างที่แล้วมา พร้อมเปิดเผยตัวเลขสถิติพื้นที่ 1,800 แห่งที่กล้องจับความเร็วอาจจะหรืออาจจะไม่คอยดักถ่ายภาพ

ปรับหนักกับผู้ขับรถแล้วทิ้งก้นบุหรี่ลงข้างถนน

ในขณะที่ประเทศกำลังเผชิญต่อไฟไหม้ป่าในขั้นวิกฤติ ในหลายพื้นที่โดยยังไม่มีวี่แววว่าไฟป่าจะยุติหรือทุเลาลง รัฐบาลรัฐน.ซ.ว.ได้ออกมาขู่ว่าจะเพิ่มโทษปรับอย่างหนักกับผู้ขับรถที่โยนก้นบุหรี่ทิ้งข้างทาง

นับตั้งแต่วันที่ 17 มกราคมเป็นต้นไป ผู้ที่โยนก้นบุหรี่ออกจากกระจกรถ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดไฟป่าไหม้ตามข้างทางได้อย่างง่ายดาย ผู้กระทำผิดจะถูกปรับ 660 เหรียญและหักคะแนนสะสม 5 แต้ม

แต่ถ้าเป็นการทิ้งในช่วงห้ามติดไฟในที่เปิดอย่างเช่นทุกวันนี้โทษปรับก็จะเพิ่มเป็น 11,000 เหรียญและหักคะแนนสะสม 10 แต้ม

แคนเบอร์ร่าจะใช้พลังงานเขียว 100% ในปี 2020

กร๊าฟแสดงรัฐต่าง ๆ จะบรรลุเป้าหมายในการใช้พลังงานหมุนเวียน โดย ACT จะบรรลุเป้าหมาย 100% ในปี 2020

เมื่อหลายปีก่อนดินแดนออสเตรเลียนแคพิทอลเทร์ริทอรี (ACT) ประกาศตัวว่าจะใช้พลังงานหมุนเวียน (renewable energy) อย่างสิ้นเชิงภายในปี 2020 และดูเหมือนว่าคำพูดดังกล่าวกำลังพัฒนาไปสู่ความเป็นจริง

ด้วยความช่วยเหลือด้านพลังงานจาก Snowy Hydro ผู้ดำเนินโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ Snowy Mountains Scheme จากเพื่อนบ้าน, พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ACT ซึ่งมีประชากร 100,000 คนจะเป็นดินแดนและรัฐแรกของออสเตรเลียที่จะใช้พลังงานหมุนเวียนอย่าง 100% ในขณะที่รัฐเซาท์ออสเตรเลียมีแผนดำเนินโครงการพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 50% ในอีกห้าปีข้างหน้า

(ขอจบเพียงเท่านี้ แต่อาจมีนโยบายสำคัญของปี 2020 เพิ่มเติมต่ออีกโดยจะนำเสนอ ณ ที่นี้)

 

jingjonews.com

jingjonews@hotmail.com (งดใช้ชั่วคราว)

Jingjonews เป็นสื่อออนไลน์มีวัตถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน โดยปลอดจากการโฆษณาในเชิงพาณิชย์



Categories: ข่าวออสเตรเลีย

Tags: , , , , , , , , , ,

Leave a Reply

%d bloggers like this: