สู่เดือนธันวาคม 2019 หน้าร้อนมาแล้ว

.

สู่เดือนธันวาคม ๒๕๖๒

ภาพสาวน้อยโพสต์ภาพนี้ลงในเฟซบุ๊คเห็นดอกแจ็กกาแรนดาสวยดีจึงขออนุญาตนำมาลงสู่เดือนธันวาคม 2019 บริเวณนี้คือที่ถนน McDougall St. ย่าน Kirribilli เขต North Sydney ดอกแจ็กกาแรนด้าเบ่งบานสวยสุดในเดือนพฤศจิกายนครับ

สภาพอากาศเดือนธันวาคม 2019

(เนื่องจากหัวข้อนี้ไม่ค่อยได้รับความนิยม แต่ยังมีท่านผู้อ่านถามหา จึงขออนุญาตนำเสนอเฉพาะในพื้นที่ของนครซิดนีย์ ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของคนไทยส่วนใหญ่)

อุณหภูมิคาดการณ์ของนครซิดนีย์

ภาพแผนผังแสดงพยากรณ์อุณหภูมิต่ำสุดและสูงสุดในแต่ละวันในเดือนธันวาคม 2019 ของนครซิดนีย์

ซิดนีย์เดือนธันวาคมจะมีอุณหภูมิต่ำสุดโดยเฉลี่ยที่ 17.5 องศาเซลเซียส (ตามเส้นทึบสีฟ้าอ่อน) ปีนี้คาดว่าอุณหภูมิต่ำสุดจะอยู่ที่เฉลี่ย 18.2 องศา (ตามเส้นปะสีฟ้าอ่อน)

ซิดนีย์เดือนธันวาคมจะมีอุณหภูมิสูงสุดโดยเฉลี่ยที่ 25.2 องศาเซลเซียส (ตามเส้นทึบสีส้ม) แต่ปีนี้คาดว่าอุณหภูมิสูงสุดจะอยู่ที่เฉลี่ย 26.2 องศา (ตามเส้นปะสีส้ม)

อุณหภูมิสูงสุด 31 องศาเซลเซียส คาดว่าจะเกิดในตอนกลางวันของวันที่ 5 ธันวาคม

อุณหภูมิต่ำสุด 12 องศาเซลเซียส คาดว่าจะเกิดในตอนหลังเที่ยงคืนเป็นต้นไปของวันที่ 2 ธันวาคม

วันที่คาดว่าจะมีฝนตกคือวันที่ 7(s ), และ 28(r)*

เดือนธันวาคมจะมีช่วงกลางวันยาว 14.4 ชั่วโมง ช่วงรับแสงแดดเฉลี่ยวันละ 7.9 ชั่วโมง

ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ย 59% ฝนตกเฉลี่ย 77.6 มม. และฝนตกโดยเฉลี่ย 11.5 วัน

อุณหภูมิน้ำทะเลอยู่ที่ 21.9 องศาเซสเซียสและดัชนี UV index อยู่ที่เบอร์ 12

หมายเหตุ   *r = rain หรือฝนตกเป็นห่าฝน ส่วน s = shower เป็นฝนตกโปรยหรือฝนไล่ช้าง และ t = thunderstorm หรือพายุฝนฟ้าคะนองครับ

หมายเหตุ 2. การทำนายของสำนักงาน BoA จะค่อนข้างแม่นยำในช่วง 3 วันล่วงหน้า ส่วนเกินไกลไปกว่านั้นโอกาสผิดพลาดมีสูง จึงถือเป็นการประเมินอย่างคราว ๆ เท่านั้น

เปรียบเทียบอุณหภูมิของนครซิดนีย์จากการพยากรณ์และอุณหภูมิที่เกิดขึ้นจริงของเดือนพฤศจิกายน 2019 ที่ผ่านมามีดังนี้

ตารางแสดงอุณหภูมิพยากรณ์เดือนพฤศจิกายน 2019

ตารางแสดงอุณหภูมิที่เกิดขึ้นจริงของเดือนพฤศจิกายน 2019

 

เรื่องเกี่ยวกับประเทศไทยที่กลายเป็นข่าวในออสเตรเลียเดือนพฤศจิกายน 2019

ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สื่อฯอสเตรเลียได้เสนอข่าวเกี่ยวกับเมืองไทยหลายสิบข่าวด้วยกัน ตั้งแต่ข่าวน้องหญิง (Nong Ying) วัย 17 ปีเสียชีวิตจากไฟฟ้าลัดวงจรจากการใช้โทรศัพท์มือถือและและน้องปิยวัฒน์ หริกุล (Payawat Harikun) วัย 17 ปีติดเกมคอมพิวเตอร์จนหมดสติและเสียชีวิต และข่าว กลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนสังหารเจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านในจังหวัดยะลา15 ศพ

ไปจนถึงข่าวใหญ่จากกรณีประเทศไทยปฏิเสธไม่ให้นายสม รังสี (Sam Rainsy) อดีตผู้นำฝ่านค้านของกัมพูชาใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านเพื่อเข้าประเทศของตน

ไม่ต้องบอกก็คงเดากันได้ว่า สื่อฯออสซี่มองรัฐบาลไทยเป็นผู้ร้าย

โดยไม่คิดเลยว่าทำไมอดีตผู้นำคนนี้ถึงต้องการใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านเข้าเขมร ทั้งที่เขาสามารถเขาประเทศโดยตรงหรือใช้เส้นทางผ่านลาวหรือเวียดนามซึ่งสะดวกกว่ามาก

ข่าวออนไลน์สำนักข่าว SBS วันที่ 21 พฤศจิกายน 2019 รายงานข่าวสมเด็จพระสันตปาปาขณะเสด็จเยือนประเทศไทย

ข่าวสมเด็จพระสันตปาปา Francis เสด็จเยือนประเทศไทย ซึ่งมีเรื่องราวดี ๆ 99.99% สื่อฯออสซี่ไม่นำเสนอ แต่เอาเรื่องไม่ดี 0.01% มาขยาย เป็นต้นว่าข่าวพาดหัว “โปปใช้พิธีสวดมิสซาในกรุงเทพฯตำหนิการค้ามนุษย์” และ “โปปฟรานซิสเรียกร้องให้มีการปกป้องสตรีและเด็กให้ดีขึ้นในระหว่างเยือนประเทศไทย” อันที่จริงแล้วโปปชื่นชมรัฐบาลไทยที่พยายามแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ลุล่วงด้วยดีในระดับหนึ่ง แต่สื่อฯนี่สิใช้คำพูดนี้มาตั้งเป็นหัวข้อ เนื้อในเขียนถึงประเทศไทยในเชิงลบไปเสียฉิบ

ข่าวออนไลน์สำนักข่าว SBS รายงานกรณีผู้พิพากษาไทยยิงตัวเองหลังวิจารณ์ระบบยุติธรรมของไทย

ข่าวที่จะขอเสนอนี้เป็นข่าวที่เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม ตั้งใจจะเขียนลงในสู่เดือนพฤศจิกายน แต่ก็ไม่มีโอกาสจะเขียนจึงขอนำมาสรุปรวบยอด ณ ที่นี้

ข่าวนี้เป็นข่าวผู้พิพากษาไทยพยายามยิงตัวตายหลังนั่งบัลลังก์ตัดสินคดี สื่อฯ The Daily Mail วันที่ 5 ตุลาคมพาดหัวข่าวว่า “ผู้พิพากษาไทยยิงตัวเองเข้าหน้าอกหลังจากกล่าวหาหัวหน้าผู้พิพากษาเข้ามาแทรกแซงคำตัดสินของเขา” และข่าวจากสำนักข่าว SBS เสนอว่า “ผู้พิพากษาประเทศไทยยิงตัวเองหลังจากวิจารณ์ระบบ(การตัดสินคดี)” เป็นต้น

สื่อฯออสเตรเลียเสนอข่าวโดยสรุปว่า ผู้พิพากษาในจังหวัดยะลาใช้ปืนยิงตัวเองที่หน้าอกภายในศาล หลังตัดสินยกฟ้องจำเลย 5 คนในคดีความมั่นคงของชาติ โดยเขียนบันทึกไว้ก่อนพยายามฆ่าตัวตายว่าเขาถูกผู้บังคับบัญชาแทรกแซงอย่างหนัก ให้เปลี่ยนคำตัดสินว่าจำเลยมีความผิด ซึ่งเขาไม่สามารถรับได้

ส่วนเนื้อหาตามมาได้เสนอข่าวความไม่เป็นธรรมในระบบยุติธรรมของไทย รวมถึงความไม่ยุติธรรมในการพิจารณาคดีของอดีตนักการระดับสูงเมืองไทย

เนื้อหาโดยยอข้างบนคือข่าวของผู้พิพากษารายนี้ที่ชาวออสเตรเลียได้รับทราบจากสื่อฯในประเทศ

ข่าวที่ผูอ่านออสซี่ไม่มีโอกาสรับรู้

แต่สิ่งที่พวกเขาไม่ทราบก็คือ ผู้พิพากษารายนี้เป็นผู้ฝักใฝ่การเมืองหัวรุนแรง ก่อนวันตัดสินเขาได้ส่งสำเนาคำพิพากษาไปให้จำเลยในคดี จากนั้นทั้งจำเลยในคดีและผู้พิพากษาได้ส่งสำเนาคำพิพากษาไปให้กับนักการเมืองหัวรุนแรงระดับเลขาธิการพรรคคนหนึ่ง

ในวันที่ข่าวกระจายออกมาว่าผู้พิพากษายิงตัวตาย นักการเมืองผู้นั้นได้ออกแถลงการณ์โจมตีระบบยุติธรรมทันที โดยอ้างหลักฐานที่ได้รับจากผู้พิพากษาและจำเลยที่มีข้อความของหัวหน้าผู้พิพากษาเขียนให้ความเห็นแย้งคำตัดสิน โดยลืมไปว่าผู้พิพากษาไม่มีสิทธิ์ตามกฎหมายที่จะให้ผู้ใดรับทราบคำตัดสินก่อนคำพิพากษา

อย่างไรก็ตามความพยายามลดความเชื่อถือในสถาบันยุติธรรมของไทยได้ถูกสยบลงอย่างรวดเร็ว เมื่อผู้ใหญ่ในวงการตุลาการของไทยออกมาหยุดกระแสต่อต้านด้วยการยืนยันว่า ความเห็นของหัวหน้าผู้พิพากษา เป็นความเห็นที่ใช่เป็นหลักทั่วไปกับผู้พิพากษาชั้นต้น เป็นระบบพี่เลี้ยงที่ให้ผู้พิพากษาส่งสำนวนพิจารณาคดีมาให้หัวหน้าผู้พิพากษาตรวจทาน หากมีความเห็นเพิ่มเติมหรือความเห็นแย้งก็จะเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรลงนามกำกับลงมา #ส่วนตัวผู้พิพากษาจะเห็นด้วยหรือไม่ ก็เป็นสิทธิของผู้พิพากษา ซึ่งถือเป็นหลักปฏิบัติทั่วไป ไม่ถือเป็นการแทรกแซงใด ๆ

อย่างผู้พิพากษารายนี้ไม่เห็นด้วยกับความเห็นแย้ง ก็ยังมีอิสระในการตัดสินตามความเห็นของตน

นี้คือระบบการทำงานของกระบวนการยุติธรรมของไทย ซึ่งผมเห็นส่วนดีที่ผู้พิพากษาใหม่มีผู้พิพากษาที่มีประสบการณ์สูงทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง เสมือนเป็นครูอย่างดี ดีกว่าปล่อยให้ผู้พิพากษาเผชิญกับปัญหาตามลำพัง

ในทางกลับกัน

ผมนึกถึงผู้พิพากษาศาลแขวงของรัฐนิวเซาท์เวลส์ท่านหนึ่ง ท่านผู้อ่านที่ติดตามข่าวไทย-ออสนิวส์ในอดีตอาจจะพอจำได้ แต่สำหรับผมผู้รายงานจำได้ดี เธอคืออดีตผู้พิพากษาหญิง Pat O’Shane ผู้พิพากษาเชื้อสายอะบอริจินคนแรกของออสเตรเลีย

ผู้พิพากษา O’Shane มีลีลาการตัดสินคดีที่ผมเคยกล่าวไว้ว่าให้โทษให้คุณกับจำเลยแบบออกหัวออกก้อย เท่าที่ผมจำได้มีคดีหนึ่งจำเลยเป็นชายวัย 25 ปี (ถ้าจำไม่ผิด) มีความผิดฐานขับรถมาเจอป้ายหยุด (Stop) แล้วไม่หยุดรถก่อนที่จะเคลื่อนรถต่อไป เขาถูกตัดสินยึดใบอนุญาตขับขี่เป็นเวลา 25 ปีกับความผิดนี้

อีกรายผมจำชื่อนายคนนี้ได้ดีคือนาย John Singleton นักธุรกิจมหาเศรษฐีของนครซิดนีย์ ถ้าจำไม่ผิดนายคนนี้เป็นผู้บริหารด้านโฆษณา แกถูกตำรวจจับในข้อหาขับรถด้วยความเร็วสูงน่าจะเกิน 200 กม.ต่อชั่วโมง แต่ผู้พิพากษา O’Shane ตัดสินเขาไม่มีความผิดโดยให้เหตุผลว่ารถหรูที่นาย Singleton ขับเป็นรถที่มีสมรรถภาพสูง สามารถขับด้วยความเร็วขนาดนั้นได้

ผู้พิพากษา O’Shane เป็นไม้เบื่อไม้เมากับตำรวจ ในคดีหนึ่งตำรวจไล่จับผู้ร้ายราวกับในหนังแอคชั่น เมื่อคนร้ายกระโดดรั้วหลังบ้านเข้าไปในบ้านประชาชน ตำรวจก็กระโดดตาม แต่ตำรวจโชคร้ายกระโดดเข้าไปในบ้านที่มีสุนัข ส่วนคนร้ายกระโดดเข้าบ้านติดกันเลยไม่โดนรอยเขี้ยวหมาฝากน่องไว้เป็นที่ระลึก ผู้พิพากษา O’Shane กล่าวโทษตำรวจว่าไม่ดูตาม้าตาเรือเอง

อีกรายจำไม่ค่อยได้แต่เป็นกรณีที่ตำรวจถูกคนร้ายยิง รู้สึกว่าผู้พิพากษาจะไม่เอาผิดคนร้ายหรือลงโทษคนร้ายสถานเบา โดยอ้างว่าตำรวจนำพาตัวเข้าไปเสี่ยงเอง

กรณีของผู้พิพากษา O’Shane ถือเป็นตัวอย่างของผู้พิพากษาในระบบยุติธรรมที่ไม่มีพี่เลี้ยง และคดีมักจบลงที่ผู้พิพากษาพิจารณาคดีอุทธรณ์กลับคำตัดสิน และตำหนิคำพิพากษาของผู้พิพากษา O’Shane ในหลายคดี

ผู้พิพากษา O’Shane ได้เกษียณอายุราชการไปแล้วตั้งแต่ปี 2013

อ้อผมลืมบอกไปว่าข่าวที่ออกมาว่าผู้พิพากษาไทยพยายามฆ่าตัวตายนั้น แท้จริงแล้วเป็นเพียงแค่เอาปืนยิงที่ส่วนท้องถูกอวัยวะไม่สำคัญใด ๆ ครับ

(ขอออกตัวว่า จิงโจ้นิวส์พยายามหลีกเลี่ยงนำเสนอข่าวการเมืองไทย แต่บางครั้งจำต้องชี้แจ้ง)

 

jingjonews.com

jingjonews@hotmail.com

จิงโจ้นิวส์เป็นสื่อออนไลน์มีวัตุถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน   โดยปลอดจากการโฆษณาในเชิงพาณิชย์



Categories: ข่าวออสเตรเลีย

Tags: , , , , , , , , , , ,

Leave a Reply

%d bloggers like this: