วันที่ 9 ตุลาคมเป็นวันแรกที่ธนบัตรชนิดราคา 20 เหรียญรุ่นใหม่ถูกนำออกใช้หมุนเวียนเป็นวันแรก จิงโจ้นิว์จึงขอนำบทความ “ใครในธนบัตรตอน แมรี ไบรีย์” ซึ่งได้รับอนุญาตจากไม้ซีกขีดเจ้าของบทความมานำเสนอ
บทความนี้เป็นตอนที่ 544 ของไม้ซีกขีดเขียนลงในหนังสือพิมพ์ไทย-ออสนิวส์ฉบับ 3 ถึง 16 พฤศจิกายน 2010 กว่าที่จิงโจ้นิวส์จะพิมพ์ด้วยสองนิ้วชี้จิ้มคีย์บอร์ดก็กินเวลายาวนานกว่ารายงานข่าวสักสองสามข่าว อีกทั้งต้องระวังพิมพ์ผิดกันเป็นพิเศษ (ซึ่งมักเกิดขึ้นบ่อย ๆ) ขอเชิญอ่านได้ดังนี้ครับ
@@@@

บทความเรื่อง “ใครในธนบัตรตอน แมรี ไบรีย์” โดยไม้ซีกขีดในหนังสือพิมพ์ไทย-ออสนิวส์ฉบับ 3 พฤศจิกายน 2010
สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่เคารพ.. ในฉบับนี้ผมขออนุญาตกลับมาที่เรื่อง “ใครในธนบัตร” อีกครั้งหนึ่งครับ คราวนี้ถึงคราวของนาง “แมรี ไรบีย์” อดีตนักโทษหญิงผู้ซึ่งต่อมากลายเป็นนักธุรกิจที่เป็นที่นับหน้าถือตาในสังคมชาวออสเตรเลียในยุคบุกเบิก ผมขออนุญาตเล่าเรื่องราวของท่านผู้นี้เลยนะครับ
@@@@

ธนบัตรชนิดราคา 20 เหรียญรุ่นใหม่ด้านนาง Mary Reiby ถูกออกแบบเพื่อป้องกันการปลอมแปลงและเพื่อผู้พิการทางสายตา (ภาพนี้จิงโจ้นิวส์เพิ่มขึ้นมาจากต้นฉบับเดิม)
บุคคลที่กล่าวถึงรายนี้ ถือกำเนิดในวันที่ ๑๒ เมษายน ๑๗๗๗ (พ.ศ. ๒๓๒๐) ที่เมืองเบอรี่ แคว้นแลนคาเชียร์ บนเกาะอังกฤษ เธอได้รับการตั้งชื่อตามพิธีทางคริสตศาสนาว่า “มอลลี เฮย์ด็อค” ชีวิตในวันเด็กของเธอค่อนข้างอาภัพ เพราะต้องเสียบิดาและมารดาตั้งแต่ยังเยาวัย เธอจึงได้รับการเลี้ยงดูโดยยาย (หรือย่า) พอโตขึ้นมาหน่อยก็ถูกส่งให้ไปทำงานเป็นเด็กรับใช้ประจำบ้านผู้มีอันจะกิน (บางตำราว่าเป็นเด็กรับใช้ที่โรงแรมแห่งหนึ่ง) แต่เธอได้หลบหนีนายจ้างในเวลาต่อมา
เหตุการณ์ผันเปลี่ยนในชีวิตของด.ญ.มอลลี (แมรี) เกิดขึ้นในปี ๑๗๙๐ (พ.ศ. ๒๓๓๓) ในขณะที่เธออายุเพียง ๑๓ ปี เด็กหญิงมอลลีผู้ซึ่งชอบปลอมตัวเป็นชาย โดยใช้ชื่อว่า “เจมส์ เบอร์โรว์” ออกเที่ยวเล่นตามภาษาเด็ก แต่แล้วในวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๑๗๙๐ ในขณะอยู่ทีเมืองสแตฟฟอร์ด เธอนึกสนุกอย่างไรก็ไม่ทราบ ไปเอาม้าของชาวบ้ามาขี่เล่นเพื่อความสนุก เป็นเหตุให้เธอถูกจับ และถูกตัดสินในเดือนสิงหาคมให้มีความผิดฐานขโมยม้า
โทษของอังกฤษในสมัยนั้นหนักหนาสาหัสนัก ถึงขั้นประหารชีวิต แต่เธอได้รับผ่อนผันเปลี่ยนมาเป็นนักโทษเนรเทศมาอยู่ออสเตรเลียเป็นเวลา ๗ ปี จะว่าไปแล้วก็เท่ากับเป็นการเนรเทศตลอดชีวิต เพราะถ้าพ้นโทษเธอก็ต้องหาทางกลับบ้านเมืองเอาเอง
เธอถูกจับส่งลงเรือ “รอยัล แอดมิรัล” จากเกาะอังกฤษมาสู่ซิดนีย์ในเดือนตุลาคม ๑๗๙๒ หรือ ๔ ปี ๘ เดือนหลังจากกลุ่มนักโทษกลุ่มแรกถูกเนรเทศมาอยู่ออสเตรเลีย
จดหมายฉบับหนึ่งที่เธอเขียนจากโบตานีเบย์ในซิดนีย์ลงวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๑๗๙๒ ด้วยภาษาอังกฤษที่สะกดผิดสะกดถูก ทำให้บอกได้ว่า เธอได้รับการศึกษาในเยาวัยอย่างไม่เพียงพอเฉกเช่นเด็กยากจนในยุคของเธอ เช่นเธอเขียนคำว่า “สอง” ด้วย “too” แทนที่จะเป็น “two” และคำว่า “ซึ่ง” ด้วย “wich” แทนที่จะเป็น “which” เป็นต้น
เนื้อหาในจดหมายตอนหนึ่งพอที่จะบอกถึงความรู้สึกของเด็กหญิงผู้ถูกเนรเทศไปอยู่ในดินแดนไกลโพ้น, โทษที่เธอได้รับ และเธอถูกหลอกเอาเงินไป ๒ กินนี (๔๒ ชิลลิง) ได้ดังนี้
“…พวกเขาบอกฉันว่าจะ (ถูกเนรเทศหรือต้องอยู่ที่นี่) ตลอดชีวิต ซึ่งผู้สำเร็จราชการฯบอกฉันว่า ๗ ปี ซึ่งทำให้ฉันต้องฉุกคิด แต่ฉันจะหาโอกาสออกมาภายในสองหรือ ๓ ปี แต่ฉันจะทำให้ตัวฉันอยู่อย่างเป็นสุขเท่าที่จะทำได้ ในสภาพปัจจุบันและภายในสถานการณ์ที่ไม่เป็นสุขนี้…..มิสเตอร์สก็อตได้หลอกเอาเงินของฉันไป ๒ กินนี โดยบอกว่าเขาจะสามารถให้อิสรภาพแก่ฉันได้….” เธอลงนามในจดหมายว่า “แมรี เฮย์ด็อค”
นายสก็อตผู้นี้น่าจะเป็นบุคคลที่หลอกเอาเงินของแมรี ก่อนที่เธอจะถูกจับขึ้นเรือ “โรยัล แอมิรัล” จากเกาะอังกฤษมายังซิดนีย์ เมื่อเดินทางมาถึงซิดนีย์ เธอถูกสั่งให้ไปทำงานเป็นคนรับใช้ประจำบ้านพักของร้อยโทฟรานซิส กรอส
ร้อยโทกรอสเป็นหนึ่งในนายทหารสำคัญผู้มีส่วนในการก่อร่างสร้างเมืองซิดนีย์ในยุคบุกเบิก เขาเป็นอดีตนายทหารรับใช้พระมหากษัตริย์เข้าร่วมรบในสงครามปฏิวัติในสหรัฐอเมริกา ที่ซิดนีย์เขามีทหารใต้บังคับบัญชาถึง ๕๐๐ นาย และเขาเป็นอีกคนหนึ่งที่สั่งให้แมรีแต่งกายเป็นเด็กรับใช้ชายคอยรับใช้อยู่ที่บ้านพัก ซึ่งน่าจะอยู่ในบริเวณไม่ไกลจากท่าเทียบเรือ ที่เป็นที่ตั้งของค่ายทหาร
@@@@
จวบจนกระทั่งในปี ๑๗๙๔ (พ.ศ. ๒๓๙๗) แมรีเติบโตเป็นสาววัย ๑๗ ปี เธอได้สมรสกับนาย “โทมัส ไรบีย์” ชายหนุ่มเชื้อสายไอร์แลนด์ผู้ทำงานเป็นพนักงานดูแลคลังสินค้าบนเรือสินค้าบริทาเนีย ของบริษัทอีสอินเดียแห่งอังกฤษ
เล่ากันว่าเธอพบผู้เป็นสามีในอนาคตอันใกล้ครั้งแรกขณะที่เขาเดินทางกลับสู่ซิดนีย์จากเรือบริทาเนียในปีเดียวกัน แล้วเขาเกิดไปจ๊ะเอ๋กับเด็กรับใช้ของร้อยโทกรอสเข้าโดยบังเอิญ
แต่บางตำราว่า ทั้งสองพบกันครั้งแรกในขณะที่แมรีถูกจับใส่เรือโรยัล แอมิรัล ซึ่งขณะนั้นนายไรบีย์เป็นเจ้าหน้าที่ประจำเรือดังกล่าว ก่อนที่เขาจะเปลี่ยนมาทำงานบนเรือสินค้าบริทาเนีย ทั้งสองได้ตัดสินใจแต่งงานกันในวันที่ ๗ กันยายน ๑๙๗๔
หลังจากแต่งงานมอลลีหรือแมรี ได้เปลี่ยนนามสกุลมาใช้นามสกุลของสามีคือ “ไรบีย์” โดยชื่อสกุลนี้ สะกดเป็นอักษรโรมันแตกต่างกันตามแต่สะดวกได้แก่ “Raby”, “Rabey”, “Raiby”, “Reiby” และ “Reibey” แต่หลังจากการเสียชีวิตของโทมัสผู้สามี ผู้สืบเชื้อสายต่อ ๆ มาได้เลือกใช้การสะกดชื่อสกุลว่า “Reiby”
นายไรบีย์ผู้สามีได้รับการออกโฉนดที่ดินทำกินผืนเล็ก ๆ ใกล้แม่น้ำฮอว์คสเบอรี่ ที่ซึ่งเขาและแมรีช่วยกันทำฟาร์มและสร้างบ้านฟาร์มโดยตั้งชื่อบ้านว่า “ไรบีย์โครฟต์” ซึ่งปัจจุบันได้รับการจดทะเบียนเป็นมรดกแห่งชาติ ที่ซึ่งนายไรบีย์ได้เริ่มต้นอาชีพทำการลำเลียงสินค้าเกษตรและวัตถุดิบโรงงานล่องมาตามสายแม่น้ำฮอว์คสเบอรี่มายังซิดนีย์ ก่อนที่เขาจะตัดสินใจอพยพครอบครับมาตั้งหลักแหล่งอยู่ในซิดนีย์
ภายในปี ๑๘๐๓ เขาได้ซื้อฟาร์มหลายแห่งตามแม่น้ำฮอว์คสเบอรี่พร้อมกับทำกิจการค้าถ่านหิน,ไม้ซีดาร์, ผ้าขนสัตว์, หนังสัตว์ และฝ้าย โดยมีเรือขนสินค้าขนาดเล็กเป็นของตนเอง ๓ ลำ ชื่อ เจมส์, เอ็ดวิน และราเวน

จุดปักธงยูเนียนแจ๊คปัจจุบันอยู่ริมถนนโลฟตัส ไม่ไกลจากบ้าน Entally House หลังแรกของตระกูลไรบีย์ ส่วนริมน้ำต่อมามีการโถมที่เป็นท่าเทียบเรือของ Circular Quay และ The Rocks
กิจการของนายไรบีย์รุ่งเรืองไปด้วยดี จนทำให้เขาสามารถสร้างบ้านด้วยหินทรายในปี ๑๘๐๔ (พ.ศ. ๒๓๔๗) หลังจากที่เขาได้รับใบออกที่ดินใกล้กับบริเวณที่ต่อมาถูกเรียกว่า “แมคควอรี่เฟลซ” (บริเวณพื่นที่ขนาดเล็กตรงมุมถนนบริจด์และถนนลอฟตัส คือจุดที่กัปตันอาร์เธอร์ ฟิลลิปปักธงยูเนียนแจ๊ค เพื่อประกาศดินแดน เมื่อครั้งนำคนผิวขาวตั้งหลักแหล่งเป็นครั้งแรกในวันที่ ๒๖ มกราคม ๑๗๘๘)
บ้านหลังนี้เขาตั้งชื่อว่า “เอ็นทาลลีเฮาส์” ตามชื่อย่านในเมืองกัลกัตตาในประเทศอินเดีย ส่วนบ้านเดิมได้ปล่อยให้เช่า
ในช่วงนี้นายไรบีย์ได้เข้าเป็นหุ้นส่วนการค้ากับนายเอ็ดเวิร์ด วิลส์ ในปี ๑๙๐๕ กิจการการค้าได้ขยายไปยังช่องแคบบาสส์ (ช่องแคบที่กั้นระหว่างแผ่นดินใหญ่กับแทสมาเนีย)
ในปี ๑๘๐๗ พวกเขาได้ซื้อเรือสินค้าขนาด ๓๐ ตันชื่อ “เมอร์คิวรี” พร้อมกับการขยายการค้าไปตามหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก จนกระทั่งปี ๑๘๐๙ พวกเขาได้ขยายกิจการเข้าไปในจีนและอินเดีย
@@@@
ผมขออนุญาตเสริมข้อมูล เพื่อให้ท่านผู้อ่านเห็นสภาพของสังคมในซิดนีย์ในช่วงเวลานั้น ตอนนั้นร้อยโทกรอสอดีตนายของแมรีกำลังมีชื่อเสียงจากเหตุการณ์ปราบจลาจลภาษีเหล้ารัมหรือ the Rum Rebellion มาตั้งแต่ปี ๑๘๐๘ (พ.ศ. ๒๓๕๑) ประกอบกับผู้สำเร็จราชการฯวิลเลียม บลิจห์ล้มป่วยลง อาณานิคมนิวเซาท์เวลส์ได้ผู้สำเร็จราชการฯคนใหม่คือท่านล็อชแลน แมคควอรีมาตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๑๘๑๐
ท่านผู้นี้มีนโยบายดึงพ่อค้าและคหบดีมาร่วมกับรัฐบาลอังกฤษในการสร้างอาณานิคมและเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ, สถาปัตยกรรม และสังคมโดยไม่ถือชนชั้นเข้ามาใช้ หลุมศพของท่านในสก็อตแลนด์มีข้อความเขียนยกย่องให้ท่านเป็น “บิดาแห่งออสเตรเลีย”
ในยุคของผู้สำเร็จราชการฯแมคควอรีซึ่งมีนโยบายเปลี่ยนนิวเซาท์เวลส์จากอาณานิคมนักโทษมาเป็นอาณานิคมเสรีแก่ผู้ตั้งรกรากใหม่ จึงถือเป็นโอกาสทองของพ่อค้ารวมถึงครอบครัวไรบีย์ในการดำเนินธุรกิจอย่างมั่นคง ซึ่งในยุคของผู้สำเร็จราชการฯบลิจห์ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อค้ากับราชการดูห่างเหินกันมาก
แต่แล้วได้เกิดเหตุการณ์เปลี่ยนผันในครอบครัวไรบีย์ ในขณะที่กิจการเติบโตไปอย่างก้าวกระโดด นายไรบียได้เสียชีวิตลงอย่างกระทันหันด้วยโรคแพ้แดดที่บ้านเอ็นทาลลีเฮาส์ที่ซิดนีย์ ในวันที่ ๕ เมษายน ๑๘๑๑ (พ.ศ. ๑๓๕๔)
หลังจากนายไรบีย์เสียชีวิตได้หนึ่งเดือนนายเอ็ดเวิร์ด วิลส์ผู้เป็นหุ้นส่วนก็เสียชีวิตตามไป ภาระกิจหนักจึงตกมาอยู่ที่แมรี ซึ่งต้องเข้ามาดูแลกิจการขนาดมหึมาตามลำพังพร้อมกับเลี้ยงดูบุตรอีก ๗ คน
การเข้าดูแลกิจการไม่ได้เป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับแมรี เพราะเธอเคยทำหน้าที่ดูแลกิจการมาหลายครั้ง ในช่วงที่สามีต้องเดินทางไปทำการค้านอกซิดนีย์ แม้จะประสบปัญหาในตอนรับช่วงกิจการใหม่ ๆ แต่ต่อมาเธอก็สามารถบริหารงานต่อจากสามีได้เป็นอย่างดี
การบริหารงานของแมรี น่าจะมีความเด็ดเดี่ยวและเข้มแข็ง ดั่งประเมินได้จากครั้งหนึ่งในเดือนพฤษภาคม ปี ๑๘๑๗ เธอถูกตุลาการตัดสินให้มีความผิดฐานใช้วิธีรุนแรงในการเรียกเก็บหนี้จากนายจอห์น วอล์คเกอร์แห่งเมืองวินด์เซอร์ครับ
แมรีได้กลายเป็นที่นับหน้าถือตาและเป็นนักธุรกิจที่ทรงอิทธิพลในสังคมของซิดนีย์ อีกทั้งเธอยังเป็นหนึ่งในนักธุรกิจที่เป็นที่โปรดปรานและเป็นแขกประจำของผู้สำเร็จราชการแมคควอรี่

ภาพวาดประวัติศาสตร์ของถนนจอร์จในปี ๑๘๒๙ จะเห็นบ้านอาคารแถว ๒ ชั้นของนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในยุคนั้นคือของนายไอแซ็ก นิโคลส์, แมรี ไรบีย์ และซาราห์ วิลส์
ในปี ๑๘๑๒ แมรีได้เปิดคลังสินค้าแห่งใหม่ที่ถนนจอร์จซึ่งเป็นถนนสายหลักผ่านใจกลางเมืองซิดนีย์ โดยมีผู้สำเร็จราชการแมคควอรีเป็นผู้ตัดริบบิ้น และในปี ๑๘๑๗ เธอได้ขยายกิจการขนส่งสินค้าทางเรือ ด้วยการซื้อเรือบรรทุกสินค้าเพิ่มขึ้นอีก ๒ ลำ มีชื่อว่า “จอห์น พาล์มเมอร์” และ “โกเวอร์เนอร์ แมคควอรี่” หรือ “ผู้สำเร็จราชการฯแมคควอรี่” ดูชื่อเรือแล้วจะเห็นได้ว่าแมรีให้ความยกย่องท่านผู้สำเร็จราชการฯท่านนี้เพียงใด
ก่อนหน้านั้นในปี ๑๘๑๖ เธอได้ลงโฆษณาประกาศขายทรัพย์สินของเธอทั้งหมด ที่รวมถึงฟาร์ม ๗ แห่งที่ฮอว์คสเบอรี่ เนื่องจากต้องการกลับไปอังกฤษ
ในปี ๑๘๑๗ เธอได้เป็นผู้ร่วมก่อนตั้งธนาคาร “แบ๊งก์ออฟนิวเซาท์เวลส์” ซึ่งต่อมาถูกเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคาร “เวสต์แพค” ในปี ๑๙๘๒
ในปี ๑๘๒๐ แมรีพร้อมบุตรสาวสองคนคือซิเลียและอีลิซ่าได้เดินทางสู่อังกฤษไปยังเมือง
แลนคาสเชียร์ ถิ่นที่เธอใช้ชีวิตในช่วยเยาวัย แต่เป็นการกลับไปในฐานะที่ต่างจากเมื่อ ๒๘ ปีที่ผ่านมา คราวนี้เธอจึงได้รับความสนใจและชื่นชมจากชาวเมือง
แมรีพร้อมบุตรสาวได้กลับมาซิดนีย์ในอีกหนึ่งปีต่อมา พร้อมกับการเริ่มลงทุนทางการค้าและกว้านซื้ออสังหาริมทรัพย์สำคัญภายในตัวเมืองซิดนีย์
เธอได้ก่อสร้างอาคารทันสมัย (ในขณะนั้น) หลายแห่งในบริเวณแมคควอรีเพลซ, ที่บริเวณใกล้คิง’สวอร์ฟ* และที่ย่านการค้าของถนนจอร์จ จากนั้นจึงหันความสนใจในการสร้างอาคารที่ถนนคาสเซิลเรห์ ทั้งหมดคือพื้นที่ที่เป็นส่วนหนึ่งของย่านธุรกิจกลางใจเมืองซิดนีย์ในปัจจุบันทั้งสิ้น
(*ไม่แน่ใจว่าเป็น King Street Wharf ที่ปัจจุบันเป็นย่านอาหารริมอ่าวทางตะวันออกของ Darling Harbour หรือไม่ – จิงโจ้นิวส์)
@@@@
ในช่วงวัย ๕๐ เศษแมรีได้เข้ามามีบทบาทในฐานะนักธุรกิจผู้มั่งคั่งของซิดนีย์ เธอได้นำผลประโยชน์จากธุรกิจส่วนหนึ่งช่วยเหลืองานด้านการกุศล, ด้านการศาสนา โดยเฉพาะกับนิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์และการศึกษา จนกระทั่งปี ๑๘๒๕ เธอได้รับแต่งตั้งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของฟรีแกรมม่าร์สกูล ซึ่งเป็นองค์กรกลางของกลุ่มโรงเรียนแกรมม่าร์
(ในสมัยของเธอเป็นโรงเรียนที่มุ่งเน้นสอนด้านภาษาอังกฤษ, ลาติน, วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ, คณิตศาสตร์, ประวัติศาสตร์, ภูมิศาสตร์ และวิชาอื่น ๆ ในปัจจุบันหลักสูตรได้เปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นโรงเรียนที่เด่นทางด้านวิชาการและคงไว้ซึ่งระเบียบแบบแผนดั้งเดิมเท่าที่กฎหมายการศึกษาจะให้กระทำได้)
ในราวปี ๑๘๓๖ (พ.ศ. ๒๓๗๙) แมรีได้สร้างบ้านแบบคอตเตจไว้ที่ฮันเตอร์ฮิล ซึ่งเธอได้ใช้พักอาศัยในบางครั้ง บ้านคอตเตจหลังนี้ตั้งอยู่ใกล้ริมแม่น้ำเลนโคฟ ซึ่งผู้เป็นเจ้าของรายต่อมาคือพี่น้องสกุลจูเบิร์ทได้ทำการขยายต่อเติม ในปัจจุบันบ้านหลังนี้ถูกเรียกว่า “Fig Tree House” หรือ “บ้านต้นมะเดื่อ (ฝรั่ง)” และถูกขึ้นบัญชีเป็นมรดกของชาติเช่นกัน
ในบั้นปลายชีวิตแมรีได้ใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายที่บ้านในย่านนิวทาวน์ จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๑๘๕๕ (พ.ศ. ๒๓๙๘) ในขณะอายุ ๗๘ ปี (ปัจจุบันบ้านหลังนี้ถูกเรียกว่า “ไรบีย์ เฮาส์” เป็นบ้านแบบจอร์เจียน วิลลา ๒ ชั้น ที่ถนนเอ็นมอร์ ในย่านเอ็นมอร์ เขตอินเนอร์เวสต์ครับ)
บุตรชายสามคนของเธอคือโทมัส, เจมส์และเอ็ดวินได้มารดาถูกส่งไปสะสางต่อกิจการของครอบครัวด้วยการจัดตั้งสาขาขึ้นที่แทสมาเนีย
นายโทมัส ไรบีย์ (ที่ ๒) บุตรชายคนโตของนายไรบีย์ ได้ก่อสร้างบ้านหลังใหม่ขึ้นบนเนื้อที่ริมแม่น้ำเอสค์ของกิจการในปี ๑๘๑๙ โดยให้ชื่อว่า “เอ็นทาลลี เฮาส์” เช่นเดียวกับชื่อบ้านในซิดนีย์ ปัจจุบันบ้านหลังนี้ถูกขึ้นบัญชีเป็นมรดกของชาติเช่นกัน
หลานย่าคนโตของเธอคือโทมัส ไรบีย์ (ที่ ๓) ผู้กำเนิดในวันที่ ๒๔ กันยายน ๑๘๒๑ และได้รับการศึกษาขั้นมหาวิทยาลัยจากอังกฤษ ต่อมาได้รับเลือกตั้งให้เป็นมุขมนตรี (นายกรัฐมนตรีรัฐ) ของอาณานิคมแทสมาเนียในปี ๑๘๗๔
ส่วนบุตรสาวทั้งสี่ของเธอได้สมรสกับผู้มีฐานะในสังคม อลิซาเบทบุตรสาวคนเล็ก (เกิดปี ๑๘๑๐) ได้สมรสกับกับร้อยโทโจเซฟ ลอง อินเนส ผู้บัญชาการตำรวจของอาณานิคมนิวเซาส์เวลส์ บุตรชายคนโตของเธอคือเซ่อร์โจเซฟ ลอง อินเนส (เกิดปี ๑๘๓๔) เป็นผู้พิพากษาและนักการเมืองคนสำคัญคนหนึ่งของประเทศ
ภาพของแมรีถูกบรรจุอยู่ในธนบัตรชนิดราคา ๒๐ ดอลลาร์ ได้รับการออกแบบโดยนายแกร์รี เอ็มเมอรี ด้านซ้ายของภาพเป็นภาพเรือสินค้า “เมอร์คิวรี” ในขณะที่ด้านขวาของภาพเป็นภาพอาคารพาณิชย์ของเธอที่ถนนจอร์จ อาคารนี้เคยถูกใช้เป็นที่ตั้งธนาคารแบ๊งออฟนิวเซาท์เวลส์เมื่อแรกก่อตั้งในปี ๑๘๑๗ ปัจจุบันคือธนาคารเวสต์แพค
ธนบัตรฉบับนี้ถูกนำออกใช้ครั้งแรกในปี ๑๙๙๔ (พ.ศ. ๒๕๓๗)….พบกันใหม่ฉบับหน้าครับ
jingjonews.com
jingjonews@hotmail.com (งดใช้ชั่วคราว)
Jingjonews เป็นสื่อออนไลน์มีวัตถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน โดยปลอดจากการโฆษณาในเชิงพาณิชย์
Categories: ข่าวออสเตรเลีย, บทความ ตามใจฉัน, บทความทั่วไป
Leave a Reply