.
สู่เดือนตุลาคม ๒๕๖๒
ไม้ริมรั้ว
เดือนตุลาคมนี้ ผมไม่ได้หาภาพสวย ๆ มาลงอีกเช่นเคย เลยถ่ายรูปไม้ริมรั้วข้างบ้านเมื่อกี๊นี้เอง มันมีชื่อว่า Snow White Dusty Miller Leaves เมืองไทยก็มีเขาเรียกว่าต้น “ละอองเงิน” เพื่อนบ้านหลังนี้มีลูกสาวสามใบเถา เห็นมาตั้งแต่ตัวกระเปี๊ยก เดี๋ยวนี้โตเป็นสาวกันหมดแล้ว แต่ละคนสวยกันคนละแบบ แถมพ่อแม่ส่งเข้าเรียนหนังสือคนละโรงเรียน ลูกสาวคนโตสวยที่สุดและนิสัยเรียบร้อย เธอเป็นคนที่ช่างจำนรรจากับผมมากกว่าน้องสาวอีกสองคน
ส่วนผู้เป็นบิดามารดาก็เป็นเพื่อนบ้านที่ดีมาก ผู้เป็นพ่อชอบตัดหญ้าที่ nature strip ริมถนน ยามใดที่เขาทำเช่นนั้นแล้วเหลือบมองเห็นหญ้าหน้าบ้านผมขึ้นสูง เขาก็จะเข้ามาช่วยตัดให้ ซึ่งเขาเคยเป็นผู้เสนอตัวมาก่อนหน้านี้ เพราะเขาชอบตัดหญ้า ผมเลยได้ประโยชน์นี้ไปด้วย
เดย์ไลท์เซฟวิ่งปีนี้เริ่มในเดือนตุลาคมเหมือนเดิม
ในวันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม จะเป็นวันเริ่มต้นของ Daylight Saving Time หรือการปรับเวลาให้กลางวันมีช่วงเวลารับแสงแดดยาวนานขึ้น ด้วยการหมุนนาฬิกาเวลาตอนตี 2 (2.00 น.) ให้เป็นตี 3 (3.00 น.) หรือเวลาในหลายรัฐทางภาคตะวันออกของออสเตรเลียจะแตกต่างจากเวลาในประเทศไทย แต่เดิม 3 ชั่วโมงก็จะกลายเป็น 4 ชั่วโมงหลังจากวันที่ 6 ตุลาคม
สภาพอากาศเดือนตุลาคม 2019
(เนื่องจากหัวข้อนี้ไม่ค่อยได้รับความนิยม แต่ยังมีท่านผู้อ่านถามหา จึงขออนุญาตนำเสนอเฉพาะในของนครซิดนีย์ ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของคนไทยส่วนใหญ่)
อุณหภูมิคาดการณ์ของนครซิดนีย์
ซิดนีย์เดือนตุลาคมจะมีอุณหภูมิต่ำสุดโดยเฉลี่ยที่ 13.6 องศาเซลเซียส (ตามเส้นทึบสีฟ้าอ่อน) ปีนี้คาดว่าอุณหภูมิต่ำสุดจะอยู่โดยเฉลี่ยที่ 15.5 องศา (ตามเส้นปะสีฟ้าอ่อน)
ซิดนีย์เดือนตุลาคมจะมีอุณหภูมิสูงสุดโดยเฉลี่ยที่ 22.1 องศาเซลเซียส (ตามเส้นทึบสีส้ม) แต่ปีนี้คาดว่าอุณหภูมิสูงสุดจะอยู่ที่เฉลี่ย 24.5 องศา (ตามเส้นปะสีส้ม)
อุณหภูมิสูงสุด 31 องศาเซลเซียส คาดว่าจะเกิดในตอนกลางวันของวันที่ 6 ตุลาคม
อุณหภูมิต่ำสุด 12 องศาเซลเซียส คาดว่าจะเกิดในตอนหลังเที่ยงคืนเป็นต้นไปของวันที่ 29 ตุลาคม
วันที่คาดว่าจะมีฝนตกคือวันที่ 10(r ), 11(r), 12(s), 15(r) และ 20(r)*
เดือนตุลาคมจะมีช่วงกลางวันยาว 13 ชั่วโมง ช่วงรับแสงแดดเฉลี่ยวันละ 7.9 ชั่วโมง
ความชื้นสัมพัทธ์ 56% ฝนตกเฉลี่ย 76.7 มม.
อุณหภูมิน้ำทะเลอยู่ที่ 19.3 องศาเซสเซียสและดัชนี UV index อยู่ที่เบอร์ 8
หมายเหตุ *r = rain หรือฝนตกเป็นห่าฝน ส่วน s = shower เป็นฝนตกโปรยหรือฝนไล่ช้าง และ t = thunderstorm หรือพายุฝนฟ้าคะนองครับ
หมายเหตุ 2. การทำนายของสำนักงาน BoA จะค่อนข้างแม่นยำในช่วง 3 วันล่วงหน้า ส่วนเกินไกลไปกว่านั้นโอกาสผิดพลาดมีสูง จึงถือเป็นการประเมินอย่างคราว ๆ เท่านั้น
เปรียบเทียบอุณหภูมิของนครซิดนีย์จากการพยากรณ์และอุณหภูมิที่เกิดขึ้นจริงของเดือนกันยายน 2019 ที่ผ่านมามีดังนี้
ตารางแสดงอุณหภูมิพยากรณ์เดือนกันยายน 2019
ตารางแสดงอุณหภูมิที่เกิดขึ้นจริงของเดือนกันยายน 2019 จะเห็นว่าอุณหภูมิขึ้นลงที่เกิดขึ้นจริงอยู่ในแนวเดียวกับที่พยากรณ์ เพียงแต่ความสูงต่ำของอุณหภูมิเกิดขึ้นจริงรุนแรงกว่าที่พยากรณ์ไว้
กรณี ‘คุณธรรมนัส พรหมเผ่า’

หัวข้อข่าวที่นสพ. The SMH เป็นผู้เปิดประเด็นเสนอข่าวโจมตีคุณธรรมนัส พรหมเผ่าก่อนที่สื่อฯในประเทศไทยนำเสนอ แล้ว The SMH นำข่าวจากประเทศไทยมาขยายต่ออีกหลายตอน เพียงแต่ข่าวทั้งหมดเป็นข่าวหัวข้อเล็ก ๆ ในข่าวออนไลน์ของ The SMH ส่วนในฉบับกระดาษผมไม่มีงบประมาณซื้อมาอ่าน
มีคนที่รู้จักกันสองสามท่านแซวว่าเมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมาข่าวของคุณธรรมนัสคงทำเอาผมถึงกับป่วยงดเสนอข่าวเลยหรือ? ต้องขอเรียนให้ทราบว่าวันนั้นผมป่วยจริง ๆ เพราะไปตากฝนมาเลยรายงานข่าวแบบขอไปทีเพียงข่าวเดียว แต่ถ้าไม่ป่วยก็คงไม่เสนอข่าวคุณธรรมนัส เพราะไม่รู้ว่าเรื่องจริงคืออะไร เกรงว่าจะตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ผมจำได้ว่าเมื่อครั้งคุณธรรมนัสออกจากเรือนจำในรัฐนิวเซาท์เวลส์ราวต้นทศวรรษที่ 1990s ผมได้ลงข่าวอัดเขาไปพอสมควร เพราะเสนอข่าวไปตามที่ปรากฎตามสื่อฯในสมัยนั้น
แต่แล้วจู่ ๆ ข่าวในอดีตก็ถูกนำกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง โดยหนังสือพิมพ์ The Sydney Morning Herald เจ้าเก่า ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหนังสือพิมพ์ประเภทคุณภาพ (quality newspapers) คู่แข่งของหนังสือพิมพ์ The Daily Telegraph ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ประเภทชนนิยม (popular newspapers) มียอดจำหน่ายสูงที่สุดในออสเตรเลียในยุคที่เป็นหนังสือพิมพ์กระดาษ และในยุคออนไลน์ก็เชื่อว่าเขายังเป็นเบอร์หนึ่งอยู่
คุณธรรมนัสสำหรับผมแล้วยังมีความรู้สึกว่าเขาเป็นคนสีเทา แต่กับนักข่าวสองคนของ The SMH ที่เอาเรื่องมาเขียนผมก็รู้สึกว่าพวกเขาเป็นคนสีเทาที่ไม่ได้จางไปกว่าคนที่พวกเขากล่าวหา นักข่าวสองคนนี้ถูกมองว่ามีนักวิชาการคนไทยในกรุงแคนเบอร์ราคอยให้ข้อมูลด้านเดียว พวกเขามักเสนอข่าวเป็นคุณให้กับกลุ่มพรรคการเมืองไทยพรรคหนึ่ง แต่ไม่เคยเสนอข่าวในเชิงบวกกับกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามและสถาบันสูงสุดของไทย
ที่สำคัญก็คือข่าวที่ถูกเสนอนี้มีหนังสือพิมพ์ The SMH เพียงฉบับเดียวที่นำเสนอ จะมีนสพ. The Age นำไปเสนอบ้าง แต่ทั้ง The SMH และ The Age ก็เปรียบเสมือนหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกัน เจ้าของคนเดียวกัน ข่าวก็ชุดเดียวกัน เพียงแต่ The SMH นำเสนอในนครซิดนีย์และ The Age นำเสนอในนครเมลเบิร์น ส่วนสำนักข่าวระดับชาติและค่ายหนังสือพิมพ์ขนาดใหญ่รายอื่น ๆ ไม่แตะต้องข่าวนี้เลย ???
อย่างไรเสียผมกำลังรอรายละเอียดผู้ที่ออกมาแฉถึงคำตัดสินคดีของศาลฎีกาอันเป็นที่สุด ไม่ใช่คำตัดสินของศาลก่อนหน้านั้น
และยังข้องใจคุณธรรมนัส หากเชื่อในความบริสุทธิ์ของตนควรแต่งตั้งทีมกฎหมายฟ้องร้องนักข่าวและหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ผมเชื่อว่ามูลค่าความเสียหายน่าจะเป็นเลข 8 หลัก (ดอลล่าร์ออสเตรเลียนะครับ) ขนาดเมื่อสามสิบปีก่อนคนไทยคนหนึ่งถูกนำภาพไปลงหนังสือพิมพ์พัวพันกับคดียาเสพติดอย่างผิดพลาด ยังสามารถฟ้องคดีชนะได้เงินมาซื้อบ้านได้ถึงหนึ่งหลังครับ
ขอแถมข่าวการเสียชีวิตของ ‘ลัลลาเบล’ น.ส.ธิติม นรพันธ์พิพัฒน์ก็เป็นข่าวที่ถูกเสนอทางออนไลน์โดยนสพ. The Daily Mail ด้วยหัวข้อขนาดใหญ่มาแล้วถึงสองครั้ง

ภาพทางเดินคอนกรีตและ nature strip ที่หน้าบ้าน ลูกศรชี้คือต้นละอองเงินหรือ Snow White Dusty ที่ผมถ่ายภาพมาลงข้างบน
jingjonews.com
jingjonews@hotmail.com
จิงโจ้นิวส์เป็นสื่อออนไลน์มีวัตุถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน โดยปลอดจากการโฆษณาในเชิงพาณิชย์
Categories: ข่าวออสเตรเลีย, บทความทั่วไป
Leave a Reply