
ข่าวออนไลน์สำนักข่าว SBS เสนอข่าวรัฐบาลกลางดำริจะเพิ่มความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับความหวาดกลัวว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก
18 ส.ค. 2019 ชาวออสเตรเลียในช่วงนี้อาจจะอยู่ไม่สุขสบายนักหากรัฐบาลใช้มาตรการเพื่อความอยู่รอดในภาวะเศรษฐกิจโลกที่อาจจะมาถึง แต่ถ้ารอดมาได้เหมือนผ่านวิฤติการณ์การเงินที่ผ่านมา เชื่อได้ว่าคนไทยจะเห็นค่าเงินเอ-ดอลล่าร์แข็งตัวขึ้นเมื่อเทียบกับเงินบาท แต่ถ้าไม่รอดก็ตัวใครตัวมัน
นาย Josh Frydenberg รัฐมนตรีกระทรวงการคลังออกมากล่าวว่า รัฐบาลกลางจะใช้มาตรการจำเป็นเพื่อช่วยให้ออสเตรเลียไม่ได้รับผลกระทบมากนักท่ามกลางความหวั่นวิตกว่าเศรษฐกิจของสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่เตือนว่ามาตรการดังกล่าวยังไม่ได้เป็นเกราะคุ้มกันความตึงเครียดทางการค้า
การออกมาพูดของนาย Frydenberg เกิดขึ้นหลังจากมูลค่าตลาดหุ้นของออสเตรเลียตกลงอย่างหนักเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นผลมาจากความหวั่นวิตกในสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน
ในขณะที่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐเกิดภาวะที่เรียกว่า bond yield curve inverted เป็นครั้งแรกนับจากปี 2007 (เป็นภาวะผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลชนิดอายุสั้นให้ผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรอายุยาว ภาวะเช่นนี้เกิดขึ้นเมื่อใดก็แสดงว่านักลงทุนไม่มีความเชื่อมั่นในอนาคตของประเทศเจ้าของพันธบัตร)
ซึ่งนักเศรษฐกิจกล่าวว่าปรากฎการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นก่อนที่สหรัฐจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในทุก ๆ 50 ปี
การทำสงครามทางการค้าระหว่างมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทั้งสองส่งผลให้เศรษฐกิจของสหรัฐและของจีนอ่อนแอลง, ส่งผลให้เศรษฐกิจของเยอรมนีทรุดลงในไตรมาสเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา, ในขณะที่เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรได้รับการรบกวนจากการออกจากสหภาพยุโรป
นักเศรษฐศาสตร์หลายคนยังไม่เชื่อคำพูดของนาย Donald Trump ประธานธิบดีสหรัฐที่ว่า การทำสงครามการค้ากับจีน จะไม่ทำให้สหรัฐเข้าไปสู่เศรษฐกิจถดถอย แต่เขาเชื่อว่าการทำสงครามการค้ายิ่งยาวนานออกไป จีนจะอ่อนแอลงแต่สหรัฐจะมีความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้น
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาท่าทีของสงครามการค้าจีน-สหรัฐส่อเค้ายืดเยื้อทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกทรุดหนักลง ในวันพฤหัสฯที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมามูลค่าหุ้นของออสเตรเลียหายไป 63 พันล้านเหรียญถือเป็นมูลค่าที่หายไปมากที่สุดในรอบ 18 เดือน
นาย Frydenberg เชื่อว่านโยบายลดภาษีครั้งล่าสุดและการอัดฉีดงบ 100 พันล้านเหรียญเข้าไปในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในอีกหนึ่งทศวรรษข้างหน้าจะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้บ้างไม่มากก็น้อย
อย่างไรก็ตามยังจะต้องมีมาตรการเท่าที่จะทำได้อื่น ๆ ถูกเข็นออกมา รับมือกับอันตรายจากเศรษฐกิจโลกถดถอยที่มีโอกาสจะเกิดขึ้น
ในอดีตที่ผ่านมาออสเตรเลียสามารถใช้มาตรการทางการเงินและการคลังเอาตัวรอดจากภาวะเศรษฐกิจถดถ่อยเมื่อครั้งเกิดวิกฤติการณ์การเงินในเอเชีย (วิกฤติการณ์ต้มยำกุ้งหรือ Tom Yum Goong Crisis ยังจำกันได้ไหม?) ในระหว่างปี 1997 ถึง 1999
ออสเตรเลียยังสามารถรอดจากวิกฤติการณ์เศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐจากภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ดอตคอมหรือ dot.com bubble burst (ภาวะการเก็งกำไรเกินควรของตลาดหลักทรัพย์ภาคเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในปี 2001)
และเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศทั่วโลกที่สามารถรอดพ้นวิกฤติการณ์การเงินโลกหรือ GFC ที่เกิดขึ้นในระหว่างปี 2007 ถึง 2009
jingjonews.com
jingjonews@hotmail.com (งดใช้ชั่วคราว)
Jingjonews เป็นสื่อออนไลน์มีวัตถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน โดยปลอดจากการโฆษณาในเชิงพาณิชย์
Categories: ข่าวออสเตรเลีย
Leave a Reply