รัฐน.ซ.ว.ดันเปลี่ยนกฎหมายก่อสร้างอาคารสูงหลังมีเหตุอพยพผู้อยู่อาศัยไปแล้ว 3 หลัง

สื่อออนไลน์สำนักข่าว ABC วันที่ 20 มิ.ย. 2019 แนะนำควรหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการซื้ออาคารสูงสร้างใหม่ ส่วนอาคารในภาพคือ Opal Tower ที่มีปัญหา

17 ก.ค. 2019 ช่วงที่ผ่านมามีข่าวและบทความถึงอาคารสูงประสบปัญหาแตกร้าวหรือทรุดตัวมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงบทความคำแนะนำว่าหากซื้อที่พักอาศัยบนอาคารสูงก็ขอให้พิจารณาอาคารที่สร้างเกินกว่า 10 ปีขึ้นไปหรือหากเป็นอาคารใหม่ก็เลือกที่ความสูงไม่เกินสามชั้น

รัฐบาลรัฐนิวเซาท์เวลส์กำลังผลักดันให้มีการเปลี่ยนกฎหมายการก่อสร้างอาคารสูงครั้งสำคัญ เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติการณ์อาคารสูงแตกร้าวและทรุดตัวครั้งใหญ่สุดของนครซิดนีย์

ทั้งนี้กฎหมายการยกเลิกกฎหมายวางแผน (the deregulation of planning laws) ที่ถูกใช้มาประมาณสองทศวรรษได้ถูกกล่าวหาว่าคือตัวการที่ทำให้เกิดการอพยพผู้อยู่อาศัยออกจากอาคารสูงถึงสามแห่งมานับตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้วและอาจมีอาคารสูงอื่น ๆ ตามมาอีก

นาง Gladys Berejiklian นายกรัฐมนตรีรัฐน.ซ.ว.ได้ประกาศเมื่อวานนี้ (16 ก.ค. 2019) เธอจะยกเลิกกฎหมายการยกเลิกกฎหมายวางแผนที่เปิดช่องให้นักลงทุนพัฒนาที่ดินสามารถเลือกผู้ออกใบรับรองการก่อสร้างเอกชนได้ (มาจากคำว่า private certifier คือผู้ออกใบรับรองการพัฒนาอาคาร ด้วยการรับรองว่าแบบก่อสร้างตรงตามกฎระเบียบข้อบังคับที่กำหนดไว้ โดยไม่ต้องผ่านการรับรองจากเทศบาลเขตอย่างเช่นในอดีต)

ข่าวออนไลน์สำนักข่าว SBS วันที่ 13 ก.ค. 2019 ระบุมีรายงานพบรอยร้าวของอาคาร Mascot Tower มาตั้งแต่ปี 2017 ข้อสันนิษฐานหนึ่งระบุว่าส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากการก่อสร้างอาคารสูงในบริเวณใกล้เคียง

เดือนนี้ถือเป็นปีที่ 21 ของกฎหมายการยกเลิกกฎหมายวางแผน ด้วยการให้อำนาจ Owners Corporation Network ซึ่งเป็นองค์กรจัดตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือเจ้าของและนิติบุคคลเจ้าของอาคารร่วมหลีกเลี่ยงปัญหาเช่นการละเมิดต่อกฎหมายและกฎข้อบังคับของนิติบุคคลภายใต้กฎหมายที่ดินและแก้ปัญหาข้อผูกพันตามกฎหมายอื่น ๆ ซึ่งขณะนี้นาง Berejiklian กล่าวหาว่าเป็นตัวก่อให้เกิดวิกฤติการณ์ความปลอดภัยของอพาร์ตเมนต์ที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน

กฎหมายนี้ได้ผ่านสภารัฐน.ซ.ว.ในปี 1997 สมัยที่นาย Bob Carr เป็นนายกรัฐมนตรีรัฐภายใต้การผลักดันของกลุ่มซ้ายกลางของพรรคเลเบอร์ โดยลอกแบบมาจากกฎหมายของรัฐเซาท์ออสเตรเลีย, แทสมาเนียและนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 1998

นาง Berejiklian ได้ให้สัมภาษณ์กับนาย Alan Jones ผู้จัดรายการวิทยุ 2GB ว่าขณะนี้มีความจำเป็นต้องแก้กฎหมาย พร้อมกับยังไม่ตอบรับหรือปฏิเสธในการใช้เงินภาษีของประชาชนในการเยี่ยวยาเจ้าขอพาร์ตเมนต์ที่ประสบปัญหาทั้งสามแห่งด้วยการคืนเงินอากรแสตมป์ (น่าจะตกคนละเป็นแสนเหรียญ)

เธอกล่าวว่า ปัญหาเรื่องนี้อยู่ที่คำตอบว่า สาเหตุที่แท้จริงที่ก่อให้เกิดปัญหา และต้องตอบให้ได้ว่าทำไมรัฐบาลรัฐจึงไม่ต้องหรือต้องให้เงินเยียวยากับผู้เป็นเจ้าของอพาร์ตเมนต์

นาย Jones (ผู้นี้คือนักจัดรายการสดทางวิทยุผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่งของออสเตรเลีย) เขามีความเห็นอกเห็นใจเจ้าของอพาร์ตเมนต์ผู้กลายเป็นเหยื่อบริสุทธิ์ที่ยังต้องเป็นหนี้สินกับธนาคาร, ยังไม่สามารถเข้าอยู่อาศัยในที่อยู่ของตนหรือให้เช่าก็ยังไม่ได้

เขากล่าวว่า “ถ้าผมไปห้าง Harvey Norman ไปซื้อที่ปิ้งขนมปังมา แล้วพบว่ามันเสีย ผมก็เอาที่ปิ้งขนมปังไปคืนเท่านั้น” เขากล่าวอย่างแขวงความหมายซ่อนเร้นกับคำว่า “a faulty toaster” แบบกรีดลึกถึงขั้วหัวใจ

ข่าวออนไลน์ของสำนักข่าว SBS วันที่ 11 ก.ค. 2019 เสนอข่าวอาคารสูงแห่งที่สามที่ Zetland ต้องอพยพผู้อยู่อาศัยออกจากตัวอาคาร

อาคารที่ประสบปัญหาทั้งสามแห่ง แห่งแรกก็คืออาคาร Opal Tower ที่ Sydney Olympic Park เขต City of Parramatta เกิดมีรอยแยกแตกร้าวต้องอพยพผู้อยู่อาศัยทั้ง 392 ยูนิตออกจากตัวอาคารในคืนวันที่ 24 ธันวาคม 2018 ถึงวันนี้เวลาผ่านไปกว่าครึ่งปีผู้อยู่อาศัยประมาณครึ่งหนึ่งยังไม่สามารถกลับเข้าพักอาศัยได้

รายต่อมาอาคาร Mascot Towers ที่ย่าน Mascot เขต Bayside ต้องอพยพผู้อยู่อาศัยจำนวน 132 ยูนิต หลังเกิดอาคารร้าวและทรุดตัวในวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา เป็นที่เข้าใจว่าถึง ณ วันนี้ผู้อยู่อาศัยยังไม่สามารถกลับเข้าอยู่อาศัยได้

เป็นที่คาดว่านิติบุคคลเจ้าของอาคารชุดจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมอาคารเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 5 ล้านเหรียญ ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่านิติฯแห่งนี้จะโอนภาระไปให้กับเจ้าของอพาร์ตเมนต์เฉลี่ยกันออกค่าใช้จ่าย (ตกคนละไม่ต่ำกว่า 37,900 เหรียญ)

ส่วนอาคารแห่งที่สามซึ่งจิงโจ้นิวส์ไม่ได้เลือกนำเสนอ (เพราะวันนั้นมีเพียง SBS ที่เสนอข่าว) เป็นอาคารอพาร์ตเมนต์ขนาด 30 ยูนิตตั้งอยู่เลขที่ 19 ถนน Gadigal Avenue ย่าน Zetland เขต City of Sydney ทางตะวันตกตอนในของนครซิดนีีย์

จากข้อมูลของเทศบาลซิดนีย์ซิตี้ระบุว่าอพาร์ตเมนต์แห่งนี้ได้ย้ายผู้คนออกจากอาคารมาตั้งแต่ปลายปี 2018 ในเวลาใกล้เคียงกับเหตุการณ์ที่ Opal Tower แต่เป็นการกระทำอย่างเงียบ ๆ โดยแจ้งให้ผู้อยู่อาศัยทราบว่าอาคาร “ไม่มีความปลอดภัยและไม่เหมาะสำหรับการอยู่อาศัย”

เทศบาลกล่าวว่าพวกเขาไม่ทราบเรื่องการอพยพผู้คนออกจากอาคารและไม่ทราบว่าผู้อยู่อาศัยได้รับความช่วยเหลืออย่างไร (ทำไมจึงไม่มีใครโวยวาย)

เจ้าหน้าที่ของเทศบาลได้เข้าตรวจสอบตัวอาคารในเดือนกุมภาพันธ์พบความผิดพลาดของระบบป้องกันน้ำ มีน้ำเข้ามาขังอยู่ในตัวอาคาร ทำให้โครงสร้างของอาคารได้รับความเสียหาย อย่างไรก็ตามความเสียหายนี้ไม่ได้กระทบต่ออาคารใกล้เคียง เนื่องจากอยู่กันคนละล็อตการก่อสร้างที่แยกจากกัน (different allotment)

เป็นที่เชื่อว่าอาคารแห่งนี้ยังไม่มีผู้อยู่อาศัยกลับเข้าไปหรือได้ถูกทิ้งร้างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

jingjonews.com

jingjonews@hotmail.com (งดใช้ชั่วคราว)

Jingjonews เป็นสื่อออนไลน์มีวัตถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน โดยปลอดจากการโฆษณาในเชิงพาณิชย์



Categories: ข่าวออสเตรเลีย

Tags: , , , , , , , , , , , , ,

Leave a Reply

Discover more from jingjonews

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading