“เมียสั่งทางอินเทอร์เน็ต” หลายคนไม่ได้สุขสบายอย่างที่คิดในออสเตรเลีย

สื่อออนไลน์จากสำนักข่าว ABC วันที่ 3 มิ.ย. 2019 รายงานถึงเหยื่อเจ้าสาวทางอินเทอร์เน็ตถูกทำร้าย, กักขังและจำกัดเสรีภาพอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของออสเตรเลีย

3 มิ.ย. 2019 ในอดีตเรามี “เมียสั่งทางไปรษณีย์” ปัจจุบันมี “เมียสั่งทางอินเทอร์เน็ต” หรือ “เมียสั่งทางออนไลน์” ซึ่งคำว่า “เมีย” ที่ถูกนำมาเป็นเจ้าสาวในออสเตรเลียถูกเปิดเผยว่าส่วนใหญ่เป็นหญิงสาวจากเอเชีย มีรายงานว่าพวกเธอบางคนถูกจำกัดให้อยู่ตามบ้านในสภาพที่อาจเรียกได้ว่าเป็นการค้ามนุษย์ (constitute human trafficking)

สำนักข่าว ABC ได้นำเรื่องราวของสตรี 6 คนจากประเทศไทย, อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ที่สื่อสำนักนี้อ้างว่าเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้หญิงคนอื่น ๆ ถูกล่อลวงมาเป็นเหยื่อถูกทำร้ายโดยชายชาวออสเตรเลีย

นาง Kathy Bogoyev นักกฎหมายด้านการเข้าเมืองกล่าวว่า มีบางคดีเหยื่อถูกทำร้ายร่างกายเพราะพวกเธอไม่สามารถหลบหนีออกจากบ้านได้ บางรายเข้าข่ายเป็นทาสทางเพศ (เธอใช้คำว่า sexual servitude ) และบางรายเข้าข่ายถูกกดขี่แรงงาน นอกจากนั้นเธอยังพบความคาบเกี่ยวกันระหว่างการกระทำผิดทางการค้ามนุษย์และการค้าทาส

นาง Alicia Asic นักสังคมสงเคราะห์ผู้สนับสนุนองค์กร Multicultural Futures ในนครเพิร์ทกล่าวว่า เธอได้เห็นการเพิ่มขึ้นของ “เมียสั่งทางอินเทอร์เน็ต” และพบการกีดกันทางเสรีภาพ, การกักขังหน่วงเหนี่ยว, การทำร้ายร่างกายและการข่มเหงทางเพศในหมู่พวกเธอ

หญิงสาวเหล่านี้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเพราะหลายคนยังคงเรียนภาษาอังกฤษ (ออสเตรเลียมีชั้นเรียนภาษาอังกฤษให้กับผู้อพยพฟรีจำนวน 510 ชม.) พวกเธอยังไม่ทราบถึงสิทธิของตนในออสเตรเลีย พวกเธอไม่รู้ถึงวิธีขอความช่วยเหลือให้พวกเธอออกจากสถานการณ์ที่พวกเธอมาเผชิญในประเทศออสเตรเลีย

นาง Alicia Asic ผู้ยื่นยันการเพิ่มขึ้นของเจ้าสาวทางอินเทอร์เน็ต : ภาพป๊อปอาร์ตจากต้นฉบับของ ABC

Jane (นามสมมุติที่ ABC ใช้) วัย 20 ต้น ๆ มาจากชุมชนชาวนายากจนในประเทศฟิลิปปินส์ประเทศที่เชื่อกันว่าหากหญิงใดได้แต่งงานกับชาวตะวันตกแล้ว “เหมือนถูกลอตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง”

เธอได้เข้าร่วมเว็บไซท์หาคู่สำหรับชายชาวคอเคเชี่ยนกับหญิงสาวชาวเอเชีย ซึ่งทำให้เธอได้สามีเป็นชายจากนครเพิร์ท แต่ชีวิตเธอเหมือนกับตกนรก

สามีของเธอซึ่งปัจจุบันเป็นอดีตไปแล้ว เป็นคนขี้หึงและควบคุมเธอ เขาพยายามให้เธอตั้งครรภ์ทันที เพื่อไม่ให้เธอหลบหนีเขาไป

เธอกล่าวว่า สามีของเธอยึดหนังสือเดินทาง กักขังให้เธออยู่ภายในบ้านกับบุตรชาย ในระหว่างที่เขาออกไปทำงาน ในทุกวันเขาใช้กำลังเพื่อมีเซ็กซ์กับเธอ

จนกระทั่งเธอได้รู้จักกับเพื่อนคนหนึ่งบอกว่า เธอไม่จำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์กับสามีถ้าเธอไม่ต้องการ แม้ว่าเธอจะแต่งงานกับเขา ซึ่งเธอไม่ทราบถึงสิทธินี้มาก่อน

ในที่สุด Jane ก็สามารถพาบุตรชายหลบหนีออกมาใช้ชีวิตอิสระในออสเตรเลีย เธอทำงานเต็มเวลาที่โรงแรมแห่งหนึ่งและเก็บเงินเพียงพอที่จะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยตามความใฝ่ฝันของเธอ

รายต่อมา Menik (นามสมมุติที่ ABC ใช้) เธอเดินทางจากบาหลีประเทศอินโดนีเซียมาหาสามีที่ติดต่อทางออนไลน์ที่นครเพิร์ท ซึ่งเขาเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายถึงสองครั้ง

Menik เล่าว่าสามีของเธอเป็นคนรูปหล่อมาก เขาเป็นสุภาพบุรุษ, ให้เกียรติเธอและปฏิบัติกับเธออย่างดีเมื่อเริ่มแรก แต่ในการเดินทางมาออสเตรเลียครั้งที่สองเขาเปลี่ยนเป็นคนละคน

เขาดื่มมากขึ้นและขอมีเซ็กซ์กับเธอ แม้ในช่วงเวลาที่เธอเหนื่อยและไม่ต้องการ แต่เขาก็ยังขอมีเพศสัมพันธ์กับเธอ บางวันเขามีเซ็กซ์กับเธอถึง 2 หรือ 3 เวลา

Menik กล่าวว่าสามีของเธอไม่ชอบผู้หญิงชาวออสเตรเลีย เขาเห็นว่าพวกเธอไม่มีประโยชน์ ไม่ทำอาหารไม่ทำความสะอาดบ้าน พวกเธอไม่ต้องการมีเซ็กซ์หลังจากมีลูกแล้ว เขาจึงตั้งเป้าหมายมาที่หญิงสาวชาวเอเชีย

เมื่อเธอขอเงินเพื่อซื้อตั๋วเครื่องบินกลับบ้าน เขาได้ต่อรองให้เธอนวดและมีเซ็กซ์กับเขาทุกวันจนเธอได้ตั่วเครื่องบินในที่สุด

แต่เมื่อเธอกลับมาที่บาหลีสามีของเธอได้ตามมาขู่ให้เธอกลับไปนครเพิร์ทกับเขา ยกเว้นเธอจะยอมจ่ายเงิน 5,000 เหรียญคืนแก่เขาเป็นค่าใช้จ่ายทำเรื่องขอวีซ่า, ค่าตั๋วเครื่องบินและค่าเลี้ยงดูในขณะที่เธออยู่ที่นครเพิร์ท

เธอจำยอมเดินทางมานครเพิร์ทกับเขาอีกครั้ง หนนี้เขาลงมือทำร้ายร่างกายเธอหนักขึ้น โดยครั้งหนึ่งเขาทุบตีและบีบคอจนเกือบหมดลมหายใจ

หลังจากอยู่ทนไม้ทนมือสามีมาได้หนึ่งปี Menik ได้หลบหนีออกมาอยู่ในความดูแลของกลุ่มผู้ให้ที่พักพิงสตรีตกทุกข์ได้ยาก ที่ช่วยเดินเรื่องให้เธอได้รับวีซ่าถาวรในฐานะเหยื่อถูกทำร้ายร่างกายเป็นกรณีพิเศษ และอยู่อาศัยในออสเตรเลียจนถึงทุกวันนี้

(ABC ยกตัวอย่างเหยื่อ 6 คนซึ่งรวมถึงสตรีไทย แต่รายงานออนไลน์เพียง สองคนเท่านั้น)

ภาพ ()

จากตัวเลขของกระทรวงกิจการภายในประเทศระบุว่าในแต่ละปีมีผู้อพยพเข้าประเทศภายใต้วีซ่าคู่หมั้นหรือวีซ่าว่าที่คู่สมรส (prospective marriage visas) ระหว่าง 3,000 ถึง 7,000 คน

นับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมาสตรีที่เข้ามาโดยวีซ่านี้ส่วนใหญ่มาจากประเทศฟิลิปปินส์, เวียดนาม, จีน, กัมพูชาและประเทศไทยอย่างไม่เปลี่ยนแปลง

ทางด้านรัฐบาลกลางได้หามาตรการป้องกันการละเมิดและการแสวงหาผลประโยชน์โดยผ่านวีซ่าว่าที่คู่สมรสของชาวออสเตรเลียด้วยการกำหนดให้ชายสัญชาติออสเตรเลียสามารถสปอนเซอร์ชาวต่างชาติเข้ามาในฐานะคู่สมรสได้ไม่เกิน 2 คนในช่วงชีวิตของเขา

ในปี 2018 กฎหมายยังกำหนดให้อำนาจตำรวจในการตรวจสอบประวัติทางอาชญากรรมของผู้ยื่นขอวีซ่าให้กับคู่สมรส

และกฎหมายยังให้ข้อยกเว้นให้แก่ชาวต่างชาติภายใต้วีซ่าว่าที่คู่สมรสสามารถอยู่อาศัยถาวรในออสเตรเลียได้ หากสามารถพิสูจน์ได้ว่าความสัมพันธ์จำต้องสิ้นสุดลงอันเนื่องมาจากการใช้ความรุนแรง

ในแต่ละปีมีผู้ถือวีซ่าว่าที่คู่สมรสยื่นเรื่องเพื่อขอสิทธิ์นี้ในระหว่าง 300 ถึง 400 คน

อย่างไรก็ตามบุคคลและองค์กรที่ยื่นมือให้ความช่วยเหลือเหยื่อชาวต่างชาติกล่าวว่าการทารุณกรรมยังคงมีอยู่และผู้กระทำผิดมักไม่ค่อยถูกดำเนินคดี เนื่องจากเหยื่อหวาดกลัวต่อการถูกล้างแค้น, กลัวตำรวจ (สงสัยจะชินตำรวจในบ้านเกิดของตน แต่ในออสเตรเลียขออย่าได้กลัวตำรวจ)และกลัวต่อการถูกเนรเทศ (อันนี้ก็ไม่ต้องกลัวหากถูกทำร้ายจริง ให้รีบเข้าแจ้งความ เพราะจะกลับเป็นหลักฐานให้ไม่ต้องถูกเนรเทศ)

แต่อย่าไรก็ตามหญิงสาวที่ต้องจบความสัมพันธ์กับสามีจอมโหดมักจะไม่ได้สิทธิ์ในเงินสวัสดิการสังคมจาก CentreLink และ Medicare ทำให้พวกเธอต้องเข้ารับความช่วยเหลือจากองค์การกุศลทางศาสนาและองค์กรช่วยเหลือสตรี (แต่ถ้าสามารถยืนหยัดได้ตัวเอง หากไม่เลือกงานยังมีงานสุจริตอีกมากมายให้เลือกทำ)

จากรายงานการเก็บข้อมูลขององค์กร Women’s Council for Domestic and Family Violence Service of WA ออกมาในปี 2016 ระบุว่ามีแม่และเด็ก 300 คนที่ไม่มีรายได้และอยู่ระหว่างรอกระบวนการพิจารณาออกวีซ่าถาวรได้อยู่ภายใต้การดูแลขององค์กรช่วยเหลือสตรีในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย

 

jingjonews.com

jingjonews@hotmail.com (งดใช้ชั่วคราว)

Jingjonews เป็นสื่อออนไลน์มีวัตถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน โดยปลอดจากการโฆษณาในเชิงพาณิชย์



Categories: ข่าวออสเตรเลีย

Tags: , , , , , , , , , ,

Leave a Reply

%d bloggers like this: