ร้านซูชิโดนปรับ $380,000 FWO ขู่ตามล่าธุรกิจที่ยังให้ค่าแรงต่ำกว่ากฎหมาย

4 มิ.ย. 2019 อดีตผู้ดำเนินกิจการร้านเทคอะเวย์ซูชิจำนวนสามสาขาได้ถูกปรับเป็นเงิน 383,000 เหรียญ (8,388,000 บาท*) จากการจ่ายค่าแรงต่ำกว่ากฎหมายกำหนด โดยมีลูกจ้างส่วนหนึ่งเป็นชาวต่างชาติที่เปราะบาง

สำนักงานออมบุดส์แมนด้านความเป็นธรรมในการจ้างงานหรือ FWO ได้เดินเรื่องฟ้องร้องอดีตเจ้าของร้านเทคอะเวย์อาหารญี่ปุน Tokyo Sushi สามสาขาในเซนทรัลโคสต์และนิวคาสเซิลเมืองชายฝั่งทะเลของรัฐนิวเซาท์เวลส์ขึ้นสู่ศาล หลังจากตรวจพบในปี 2016 ว่าได้จ่ายค่าแรงลูกจ้างต่ำกว่ากฎหมายกำหนดจำนวนทั้งสิ้น 31 คน

แม้เจ้าของกิจการได้ตัดช่องน้อยแต่พอตัวปิดร้านเพื่อเลี่ยงการถูกปรับและจ่ายเงินคืนอดีตลูกจ้าง แต่พวกเขาก็ไปไม่รอดเพราะกฎหมายใหม่เปิดช่องให้เอาผิดต่ออดีตเจ้าของกิจการ (ดังนั้นจึงขอเตือนท่านอย่าให้ผู้ใดเอาชื่อไปเป็นเจ้าของกิจการ โดยคิดว่าทำให้ดูดี จะมีสิทธิเจ็บตัวได้หากกิจการทำผิดกฎหมายบ้านเมือง)

นาง Sandra Parker บิ๊กบอสคนปัจจุบันของสำนักงาน FWO ได้กล่าวกับสำนักข่าว SBS ว่า(ในปีนั้น)หน่วยงานของเธอได้ทำการกวาดล้างผู้อยู่ในธุรกิจร้านอาหารเร่งด่วนที่จ่ายเงินต่ำกว่ากฎหมายกำหนด

เธอกล่าวว่า ชาวต่างชาติในวัยหนุ่มสาวเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุด เนื่องจากพวกเขาไม่เข้าใจสิทธิของตนในออสเตรเลีย

พวกเขาไม่มีความกล้าพอที่จะออกมาเปิดเผย เนื่องจากหลายคนกระทำผิดเงื่อนไขของวีซ่าหรือไม่แน่ใจว่าตนเองผิดเงื่อนไขในวีซ่าหรือไม่ พวกเขาจึงอึดอัดที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับหน่วยงานของราชการ

นาง Parker กล่าวว่า ในทางตรงกันข้ามผู้จ้างงานก็ใช้จุดอ่อนนี้ในการเอาเปรียบลูกจ้างชาวต่างชาติ

เธอกล่าวว่าในการเข้าตรวจสอบเจ้าหน้าที่ FWO พบร้านขายอาหารซูชิกว่า 40 แห่งทั่วรัฐน.ซ.ว.และทางตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐควีนสแลนด์ได้ว่าจ้างงานแรงงานด้วยค่าแรงที่ต่ำกว่ากฎหมายกำหนด

ซือเจ๊คนใหม่ของ FWO (เข้ารับตำแหน่งต่อจากนาง Natalie James) กล่าวว่าสำนักงานของเธอยังคงตั้งเป้าหมายเข้าตรวจสอบผู้อยู่ในธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ฟูด, ร้านอาหารและคาเฟ่ต่อไป

สำหรับแรงงานที่มีความกังวลว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถขอคำปรึกษาและความช่วยเหลือจากสำนักงาน FWO ได้โดยไม่คิดมูลค่า

สำหรับคดีร้านซูชิ Tokyo Sushi ผู้พิพากษา Philip Dowdy กล่าวว่าเป็นคดีที่ “ร้ายแรง” และ “ไม่ให้อภัย” ต่อการฉ้อโกงลูกจ้าง (เงิน 380,000 เหรียญเฉพาะค่าปรับ ไม่รวมเงินค้างจ่ายอดีตลูกจ้าง)

ผู้พิพากษาเชื่อว่า การลงโทษจะเป็นการส่งสารไปถึงนายจ้างรายอื่น ๆ โดยเชื่อว่าจะสามารถช่วยลดการกระทำผิดต่อกฎหมายความเป็นธรรมในการจ้างงานลงได้

การออกมาเปิดเผยของ FWO เกิดขึ้นหลังจากคณะกรรมการด้านความเป็นธรรมในการจ้างงาน (FWC) ประกาศขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำประจำปี 2019 เป็นชั่วโมงละ 19.49 เหรียญ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2019

นายจ้างและลูกจ้างสามารถขอคำแนะนำได้ที่ http://www.fairwork.gov.au หรือหมายเลขฮอทไลน์ Fair Work Infoline 13 13 91 หากต้องการล่ามแปลภาษาให้โทรที่หมายเลข 13 14 50 โดยบอกว่า “ไทย อินเตอร์พรีเตอร์ พลีส”

หมายเหตุ *อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศในวันที่ 4 มิ.ย. 2019 เงิน 1 ดอลลาร์ออสเตรเลียเท่ากับ 70 เซนต์สหรัฐและเท่ากับ 21.90 บาท (ข้อมูลกลางจาก google.com.au ณ เวลา UTC 15.46 น. 4/06/2019)

 

jingjonews.com

jingjonews@hotmail.com (งดใช้ชั่วคราว)

Jingjonews เป็นสื่อออนไลน์มีวัตถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน โดยปลอดจากการโฆษณาในเชิงพาณิชย์



Categories: ข่าวออสเตรเลีย

Tags: , , , , , , , , , ,

2 replies

  1. FWO ชื่อไทยตามเว็บไซต์ทางการใช้คำว่า ผ้ตูรวจการแผ่นดินเพื่อการจ้างงานที่เป็นธรรม นะครับ

Leave a Reply

%d bloggers like this: