ฟาร์มเกษตรสอนอังกฤษผู้อพยพได้ผลดีจนปั้นแรงงานไร้ฝีมือสู่ผู้จัดการ

ข่าวทวิตเตอร์จากสำนักข่าว SBS วันที่ 16 เม.ย. 2019 รายงานฟาร์มเกษตรริเริ่มสอนภาษาอังกฤษให้กับแรงงานได้ผลดีทั้งฟาร์มและลูกจ้าง คนกลางคือนาง Catherine Velisha

17 เม.ย. 2019 ฟาร์มปลูกและจัดจำหน่ายผักสดทางตะวันตกของนครเมลเบิร์นซึ่งประสบปัญหาการจ้างงานคนในชาติจนต้องใช้แรงงานผู้อพยพจากประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่เช่นจากอินเดีย, เซาท์ซูดาน, เวียดนามและกัมพูชา

ฟาร์มเจ้าของโครงการนำร่องคือฟาร์ม Velisha National Farms ที่ตำบล Werribee เขต City of Wyndham 32 กม.ทางตะวันตกเฉียงใต้จากใจกลางนครเมลเบิร์นพบว่า ปัญหาที่เผชิญก็คือแรงงานผู้อพยพส่วนใหญ่มีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษอย่างจำกัด บางคนพูดไม่ได้แม้แต่คำเดียว ได้สร้างปัญหาในการสื่อสารและสั่งงานพอสมควร ทางฟาร์มจึงแก้ปัญหาด้วยการจัดชั้นเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติม

นาง Catherine Velisha กรรมการผู้จัดการฟาร์มได้ยกตัวอย่างนาย Barinder Puri จากประเทศอินเดียเขาเข้ามาที่โรงงานคัดผักและบรรจุหีบห่อของฟาร์มเมื่อปีที่ผ่านมา (จิงโจ้นิวส์เดาว่า Centrelink ส่งมา) ตอนนั้นเขาพูดภาษาอังกฤษได้สองคำคือ “งาน” และ “เริ่มเวลาไหน?”

แต่ในวันนี้หนึ่งปีผ่านมานาย Puri ได้เป็นผู้จัดการฝ่ายผลิตมีลูกน้องในความดูแล 30 คน

นาย Puri ซึ่งปัจจุบันสามารถพูดภาษาอังกฤษได้อย่างดีเกินคาดกล่าวว่า เขาเริ่มงานจากการเป็นพนักงานบรรจุผักสดในสายการผลิตเข้าหีบห่อเมื่อปีที่ผ่านมา แต่ในวันนี้เขามีตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายผลิตแล้ว

ที่อินเดียเขาทำงานเป็นวิศวกรช่างยนต์ แต่คุณวุฒิของเขาไม่ได้รับการรับรองในออสเตรเลีย อีกทั้งเขาไม่สามารถพูดและเขียนภาษาอังกฤษได้ทำให้เขาไม่สามารถทำงานเกี่ยวกับเครื่องยนต์ตามที่เขาได้ร่ำเรียนมา แม้แต่การเป็นลูกมือตามโรงงาน

นาง Velisha กล่าวว่านาย Puri เป็นคนขยันและทุ่มเทให้กับงานมาก สิ่งที่เธอจำได้แม่นยำก็คือเขามาทำงานวันแรกในเวลา 2.45 น. (สงสัยจะมีการสื่อสารเรื่องเวลาผิดพลาด เหมือนคนไทยสับสนระหว่างเวลา 2 โมงเช้ากับ 8 โมงเช้าอย่างไงอย่างนั้น)

เธอกล่าวว่า แรงงานผู้อพยพเหล่านี้หลายคนหลบหนีภัยสงครามกลางเมือง บางคนเข้ามาในประเทศโดยไม่มีทรัพย์สินใด ๆ ติดตัว แต่พวกเขาต้องการมีชีวิตที่ดีกว่า และพวกเขาได้ทำงานอย่างแข็งขันและมีคุณภาพเป็นอย่างมาก

เมื่อปีที่ผ่านมาฟาร์มผักของนาง Velisha มีความต้องการคนในระดับหัวหน้างาน แต่แทนที่จะจ้างคนภายนอก เธอเห็นว่ามีแรงงานผู้อพยพที่มีศักยภาพสูงกว่าเพียงแต่ประสบปัญหาในการใช้ภาษาอังกฤษเท่านั้น

โครงการสอนภาษาอังกฤษแก่ลูกจ้างทำฟาร์มจึงเกิดขึ้น ด้วยการว่าจ้างนาง Meryl Johnson ครูสอนภาษาอังกฤษจาก Speak Better English มาสร้างหลักสูตรพิเศษสำหรับแรงงานในอุตสาหกรรมเกษตร ทำการจัดชั้นเรียนสอนผ่าน Skype (โปรแกรมที่ใช้ติดต่อสื่อสารระหว่างกันผ่านอินเทอร์เน็ตด้วยข้อความ, เสียงและภาพจากกล้อง Webcam สื่อสารกันแบบ Real Time) สองครั้งต่อสัปดาห์

เธอกล่าวว่าโปรแกรมสอนภาษานี้ถือเป็นครั้งแรกที่จัดให้กับแรงงานตามฟาร์มเกษตร และมันได้สร้างประโยชน์ให้ทั้งภายในและภายนอกฟาร์ม

ขณะนี้ผู้ที่มาจากประเทศต่าง ๆ อย่างน้อยมีภาษาอังกฤษชั้นพื้นฐานในการสนทนาระหว่างกัน บางคนที่ทำงานอยู่กับฟาร์มเป็นเวลานานสามารถใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันของพวกเขาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน

ข้อมูลตัวเลขล่าสุดแสดงให้เห็นว่ากลุ่มผู้มีความหลายหลากทางวัฒนธรรมและภาษา (CALD) ทำงานในอุตสาหกรรมทางการเกษตรได้เพิ่มจาก 9% หรือ 18,699 คนในปี 2011 มาเป็น 11% หรือ 25,2056 คนในปัจจุบัน

 

jingjonews.com

jingjonews@hotmail.com (งดใช้ชั่วคราว)

Jingjonews เป็นสื่อออนไลน์มีวัตถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน โดยปลอดจากการโฆษณาในเชิงพาณิชย์



Categories: ข่าวออสเตรเลีย

Tags: , , , , , , , , ,

Leave a Reply

%d bloggers like this: