ผลกระทบของผู้ถือวีซ่าออสซี่จากงบประมาณประจำปี 2019

หนังสือพิมพ์ The Australian ฉบับ 3 เม.ย. 2019 ขึ้นหน้าหนึ่งงบประมาณปี 2019 พาดหัวข่าวว่า “To Surplus With Love” เป็นการบอกว่างบฯปี 19 จะกลับมาสู่งบประมาณเกินดุลเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี

3 เม.ย. 2019 อาจจะไม่ถูกต้องนักหากจะนำเอาประชาธิปไตยของประเทศไทยและของประเทศออสเตรเลียมาเปรียบเทียบกัน เพราะไม่เหมือนกันแม้จะเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขทั้งสองประเทศก็ตาม แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่าทำไมมันช่างต่างกันนัก

คนออสเตรเลียให้ความสำคัญมากกับนโยบายพรรค พวกเขาต้องการรู้ว่าจะได้อะไรบ้างจากแผนงบประมาณของรัฐบาล

ฝ่ายพรรคการเมืองออสซี่เวลาเขาหาเสียงเลือกตั้งพวกเขาสามารถลงไปรายละเอียดเลยว่าประชาชนกลุ่มไหนจะได้ประโยชน์และเสียประโยชน์กี่เหรียญกี่ดอลล่าร์ภายใต้นโยบายของพวกเขา

ฝ่ายสื่อมวลชนออสซี่ก็จะเสนอรายละเอียดแจงกันเป็นสิบ-ยี่สิบหน้ากระดาษ ตามด้วยบทวิเคราะห์จากนักวิชาการจากรั่วมหาวิทยาลัยและจากเดอะบิ๊กโฟร์คำนวณถึงความเป็นไปได้อย่างตรงไปตรงมา ที่ทุกฝ่ายยอมรับอย่างไม่มีการตีรวน เป็นมาอย่างนี้ตลอดในช่วงเกือบ 30 ปีที่จิงโจ้นิวส์อาศัยอยู่ในออสเตรเลีย

แต่การเลือกตั้งในประเทศไทยที่เพิ่งผ่านไป เริ่มต้นจิงโจ้นิวส์ดีใจนิด ๆ ที่มีพรรคการเมืองบางพรรคพยายามเล่นตามเกมประชาธิปไตยแนวทางใหม่ แจกแจงงบประมาณแบบมีที่มาที่ไป แต่พรรคการเมืองส่วนใหญ่ยังเล่นการเมืองแบบเดิม ๆ ด้วยการสาดโคลนเข้าใส่ฝ่ายตรงข้าม ซึ่งดูจะเป็นของชอบและสะใจกองเชียร์       

สื่อมวลชนนี่แหละตัวดีเสนอข่าวสนองความต้องการของกองเชียร์ พวกเขาคงรู้ดีว่าหากเสนอข่าวรายละเอียดนโยบายพรรคอย่างมีสาระก็คงไม่มีคนอ่าน ขืนทำไปก็มีแต่เจ๊งกับเจ๊ง

เรื่องนี้จิงโจ้นิวส์รับรองได้ว่ามันเป็นเช่นนั้น ในอดีตเคยทำหน้าที่รายงานข่าวรายละเอียดนโยบายการหาเสียงและงบประมาณประจำปีมาหลายปีให้กับหนังสือพิมพ์ไทย-ออสนิวส์โดยไม่ทราบว่ามีคนอ่านหรือไม่ จนกระทั่งมารายงานงบประมาณปี 2014-15 ในจิงโจ้นิวส์จึงทราบว่าไม่มีคนสนใจอ่าน แต่ไปเลือกอ่านรายงานข่าวอื่นที่ออกมาในวันเดียวกันแทนชนิดยอด views ระดับร้อยกับหมื่นทีเดียว

ปีนั้นจึงเป็นปีสุดท้ายที่จิงโจ้นิวส์รายงานแจกแจงรายละเอียดงบประมาณ เพราะคนไทยไม่สนใจอ่าน ทั้งที่มันมีผลอย่างมากต่อคนไทยที่อยู่ในออสเตรเลียไม่ว่าจะเป็นผู้ถือวีซ่าถาวรหรือวีซ่าชั่วคราวก็ตาม

วันนี้วันพุธที่ 3 เมษายนสื่อมวลชนออสซี่จากค่ายต่าง ๆ เริ่มทยอยลงรายละเอียดของงบประมาณปี 2019-20 เป็นวันประเดิม จิงโจ้นิวส์ไปซื้อหนังสือพิมพ์มาหนึ่งฉบับ ฉบับนี้ลงรายละเอียดงบประมาณ 2019 ทั้งสิ้น 16 หน้ากระดาษด้วยกัน แต่จะขออนุญาตนำเสนอเฉพาะในหัวข้อผลกระทบของชาวต่างชาติต่อการถือวีซ่าในออสเตรเลียซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย หากร่างงบประมาณผ่านสภาสูง มีดังนี้

คนไทยซึ่งขอความเป็นส่วนบุคคล (จิงโจ้นิวส์จึงต้องออกมาในรูปแบบของป๊อบอาร์ต) เมื่อครั้งรับเชิญจากนาง Julia Gillard นายกรัฐมนตรีในวันแถลงงบประมาณปี 2011 ที่รัฐสภากลางกรุงแคนเบอร์ร่า

งบประมาณปี 2019-20 จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อผู้ถือวีซ่าในออสเตรเลีย ขออนุญาตเริ่มจากกลุ่มผู้อพยพก่อน กลุ่มนี้โดยรวมแล้วจะได้รับผลประโยชน์มากขึ้น แต่ผู้สมัครใหม่จะต้องเสียค่าธรรมเนียมสูงขึ้น

(อ้อ…ทำไมปีนี้งบประมาณประจำปีถึงคลอดเร็วกว่าทุกปี แทนที่จะเป็นเดือนพฤษภาคม ก็เพราะเดือนหน้าเขาจะมีการเลือกตั้งใหญ่นั้นเองครับ)

รัฐบาลจะใช้งบฯ 64.2 ล้านเหรียญในมาตรการความเชื่อมแน่นทางสังคม (social cohesion measures ) ที่จะช่วยผู้อพยพในการตั้งหลักแหล่งและบูรณาการการอยู่ร่วมในสังคมของผู้เข้ามาใหม่

หากเจาะลึกลงไปก็จะเป็นการกระจายเงินลงไปในส่วนการสนับสนุนการกีฬาในท้องถิ่น, ภาษาชุมชน, ศูนย์รวมชุมชนแห่งชาติ และสนับสนุนความเข้าใจซึ่งกันและกันและการอยู่อย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันภายใต้วัฒนธรรมหลายหลาก

ใช้เงิน 12 ล้านเหรียญภายในสามปีในโครงการ Community Languages Multicultural Grants Program ซึ่งเป็นการสนับสนุนภาษาชุมชนในโรงเรียน และเป็นการเชื่อมต่อเยาวชนออสเตรเลียกับภาษา, มรดกและวัฒนธรรมของชุมชนของพวกเขา

ใช้งบอีก 22.6 ล้านเหรียญภายในสี่ปีให้กับโครงการศูนย์รวมชุมชนแห่งชาติและการจัดตั้งโครงการศูนย์รวมเยาวชนแห่งชาติ

ขยายเครือข่ายของศูนย์รวมชุมชนและเยาวชนให้ผู้อพยพสามารถเข้าถึงบริการ, การสนับสนุน, โอกาสในการเรียนรู้, รวมถึงการเสริมสร้างทักษะจนไปสู่การจ้างงาน

ให้งบอีก 7.3 ล้านเหรียญเป็นเวลาสามปีให้กับองค์กรช่วยเหลือผู้อพยพใหม่ในการปรับตัวเข้ากับชุมชน และเป็นข่าวดีสำหรับชุมชนชาวกรีกในนครเมลเบิร์นจะได้รับงบ 5 ล้านเหรียญให้กับ Greek Centre Hub and Hellenic Chair in Global Diasporas ของภาควิชาวัฒนธรรมและการสื่อสารมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น

นอกจากนั้นยังกันงบประมาณอีก 64.2 ล้านเหรียญสำรองไว้ให้กับโครงการที่กล่าวมาหากใช้จ่ายไปอย่างมีประสิทธิภาพแล้วไม่เพียงพอ

การเปลี่ยนแปลงด้านผู้อพยพ

งบประมาณปี 2019 ยังให้รายละเอียดการเปลี่ยนแปลงนโยบายผู้อพยพของรัฐบาล ก่อนหน้านี้รัฐบาลกลางได้ประกาศลดยอดการรับผู้อพยพจากเดิม 190,000 คนลงเหลือ 160,000 คนเป็นเวลาสี่ปีโดยนับจากปีการเงิน 2019-20 เป็นต้นไป

ตามยอดการแจกแจงรายละเอียดงบประมาณ (budget breakdown) ยอดการรับผู้อพยพชำนาญในวิชาชีพ (skilled migrants) จะอยู่ที่ 108,682 คน, ผู้อพยพประเภทครอบครัวจะอยู่ที่ 47,732 คนที่รวมถึงเด็กจำนวน 3,586 คนและการรับพิเศษอื่น ๆ

ในด้านนโยบายสนับสนุนผู้อพยพชำนาญในวิชาชีพไปอยู่อาศัยและทำงานในพื้นที่ภูมิภาคนอกเมืองใหญ่ รัฐบาลจะใช้งบประมาณ 50 ล้านเหรียญในช่วง 5 ปีให้กับโครงการวีซ่าใหม่ “เพื่อการสนับสนุนสิ่งที่ดีกว่าตามความต้องการส่วนภูมิภาคออสเตรเลีย”

นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2019 เป็นต้นไปวีซ่าทำงานในภูมิภาค 2 ประเภทจะถูกนำมาใช้ โดยกำหนดให้ชาวต่างชาติต้องอยู่อาศัยและทำงานในภูมิภาคเป็นเวลา 5 ปี จึงจะมีสิทธิขอวีซ่าอยู่อาศัยถาวร

เปลี่ยนแปลงวีซ่า

นับตั้งแต่วันที 1 กรกฎาคม 2019 เป็นต้นไปค่าธรรมเนียมวีซ่าเกือบทุกประเภทจะเพิ่มขึ้นอีก 5.4% โดยคาดว่าจะทำเงินให้กับรัฐบาลเพิ่มขึ้นอีก 275 ล้านเหรียญในช่วงสี่ปีข้างหน้า

งบประมาณ 2019 ยังเปิดช่องทางให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำงานเพิ่มขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานตามฤดูกาล   อย่างงบประมาณปี 2019 จะเปิดให้ชาวอินโดนีเซียเข้ามาทำงานด้วยวีซ่าทำงาน-ท่องเที่ยวเพิ่มจากปีละ 2,500 คนเป็น 5,000 คนนับจากปีการเงินหน้าเป็นต้นไป

 

jingjonews.com

jingjonews@hotmail.com (งดใช้ชั่วคราว)

Jingjonews เป็นสื่อออนไลน์มีวัตถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน โดยปลอดจากการโฆษณาในเชิงพาณิชย์



Categories: ข่าวออสเตรเลีย

Tags: , , , , , , , , ,

Leave a Reply

%d bloggers like this: