พบสินค้าอาหารหลายชนิดให้รายละเอียดส่วนผสมผิดพลาดเสี่ยงถึงชีวิต

18 มี.ค. 2019 ผู้ที่มีอาการแพ้อาหารได้รับการเตือนให้ระวังสินค้าอาหารนำเข้าและยี่ห้อที่ไม่มีชื่อเสียงหลังจากครึ่งหนึ่งของอาหารเหล่านี้ถูกเรียกเก็บจากชั้นวางขายทั่วประเทศ เนื่องจากแสดงส่วนประกอบของอาหารไม่ตรงกับความเป็นจริง ที่อาจทำให้ผู้แพ้อาหารถึงเสียชีวิตได้

เมื่อปีที่ผ่านมาสำนักงานมาตรฐานอาหารออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (FSANZ) ได้สั่งให้เรียกเก็บสินค้าอาหารนำเข้า 46 ชนิดออกจากแผงวางขายทั่วประเทศหลังจากพบว่า สินค้าเหล่านี้แสดงรายละเอียดของส่วนผสมเป็นเท็จ จากการตรวจสอบพบสลากสินค้าอ้างว่าไม่มีส่วนผสมเช่นถั่ว, นมเนย, กลูเตนและไข่เป็นต้น แต่แท้จริงแล้วมีส่วนผสมเหล่านี้

ในช่วงสามปีที่ผ่านมามีสินค้ากว่า 100 ชนิดถูกเรียกเก็บ โดยสินค้าเกือบครึ่งหนึ่งถูกตรวจพบหลังจากมีผู้บริโภครับประทานเข้าไปแล้วเกิดอาการแพ้จึงร้องเรียนไปยังหน่วยงานดูแลด้านมาตรฐานอาหาร

สำนักงาน FSANZ พบการขาดความรู้เรื่องเกี่ยวกับส่วนประกอบอาหารที่ต้องเปิดเผย, ความผิดพลาดของบรรจุภัณฑ์ (packaging errors) และการปนเปื้อนของสิ่งแปลกปลอม (cross-contamination) โดยอุบัติเหตุเป็นสาเหตุใหญ่ของความผิดพลาด

ตัวอย่างที่ถูกนำมาเปิดเผยก็คือแกงเผ็ดไก่ (Thai chicken curry) สลากแสดงสินค้าไม่ได้ระบุส่วนผสมของถั่วและซีเรียลสำหรับเด็ก (children’s cereal) แถมยังอ้างอีกว่าเป็นสินค้า “ปลอดกลูเตน” ซึ่งเป็นความผิดพลาดอย่างจงใจ ที่เป็นอันตรายถึงชีวิตสำหรับผู้บริโภคที่แพ้อาหารอย่างรุนแรงและเฉียบพลัน

ออสเตรเลียเป็นประเทศหนึ่งที่มีอัตราของประชาการแพ้อาหารสูงที่สุดของโลก ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ที่โรงพยาบาลเด็กในเครือข่ายของโรงพยาบาล Sydney Children’s (SCHN) ระบุว่าในปีที่ผ่านมามีเด็กประมาณ 5,000 คนเข้าทำการรักษาจากอาการแพ้อาหารและภูมิคุ้มกัน

ดร. Maria Said ผู้อำนวยการฝ่ายโรคการแพ้และการแพ้แบบเฉียบพลันรุนแรง (Allergy and Anaphylaxis) แนะนำว่าผู้ที่แพ้อาหารควรเลือกรับประทานสินค้าอาหารยี่ห้อที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี เพราะสินค้าอาหารอื่นที่ไม่คุ้นเคยอาจมีความเสี่ยง

เธอกล่าวว่าสินค้าอาหารที่ผลิตจากบริษัทใหญ่ที่คุ้นเคยกันดีล้วนมีทรัพยากรและมาตรการด้านความปลอดภัยในการผลิตอาหารสูงจนเป็นที่เชื่อถือมาอย่างต่อเนื่อง

น.ส. Ashley Wong วัย 18 ปีผู้ซึ่งแพ้อาหารไข่, นมเนย, ถั่ว และมีผลสนองต่ออาหารอื่นที่รวมถึงข้าวสาลี, นมถั่วเหลือง, ข้าวโพดและอาหารทะเลที่มีเปลือก จำเป็นต้องเพิ่มความระมัดระวังอย่างสูงในการรับประทานอาหารแต่ละมื้อ

เธอและมารดาของเธอเป็นหนึ่งในผู้บริโภคที่รายงานให้สำนักงาน FSANZ เข้าตรวจสอบสินค้า หลังจาก Ashley รับประทานเข้าไปแล้วมีอาการตอบสนองต่ออาหาร

นอกจากนั้นเธอยังให้ความเห็นที่ดีว่า ผู้ผลิตสินค้าควรแสดงรายละเอียดของส่วนผสมอาหารด้วยภาษาอังกฤษอย่างง่าย (plain English) เพราะมีคนไม่มากนักที่เข้าใจคำศัพท์ทางวิทยาศาสตร์

หมายเหตุ ข่าวนี้เรียบเรียงจากหนังสือพิมพ์ The Daily Telegraph เป็นหลัก

 

jingjonews.com

jingjonews@hotmail.com (งดใช้ชั่วคราว)

Jingjonews เป็นสื่อออนไลน์มีวัตถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน โดยปลอดจากการโฆษณาในเชิงพาณิชย์



Categories: ข่าวออสเตรเลีย

Tags: , , , , , , ,

Leave a Reply

%d bloggers like this: