
อุปกรณ์ตรวจจับควันที่บ้านจิงโจ้นิวส์เป็นแบบใช้พลังงานแบตเตอรีและกระแสไฟฟ้าติดตั้งโดยช่วงไฟมีใบรับอนุญาต
2 มี.ค. 2019 ผลการสำรวจอุปกรณ์ตรวจจับควัน (smoke alarm) โดยเทศบาลหลายแห่งได้รับคำตอบที่จะต้องหาทางแก้ปัญหาก็คือผู้อยู่อาศัยที่เกิดในต่างประเทศโดยเฉพาะครอบครัวที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้มักจะไม่ให้ความสำคัญของอุปกรณ์ตรวจจับควันที่สามารถช่วยชีวิตพวกเขาได้หากเกิดเพลิงไหม้
อย่างเช่นผลการสำรวจของเขตเทศบาล Canterbury-Bankstown ทางตะวันตกเฉียงใต้ของนครซิดนีย์ ซึ่งประชากรของเขตนี้กว่า 40% เป็นผู้เกิดในต่างประเทศและ 1 ใน 4 ของผู้อยู่อาศัยกลุ่มนี้พูดภาษาอังกฤษไม่ได้
แต่สิ่งที่ทำให้นาย George Zakhia สมาชิกเทศบาลเขตถึงกับช็อกก็คือผลการสำรวจในย่าน Lakemba ของเขต Canterbury-Bankstown (ย่านนี้เป็นย่านที่มีผู้นับถือศาสนามุสลิมอยู่อาศัยหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ) มีผู้อยู่อาศัย 8 ใน 10 หลังไม่ได้ติดอุปกรณ์ตรวจจับควันหรือมีอุปกรณ์ตรวจจับควันแต่ไม่ทำงาน
แม้ยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่าจำนวนผู้ไม่รู้ภาษาอังกฤษเป็นจำนวนมากในพื้นที่กับการมีระดับความรู้ในด้านความปลอดภัยจากเพลิงไหม้ต่ำมีความเกี่ยวข้องกัน
แต่นาย Zakhia พบว่ามีผู้อยู่อาศัยจำนวนไม่น้อยที่ยังนำวิธีการทำให้ร่างกายอบอุ่นแบบที่พวกเขาเคยชินมาใช้ในออสเตรเลีย บางครอบครัวได้ใช้วิธีการเผาถ่านผิงไฟอย่างที่พวกเขาใช้ในประเทศบ้านเกิดเมืองนอน ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้บ้าน
ปัญหาดังกล่าวคล้ายคลึงกับปัญหาที่เกิดในนครเมลเบิร์น จนทำให้สำนักงานดับเพลิงนครหลวงของเมลเบิร์นคิดค้นโครงการ Flame For Teen Program เพื่อสอนเยาวชนผู้อพยพเข้ามาใหม่ถึงความปลอดภัยจากไฟและเพลิงไหม้โดยผ่านชั้นเรียนภาษาอังกฤษ
บุตรหลานของผู้อพยพจะนำความรู้ในเรื่องความปลอดภัยจากเพลิงไหม้ไปเผยแพร่กับคนในครอบครัว ซึ่งพวกผู้ใหญ่เหล่านี้ยังต้องพึ่งคนรุ่นใหม่ที่พูดภาษาอังกฤษได้ในการติดต่อกับกับโลกภายนอกเช่นกับ Centrelink, แพทย์, ธนาคาร และหน่วยราชการเป็นต้น
นาย Mark Crowe เจ้าหน้าที่ประสานงานความหลายหลากทางวัฒนธรรมของสำนักงานดับเพลิงนครหลวงกล่าวว่า โครงการ Flame For Teen Program ได้ดำเนินงานในนครเมลเบิร์นมาเป็นเวลา 15 ปี และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
นาย Crowe กล่าวว่า งานหนักงานหนึ่งที่ทีมงานประสบมาก็คือการให้ข่าวสารแก่ผู้อพยพซึ่งมักเป็นผู้เช่าได้รับทราบถึงสิทธิของผู้เช่าในเรื่องการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับควัน
ภายใต้กฎหมายผู้ให้เช่าจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับควันและจะต้องดูแลรักษาให้มันทำงานได้ตลอดเวลา
(ส่วนผู้อพยพที่ซื้อบ้านอยู่เองภายใต้กฎหมายเจ้าของบ้านจะต้องรับผิดชอบในการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับควันและจะต้องดูแลรักษาให้มันทำงานได้ตลอดเวลาเช่นกัน)
ทีนี้ลองหันมาที่นาย Michael Morris ผู้อำนวยการบริหารของสำนักงานดับเพลิงและช่วยชีวิตแห่งรัฐนิวเซาท์เวลส์กล่าวว่า วัฒนธรรมและอุปสรรคทางภาษามีส่วนทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความปลอดภัยจากเพลิงไหม้
เขากล่าวว่า บ่อยครั้งที่ผู้อพยพใหม่มักจะเกรงกลัวคนอยู่ในเครื่องแบบหรือมีความคิดว่าพนักงานดับเพลิงและช่วยชีวิตจะคิดค่าธรรมเนียมพวกเขาต่อการให้บริการ ซึ่งเขาขอขอเคลียร์ตรงนี้ว่าสำนักงานไม่คิดค่าบริการที่เกี่ยวกับเรื่องของไฟ ดังนั้นโปรดอย่ารังเรใจต่อการโทร 000 หากมีเหตุฉุกเฉินเกี่ยวกับเรื่องของเพลิงไหม้เกิดขึ้น
เขากล่าวว่าในแต่ละปีรัฐน.ซ.ว.มีผู้เสียชีวิตจากเหตุไฟไหม้บ้านเฉลี่ยปีละ 21 คน โดยครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้สามารถป้องกันได้หากบ้านที่เกิดเหตุมีอุปกรณ์ตรวจจับควันที่ทำงาน
จากการตรวจสอบพบว่า 1 ใน 3 ของผู้อยู่อาศัยจะมีการตรวจสอบการทำงานของอุปกรณ์ตรวจจับควันอย่างสม่ำเสมอ
เขากล่าวว่า อุปกรณ์ตรวจจับควันอาจได้รับผลกระทบจากฝุ่น, แบตเตอรีหมดอายุและอายุใช้งานของมัน ดังนั้นเจ้าของบ้านควรเปลี่ยนมันในทุก ๆ 10 ปี
jingjonews.com
jingjonews@hotmail.com (งดใช้ชั่วคราว)
Jingjonews เป็นสื่อออนไลน์มีวัตถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน โดยปลอดจากการโฆษณาในเชิงพาณิชย์
Categories: ข่าวออสเตรเลีย
Leave a Reply