
ข่าวออนไลน์ของสำนักข่าว SBS วันที่ 23 ก.พ. 2019 ระบุสาเหตุอาคาร Opal Tower ร้าวเกิดจากการออกแบบและความบกพร่องในการก่อสร้าง
23 ก.พ. 2019 รายงานการตรวจสอบโครงสร้างอาคารที่พักอาศัย Opal Tower โดยคณะผู้เชี่ยวชาญอิสระพบว่าตัวอาคาร 36 ชั้นเกิดแตกร้าวเพราะการออกแบบที่ไม่เหมาะสม, คานรับน้ำหนัก (support beams) รองรับภายใต้คอนกรีตที่ไม่แข็งแรงพอ
อาคาร Opal Tower ที่ Sydney’s Olympic Park เกิดปัญหามีรอยแตกร้าวบนชั้น 10 จนเสียงดังลั่นสนั่นตึกในตอนสายของวันที่ 24 ธันวาคมปีที่ผ่านมา จนทำให้มีการอพยพผู้อยู่อาศัยออกจากตัวอาคารมานับตั้งแต่วันนั้น ถึงวันนี้ได้ 2 เดือนเต็มผู้อยู่อาศัยจำนวน 221 ยูนิตจากทั้งหมด 392 ยูนิตยังไม่ได้รับอนุญาตให้กลับเข้าไปอยู่อาศัยในตัวอาคาร เนื่องจากยังถูกประเมินว่าไม่ปลอดภัย แม้จะมีรายงานจากวิศวกรผู้ทำการตรวจสอบของฝ่ายผู้ก่อสร้างและเจ้าของโครงการระบุว่าสภาพอาคารโดยรวมอยู่ในสภาพมั่นคงพอก็ตาม
รายงานอย่างเป็นทางการชุดล่าสุดนำโดยศจ. Mark Hoffman, ศจ. John Carter และศจ. Stephen Fosterd วิศวกรในระดับคณบดีของมหาวิทยาลัยชื่อดังพบถึงความเสียหายอย่างชัดเจนที่ฐานอาคารและในอาคาร 10 ชั้นจากทั้งหมด 36 ชั้น
นอกจากนั้นยังพบว่าอาคารได้ใช้วัสดุก่อสร้างที่มีข้อบกพร่อง (เขาใช้คำว่า deficiencies)
แม้รายงานจะระบุความผิดพลาดในเรื่องของโครงสร้างอาคาร แต่ก็ไม่ได้ชี้ชัดว่าเป็นความผิดพลาดของใครโดยเฉพาะเจาะจง (สงสัยจะให้เดาเอา)

ภาพรอยร้าวที่พื้นอาคารเกิดจากคานรับน้ำหนักและคอนกรีตที่ต่ำกว่ามาตรฐาน : ภาพจากกระทรวงวางแผนรัฐน.ซ.ว.
สาระสำคัญของรายงานตอนหนึ่งระบุว่า “เราพบว่าคานรับน้ำหนัก (hob beams) บางต้นและแผ่นรับน้ำหนักประกอบ (panel assemblies ขออภัยหากให้ความหมายผิด) อยู่ภายใต้การออกแบบที่ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ของการก่อสร้างแห่งชาติ (NCC) และมาตรฐานของออสเตรเลีย ทำให้คานไม่สามารถรองรับน้ำหนักได้”
คณะผู้เชี่ยวชาญยังเห็นว่ากระบวนการอัดฉีดปูนเหลวหรือสารผสมเป็นไปอย่างไม่น่าเชื่อถือ (dodgy grouting) และการใช้คอนกรีตที่ต่ำกว่ามาตรฐานมีส่วนทำให้อาคารเกิดรอยร้าว
อย่างไรก็ตามทีมงานตรวจสอบอิสระไม่ได้ระบุว่าบริษัท Icon Construction ผู้รับเหมาก่อสร้างและบริษัท Ecove เจ้าของโครงการก่อสร้าง มีส่วนรับผิดชอบต่อการเกิดร้อยแตกร้าวหรือไม่ โดยกล่าวเพียงว่า
“เราไม่ได้ทำการค้นหาเพื่อชี้ลงไปว่าใครคือผู้รับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น แต่(เรา)ได้ทำการสอบสวนบนพื้นฐานของความผิดพลาดที่เกิดกับอาคาร”
สำหรับชั้นที่ประสบปัญหารอยร้าวอย่างหนักประกอบด้วยชั้นที่ 10, 7, 6, 4 และชั้น G ซึ่งเป็นชั้นระดับพื้นถนน

ข่าวออนไลน์จากสำนักข่าวต่าง ๆ เสนอข่าวรายงานสาเหตุของอาคาร Opal Tower เกิดรอยร้าวจากผู้ตรวจสอบอิสระอย่างเป็นทางการ
อาคาร Opal Tower เป็นสร้างใหม่เอี่ยมซึ่งเปิดให้ผู้เข้าอยู่อาศัยเพียงไม่กี่เดือนก่อนเกิดเหตุอาคารร้าว จนต้องอพยพผู้อยู่อาศัยออกจากตัวอาคารในวันคริสต์มาสอีฟ ก่อนอนุญาตให้กลับเข้าอยู่อาศัยในคืนวันนั้น แล้วสั่งให้อพยพออกจากตัวอาคารอีกครั้งในอีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมา
ถึงขณะนี้ผู้อยู่อาศัยจำนวน 171 ยูนิตได้รับอนุญาตให้กลับเขาอยู่อาศัยในอาคารได้ แต่ก็มีผู้อยู่อาศัยจำนวนหนึ่งปฏิเสธที่จะกลับเข้าอยู่อาศัย ทำให้บริษัท Icon แก้ปัญหาด้วยการหยุดจ่ายค่าเช่าที่พักชั่วคราวและอาหารแก่ผู้อยู่อาศัยจำนวน 74 ยูนิต (น่าจะเป็นกลุ่มที่ปฏิเสธกลับเข้าอยู่อาศัย)
อย่างไรก็ตามหากย้อนไปดูประวัติของอาคารนี้ ปรากฎว่ามีเรื่องราวที่ถูกผู้สื่อข่าวขุดคุ้นนำมาแฉพอสมควร อาทิเช่นอาคารนี้ได้รับไฟเขียวเป็นพิเศษให้ทำการก่อสร้างสูงกว่าแผนผังเมืองแม่แบบของ Sydney Olympic Park Authority Masterplan 2030 ถึง 27 เมตร ทำให้อาคารสามารถก่อสร้างได้สูง 37 ชั้น (นับชั้น G ด้วย) แทนที่จะก่อสร้างได้ไม่เกิน 30 ชั้นตามแผนหลัก
นอกจากนั้นยังพบว่า รัฐบาลรัฐนิวเซาท์เวลส์ได้สิทธิ์ในการเป็นเจ้าของอาคาร Opal Tower จำนวนทั้งสิ้น 11 ยูนิตในมูลค่าประมาณเกือบ 10 ล้านเหรียญเป็นผลตอบแทน
jingjonews.com
jingjonews@hotmail.com (งดใช้ชั่วคราว)
Jingjonews เป็นสื่อออนไลน์มีวัตถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน โดยปลอดจากการโฆษณาในเชิงพาณิชย์
Categories: ข่าวออสเตรเลีย
Leave a Reply