ควันหลงพายุลูกเห็บถล่มซิดนีย์ มีคำถามว่าทำไมจึงมีรูปร่างแปลก ๆ

ภาพลูกเห็บหน้าตาผิดจากลูกเห็บก้อนกลม ๆ ที่เห็นทั่วไป : ภาพจากสำนักข่าว SBS

22 ธ.ค. 2018 พายุลูกเห็บถล่มซิดนีย์และ Central Coast เมื่อวันพฤหัสฯที่ผ่านมาถือเป็นครั้งที่หนักที่สุดในรอบ 19 ปี นอกจากบริษัทประกันจะรับภาระหนักแล้วยังมีประชาชนตั้งคำถามว่าทำไมลูกเห็บที่ตกมาถึงมีหน้าตาแตกต่างกัน

ลูกเห็บที่ตกมาบางลูกเป็นลูกกลมสีขาว, บางลูกขรุขระเหมือนมะกรูด, บางก็แบนราบตรงกลางเป็นสีขาวแต่ขอบสีใส ยังดีที่เกิดขึ้นในออสเตรเลีย ถ้าเกิดที่บ้านจิงโจ้นิวส์อาจมีคนให้คำตอบว่า ‘เป็นเพราะเทวดาท่านปั้นเล่นให้มีความแตกต่างกันอะไรเทือกนั้น’ อย่างไรก็ตามมีผู้ให้ความเห็นว่าลูกเห็บที่ตกมาดูคล้ายไข่ลวก, ไข่ดาว, แมงกระพรุน, เกี๊ยว (dumpling), ดอกไม้, ผักกะหล่ำ และก็ลูกคริกเก็ต

ลูกเห็บรูปร่างคล้ายแมงกระพรุน บ้างก็ว่าคล้ายดอกไม้ : ภาพชั่วคราวจากนสพ. The Australian ต้นฉบับจากทวิตเตอร์

นาย Craig Ryan นักพยากรณ์อากาศของสำนักงานอุตุนิยมวิทยา (BoM) ออกมาเฉลยให้ทราบว่าลูกเห็บจะก่อตัวเป็นเกล็ดสีขาวจากนั้นจึงเกาะกับน้ำที่อยู่ในเมฆ และได้รับความช่วยเหลือจากกระแสอากาศพัฒนาขนาดของลูกเห็บอยู่ภายในก้อนเมฆ

เมื่อน้ำเริ่มแข็งตัว มันก็จะเริ่มสร้างหยาดน้ำแข็ง ซึ่งทำให้เห็นน้ำแข็งใสล้อมรอบลูกเห็บที่เป็นสีขาว และเมื่อก้อนลูกเห็บ (hailstones) ต่างฝ่ายต่างเริ่มแข็งตัว มันก็จะทำให้ลูกเห็บบางลูกมีรูปร่างที่แตกต่างกันออกไป

ส่วนหนึ่งของข่าวออนไลน์ของสำนักข่าวต่าง ๆ เสนอข่าวพายุลูกเห็บถล่มนครซิดนีย์ในวันที่ 20 ธ.ค. 2018

นาย Ryan กล่าวว่า โดยปกติก้อนลูกเห็บก่อตัวเป็นลูกเห็บในเมฆจะใช้เวลาไม่นาน ดังนั้นลูกเห็บจึงมีขนาดไม่ใหญ่มากคือประมาณราว 1 ซม. แต่ก็มีบางลูกที่อยู่ในเมฆนานกว่าจึงมีขนาดใหญ่มากกว่า คือมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 5 ถึง 8 ซม.ตกลงมาสร้างความเสียหาย อย่างที่เกิดขึ้นในตอนเย็นของวันพฤหัสฯที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา

ลูกเห็บมีลักษณะเป็นหนามขนาดใหญ่ไม่เบา หากตกใส่ศีรษะคงแตกแน่ : ภาพชั่วคราวจากนสพ. The Australian ต้นฉบับทวิตเตอร์

ทางด้านสภาการประกันภัยแห่งออสเตรเลีย (ICA) ได้ออกมากล่าวถึงเหตุการณ์พายุลูกเห็บถล่มนครซิดนีย์ครั้งนี้ว่าเป็น “ภัยพิบัติ” โดยเริ่มถล่มในเวลาประมาณ 16.00 น. ของวันพฤหัสฯที่ 20 ธันวาคมภายในเวลา 18.30 น.มีประชาชนผู้ได้รับความเสียหาย 15,000 รายยื่นขอเคลมประกันคิดเป็นมูลค่าราว 18 ล้านเหรียญ

และภายในตอนเย็นของวันศุกร์ที่ 21 ธันวาคมมีผู้เคลมประกันแล้ว 25,000 ราย คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 125 ล้านเหรียญ (2,865 ล้านบาท)

นสพ. The West Australian วันที่ 22 ธ.ค. 2018 เสนอข่าวนาย Marcus O’Donohue ช่างไม้หนุ่มชาวซิดนีย์ถูกลูกเห็บตกใส่จนหัวแตกขณะเขาเดินทางสองนาทีจากบ้านที่ย่าน Berowra Heights ทางเหนือของนครซิดนีย์ไปยังผับขายสุรา เขานำประสบการณ์มาเขียนเตือนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ว่า “อย่าคิดเล่นกับลูกเห็บ” ลูกเห็บที่เขาเจอเป็นสีขาวล้วน ๆ ขนาดเท่าลูกคริกเก็ต

สำหรับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากพายุลูกเห็บคือพื้นที่ตัวเมืองชั้นในของนครซิดนีย์, ซิดนีย์ตะวันตกตอนในและทางตะวันตกของนครซิดนีย์ ส่วนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างหนักก็คือ Bankstown, Petersham, Summer Hill และ Berowra

ที่ Berowra ซึ่งอยู่ฝั่งเหนือตอนบนของนครซิดนีย์มีรายงานว่าถูกพายุลูกเห็บขนาด 8 ซม.ถล่มในเวลาประมาณ 17.00 น.

ที่ Summer Hill มีลูกเห็บขนาด 4 ซม.ตกในเวลาประมาณ 16.30 น.และที่ Petersham มีลูกเห็นขนาด 2 ซม.ตกในเวลา 16.35 น.

นอกจากนั้นลูกเห็บยังไปตกนอกพื้นที่นครซิดนีย์เช่นที่ Central Coast, Hunter, South Coast และ Illawarra

ลูกเห็บที่บ้านจิงโจ้นิวส์ขนาดประมาณ 1 ซม. หน้าตาเป็นอย่างนี้ บอกไม่ถูกว่าเหมือนอะไร

ขออนุญาตเสริม อย่างไรก็ตามพายุลูกเห็บครั้งนี้ยังถือว่ามีความรุนแรงน้อยกว่าพายุลูกเห็บถล่มนครซิดนีย์ในเดือนเมษายนปี 1999 มาก ในครั้งนั้นสร้างความเสียหายประมาณ 2.3 พันล้านเหรียญ (5.3 หมื่นล้านบาท) โดยมีผู้ยื่นขอเคลมประกันจำนวน 1.7 พันล้านเหรียญ (4 หมื่นล้านบาท) ที่บริษัทประกันภัยต้องรับผิดชอบ

ในครั้งนั้นมีสตรีชาวไทยและบุตรชายของเธอเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ประสบภัยที่กลายเป็นข่าว หากจำไม่ผิดเธออาศัยอยู่ที่ย่าน Eastlake ปัจจุบันขึ้นอยู่กับเขต Bayside เธอให้สัมภาษณ์ว่าเธอและลูกต้องหลบเอาตัวชิดฝาผนังห้อง เพื่อป้องกันลูกเห็บขนาด 8 ถึง 9 ชม.และกระเบื้องมุงหลังคาตกลงมา

หลังจากเหตุการณ์สงบลงหลังคาบ้านหลายหลังถูกปกคลุมด้วยผ้าใบกันน้ำ (tarpaulin) สีฟ้าและสีน้ำเงินเป็นการชั่วคราวเต็มไปหมดในหลายพื้นที่

หมายเหตุ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศในวันที่ 22 ธันวาคม 2018 เงิน 1 ดอลลาร์ออสเตรเลียเท่ากับ 70 เซนต์สหรัฐและเท่ากับ 22.92 บาท (ข้อมูลกลางจาก google.com.au)

 

jingjonews.com

jingjonews@hotmail.com

Jingjonews เป็นสื่อออนไลน์มีวัตถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน โดยปลอดจากการโฆษณาในเชิงพาณิชย์



Categories: ข่าวออสเตรเลีย

Tags: , , , , , , , , , , ,

Leave a Reply

Discover more from jingjonews

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading