ภาษาจีนกลางเป็นภาษาพูดทั่วไปในนครซิดนีย์รองจากอังกฤษ

นาย Malcolm Turnbull อดีตนายกรัฐมนตรีถ่ายเชลฟี่กับชุมชนชาวจีนในนครซิดนีย์ : ภาพจากสำนักข่าว SBS

9 ธ.ค. 2018 เคยมีคนทำนายว่าในอนาคตนายกรัฐมนตรีของออสเตรเลียจะเป็นคนเอเชีย เรื่องนี้เป็นเรื่องยังไม่เกิดขึ้น แต่วันนี้ภาษาจีนกลางได้กลายเป็นภาษาพูดที่ใช้กันอย่างปกติที่สุดนอกเหนือจากภาษาอังกฤษในนครซิดนีย์ ข้อมูลนี้มาจากการวิจัยถึงภาพรวมทางพหูวัฒนธรรมของนครใหญ่ในออสเตรเลีย

ดร. Alice Chik แห่งมหาวิทยาลัยแมคควอรี่หนึ่งในผู้ร่วมทำหนังสือเผยแพร่ผลงานวิจัยภายใต้ชื่อ Multilingual Sydney  กล่าวว่าจำนวนประชากรที่พูดภาษาจีนกลางได้เพิ่มขึ้น 71% ในระหว่างปีสำรวจสำมะโนประชากร 2011 กับ 2016

ปัจจัยใหญ่อันหนึ่งก็คือจำนวนนักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาเรียนหนังสือในนครซิดนีย์ถูกนับรวมในการสำรวจสำมะโนประชากร ซึ่งนักศึกษาจากประเทศจีนมีสัดส่วนสูงในส่วนนี้และจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ตราบใดที่ออสเตรเลียยังรักษาคุณภาพการศึกษาของตนไว้

หนังสือวิจัยชุดนี้ยังแสดงให้เห็นว่าภาษาอินเดียเป็นภาษาที่มีอัตราเพิ่มสูงที่สุดในนครซิดนีย์

เธอได้อ้างถึงรายงานจากกระทรวงศึกษาธิการว่ามีเยาวชนชาวอินเดียเข้ามาศึกษาอยู่ในโรงเรียนประถมและโรงเรียนมัธยมในรัฐนิวเซาท์เวลส์ในปี 2017 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 46,357 คน

ในปีเดียวกันรัฐน.ซ.ว.ยังมีเด็กนักเรียนชั้นประถมและมัธยมจากประเทศที่พูดภาษาอาหรับตามมาเป็นอันดับสอง 37,790 คน, อันดับสามจีนกลาง 25,140 คนและอันดับสี่เวียดนาม 16,273 คน

Regents Park คือย่านที่มีความหลายหลากทางภาษาสูงที่สุด

โดยรวมแล้วชาวซิดนีย์พูดภาษาอื่นนอกเหนือจากภาษาอังกฤษภายในบ้าน 35.8% ซึ่งสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของประเทศ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดร. Chik กล่าวว่าในซิดนีย์มีภาษาพูดมากกว่า 300 ภาษา ในจำนวนนี้ 200 ภาษามีผู้พูดมากกว่า 10,000 คนขึ้นไป

ย่าน Regents Park ซึ่งมีพื้นที่ขึ้นอยู่กับเขตเทศบาล Cumberland และ Canterbury-Bankstown ประมาณ 22 กม.ทางตะวันตกจากใจกลางนครซิดนีย์มีผู้พูดภาษาอังกฤษอย่างเดียวในบ้านเพียง 25.7% ตามด้วยภาษาอาหรับ (13.5%), จีนกวางตุ้ง (9.2%), จีนกลาง (8.6%) และเวียดนาม (5.5%)

ในทางตรงกันข้ามในย่าน Mosman, Manly และ Mona Vale ทางฝั่งเหนือของซิดนีย์เป็นพื้นที่ที่มีความหลายหลากทางภาษาน้อยที่สุดในนครซิดนีย์โดยมีผู้พูดภาษาอังกฤษอย่างเดียวภายในบ้านเกินกว่า 77% ขึ้นไป

สิ่งที่สร้างความประหลาดใจก็คือในช่วงห้าปีที่ผ่านมาย่าน Haberfield เขต Inner West ได้เข้าแทนที่ย่าน Leichhardt เขต Inner West เช่นกันในการเป็นเมือง “อิตาลีน้อย” โดยมีประชากร 20.6% พูดภาษาอิตาลี

 

jingjonews.com

jingjonews@hotmail.com

จิงโจ้นิวส์เป็นสื่อออนไลน์มีวัตถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน   โดยปลอดจากการโฆษณาในเชิงพาณิชย์



Categories: ข่าวออสเตรเลีย

Tags: , , , , , , , , , , , , ,

Leave a Reply

%d bloggers like this: