สู่เดือนพฤศจิกายน 2561

.

สู่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๑

มะละกอปลูกกินเอง

เวลาผ่านไปอย่างไม่ทันตั้งตัว นี่ขึ้นเดือนใหม่อีกแล้วหรือนี่! ผมจึงต้องหยิบโทรศัพท์มือถือเดินสำรวจรอบบ้าน เพราะยังไม่มีภาพขึ้นหัวข้อสู่เดือนพฤศจิกายน ก็มาได้ภาพนี้เป็นมะละกอย่างที่หลายบ้านเขาก็ปลูกกัน

ก็มะละกอธรรมดาไม่มีอะไรพิเศษ เป็นมะละกอที่นักศึกษาจีนคนหนึ่งไปเที่ยวควีนส์แลนด์แล้วเอามาฝาก นักศึกษาคนนี้เรียนมัธยมในนครบริสเบน มาเรียนต่อทางด้านวิศวกรรมการแพทย์ในนครซิดนีย์ เรียนจบแล้วอาจารย์ชวนทำงาน และเป็นสปอนเซอร์ทำพีอาร์ให้กับเธอ ซึ่งก็ได้มาอย่างรวดเร็วไม่ต้องรอเป็นเดือน ๆ เหมือนคนอื่นเขา อาจจะเป็นเพราะเธอเป็นสมาชิกทีมคณิตศาสตร์โอลิมปิกของรัฐควีนสแลนด์ และเข้าแคมป์ทีมออสเตรเลีย แต่ไม่ได้เป็นตัวแทนของประเทศเพราะเธอเป็นนักเรียนต่างประเทศ

หลังจากมีงานทำเป็นหลักเป็นฐานแล้ว เธอได้มีโอกาสขับรถไปเยี่ยมแฟมิลีที่เธอเคยพักอยู่ด้วยในนครบริสเบน ขากลับก็เอาต้นไม้ของเขาติดรถมาด้วย มาฝากคนรูจัก (ประหยัดดีไม่ต้องเสียตังค์) ผมได้มะละกอมาหนึ่งกระถาง สตรอเบอรี่หนึ่งกระถางและต้นกุยช่ายหนึ่งกระถาง

ต้นกุยช่ายแม้จะเป็นพืชล้มลุกแต่มันก็ยังมีชีวิตยืนยาวจนถึงปัจจุบัน สตรอเบอรี่ผมเอามาปลูกลงดินมันแผ่กระจายอย่างรวดเร็ว ปีแรกให้ผลโตมากแล้วค่อย ๆ เล็กลงจนล่าสุดผลโตเท่านิ้วก้อย

ส่วนมะละกอเอามาลงดินไว้ข้างบ้าน คงได้ดินดีเลยขึ้นสูงปรี๊ดเลยหลังคา ประมาณ 6 เมตรขึ้นไปเห็นจะได้ ออกผลมาก็ไม่ได้กิน เพราะไม่มีปัญญาจะเก็บต้องปล่อยให้สุกงอมร่วงหล่นลงมาเอง เมื่อผลสุกตกลงมาก็ไม่เคยได้เห็น”ผลไม้ย่อมหล่นไม่ไกลต้น”สักครั้ง มันคงถูกนกจิกกินหรือเสร็จเจ้าตัวเห้ (giant lace monitor) ที่แอบเข้ามาอาศัยอยู่บริเวณนั้นฉกเอาไปกินจนไม่เหลือซาก

เมื่อประมาณสองหรือสามปีที่ผ่านมาผมตัดสินใจฟันต้นมะละกอให้เหลือความสูงแค่ประมาณ 1.6 เมตร เพราะเกรงว่าหากมันถูกลมแรงพัดโค้นลงมาจะสร้างความเสียหายและได้ปรึกษาอากู๋(เกิล) เขาบอกว่าถ้าตัดมันแล้วมันจะขึ้นมาอีก มันก็ขึ้นมาจริง ๆ และได้ผลจริง ๆ มันให้ผลมะละกอที่ผมแค่เอื่อมเก็บมาทำส้มตำและรอกินสุกได้ แต่ปีนี้คงเป็นปีสุดท้ายที่ได้กิน เพราะมันเริ่มจะสละใบแล้ว ขอบคุณมะละกอที่ให้โอกาสผมได้รับประทานผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

 

สภาพอากาศเดือนพฤศจิกายน 2018

(เนื่องจากหัวข้อนี้ไม่ค่อยได้รับความนิยม แต่ยังมีท่านผู้อ่านถามหา จึงขออนุญาตนำเสนอเฉพาะในพื้นที่ของนครซิดนีย์ ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของคนไทยส่วนใหญ่)

อุณหภูมิคาดการณ์ของนครซิดนีย์

ภาพแผนผังแสดงอุณหภูมิต่ำสุดและสูงสุดในแต่ละวันในเดือนพฤศจิกายน 2018 ของนครซิดนีย์

อุณหภูมิสูงสุด 34 องศาเซลเซียส วันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน

อุณหภูมิต่ำสุด 14 องศาเซลเซียส วันพฤหัสฯที่ 8 พฤศจิกายน

คาดว่าฝนตกวันที่ 7 (s), 8 (r), 10 (s) และ 21 (s)*

ชั่วโมงรับแสงแดดเฉลี่ยวันละ 9 หรือ 10 ชั่วโมง

อุณหภูมิน้ำทะเล 19 องศาเซสเซียส

หมายเหตุ   *r = rain หรือฝนตกเป็นห่าฝน ส่วน s = shower เป็นฝนตกโปรยหรือฝนไล่ช้าง และ t = thunderstorm หรือพายุฝนฟ้าคะนองครับ

 

เปรียบเทียบอุณหภูมิของนครซิดนีย์จากการพยากรณ์และอุณหภูมิที่เกิดขึ้นจริงของเดือนตุลาคม 2018 ที่ผ่านมามีดังนี้

ตารางแสดงอุณหภูมิพยากรณ์เดือนตุลาคม 2018

ตารางแสดงอุณหภูมิที่เกิดขึ้นจริงของเดือนตุลาคม 2018 ถือว่ายังอยู่ในเทรนด์ จะผิดเพี้ยนไปบ้างก็นับตั้งแต่ครึ่งหลังของเดือนตุลาคม

 

ขออนุญาตบ่นบ้าง

ความจริงมีเรื่องที่จะต้องบ่นสู่กันฟังก่อนที่จะถึงเดือนเมษายน แต่ต้องขอพักไว้ เพื่อเสนอข่าวสารก่อน ถ้ามีเวลาจะย้อนกลับมาบ่นให้ฟังครับ

มะละกอลูกเดียวกันข้างบน ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2018 กว่ามันจะสุกใช้เวลาหลายเดือนเหมือนกัน

 

jingjonews.com

jingjonews@hotmail.com

จิงโจ้นิวส์เป็นสื่อออนไลน์มีวัตุถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน   โดยปลอดจากการโฆษณาในเชิงพาณิชย์



Categories: ข่าวออสเตรเลีย, บทความทั่วไป

Tags: , , , , , , ,

Leave a Reply

%d