ปรับอุโมงค์รถไฟไม่ใช้ที่ St James เป็นบาร์, แหล่งท่องเที่ยวและช็อปปิ้ง

ข่าวออนไลน์ของสำนักข่าว ABC เสนอข่าวรัฐบาลรัฐน.ซ.ว.มีแผนปรับพื้นที่อุโมงค์รถไฟใต้ดินที่สถานีรถไฟ St James ในใจกลางนครซิดนีย์เป็นบาร์, ร้านอาหารและแหล่งท่องเที่ยว

2 ต.ค. 2018 อุโมงค์รถไฟที่สถานีรถไฟ St James ในใจกลางนครซิดนีย์ซึ่งถูกทิ้งร้างว่างเปล่ามาเป็นเวลา 90 ปีจะถูกปรับเป็นบาร์, ร้านอาหารและร้านค้า อย่างที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในกรุงลอนดอน, นิวยอร์กและวอชิงตัน

นาย Andrew Constance รัฐมนตรีการขนส่งของรัฐบาลรัฐนิวเซาท์เวลส์ได้ขอให้บริษัทต่าง ๆ ที่สนใจดำเนินธุรกิจภายในอุโมงค์เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น   ซึ่งขณะนี้ได้ทำการพูดคุยกับนาย Justin Hemmes เจ้าของอาณาจักร Merivale ผู้ได้รับฉายาว่า “บารอนแห่งผับ” หนึ่งในผู้สนใจที่จะลงทุนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

พื้นที่อุโมงค์ถูกทิ้งร้างของสถานีรถไฟ St James ตั้งอยู่ใต้สวนสาธารณะ Hyde Park มีพื้นที่ใช้สอยกว่า 6,000 ตารางเมตรได้กลายเป็นเทรนดี้ใหม่ของสถานบันเทิงและท่องเที่ยวภายในอุโมงค์รถไฟใต้ดิน คล้ายกับในกรุงลอนดอนที่นำอุโมงค์ใต้ดินที่ไม่ใช้งานหลายแห่งเป็นร้านค้าและสถานบันเทิง, Dupont Underground ที่สถานีรถไฟ Dupont Circle ในกรุงวอชิงตันดี.ซี.และที่สถานีรถไฟ Grand Central ในมหานครนิวยอร์ก

ทางรถไฟสาย City Circle ถูกสร้างเสร็จในปี 1926 พร้อมกับมีการสร้างชานชาลาที่สถานี St James เพื่อรองรับการขยายเส้นทางไปทางตะวันออกและตะวันตกของนครซิดนีย์ แต่ได้เกิดเหตุการณ์มหาเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกจึงทำให้ชานชาลาและอุโมงค์ดังกล่าวไม่เคยถูกใช้งานเลย

อุโมงค์ดังกล่าวถูกใช้ทำประโยชน์บ้างเช่นถูกใช้เป็นฟาร์มปลูกเห็ดในช่วงทศวรรษที่ 1930s ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (1939-1945) ถูกปรับให้เป็นหลุมหลบภัยใต้ดิน ในปี 2003 ถูกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ฮอลิวูดเรื่อง The Matrix Revolutions

อุโมงค์นี้มีความยาวตั้งแต่ทางด้านเหนือของสวนสาธารณะ Hyde Park ไปจดที่บริเวณทางเข้าทางด่วน Cahill Expressway ที่ถนน Macquarie St.

สภาพอุโมงค์ที่ไม่ได้ใช้งานของสถานีรถไฟ St James ในใจกลางนครซิดนีย์ : ภาพจากสำนักข่าว SBS

นาย Howard Collins ผู้อำนวยการบริหารของ Sydney Trains และยังเป็นอดีตผอ.ของระบบรถไฟ London Underground กล่าวว่ามีเมืองใหญ่หลายเมืองในต่างประเทศได้ดัดแปลงพื้นที่อุโมงค์ใต้ดินที่ได้ไม่ใช้งานให้เป็นร้านค้าและแหล่งท่องเที่ยว

เขาเห็นด้วยที่จะนำอุโมงค์ที่ออกแบบโดยนาย John Bradfield (เป็นผู้ออกแบบสะพานซิดนีย์ฮาร์เบอร์ และชื่อนี้จะเป็นตัวเต็งของชื่อสนามบินนานาชาติแห่งที่สองของนครซิดนีย์) ออกแบบไว้กลับมาใช้ประโยน์มากกว่าที่จะปล่อยให้สูญเปล่า

นาย Constance ยังเปิดรับความเห็นจากผู้สนใจทั่วไป โดยจะปิดรับความเห็นในวันที่ 6 พฤศจิกายน โดยคาดว่าจะเริ่มทำการก่อสร้างในเดือนตุลาคมปีหน้า

โครงการนี้ Sydney Trains จะทำงานร่วมกับ CBRE เอเยนซี่อสังหาริมทรัพย์ระหว่างชาติในการหาผู้สนใจลงทุนจากสหรัฐ, ยุโรปและเอเชียอีกด้วย โอ้!…โครงการระดับนานาชาติเชียวนะเนี่ย

 

jingjonews.com

jingjonews@hotmail.com

จิงโจ้นิวส์เป็นสื่อออนไลน์มีวัตถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน   โดยปลอดจากการโฆษณาในเชิงพาณิชย์



Categories: ข่าวออสเตรเลีย

Tags: , , , , , , , , , ,

Leave a Reply

%d bloggers like this: