
หัวข้อข่าวออนไลน์ของหนังสือพิมพ์ The Australian ในเรื่องท่าทีของผู้นำพรรคฝ่ายค้านต่อสิทธิ์การทำงานของนักศึกษาต่างชาติ
20 ก.ค. 2018 นาย Bill Shorten ผู้ซึ่งถูกมองว่ามีโอกาสสูงที่จะนำพรรคเลเบอร์ชนะเลือกตั้งในสมัยหน้า ผู้พยายามเปลี่ยนโนยบายที่เป็นจุดอ่อนของพรรคเพื่อชนะการเลือกตั้ง หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือนโยบายการเข้าเมือง ซึ่งเขามีท่าทีที่จะเดินนโยบายให้เข้มข้นกว่าพรรครัฐบาลปัจจุบัน โดยอาจจะกระทบถึงสิทธิในการทำงานของนักศึกษาต่างชาติอีกด้วย
สภานักศึกษานานาชาติในออสเตรเลีย (CISA) องกรค์สูงสุดทางด้านนักศึกษานานาชาติได้ออกมาเตือนนาย Shorten ต่อแนวความคิดจะควบคุมสิทธิการทำงานของนักศึกษาต่างชาติ หลังจากผู้นำพรรคฝ่ายค้านออกมาโจมตีการออกวีซ่าทำงานชั่วคราวของรัฐบาลกลางว่า “เพิ่มขึ้นอย่างเกินการควบคุม” อันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักศึกษาต่างชาติ
ในสัปดาห์นี้นาย Shorten ได้กล่าวว่าชาวต่างชาติเข้าเมืองชั่วคราวได้รับสิทธิทำงานได้เพิ่มขึ้นเป็น 1.6 ล้านคนภายใต้การบริหารของรัฐบาลพรรคผสมลิเบอรัล-แนชั่นแนล ในจำนวนนี้ 90% ของจำนวนที่เพิ่มขึ้นมาจากนักศึกษาต่างชาติที่ได้รับสิทธิทำงาน 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
นาย Alan Tudge รัฐมนตรีดูแลงานด้านการถือสัญชาติและชาวต่างชาติได้ออกมาโต้กลับนาย Shorten ด้วยการขอให้เขาเปิดเผยแผนสำหรับอุตสาหกรรมการศึกษามูลค่าปีละ 32 พันล้านเหรียญ ซึ่งจ้างงานคนออสเตรเลีย 130,000 คนจะกระทบอย่างไรหากนาย Shorten ตัดลดสิทธิการทำงานของนักศึกษาต่างชาติออกไป
อย่างไรก็ตามในวันที่ 18 กรกฎาคมนาย Shayne Neumann ผู้ดูแลงานด้านการเข้าเมืองของพรรคเลเบอร์ได้ออกมาลดแรงกดดันจากท่าทีของหัวหน้าพรรคด้วยการให้ความมั่นใจว่า อุตสาหกรรมการศึกษายังเป็นสิ่งสำคัญ พรรคเลเบอร์จะไม่ดำเนินนโยบายที่จะตัดลดจำนวนนักศึกษาต่างชาติลง แต่จะให้รัฐบาลกลางเพิ่มความเข้มงวดในเงื่อนไขวีซ่านักเรียน ที่รวมถึงการคุมเข้มเวลาทำงานของพวกเขา (น่าจะไม่ให้เกิน 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) และปกป้องไม่ให้พวกเขาถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง
ทางด้านสภา CISA กล่าวว่า นักศึกษาต่างชาติหลายคนมีภาระทางการเงินที่ต้องแบบรับ และบ่อยครั้งที่ถูกเอาเปรียบโดยนายจ้างที่ไร้ศีลธรรม
นาย Bijav Sapkota ประธานสภา CISA กล่าวว่าแนวความคิดที่จะลดจำนวนชั่วโมงการทำงานของนักศึกษาต่างชาติไม่ว่าจะเป็นในขณะศึกษาหรือหลังการศึกษาย่อมส่งผลกระทบในทางลบต่อภาคการศึกษานานาชาติอย่างแน่นอน
เขากล่าวว่านักศึกษาหลายคนมาจากประเทศที่มีภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมค่อนข้างต่ำ เดินทางมาศึกษาเพื่อนำความรู้และทักษะกลับไปช่วยประเทศชาติ ในการยกระดับการแข่งขันระหว่างประเทศ ในขณะที่ตัวพวกเขาเองก็จะมีหน้าที่การงานที่สูงขึ้น
ถ้าออสเตรเลียไม่อนุญาตให้พวกเขาทำงาน ไม่ให้พวกเขาได้รับรู้ทักษะในการทำงาน ก็อาจจะส่งผลในทางลบต่อชื่อเสียงของระบบการศึกษาของออสเตรเลีย

ตารางแสดงชาวต่างชาติที่ได้รับสิทธิทำงานชั่วคราวตามวีซ่าต่าง ๆ ณ เดือนมิถุนายน 2008 (สีน้ำเงิน) และปี 2018 (สีแดง) : แหล่งข้อมูลจากกระทรวงกิจการภายในประเทศ : ภาพกร๊าฟจากนสพ. The Australian
จากข้อมูลของกระทรวงกิจการภายในประเทศล่าสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2018 มีผู้ถือวีซ่าอยู่อาศัยชั่วคราวได้สิทธิทำงานในออสเตรเลียทั้งสิ้น 1.55 ล้านคน เพิ่มจากปี 2013 ซึ่งมีทั้งสิ้น 1.36 ล้านคน
กลุ่มผู้ถือวีซ่าทำงานชั่วคราวสูงที่สุดคือชาวนิวซีแลนด์จำนวน 673,000 คน ในขณะที่นักศึกษาต่างชาติเพิ่มจาก 304,000 คนในปี 2013 มาเป็น 486,000 คนเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา (หากเทียบจากปี 2013 แล้วนักศึกษาต่างชาติมีส่วนทำให้สัดส่วนของแรงงานชั่วคราวต่างชาติเพิ่มขึ้นระหว่าง 40% ถึง 50% แล้วนาย Shorten เอาตัวเลข 90% มาจากไหน?)
ทางด้านนาย Phil Honeywood ผู้อำนวยการบริหารของสมาคมการศึกษานานาชาติแห่งออสเตรเลีย (IEAA) กล่าวว่าการเคลื่อนไหวใด ๆ ที่กระทบต่อภาคการศึกษาต่างชาติจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างร้ายแรง
เขากล่าวว่า ออสเตรเลียจำเป็นต้องระมัดระวังในการพิจารณาทั้งด้านความต้องการของนักศึกษานานาชาติและด้านนโยบายการแข่งขันกับประเทศส่งออกด้านการศึกษาอื่น ๆ
เขากล่าวว่าอุตสาหกรรมการศึกษาทำรายได้ให้กับออสเตรเลียเป็นอันดับที่สามรองจากการส่งออกสินแร่เหล็กและถ่านหิน และเป็นตัวส่งเสริมให้เศรษฐกิจของออสเตรเลียเติบโตอย่างเงียบ ๆ ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

หนังสือพิมพ์ The Daily Telegraph ฉบับ 20 ก.ค. 2018 เสนอข่าวสหภาพแรงงานรวมตัวกันขัดขวาง Bill Shorten เดินนโยบายส่งเรือมนุษย์กลับตามอย่างพรรครัฐบาล
วันนี้มีอีกข่าวหนึ่งเป็นข่าวสหภาพแรงงานที่มีส่วนอยู่เบื้องหลังในการสนับสนุนให้นาย Bill Shorten ได้ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคเลเบอร์ ประกอบด้วยสหภาพแรงงานพนักงานก่อสร้าง, ป่าไม้, เหมืองแร่และพลังงาน (CFMEU), สหภาพแรงงานใหญ่ (ACTU), สหภาพแรงงานพนักงานขนส่ง (TWU), สหภาพแรงงานออสเตรเลีย (AWU สหภาพแรงงานนี้นาย Shorten เคยเป็นเลขาธิการมา 6 ปี) และสหภาพแรงงานพนักงานสาธารณสุข (HSU) เป็นต้น ต่างพร้อมใจกันออกมาเรียกร้อง (บีบ) ให้นาย Shorten เลิกล้มนโยบายส่งกลับผู้ลี้ภัยลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นนโยบายที่ใช้ได้ผลในรัฐบาลปัจจุบันจนธุรกิจการค้ามนุษย์ลดลงเหลือศูนย์
แต่กลุ่มสหภาพไม่ได้พูดถึงท่าทีของนาย Shorten ต่อการตัดลดชั่วโมงการทำงานของนักศึกษาต่างชาติ
jingjonews.com
jingjonews@hotmail.com
จิงโจ้นิวส์เป็นสื่อออนไลน์มีวัตถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน โดยปลอดจากการโฆษณาในเชิงพาณิชย์
Categories: ข่าวออสเตรเลีย
Leave a Reply