นายจ้างโดนปรับ 200,000 เหรียญ อ้างปฏิบัติกับลูกจ้างเหมือนคนในครอบครัว

โรงแรม Scamander Beach Resort Hotel : ภาพจาก au.hotels.com

30 พ.ค. 2018 อดีตผู้ดำเนินกิจการโรงแรมถูกปรับ 211,104 เหรียญ จากการจ่ายค่าแรงลูกจ้างสามีภรรยาชาวมาเลย์ต่ำกว่ากฎหมายกำหนด แม้อ้างว่าปฏิบัติกับทั้งสองเหมือนคนในครอบครัว เพราะมีเชื้อสายจีนเหมือนกัน

คดีนี้ถือเป็นคดีการเลือกที่รักมักที่ชังทางด้านเชื้อชาติเป็นครั้งแรกที่สำนักงานออมบุดส์แมนด้านความเป็นธรรมในการจ้างงาน (FWO) นำขึ้นสู่ศาลสหพันธ์กลางชั้นต้นหลังพบว่า นายจ้างได้เอาเปรียบลูกจ้างผู้มาจากวัฒนธรรมเดียวกันและเป็นครอบครัวที่ยอมสู้งานโดยไม่ปริปากมาตลอด 7 ปี

ศาลสหพันธ์กลางชั้นต้นได้ปรับนาย Chang Yen Chang จากรัฐนิวเซาท์เวลส์ผู้ซึ่งเป็นอดีตเจ้าของและผู้ดำเนินกิจการโรงแรม Scamander Beach Resort Hotel ในเมือง Scamander ทางชาวฝั่งตะวันออกของรัฐแทสเมเนียเป็นเงิน 35,099 เหรียญและปรับบริษัท Yenida Pty Ltd. ซึ่งเขาเป็นกรรมการและเลขานุการบริษัทเป็นเงิน 176,005 เหรียญรวมเป็น 211,104 เหรียญ ( 5.1 ล้านบาท)

นาง Natalie James ผู้อำนวยการบริหารสำนักงาน FWO กล่าวว่าครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ FWO นำนายจ้างขึ้นสู่ศาลในเรื่องการแบ่งแยกเชื้อชาติของลูกจ้าง

เธอกล่าวว่า นาย Chang รับรู้ว่าลูกจ้างทุกคนมีสิทธิได้รับค่าจ้างเท่าเทียมกันตามกฎหมายกำหนด แต่ได้เลือกที่จะจ่ายค่าจ้างสองสามีภรรยาชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนในอัตราที่ต่ำกว่าลูกจ้างชาวออสเตรเลีย เพราะเนื่องจากความต่างกันในเชื้อชาติ “ซึ่งถือว่าผิดกฎหมายและเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้”

FWO พบว่านาย Chang ได้จ่ายค่าจ้างสองสามีภรรยาชาวมาเลเซียต่ำกว่ากฎหมายกำหนดรวมกันเป็นเงินกว่า 28,000 เหรียญ พวกเขายังต้องทำงานในชั่วโมงยาวนานกว่าลูกจ้างคนอื่น ๆ อีกด้วย

ศาลได้รับทราบว่า สำหรับชาวจีนถือเป็นธรรมเนียมที่สมาชิกในครอบครัวต้องทำงานหนักเพื่อช่วยครอบครัวทำมาหากิน

แต่ผู้พิพากษาหญิง Barbara Baker กล่าวว่าเธอไม่สามารถยอมรับข้ออ้างของนาย Chang ที่ว่าเขาถือว่าสองสามีภรรยาเป็นคนในครอบครัว พร้อมกับกดดันให้ทั้งสองทำงานหนักเพื่อเขา

ลูกจ้างชาวมาเลเซียผู้เป็นสามีถูกว่าจ้างมาเป็นพ่อครัวด้วยการโฆษณาหางานในหนังสือพิมพ์ของมาเลเซียในปี 2007 โดยมีนาย Chang เป็นผู้สปอนเซอร์เข้ามาภายใต้วีซ่า 457 (ผู้ชำนาญในวิชาชีพ) เพื่อเข้ามาทำงานในร้านอาหารของโรงแรมจนกระทั่งถึงปี 2014 ซึ่งเป็นปีที่นาย Chang ขายกิจการโรงแรมออกไป

ศาลได้รับฟังว่าพ่อครัววีซ่า 457 ผู้นี้ได้ทำงานในระหว่าง 50 ถึง 57 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สัปดาห์ละ 6 วันมาตลอด 7 ปี

FWO พบว่าในระหว่างปี 2007 ถึง 2014 ชายชาวมาเลผู้เป็นสามีได้รับค่าจ้างในอัตราปีละ 45,240 เหรียญถึง 46,280 เหรียญ (1.10 ล้านบาทถึง 1.12 ล้านบาท) ซึ่งถือว่าต่ำไปเมื่อคำนึงถึงค่าทำงานล่วงเวลา, อัตราค่าจ้างทำงานในวันหยุดสุดสัปดาห์และอัตราค่าจ้างทำงานในวันหยุดราชการและวันนักขัตฤกษ์รวมแล้วประมาณ 20,550 เหรียญ

ผู้พิพากษา Baker รับฟังว่า ชายผู้เป็นสามีได้ตกลงยอมรับค่าจ้างตามที่นาย Chang เสนอให้ โดยไม่ทราบถึงอัตราค่าจ้างตามกฎหมายการจ้างงานในออสเตรเลีย

นอกจากนั้น FWO ยังตรวจพบว่าลูกจ้างชาวออสเตรเลียจำนวน 15 คนถูกพบว่าได้รับค่าจ้างต่ำไปเป็นจำนวนเงินรวมกัน 26,488 เหรียญหรือตกเฉลี่ยคนละ 1,765 เหรียญ อันเนื่องมาจากการคำนวนสิทธิพึงได้ของลูกจ้างผิดพลาด

แม้ลูกจ้างชาวมาเลเซียทั้งสองคนและลูกจ้างชาวออสเตรเลียทั้ง 15 คนได้รับการจ่ายเงินย้อนหลังครบตามจำนวนแล้ว แต่ความผิดต่อการจ่ายค่าแรงงานต่ำกว่ากฎหมาย เนื่องจากการแบ่งแยกทางเชื้อชาติยังคงไม่จบสิ้น ทำให้นาย Chang ต้องถูกปรับอีกเป็นจำนวนกว่า 200,000 เหรียญ

สำหรับสองสามีภรรยาชาวมาเลเซียหลังจากทำงานครบ 4 ปีได้ยื่นขอเป็นผู้อยู่อาศัยถาวร และได้รับสัญชาติออสเตรเลียในปี 2013 ก่อนที่จะย้อนกลับมาขอความช่วยเหลือจาก FWO เพื่อเรียกร้องเงินพึงได้จากอดีตนายจ้างร่วมเชื้อชาติ

ขออนุญาตเสริม..คดีนี้หากมองอย่างคนเอเชียก็น่าเห็นใจนาย Chang เพราะเขาเป็นผู้ช่วยเหลือให้สองสามีภรรยามีรายได้ที่สูงกว่าทำงานในมาเลเซียและทำให้ทั้งสองได้มาตั้งหลักแหล่งในออสเตรเลีย การจ่ายค่าจ้างก็ไม่ได้กดขี่ค่าแรงอย่างนายจ้างหลายรายที่ผ่านมา เพียงแต่ไม่ได้จ่ายเงินส่วนสิทธิพึงได้เท่านั้น หากมองอย่างคนเอเชียดูนาย Chang จะมีบุญคุณต่อสองสามีภรรยาเสียด้วยซ้ำ 

หมายเหตุ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศในวันที่ 30 พฤษภาคม 2018 เงิน 1 ดอลลาร์ออสเตรเลียเท่ากับ 76 เซนต์สหรัฐและ 24.25 บาท

 

jingjonews.com

jingjonews@hotmail.com

จิงโจ้นิวส์เป็นสื่อออนไลน์มีวัตถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน   โดยปลอดจากการโฆษณาในเชิงพาณิชย์



Categories: ข่าวออสเตรเลีย

Tags: , , , , , , , , , , , ,

Leave a Reply

%d bloggers like this: