สู่เดือนเมษายน ๒๕๖๑

.

สู่เดือนเมษายน 2018

บ้านใหญ่ในป่าเล็ก

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาจิงโจ้นิวส์ถูกสำนักข่าวเจ้าของลิขสิทธิภาพทักท้วงเรื่องเอาภาพถ่ายของเขามาลง ก่อนหน้านี้เขาก็ไม่ว่าอะไร เพราะเห็นเราเป็นสื่อสังคมเพื่อชุมชนที่ปลอดเชิงพาณิชย์ แต่เดี๋ยวนี้บางสำนักเขาไม่ยอมแล้ว ซึ่งเราต้องเคารพสิทธิของผู้เป็นเจ้าของ เขาอุตส่าห์ไปถ่ายหรือจ่ายเงินซื้อมา แล้วเรามักง่ายเอาของเขามาลง

สู่เดือนเมษายน 2018 จึงขอประเดิมด้วยภาพถ่ายจากฝีมือของผมเอง ถ่ายในพื้นที่บริเวณบ้าน โดยตั้งชื่อหัวข้อว่า “บ้านใหญ่ในป่าเล็ก” ก็เพื่อเลียนชื่อนวนิยายอันโด่งดังของสหรัฐในชื่อ “Little House in the Big Woods” เขียนในทศวรรษที่ 1870s มีชื่อภาษาไทยว่า “บ้านเล็กในป่าใหญ่”

ส่วนบ้านผมนั้นไม่ได้ใหญ่โตแต่ก็ไม่เล็กเสียทีเดียว เพราะมี 6 ห้องนอนกับห้องทำงานและห้องเก็บของอีกอย่างละห้อง ถ้าดัดแปลงเป็นบ้านแบ่งให้เช่าแบบปลาซาดีนอัดกระป๋องคงจะร่ำรวยไม่จนอย่างทุกวันนี้

ภาพที่ถ่ายได้นี้เป็นสัตว์ลึกลับที่เข้ามาอาศัยอยู่ในที่รกนอกบ้านมันให้ยอมถ่ายแค่หางและวิ่งจู๊ดหายไป หลานชายของผมเคยเห็นตัวเป็น ๆ ปีนข้างฝาบ้านติดกันตัวยาวประมาณหนึ่งเมตร แล้วยังเคยเห็นตัวเล็กกว่านี้ อย่างตัวที่ผมถ่ายภาพได้นี่แหละ แสดงว่าที่บ้ามผมมีสัตว์ลึกลับอย่างน้อยสองตัว

แล้วมันเป็นตัวอะไรกัน บางคนบอกว่า “ตัวเห้” สัตว์สิริมงคลสำหรับเอาไว้เรียกคนที่เราไม่ชอบอย่างมาก เพื่อนของหลานชายบอกว่า ที่หลังบ้านของเขาก็มี เขาบอกว่ามันเป็นจิ้งเหลนชนิดหนึ่ง

ผมมาถึงคำตอบเมื่อค้นหาจากกูเกิลไปพบรายงานข่าวของตัวเองในหัวข้อ “เจ้าของบ้านเจอบิ๊กช็อค พบตุ๊กแกยักษ์ขนาด 1.5 ม.ไต่ฝาบ้าน” ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2015 เทียบส่วนหางดูแล้วน่าจะใช่

ตะกวดยักษ์หรือ giant lace monitor : ภาพถ่ายโดยนาย Eric Hollan จากทวิตเตอร์ของสถานีวิทยุ 2UE

ในข่าวระบุว่ามันคือตุ๊กแกยักษ์ (ตะกวดยักษ์) ที่เรียกกันว่า giant lace monitor เป็นสัตว์เลื้อยคลานอยู่ในไฟลัม, ชั้นและอันดับเดียวกับตัวเงินตัวทอง (ตัวเห้), ตุ๊กแก, และจิ้งจก ชาวออสเตรเลียรู้จักมันในชื่อ goanna หรือที่คนไทยเรียกว่า ตะกวด

Giant lace monitor สามารถโตเต็มที่ได้ถึง 2.1 เมตรหรือมีน้ำหนักตัวถึง 20 กก. มันมีพฤติกรรมชอบปีนขึ้นที่สูงเพื่อหลีกเลี่ยนอันตราย

แต่เจ้าตัวในภาพถูกถ่ายโดยนาย Eric Hollan เจ้าของบ้านในภาพที่ตำบล Thurgoona ใกล้เมือง Albury ทางใต้ของรัฐนิวเซาท์เวลส์ติดชายแดนรัฐวิกตอเรีย

แต่บ้านผมอยู่ในวงแหวนชั้นในของนครซิดนีย์ ถือเป็นเรื่องแปลกที่มีตะกวดยักษ์อาศัยอยู่ในตัวเมือง หากมันโตขึ้นแล้วปีนฝาบ้านให้ถ่ายรูป ผมคงมีโอกาสได้ออกทีวีออสซี่อีกครั้งเป็นแน่

 

สภาพอากาศเดือนเมษายน

(ขออนุญาตลงเฉพาะในพื้นที่ตอนในของนครซิดนีย์ดังนี้)

นครซิดนีย์

#นครซิดนีย์ในเดือนเมษายน 2018 เดือนที่สองของฤดูใบไม้ร่วง เดือนนี้ซิดนีย์มีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยที่ 23 องศาเซลเซียสและต่ำสุดเฉลี่ยที่ 14 องศาเซลเซียส

ภาพแผนผังแสดงอุณหภูมิต่ำสุดและสูงสุดในแต่ละวันในเดือนเมษายน 2018 ของนครซิดนีย์

อุณหภูมิสูงสุด 32 องศาเซลเซียส จะเกิดขึ้นในวันจันทร์ที่ 2 เมษายน

อุณหภูมิต่ำสุด 12 องศาเซลเซียส จะเกิดขึ้นวันที่ 13 เมษายน

คาดว่าจะมีฝนตกในวันที่ 7 (r), 12 (s), 14 (r), และ 26 (s)*

ชั่วโมงรับแสงแดดเฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมง

อุณหภูมิน้ำทะเลที่ 22 องศาเซสเซียส

หมายเหตุ   *r = rain หรือฝนตกเป็นห่าฝน ส่วน s = shower เป็นฝนตกโปรยหรือฝนไล่ช้าง และ t = thunderstorm หรือพายุฝนฟ้าคะนองครับ

 

ไทม์โซนในออสเตรเลียเมื่อเทียบกับเวลามาตรฐานกรีนิชที่ 0.00 นาฬิกา จะเห็นว่ารัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย(สีเหลือง), นอเทิร์นเทร์ริทอรี (สีน้ำตาลอ่อน) และรัฐควีนสแลนด์ (สีแดง) ไม่มีการกำหนด daylight saving

อ้อ…อย่าลืมนะครับ daylight saving ของการทดเวลาเพื่อรับแสงพระอาทิตย์อย่างจุใจจะจบสิ้นลงในเวลาตีสามของวัน อาทิตย์ที่ ๑ เมษายนในหลายรัฐ อย่าลืมหมุนเวลาย้อนหลังหนึ่งชั่วโมงด้วยครับ

 

jingjonews.com

jingjonews@hotmail.com

จิงโจ้นิวส์เป็นสื่อออนไลน์มีวัตถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน   โดยปลอดจากการโฆษณาในเชิงพาณิชย์



Categories: ข่าวออสเตรเลีย, บทความทั่วไป

Tags: , , , , , , , , ,

Leave a Reply

%d bloggers like this: