ผู้ให้เช่า (ไม่ถือว่า) รังเกียจเชื้อชาติ หากโฆษณาให้เช่าระบุเชื้อชาติและศาสนา

5 ก.พ. 2018 กลายเป็นประเด็นถกเถียงในเรื่องการใช้ช่องโหว่ของกฎหมายการเช่าที่พักอาศัยด้วยการโฆษณาหาผู้ร่วมเช่าโดยระบุเชื้อชาติหรือศาสนาตามสื่อสังคมออนไลน์

จากการศึกษาเพียงแค่โฆษณาแบ่งให้เช่าห้องพักจากเว็บไซท์ Gumtree พบว่ามีผู้ให้เช่าในรัฐนิวเซาท์เวลส์จำนวนไม่น้อยที่ระบุคุณสมบัติของผู้เช่าเช่น “อินเดียเท่านั้น”, “จีนเท่านั้น”, “เอเชียเท่านั้น” หรือ “มุสลิมเท่านั้น” จนกลายเป็นคำถามว่า “เข้าข่ายผิดกฎหมายอาญาว่าด้วยเรื่องการเลือกที่รักมักที่ชังทางด้านเชื้อชาติและศาสนา” หรือไม่

โฆษณาเหล่านี้ดูเหมือนจะโพสต์จากหาคนเช่าที่มีภูมิหลังอพยพมาจากประเทศอินเดีย, เอเชียตะวันออกและจากตะวันออกกลางที่ต้องการได้ผู้เช่ามาจากถิ่นเดียวกัน

โฆษณาอันหนึ่งเป็นแพลตขนาด 2 ห้องนอนในย่าน Wiley Park พื้นที่อยู่หนาแน่นของชาวมุสลิมในเขต Canterbury-Bankstown นครซิดนีย์ลงโฆษณาไว้ว่า “ถ้าห้องถูกเช่าโดยคนสองคน พวกเขาจะต้องเป็นชาวบังคลาเทศ” และยูนิตที่ย่าน Chippendale เขต City of Sydney เขียนไว้ว่่า “มีห้องว่าง 1 ห้องสำหรับสตรีชาวเอเชียเท่านั้น” ในขณะที่โฆษณาแชร์ห้องในตัวเมืองซิดนีย์อีกแห่งระบุผู้เช่าว่าต้องเป็นคน “จีนเท่านั้น”

บ้านหลังหนึ่งในย่าน Hebersham เขต Blacktown ทางตะวันตกของนครซิดนีย์ แบ่งห้องให้เช่าโดยเขียนว่า “เฉพาะชาวปากีสถาน หรือ อินเดีย หรือ บังคลาเทศเท่านั้น”

แม้กระทั่ง Bowral ถิ่นดอกทิวลิปบนที่ราบสูงจากนครซิดนีย์ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ 136 กม. ลงโฆษณาแบ่งเช่าอพาร์ทเมนท์สองห้องนอน โดยระบุว่า “จะพิจารณาเฉพาะผู้เช่านับถือมุสลิมเท่านั้น”

ยูนิตใกล้โรงพยาบาล Blacktown โฆษณาว่า “ห้องเช่าพร้อมเฟอร์นิเจอร์สำหรับชาวอินเดีย” ส่วนโฆษณาแบ่งห้องเช่าในอัตรา 350 เหรียญต่อสัปดาห์ในตัวเมืองซิดนีย์ระบุว่า “สตรีชาวเอเชียเท่านั้น” ในขณะที่ห้องแบ่งให้เช่าใกล้สถานี Town Hall ระบุว่า “ต้องการชาวเอเชีย” เป็นต้น

อย่างไรก็ตามคณะกรรมการต่อต้านการเลือกที่รักมักที่ชังแห่งรัฐน.ซ.ว. (NADB) เห็นว่าการโฆษณาดังกล่าวถือว่าไม่เข้าข่ายผิดกฎหมาย เพราะเป็นการโฆษณาโดยผู้เช่าที่อยู่อาศัยที่ต้องการหาผู้เข้ามาร่วมแชร์ที่พัก ไม่ใช่เป็นการโพสต์โดยตรงจากแลนด์ลอร์ดหรือเอเยนซี่ที่อยู่อาศัย ซึ่งภายใต้มาตรา 20 (3) ของกฎหมายต่อต้านการเลือกที่รักมักที่ชังของรัฐน.ซ.ว.กำหนดว่า กฎหมายไม่ควบคุมถึงผู้เสนอที่พักอาศัยถ้าเขาหรือ”ผู้ใกล้เครือญาติ”อยู่อาศัยร่วมกัน

โฆษกหญิงของคณะกรรมการ NADB กล่าวว่า โฆษณาบางรายอาจเข้าข่ายเลือกที่รักมักที่ชัง แต่ก็ยังไม่ถึงกับเป็นการเลือกที่รักมักที่ชังตามกฎหมาย ซึ่งขึ้นอยู่กับบุคคลผู้โฆษณา

ในขณะที่นาย Mark Speakman รัฐมนตรีสำนักงานอัยการของรัฐบาลรัฐน.ซ.ว.ออกมากล่าวว่า ข้อยกเว้นนี้ได้ถูกบรรจุเป็นกฎหมายมาตั้งแต่ปี 1977 และรัฐบาลก็ยังไม่มีแผนที่จะแก้ไขในอนาคตอันใกล้

กฎหมายเพียงกำหนดให้แลนด์ลอร์ดและเอเยนซี่ที่อยู่อาศัยจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย โดยบัญญัติไว้ว่า จะถือเป็นความผิดต่อการเลือกที่รักมักที่ชังหากผู้ให้เช่าหรือผู้ต้องการหาผู้ให้เช่ากำหนดคุณสมบัติของผู้เช่าจากเชื้อชาติ, เพศ, การตั้งครรภ์, พิการ, รสนิยมทางเพศ, อายุ หรือสถานภาพการแปลงเพศ

ดร. Tim Soutphommasane ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการเลือกที่รักมักที่ชังด้านเชื้อชาติ (คนนี้มีเชื้อสายลาว) : ภาพจากนสพ. The Australian

ทางด้านดร. Tim Soutphommasane เจ้าพนักงานการเลือกที่รักมักที่ชังด้านเชื้อชาติยืนยันว่าการโฆษณาแบ่งห้องให้เช่าโดยระบุเชื้อชาติไม่ผิดกฎหมาย แม้ว่าการกระทำของพวกเขาจะขัดต่อหลักการของพหุวัฒนธรรมก็ตาม

เขากล่าวว่า คนส่วนใหญ่สร้างมิตรภาพข้ามกลุ่มวัฒนธรรมและเชื้อชาติ และหวังว่าผู้คนจากภูมิหลังที่แตกต่างกันจะสามารถอยู่ร่วมกันได้ภายใต้หลังคาเดียวกัน

 

jingjonews.com

jingjonews@hotmail.com

จิงโจ้นิวส์เป็นสื่อออนไลน์มีวัตถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน   โดยปลอดจากการโฆษณาในเชิงพาณิชย์



Categories: ข่าวออสเตรเลีย

Tags: , , , , , , , , , , ,

Leave a Reply

Discover more from jingjonews

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading