สภาชาวไร่ดันนิรโทษกรรมแรงงานผิดกฎหมาย แก้ปัญหาวิกฤติขาดคนเก็บผัก-ผลไม้

แรงงานเก็บผักตามฟาร์มเกษตรส่วนใหญ่พึ่งแรงงานแบ็กแพ็กเกอร์ชาวต่างชาติ : ภาพชั่วคราวจาก The Time Weekly

17 ต.ค. 2017 ในช่วงที่ผ่านมามีข่าวกระทรวงการเข้าเมืองเข้าตรวจค้นชาวต่างชาติทำงานไม่ถูกต้องตามฟาร์มเกษตรโดยเฉพาะในไร่ผักและผลไม้ ก็เนื่องจากออสเตรเลียมีปัญหาคนว่างงาน แต่รัฐบาลกลางจะเข้าใจถึงปัญหาเชิงซ้อนหรือไม่ยังเป็นสิ่งที่ค้างคาใจของเกษตรกร เนื่องจากคนออสเตรเลียไม่ทำงานเก็บผัก-ผลไม้ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคเกษตร ผลผลิตส่วนหนึ่งต้องถูกทิ้งตายต้นคาแปลง ประชาชนกลายเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะต้องซื้อผักและผลไม้ในราคาที่สูงลิ่ว

ล่าสุดชาวเกษตรกรในรัฐวิกตอเรียออกมาเรียกร้องอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนเพื่อปกป้องพวกเขาและแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายทำงานในไร่ผลไม้และไร่ผัก

ทั้งนี้สภานโยบายการปลูกพืชเกษตรแห่งสหพันชาวไร่รัฐวิกตอเรีย (VFFHPC) ต้องการให้รัฐบาลเห็นถึงปัญหาที่แท้จริง พร้อมต้องการให้มีนิรโทษกรรมแก่แรงงานต่างชาติที่ไม่มีวีซ่าทำงาน

นาง Emma Germano ประธานกลุ่มสหพันชาวไร่แห่งรัฐวิกตอเรีย (VFF) กล่าวว่าสภาได้ลงนามในนโยบายเพื่อเรียกร้องให้แรงงานผิดกฎหมายออกมาแสดงตัวโดยไม่ต้องกลัวการถูกเนรเทศ เพื่อแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลน และเพื่อเป็นหลักประกันว่าราคาสินค้าพืชผักผลไม้จะไม่สูงเกินไปสำหรับผู้บริโภค

“เรารู้ว่ามีแรงงาน (ต่างชาติ) ที่ยึดมั่นที่จะทำงานแต่ไม่มีสิทธิที่จะทำงาน ดังนั้นควรมีการนิรโทษกรรมเพื่อให้พวกเขาเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย”

นาง Germano กล่าวว่ารัฐบาลได้ประเมินว่ามีชาวต่างชาติทำงานโดยไม่มีวีซ่ารองรับในออสเตรเลียจำนวน 60,000 คน ซึ่งเธอคาดว่าหลายคนทำงานอยู่ในฟาร์มและงานด้านการบริการต้อนรับ

เธอเชื่อว่าคงไม่มีพรรคการเมืองใดต้องการตัวเลขนี้ สภาชาวไร่ก็ไม่ต้องการเช่นกัน และไม่ได้หวังที่จะให้รัฐบาลแอมเนสตี้*ถึงขั้นให้สถานภาพอยู่อาศัยถาวรแก่แรงงานทำงานผิดกฎหมายการเข้าเมือง แต่ต้องการให้รัฐบาลให้โอกาสแรงงานเหล่านี้ออกมาปรากฎตัวภายใต้การนิรโทษกรรมเพื่อให้วีซ่าทำงาน (ในภาคการเกษตร) สัก 2 หรือ 3 ปี

หมายเหตุ *แอมเนสตี้ หรือ amnesty เคยเป็นคำที่ฮิตมากในหมู่ผู้อพยพในทศวรรษที่ 1980s โดยเฉพาะผู้อยู่เกินวีซ่า หลังจากทุกคนมีความหวังและมีข่าวลือหนาหูว่ามันจะเกิดขึ้นอีก   เนื่องจากในปี 1976 รัฐบาลได้ประกาศให้นิรโทษกรรมแก่ผู้อยู่เกินวีซ่าเพื่อให้สิทธิที่อยู่อาศัยถาวร ครั้งนั้นมีผู้ออกมาแสดงตัว 14,000 คนจากทั้งหมดประมาณไม่ต่ำกว่า 40,000 คน บุคคลเหล่านี้ได้สถานภาพผู้อยู่อาศัยถาวรทุกคน ยกเว้น 1 คนที่เป็นผู้ต้องสงสัยคดีฆ่าคนตายหลบหนีมาจากประเทศเยอรมนี นับจากนั้นมาคำว่าแอมเนสตี้ยังพูดติดปากกันมาอีกหลายปี จนกระทั่งเลือนลางหายไปตามกาลเวลา พร้อมกับความเชื่อแน่ว่าแอมเนสตี้จะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอน

แรงงานเก็บผักบางครั้งก็มีแรงงานผิดเงื่อนไขวีซ่าปะปน ก็ให้เอาหูไปนาเอาตาไปไร่เสียบ้างก็จะดีต่อเกษตรกรและประชาชนผู้บริโภคไม่น้อย : ภาพจาก The Time Weekly

เธอกล่าวว่าแรงงานต่างชาติที่ออกมาแสดงตัวเองภายใต้การนิรโทษกรรม สมควรได้รับอนุญาตให้ทำงานในภาคการเกษตรได้อย่างปลอดภัย

และย้ำว่า เกษตรกรไม่ต้องการที่จะผลักไสไล่ส่งชาวออสเตรเลีียเข้าสู่การว่างงาน แต่ปัญหาที่แท้จริงก็คือผู้ว่างงานไม่ต้องการทำงานตามฟาร์มเกษตร หรือหากทำงานก็ต้องจ้างด้วยอัตราที่สูงกว่าอัตราปกติหลายเท่าตัว

นาง Germano กล่าวว่า ครอบครัวของเธอที่ Gippsland ได้ตัดสินใจไม่ทำไร่บร็อคโคลี่หรือผักกระหล่ำที่ฟาร์มของครอบครัวใน Mirboo North ในฤดูใบไม้ผลินี้ ถือเป็นการตัดสินใจไม่ลงแปลงผักครั้งแรกในรอบ 15 ปี เนื่องจากเกรงว่าจะประสบปัญหาแรงงานเหมือนที่ผ่านมา

ทางด้านข้อมูลจากกระทรวงการเข้าเมืองพบว่า องค์กรในอุตสาหกรรมการปลูกพืชผักและผลไม้ 9 องค์กรอ้างว่าพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงแรงงาน สถานการณ์ขณะนี้อยู่ในขั้นวิกฤตที่ส่งผลต่อเสถียรภาพของเกษตรกรผู้ปลูกผัก

จากการสำรวจเกษตรกรพบว่า 40% จำต้องทิ้งผักที่ปลูกไว้ให้ตายคาแปลงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการขาดแคลนแรงงาน

หมายเหตุ การเคลื่อนไหวครั้งนี้เกิดจากแรงผลักดันของฝ่ายเกษตรกร ขออย่าได้เผยตัวออกมาแสดงความนัยต่อทางการ ยกเว้นกระทรวงการเข้าเมืองจะประกาศรับรองให้มีการนิรโทษกรรมเกิดขึ้น ซึ่งเชื่อว่าน่าจะไม่เกิดขึ้น

 

jingjonews.com

jingjonews@hotmail.com

จิงโจ้นิวส์เป็นสื่อออนไลน์มีวัตถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน   โดยปลอดจากการโฆษณาในเชิงพาณิชย์



Categories: ข่าวออสเตรเลีย

Tags: , , , , , , , , , , ,

Leave a Reply

Discover more from jingjonews

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading