หนี้สินสูง-ดอลล่าร์แข็ง-เงินเฟ้อต่ำ คือเหตุผลที่แบ๊งก์ชาติตัดสินใจคงดอกเบี้ย

นาย Philip Lowe ผู้ว่าการธนาคารกลางออสเตรเลีย : ภาพจากนสพ. The Australian

4 ต.ค. 2017 ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ยังคงรักษาอัตราเงินสดไว้ที่ 1.5% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์เป็นเดือนที่ 14 ติดต่อกัน

ดร. Philip Lowe ผู้ว่าการธนาคารกลางให้เหตุผลในการคงอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานโดยไม่เปลี่ยนแปลงเป็นเพราะสภาพเศรษฐกิจของโลกเริ่มปรับตัวไปในแนวที่ดีขึ้นและเศรษฐกิจออสเตรเลียเริ่มกลับมาเดินหน้าไปด้วยดีในหลายอุตสาหกรรม, การจ้างงานเพิ่มขึ้นในทุกรัฐและมีการลงทุนในอุตสหกรรมที่ไม่ใช่เหมืองแร่เพิ่มขึ้น

ดร. Lowe กล่าวว่าในทางกลับกันค่าเงินดอลล่าออสเตรเลียแข็งตัวขึ้น, อัตราค่าแรงเพิ่มขึ้นในระดับต่ำ, อัตราเงินเฟ้อต่ำ และการเพิ่มขึ้นของหนี้สินในภาคที่อยู่อาศัยคือเหตุผลว่าทำไมคณะกรรมการธนาคารกลางจึงตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยไว้อีกเดือนหนึ่ง

เขากล่าวว่าค่าเงินเอ-ดอลล่าร์แข็งขึ้นนับตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐอ่อนตัวลง อัตราแปลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศที่สูงขึ้นได้มีส่วนให้แรงกดดันทางราคาในระบบเศรษฐกิจยังคงดำเนินต่อไป

นาย David Choi นักเศรษฐศาสตร์จาก Aberdeen Standard Investment กล่าวว่าปัจจัยหลักที่ธนาคารกลางเพ่งเล็งเป็นพิเศษในระยะใกล้ขณะนี้คือด้านการบริโภคในครัวเรือนที่ถูกทำให้ตกต่ำลงโดยอัตราการเติบโตของค่าแรงงานในระดับต่ำ, ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงและค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน (ไฟฟ้า, แก๊ส, น้ำประปา) สูงขึ้น

นาย Choi กล่าวว่า ธนาคารกลางพยายามรักษาดุลระหว่างอัตราดอกเบี้ยต่ำตามความจำเป็นสำหรับการบริโภคในครัวเรือนกับการตั้งเกราะป้องกันเศรษฐกิจจากความเสี่ยงระยะกลางของหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่มีเสถียรภาพ

ส่วนนาย John Flavell ผู้อำนวยการบริหารของ Mortgage Choice กล่าวว่านักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่แปลกใจต่อการตัดสินใจของธนาคารกลาง และเชื่อว่าผู้กู้เงินยังจะเพลิดเพลินกับอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำอย่างมีเสถียรภาพไปอีกอย่างน้อยสามสี่เดือนหรือตลอดทั้งปี

 

jingjonews.com

jingjonews@hotmail.com

จิงโจ้นิวส์เป็นสื่อออนไลน์มีวัตถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน   โดยปลอดจากการโฆษณาในเชิงพาณิชย์



Categories: ข่าวออสเตรเลีย

Tags: , , , , , , ,

Leave a Reply

Discover more from jingjonews

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading