
เจ้าหน้าที่กำลังนำแจ็กกาแรนดาต้นใหม่ลงดินภายในอาคาร Main Quadrangle ม. ซิดนีย์ : ภาพชั่วคราวจากนสพ. The SMH
22 ก.ค. 2017 มหาวิทยาลัยซิดนีย์ได้แจ็กกาแรนดาต้นใหม่ จากกิ่งของต้นที่ล้มลงเมื่อเมื่อวันที่ 28 ตุลาคมปีที่ผ่านมา เป็นการสานต่อต้นไม้พระราชาสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยที่ล้มไปแล้ว
ที่ว่าเป็นต้นไม้แห่งพระราชาก็เพราะเป็นต้นไม้ที่ศจ. Eben Gowrie Waterhouse ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์และไม้ประดับพันธุ์คามีเลียได้ทำการเพาะชำมาตั้งแต่ปี 1927 ก่อนนำมาลงดินที่สนามด้านในอาคาร Main Quadrangle ในปีรุ่งขึ้น เพื่อเป็นการเตรียมต้อนรับการเสด็จมาเยือนมหาวิทยาลัยขององค์ดยุคแห่งยอร์ค ซึ่งต่อมาก็คือพระเจ้าจอร์จที่ 6 นั่นเอง
แจ็กกาแรนดาต้นเดิมให้ร่มเงาและดอกสีม่วงครามแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยซิดนีย์มาเป็นเวลา 88 ปี ก่อนที่จะล้มลงอย่างไม่มีใครคาดถึงเมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา
อาจกล่าวได้ว่าแจ็กกาแรนดาต้นใหม่เป็นการโคลนนิ่งมาจากต้นเดิมที่ล้มลง โดยวิธีการติดตาต่อกิ่ง โดยอาศัยรากและต่อของแจ็กกาแรนดาต้นอื่นที่มีความแข็งแรง
นาย Mark Moeller ผู้จัดการด้านภูมิทัศน์และสนามของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ได้เริ่มโครงการติดตาต่อกิ่งไว้ตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว หลังจากประเมินว่าต้นแจ็กกาแรนดามีอายุมากแล้ว อาจจะยืนต้นได้อีกไม่นาน
แรกทีเดียวนาย Moeller ต้องการขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด แต่ต้นแจ็กกาแรนดามีอายุมากเกินไป ไม่สามารถให้เมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ จึงได้เปลี่ยนมาเป็นการติดตาต่อกิ่งแทน ด้วยการว่าจ้างนักขยายพันธุ์พืชที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศมาทำหน้าที่นี้
ทีมงานของเขาได้เลือกต้นกล้าที่สมบูรณ์และแข็งแรงจาก Central Coast ด้วยกัน 24 ต้น หลังจากทำการติดตาต่อกิ่งได้ต้นที่สมบูรณ์แบบเพียง 4 ต้น นำมาปลูกภายในอาคาร Main Quadrangle หนึ่งต้น ปลูกที่คณะพยาบาลศาสตร์หนึ่งต้น ส่วนอีกสองต้นเก็บสำรองไว้
นาย Moeller คาดว่าแจ็กกาแรนดาต้นใหม่จะมีขนาดใหญ่กว่า 18 เมตร ซึ่งเป็นขนาดของต้นเดิม โดยอาจจะมีขนาดใหญ่ถึง 30 เมตร และมีอายุยืนยาวเกินกว่า 100 ปี
ต้นแจ็กกาแรนดาต้นใหม่ถูกลำเลียงมาจากสถานที่เพาะชำที่ Lake Munmorah ใน Central Coast เดินทางมาถึงมหาวิทยาลัยซิดนีย์ในคืนวันพฤหัสฯ ก่อนที่จะมีการเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบในวันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคม
ต้นแจ็กกาแรนด้าถูกนำเข้ามาพร้อมกับต้นหางนกยูงฝรั่ง (flame tree) ที่จะนำมาปลูกคู่กัน ส่วนสาเหตุที่เลือกต้นหางนกยูงฝรั่งมาปลูกก็เพราะเป็นต้นไม้พื้นเมือง และให้ดอกสวยงามในเวลาเดียวกันกับแจ็กกาแรนดา โดยมหาวิทยาลัยเสียค่าใช้จ่ายในการสานต่อต้นไม้ประวัติศาสตร์นี้เพียง 2,000 เหรียญเท่านั้น (เท่ากับก๋วยเตี๋ยวเฝอ 111 ชาม)
นาย Moeller กล่าวว่า ในปัจจุบันรอบมหาวิทยาลัยซิดนีย์มีต้นแจ็กกาแรนดาอยู่ประมาณ 40 ต้น ซึ่งเขาไม่แน่ใจและไม่มีหลักฐานยืนยันว่า มีต้นไม้ที่ศจ. E. G. Waterhouse ปลูกไว้ยังมีชีวิตรอดอยู่ถึงปัจจุบันหรือไม่
ต้นแจ็กกาแรนด้าที่ Main Quadrangle ถือเป็นต้นไม้ที่เป็นที่นิยมของนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่ามาตลอดหลายทศวรรษ รวมถึงบุคคลภายนอกที่มาถ่ายภาพกับต้นไม้ในวันรับปริญญาและในวันสมรส นักศึกษาของมหาวิทยาลัยยังถือแจ็กกาแรนดาเป็นคติเตือนใจว่า “จะต้องเริ่มสนใจตำรับตำราก่อนที่ดอกสีม่วงครามดอกแรกจะบาน (bloom) มิฉะนั้นจะต้องชะตากรรม (doom) ให้สอบตก”
jingjonews.com
jingjonews@hotmail.com
จิงโจ้นิวส์เป็นสื่อออนไลน์มีวัตถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน โดยปลอดจากการโฆษณาในเชิงพาณิชย์
Categories: ข่าวออสเตรเลีย
Leave a Reply