สู่เดือนพฤษภาคม ๒๕๖๐

สู่เดือนพฤษภาคม 2017  เดือนแห่งงบประมาณประจำปีและการขึ้นค่าแรง

Heart Reef ภาพจาก Getty Images ตั้งอยู่บริเวณ Hardy Reef ใน The Great Barrier Reef ในมหาสมุทรแปซิฟิกทางตะวันออกของออสเตรเลีย เป็นเกาะเกิดจากการรวมตัวกันของปะการัง ถูกพบครั้งแรกในปี 1975 โดยหนึ่งในนักบินของ Air Whitsunday ปัจจุบันถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับคนที่ยอมเสียเงินเพื่อชมวิวทางอากาศของหมู่เกาะประการัง

May Day

เดือนพฤษภาคมในออสเตรเลียถือเป็นเดือนเตรียมตัวก่อนเข้าฤดูหนาว   อุณหภูมิสูงสุดของประเทศเดือนนี้เฉลี่ยประมาณ 20 องศาเซลเซียส โดยมีอุณหถูมิสูงสุดแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ จากต่ำสุดในรัฐแทสมาเนียมีอุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ 17 องศาเซลเซียส ไปจนถึงรัฐควีนสแลนด์มีอุณหภูมิสูงสุดที่ 27 องศาฯ ถือว่าอากาศกำลังสบายที่สุดของปีก็ว่าได้ ครับ

เดือนพฤษภาคมมีวันหยุดราชการเพียงหนึ่งรัฐและหนึ่งดินแดนเท่านั้น คือที่รัฐควีนสแลนด์กำหนดเอาวันจันทร์แรกของเดือนพฤษภาคมเป็น “วันแรงงาน” บังเอิญปีนี้ตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคมพอดี และที่นอร์เทิร์นเทร์ริทอรี่ (NT) ถือวันจันทร์แรกของเดือนพฤษภาคมเช่นกันเป็น “วันเมย์เดย์” ปีนี้ตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคมเช่นกันครับ

วัน May Day ในนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี่ก็คือวันแรงงานนั่นเอง วันนี้ที่ NT มีการเดินขบวนของผู้ใช้แรงงาน ปีไหนดุหน่อยก็ปรับเป็นเดินประท้วงแทน การเดินขบวนนี้เขาเรียกว่า May Day March หลังจากจบเดินขบวนก็จะมีปิกนิก และมีคอนเสิร์ทให้ได้ขยับแข้งขยับขากัน

 

สภาพภูมิอากาศเดือนพฤษภาคม 2017 (นครซิดนีย์)

อากาศในเดือนพฤษภาคมเป็นช่วงปลายฤดูใบไม้ร่วงเพื่อเข้าสู่ฤดูหนาวในเดือนหน้า อุณหภูมเฉลี่ยต่ำสุด (เส้นสีฟ้าอ่อน) จะเริ่มลดลงจากช่วง 10 วันแรกของเดือนที่ 12 องศาเซลเซียส ลงมาเหลือ 11 องศาในระหว่างวันที่ 11 ถึง 23 และลดลงเหลือ10 องศาในช่วงที่เหลือของเดือน

ด้านอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด (เส้นสีส้ม) ของเดือนก็จะค่อย ๆ ลดลงจาก 19 องศาเซลเซียสในช่วงสามวันแรกของเดือนลงมาอยู่ที่ 18 องศา (ในวันที่ 4 ถึงวันที่ 16) เหลือ 17 องศา (ในวันที่ 17ถึงวันที่ 28) และลดลงเหลือ 16 องศา (ในวันที่ 29 ถึง 31)

ส่วนการพยากรณ์อากาศในด้านอุณหภูมิต่ำสุด (เส้นสีฟ้าหนา) ซึ่งได้รับการทำนายไว้ใกล้เคียงกับอุณหภูมิต่ำสุดโดยเฉลี่ยของเดือนจึงไม่ขอขยายความในที่นี้ แต่โปรดสังเกตวันที่ 29 พฤษภาคม สำนักงานอุตุนิยมวิทยา (BoA) ทำนายว่าจะอยู่ที่ 7 องศาเซลเซียสครับ

ในการพยากรณ์อากาศด้านอุณหภูมิสูงสุด (เส้นสีแดง) ค่อนข้างจะหวือหวาออกจากอุณหภูมิโดยเฉลี่ย ขออนุญาตไม่ขยายความอีกเช่นกันนะครับ

ด้านการพยากรณ์ฝนตก สำนักงาน BoA ทำนายว่าจะมีฝนตกปรอย ๆ (shower) 3 วันด้วยกันคือในวันที่ 3, 9 และ 23 และจะมีฝนตกที่เรียกว่า rain เมื่อพ้นเดือนพฤษภาคมไปแล้วคือในวันที่ 1 มิถุนายนครับ

 

พฤษภาคมคือ “เดือนที่รอคอย”

ชายคนนี้แหละที่เป็นผู้ทำงบประมาณปี 2017 สื่อมักเรียกเขาว่า ScoMo เขามีนามเต็มว่านาย Scott Morrison ร.มว.กระทรวงการคลังของรัฐบาลกลาง : ภาพจากนสพ. The SMH

เดือนพฤษภาคมถือว่าเป็นเดือนที่มีผลต่อชะตาชีวิตของประชาชนชาวออสซี่โดยตรง เพราะเป็นเดือนแห่งการเสนองบประมาณประจำปี กลุ่มประเภทชนิดของครอบครับและกลุ่มผู้มีรายได้ระดับต่าง ๆ จะมีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็คืออยู่กับงบประมาณประจำปี การกำหนดนโยบายภาษี, เงินสวัสดิการสังคม, นโยบายสาธารณสุข หรือแม้กระทั่งวีซ่า 457 ก็มาจากแผนงบประมาณนี้ทั้งนั้น

นอกจากงบประมาณประจำปี 2017 แล้วบรรดาลูกจ้างยังต้องลุ้นกับรายได้ในกระเป๋าของพวกเขา ในทุก ๆ ปีถ้าไม่ปลายเดือนพฤษภาคม ก็เป็นต้นเดือนมิถุนายนที่คณะกรรมอิสระด้านความยุติธรรมทางการจ้างงาน หรือ FWC จะตัดสินใจกำหนดการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำประจำปี 2017 #แรงงานชาวไทยส่วนใหญ่ทำงานงานอยู่ในภาพอุตสาหกรรมด้าน hospitality (การต้อนรับขับสู้ กำลังรอภาษาอย่างเป็นทางการจากราชบัณฑิตยสถานอยู่ครับ) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีค่าแรงขั้นต่ำในระดับล่างสุดของประเทศจำนวน 1.86 ล้านคน

ในปี 2014 FWC ได้ตัดสินใจเพิ่มค่าแรงให้กับแรงงานกลุ่มนี้ขึ้นอีกชั่วโมงละ 49.2 เซนต์ต่อชม. (หรือ 18.70 เหรียญต่อสัปดาห์), ปี 2015 ได้เพิ่มขึ้นชั่วโมงละ 42.1 เซนต์ต่อชม. (16.00 เหรียญต่อสัปดาห์) ปี 2016 ได้เพิ่มขึ้นชั่วโมงละ 41.6 เซนต์ต่อชม. (15.80 เหรียญต่อสัปดาห์)

สามารถกล่าวได้ว่าเป็นการขึ้นค่าแรงเพิ่มขึ้นที่ต่ำเตี้ยลงทุกปี และถือว่าเป็นค่าแรงเพิ่มขึ้นที่ต่ำกว่าค่าครองชีพที่สูงขึ้นและต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ

และถือเป็นความพ่ายแพ้ของทั้งฝ่ายสหภาพแรงงานใหญ่ (ACTU) ตัวแทนของผู้ใช้แรงงานและฝ่ายสภาหอการค้าและอุตสหกรรมออสเตรเลีย (ACCI) ตัวแทนของฝ่ายนายจ้าง ที่แต่ละฝ่ายไม่ได้ตัวเลขค่าแรงงานเพิ่มขึ้นตามที่พวกเขาเสนอมาอย่างต่อเนื่องทุกปีครับ

แต่ถ้ามองโลกในแง่ดี ก็ต้องถือว่าเป็นชัยชนะของทั้งสองฝ่าย เพราะหากฝ่ายนายจ้างเป็นฝ่ายชนะแต่เพียงผู้เดียวก็จะเกิดการขูดรีดแรงงานเกิดขึ้น หากฝ่ายแรงงานชนะอาจเกิดคำพูดนี้ก็ได้ “มีข่าวดีมาบอกว่า..พวกเราจะได้ค่าแรงเพิ่มขึ้นตามที่พวกเราต้องการ แต่ก็มีข่าวร้ายมาบอกว่า..นายจ้างได้ตัดสินใจปิดโรงงานแล้วย้ายไปตั้งในต่างประเทศแทน”

หนูดีใจค่ะที่จะได้ค่าแรงเพิ่มอีกตั้ง 50 ตังค์แน่ะ : ภาพจาก ILHA

อ้อ..เพื่อไม่ให้ท่านผู้อ่านหงุดหงิดว่า มันเขียนอะไรของมันวะ! ขออนุญาตสรุปค่าแรงขั้นต่ำ (ที่สุดในประเทศ) ที่มีการเปลี่ยนแปลงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาดังนี้ครับ

-ค่าแรงขั้นต่ำปี 2014 ตกชั่วโมงละ 16.87 เหรียญ หรือราว 640.90 เหรียญต่อสัปดาห์

-ค่าแรงขั้นต่ำปี 2015 ตกชั่วโมงละ 17.29 เหรียญ หรือราว 656.90 เหรียญต่อสัปดาห์

-ค่าแรงขั้นต่ำปี 2016 ตกชั่วโมงละ 17.70 เหรียญ หรือราว 672.70 เหรียญต่อสัปดาห์

การจ้างงานที่เกินกว่า 38 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ให้ถือเป็นการทำงานล่วงเวลา, และการทำงานในวันหยุดสุดสัปดาห์, วันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์, การทำงานในช่วงกะดึก และค่าจ้างแรงงานชั่วคราว ต่างมีอัตราค่าจ้างต่างกันไปตามกฎหมายกำหนดที่สูงกว่าอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ

 

jingjonews.com

jingjonews@hotmail.com

จิงโจ้นิวส์เป็นสื่อออนไลน์มีวัตถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร, บทความและประชาสัมพันธ์เพื่อชุมชน   โดยปลอดจากการโฆษณาในเชิงพาณิชย์



Categories: ข่าวออสเตรเลีย, บทความทั่วไป

Tags: , , , , , , ,

Leave a Reply

Discover more from jingjonews

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading